ถึงเวลาพลิกฟื้นคลื่นทะเล การประมงที่ล้มเหลวและวิกฤติสุขภาพท้องทะเลกำลังส่งผลถึงความอดอยากของมนุษย์

พุธ ๑๖ กันยายน ๒๐๑๕ ๑๐:๕๖
ประชากรปลาซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์กำลังเผชิญกับสภาวะวิกฤติทั่วโลกโดยที่บางชนิดพันธุ์มีความเสี่ยงที่จะสูญหายไปทางท้องทะเล WWF (กองทุนสัตว์ป่าโลก) ได้เปิดเผยรายงานเร่งด่วนฉบับล่าสุดวันนี้ ภายใต้ชื่อ Living Blue Planet Report ซึ่งระบุว่า มีทางหลีกเลี่ยงกิจกรรมส่วนใหญ่ที่กำลังคุกคามท้องทะเล และทางออกของปัญหานั้นมีอยู่เพื่อพลิกฟื้นสถานการณ์ของท้องทะเลให้ดีขึ้น

การศึกษาล่าสุดเกี่ยวกับสัตว์ทะเล ทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และปลา แสดงให้เห็นถึงจำนวนประชากรสัตว์ทะเลที่ลดลงกว่าครึ่งโดยเฉลี่ยทั่วโลกภายในช่วงระยะเวลาสี่ทศวรรษที่ผ่านมา โดยที่จำนวนประชากรปลาลดลงเกือบร้อยละ 75 ตัวเลขนี้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา

ในการพลิกฟื้นสถานการณ์และแนวโน้มที่เป็นอยู่นี้ ผู้นำโลกทั้งหลายจะต้องให้ความสำคัญกับท้องทะเลและมหาสมุทร รวมทั้งสุขภาพของสิ่งแวดล้อมชายฝั่ง โดยปฏิบัติตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในกรอบสหประชาชาติ ซึ่งคาดว่าจะมีการอนุมัติภายในเดือนนี้ อีกทั้งการเจรจาข้อตกลงสากลว่าด้วยสภาพภูมิอากาศในเดือนธันวาคมนี้ ยังถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะบรรลุข้อตกลงเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูสภาพของท้องทะเลและมหาสมุทร

"เราได้เร่งตีพิมพ์รายงานฉบับนี้ออกมา เพื่อให้ทุกคนได้เห็นภาพที่ชัดเจนล่าสุดของสถานการณ์ของท้องทะเลในปัจจุบัน" Marco Lambertini ผู้อำนวยการ WWF International กล่าว "ภายในช่วงเวลาเพียงหนึ่งชั่วอายุคน กิจกรรมของมนุษย์ได้ทำลายท้องทะเลอย่างรุนแรง ด้วยการจับปลาในอัตราที่รวดเร็วเกินกว่าที่ปลาเหล่านั้นจะขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนขึ้นมาได้ทัน อีกทั้งเรายังทำลายแหล่งอนุบาลตัวอ่อนอีกด้วย การเปลี่ยนแปลงอย่างเข้มข้นจริงจังเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทุกคนจะต้องร่วมกันสร้างเพื่อการรักษาความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลไว้สำหรับคนรุ่นต่อไป"

การวิจัยในรายงานฉบับนี้บ่งชี้ว่า ชนิดพันธุ์สัตว์ทะเลที่มีความสำคัญทางการค้าและการดำรงชีพ ซึ่งหมายถึงแหล่งอาหารของโลกนั้น น่าจะเป็นกลุ่มที่มีการลดปริมาณลงสูงสุด โดยเห็นได้จากจำนวนปลาที่มีการซื้อขายเชิงพาณิชย์ที่ลดลงอย่างมากถึงร้อยละ 74 ในตระกูลปลาที่นิยมนำมาประกอบอาหาร เช่น ปลาทูน่า ตระกูลปลาทู และปลาโอ

"เรากำลังรีบเร่งแข่งกันจับปลา อันจะนำไปสู่จุดจบนั่นคือ ความอดอยากหิวโหยของผู้คนทั่วโลก เนื่องจากแหล่งอาหารได้สูญสิ้นไปพร้อมๆ กับเครื่องมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญ การทำประมงเกินขนาด การทำลายถิ่นอาศัยของสัตว์ทะเล และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ล้วนส่งผลกระทบต่อเนื่องกับประชากรมนุษย์ทั่วโลก โดยชุมชนที่ยากจนที่สุดซึ่งพึ่งพาอาศัยท้องทะเลจะเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบที่รวดเร็วและรุนแรงที่สุด การพังทลายของระบบนิเวศทางทะเลอาจจุดชนวนการถดถอยของภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง และยังเป็นตัวขัดขวางความพยายามในการต่อสู้เพื่อขจัดความยากจนและการขาดแคลนสารอาหารอีกด้วย" Lambertini กล่าว

รายงานฉบับนี้ได้แสดงให้เห็นตัวเลขการลดลงร้อยละ 49 ของประชากรสัตว์ทะเล ในช่วงระหว่างปี 1970 ถึงปี 2012โดยได้มาจากการวิเคราะห์ประชากรสิ่งมีชีวิตจำนวน 5,829 ตัวอย่าง จาก 1,234 ชนิดพันธุ์ ซึ่งถือเป็นข้อมูลในการศึกษาที่ใหญ่เป็นสองเท่าของการศึกษาที่ผ่านมาอันทำให้เราได้ภาพของสภาพปัญหาสุขภาพของท้องทะเลที่ชัดเจนมากขึ้นผลการศึกษานี้ ได้จัดทำบนพื้นฐานหลักการของ Living Planet Index หรือดัชนี้ชี้วัดความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่เก็บรวมรวมและวิเคราะห์โดย Zoological Society of London (ZSL) และจากรายงาน Living Planet Report 2014 โดยWWF ได้แสดงให้เห็นถึงตัวเลขสถิติที่น่าตกใจ รายงานพิเศษฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อวิเคราะห์ถึงผลกระทบจากการทำประมงเกินขนาด การทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล

นอกเหนือจากปัญหาการลดลงของประชากรปลา รายงานนี้ยังแสดงให้เห็นถึงการสูญเสียอย่างรวดเร็วของแนวปะการังป่าชายเลน และหญ้าทะเลซึ่งเป็นระบบที่ค้ำจุนพันธุ์ปลาและมีคุณูปการแก่มนุษย์ด้วย โดยตัวเลขในรายงานนี้ระบุว่าปลาจำนวนถึงหนึ่งในสามของการศึกษาต้องพึ่งพาอาศัยแนวปะการัง และพบว่าชนิดพันธุ์ปลากลุ่มนี้ลดจำนวนลงอย่างน่าเป็นห่วงถึงร้อยละ 34 ในช่วงระหว่างปี 1979 ถึงปี 2010

ผลการวิจัยบ่งชี้ว่า แนวปะการังอาจสูญสิ้นไปจากโลกภายในปี 2050 อันเป็นผลเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แนวปะการังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลจำนวนมากกว่าร้อยละ 25 และมนุษย์อีก 850 ล้านคนได้รับประโยชน์และบริการจากแนวปะการัง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ดังนั้นหากโลกสูญเสียปะการัง ย่อมถือเป็นความหายนะ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องอย่างรุนแรงต่อชุมชนต่างๆ

"ท้องทะเลและมหาสมุทรเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่เราจะขาดไม่ได้ เรามีชีวิตอยู่โดยอาศัยอากาศบริสุทธิ์ อาหารและบริการที่ท้องทะเลมอบให้ มากไปกว่านั้นท้องทะเลและสัตว์ทะเลต่างๆ ได้ดึงดูดเราให้เข้าหา เช่น การท่องเที่ยวชายทะเล รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นแล้วว่า สัตว์จำนวนหลายพันล้านตัวได้สูญหายไปจากท้องทะเลเพียงในช่วงชีวิตของเรา และสิ่งนี้คือมรดกอันเสื่อมโทรมที่เราจะมอบให้กับลูกหลาน" Ken Norris ผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์ แห่ง ZSLกล่าว

ขณะที่มีการระบุว่าสาเหตุหลักที่คุกคามความหลากหลายในท้องทะเล คือการใช้ประโยชน์อย่างเกินควร การศึกษายังได้พบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลให้มหาสมุทรมีการเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าช่วงเวลาใดๆ ในรอบหลายล้านปี อุณหภูมิที่สูงขึ้นของน้ำทะเลและความเป็นกรดที่มากขึ้นซึ่งมีสาเหตุจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ซ้ำเติมผลกระทบจากการทำประมงเกินขนาด และการคุกคามอื่นๆ เช่น การเสื่อมโทรมของถิ่นอาศัย และสภาวะมลพิษ

นอกเหนือไปจากผลกระทบต่อธรรมชาติ การคุกคามท้องทะเล มีผลให้เกิดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ คิดเป็นมูลค่าอย่างน้อย 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และหากคิดตัวเลขต้นทุนรวมกันทั้งหมด นั่นหมายถึงมูลค่า ถึง 24 ล้านล้านเหรียญเลยทีเดียว ซึ่งตัวเลขนี้ เป็นผลจากการวิจัยที่ผ่านมาของWWF

"แต่ข่าวดี คือ ทางออกในการแก้ปัญหานั้นมีอยู่จริง และเราทราบว่าจำเป็นต้องทำอะไรบ้าง ท้องทะเลและมหาสมุทรเป็นแหล่งทรัพยากรหมุนเวียน ซึ่งสามารถหล่อเลี้ยงคนรุ่นหลังได้ หากเราจัดการกับแรงกดดันต่างๆ ที่มีต่อท้องทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ" Lambertini ยังกล่าวด้วยว่า "หากเราใช้ชีวิตภายใต้ขอบเขตจำกัดของความยั่งยืนท้องทะเลจะยังคงสามารถรักษาความมั่นคงทางอาหาร รักษาวิถีชีวิต เศรษฐกิจ และระบบธรรมชาติโดยรวม มันเป็นสมการง่ายๆ เราจะต้องใช้โอกาสนี้ช่วยเหลือท้องทะเล แก้ไขผลกระทบ และย้อนคืนสู่ความสมบูรณ์ ในขณะที่เรายังสามารถทำได้"

Living Blue Planet Report ได้ชี้แนะถึงโอกาสต่างๆ ในการร่วมมือกันระหว่างรัฐบาล ภาคธุรกิจ และชุมชน เพื่อปกป้อง

ท้องทะเลและมหาสมุทร มาตรการที่สำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรในท้องทะเล ซึ่งรวมถึงการอนุรักษ์และฟื้นฟูต้นทุนธรรมชาติทางทะเล การบริโภคที่ชาญฉลาด และการให้ความสำคัญกับความยั่งยืน

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา การศึกษาอีกฉบับของ WWF พบว่าเงินที่ลงทุนในการจัดตั้งเขตอนุรักษ์ทางทะเลทุกๆ หนึ่งดอลล่าร์ จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนกลับมาถึงสามเท่า ผ่านการจ้างงาน การป้องกันชายฝั่ง และการประมง การวิเคราะห์ครั้งนั้นแสดงให้เห็นว่า การอนุรักษ์ถิ่นอาศัยที่สำคัญเพิ่มขึ้นอาจก่อให้เกิดผลประโยชน์ตอบแทนระหว่าง 490-920 พันล้านเหรียญสหรัฐในช่วงปี 2015 ถึงปี 2050

ในเดือนกันยายน รัฐบาลในประเทศต่างๆ จะร่วมลงนามอย่างเป็นทางการในวาระ 2030 Agenda for Sustainable Development ซึ่งจะมีการทำข้อตกลงในการให้ความสำคัญกับการขจัดความยากจน และเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสุขภาพของท้องทะเล ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้แผนการดำเนินการทั้งในด้านการเมืองและทางการเงินในวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้ ได้ระบุถึงปัญหาการทำลายถิ่นอาศัย การทำประมงเกินขนาด การประมงที่ผิดกฎหมาย และมลภาวะทางทะเลด้วย

รายงานยังได้ระบุอีกด้วยว่า การตัดสินใจที่จะเกิดขึ้น ณ การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ กรุงปารีส ในเดือนธันวาคมนี้ จะส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของท้องทะเลในอนาคต ในปัจจุบัน ข้อผูกพันในระดับนานาชาติยังไม่มีมาตรการใดๆ ที่เพียงพอที่จะหยุดยั้งระดับของอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งภาวะความเป็นกรดของท้องทะเลซึ่งจะก่อให้เกิดหายนะต่อระบบนิเวศท้องทะเลที่มนุษยชาติต้องพึ่งพา

โครงการรณรงค์ระดับนานาชาติของ WWF ภายใต้ชื่อ Sustain Our Seas ได้จัดทำขึ้นเพื่อต่อยอดการทำงานที่องค์กรและพันธมิตรต่างๆ ด้านการอนุรักษ์ท้องทะเลได้ดำเนินการมาเป็นเวลาหลายสิบปี WWF ได้ทำงานร่วมกับรัฐบาล ภาคเอกชน และชุมชนต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้ผู้นำเหล่านั้นจัดทำและปฏิบัติตามมาตรการเร่งด่วนต่างๆ เพื่อที่จะฟื้นฟูและปกปักษ์รักษาไว้ซึ่งความอยู่ดีกินดีและวิถีชีวิตของคนจำนวนหลายพันล้านคนทั่วโลก

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๕๔ กทม. เตรียมปรับปรุงพัฒนาระบบการให้บริการงานทะเบียนสำนักงานเขต
๑๗:๑๗ สมาคมเพื่อนชุมชน ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวทางลดก๊าซเรือนกระจก
๑๗:๔๑ กทม. เร่งติดตั้งเสา-ตะแกรงรั้วกั้นเกาะกลางถนนวิสุทธิกษัตริย์ที่ถูกรถชนเสียหาย
๑๗:๐๔ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ขอเชิญชวนนักศึกษา และบุคคลทั่วไป เข้าร่วมงาน M-Sci JOB FAIR 2024 หางานที่ใช่ สร้างงาน สร้างโอกาส วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.00-16.00 น. ณ หอประชุม รักตะกนิษฐ
๑๗:๒๘ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค นำเสนอโซลูชั่นดิจิทัลลุยตลาดอาคารอัจฉริยะเพื่อความยั่งยืน
๑๖:๒๙ จิม ทอมป์สัน เผยทิศทางการพา แบรนด์ผ้าเมืองไทย ผงาดเวทีโลก ส่องกลยุทธ์การครีเอตผลงานคุณภาพให้สอดรับเทรนด์สิ่งทอระดับสากล
๑๖:๓๘ อาดิดาสจับมือนักฟุตบอลระดับตำนาน ส่งแคมเปญ 2006 JOSE 10 สร้างแรงบันดาลใจและความเป็นไปได้อันไร้ขีดจำกัดให้กับเหล่านักฟุตบอลเยาวชนหญิง
๑๖:๑๐ Maison Berger Paris พาชมเครื่องหอมบ้าน 2 คอลเลคชั่นใหม่ MOLECULE และ JOY จัดเต็มเซ็ตของขวัญ ครบทุกรูปแบบความหอม สร้างบรรยากาศหรูหราพร้อมกลิ่นหอมบริสุทธิ์
๑๖:๕๗ กทม. เตรียมระบบเฝ้าระวัง-ควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 หลังเทศกาลสงกรานต์
๑๕:๑๕ NCC. ผนึก ททท. ขยายตลาดท่องเที่ยวมูลค่าสูง ชี้ตลาดท่องเที่ยวเฉพาะทาง (Niche Market) โต ลุยจัดงาน Thailand Golf Dive Expo plus OUTDOOR Fest