ดัชนีภาคอุตสาหกรรมฯ ก.ย. 58 ตบเท้าปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน!! ส่วนค่าดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวสูงสุดในรอบ 10 เดือน

พุธ ๑๔ ตุลาคม ๒๐๑๕ ๑๐:๕๖
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนกันยายน 2558 จำนวน 1,201 ราย ครอบคลุม 44 กลุ่มอุตสาหกรรม ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ร้อยละ31.6, 37.6 และ 30.8 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 43.1,13.0,13.4,11.2 และ 19.3 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 81.5 และ18.5 ตามลำดับ โดยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2558 อยู่ที่ระดับ 82.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 82.4 ในเดือนสิงหาคม ทั้งนี้ ค่าดัชนีฯที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ในเดือนกันยายน 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน จากการที่มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเพื่อจำหน่ายในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี โดยเฉพาะคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการต่างขยายตลาดและการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการอ่อนค่าของเงินบาทเป็นปัจจัยบวกต่อภาคการส่งออกในเดือนนี้

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 102.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ102.0 ในเดือนสิงหาคม โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น เกิดจากองค์ประกอบยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ซึ่งผู้ประกอบการเชื่อมั่นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย การใช้จ่ายโครงการลงทุนขนาดเล็ก และการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs จะเป็นปัจจัยบวกในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของของกิจการ ในเดือนเดือนกันยายน 2558 จากการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมทุกขนาด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม

โดย อุตสาหกรรมขนาดย่อม ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกันยายน 2558 อยู่ที่ระดับ 73.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 72.9 ในเดือนสิงหาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรม ขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมยา, อุตสาหกรรมสมุนไพร, อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.3 เพิ่มขึ้นจาก 98.3 ในเดือนสิงหาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

อุตสาหกรรมขนาดกลาง มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกันยายน 2558 อยู่ที่ระดับ 81.7เพิ่มขึ้นจาก 79.2 ในเดือนสิงหาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาล, อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ และอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 103.8 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 103.2 ในเดือนสิงหาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

ด้าน อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกันยายน 2558 อยู่ที่ระดับ 93.9 เพิ่มขึ้นจากระดับ 93.5 ในเดือนสิงหาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ อุตสาหกรรมพลาสติก, อุตสาหกรรมเคมี และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับอยู่ที่ระดับ 104.5 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 104.0 ในเดือนสิงหาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

ผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนกันยายน 2558 จากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออก ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ปรับตัวลดลงจากเดือนสิงหาคม

ภาคกลาง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกันยายน 2558 อยู่ที่ระดับ 84.8 เพิ่มขึ้นจากระดับ 83.4 ในเดือนสิงหาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้น ในเดือนนี้ ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านบวกต่อ ค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร (สินค้าประเภทอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป มีคำสั่งซื้อจากประเทศไต้หวัน, แคนาดา, ออสเตรเลีย เพิ่มขึ้น การส่งออกทูน่ากระป๋องไปยังตลาดอเมริกาเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมพลาสติก (เนื่องจากบรรจุภัณฑ์พลาสติก (Packaging) มียอดคำสั่งซื้อจากประเทศเวียดนาม สิงค์โปร์ และญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น ชิ้นส่วนพลาสติก มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น จากความต้องการใช้ในกลุ่มรถยนต์และรถจักรยานยนต์) อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม (สินค้าประเภทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า มียอดการส่งออกไปตลาดญี่ปุ่น ยุโรปตะวันออกกลาง เพิ่มขึ้น สินค้าประเภทสมาร์ทโฟน มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น จากการจัดงานส่งเสริมการขาย Mobile Expo) สำหรับอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมรองเท้า (สินค้าประเภทรองเท้าสำเร็จรูปมียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากกำลังซื้อภายในประเทศลดลง ประกอบต้นทุนในการผลิตที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การส่งออกรองเท้าผ้าใบ ไปประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลดลงเนื่องจากประเทศคู่ค้าชะลอคำสั่งซื้อ) อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.8 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 101.2 ในเดือนสิงหาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

ภาคเหนือ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกันยายน 2558 อยู่ที่ระดับ 81.7 เพิ่มขึ้นจากระดับ 77.2 ในเดือนสิงหาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ หัตถอุตสาหกรรม (ผลิตภัณฑ์ OTOP เช่น ผ้าพันคอ กระเป๋าผ้า ของที่ระลึกจากผ้า มียอดการส่งออกไปประเทศสิงคโปร์เพิ่มขึ้น เนื่องจากการออกแบบสินค้าได้ตรงตามความต้องการของตลาด ขณะที่การส่งออกสินค้าประเภทผ้าบาติกและของตกแต่ง มียอดส่งออกไปตลาดญี่ปุนและสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ (ผลิตภัณฑ์กระดาษสา และกระดาษแข็ง มียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง และสหรัฐ และมีคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น จากบริษัทเอกชนและหน่วยงานภาครัฐ) อุตสาหกรรมเซรามิก (เนื่องจากสินค้าประเภทสุขภัณฑ์และกระเบื้องเซรามิก มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์ภาชนะเซรามิค มียอดคำสั่งซื้อไปตลาดดูไบ ญี่ปุ่น และยุโรปเพิ่มขึ้น) ทั้งนี้ อุตสาหกรรมในภาคเหนือ ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ (เส้นใยสิ่งทอ และผ้าผืน มีการชะลอการสั่งซื้อจากตลาดอาเซียน และจีน ส่งผลให้ผู้ผลิตมี สต๊อกสินค้าค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 105.8 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 105.3 ในเดือนสิงหาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกันยายน 2558 อยู่ที่ระดับ 75.5 ปรับตัวลดลงจากระดับ 78.4 ในเดือนสิงหาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน (ผลิตภัณฑ์กระเบื้องปูพื้นและบุผนัง มียอดการส่งออกไปตลาด CLMV ลดลง เนื่องจากจากลูกค้ามีสต๊อกสินค้าในปริมาณที่สูง ขณะที่ยอดขายในประเทศลดลง), อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (สินค้าประเภทเสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องแต่งกาย มียอดคำสั่งซื้อที่ลดลงของตลาดคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป), อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (สินค้าประเภทปุ๋ยชีวภาพและน้ำสกัดชีวภาพ มียอดขายในประเทศลดลง) สำหรับ อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาล (คำสั่งซื้อในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น จากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าประเภทน้ำตาลทรายขาว มียอดการส่งออกไปตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้น) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.3 เพิ่มขึ้นจากระดับ 100.3 ในเดือนสิงหาคมองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวมปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

ภาคตะวันออก มีดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกันยายน 2558 อยู่ที่ 91.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 84.1 ในเดือนสิงหาคม ทั้งนี้ องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณ การผลิต และผลประกอบการ โดยอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรม ปิโตรเคมี (มีคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ เพิ่มขึ้น เพื่อใช้ผลิตถุงพลาสติก เครื่องสำอางและขวดน้ำ) , อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น (สินค้าประเภทคอมเพรสเชอร์ มียอดการส่งออกไปตลาดญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้น สำหรับตลาดในประเทศมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในช่วงปลายปี), อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ (สินค้าประเภทอะไหล่จักรยานยนต์ มียอดการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น และอาเซียน เพิ่มขึ้น สินค้าช่วงล่างรถยนต์ และตลับลูกปืนรถยนต์มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศญี่ปุ่น) สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมอลูมิเนียม (ผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนอลูมิเนียม ข้อต่อบานพับต่างๆ เทปอลูมิเนียมฟอยล์แบบมีเส้นใย และถังโลหะ มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากลูกค้าชะลอการสั่งซื้อประกอบกับการแข่งในตลาดสูง) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 101.5 เพิ่มขึ้นจาก 100.4 ในเดือนสิงหาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

ส่วน ภาคใต้ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกันยายน 2558 อยู่ที่ระดับ 79.5 ลดลงจากระดับ 85.0 ในเดือนสิงหาคม ทั้งนี้ องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ส่วนอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านลบ ต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง (ยางดิบและยางแผ่นรมควันมีราคาลดลง ขณะที่ยอดคำสั่งซื้อจากประเทศญี่ปุ่น สหรัฐฯ และจีนลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ายังไม่ดี ขณะที่น้ำยางข้น 60% มียอดการส่งออกไปประเทศจีน ไต้หวัน และเวียดนามลดลงเช่นกัน), อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (ผลปาล์มดิบมีปริมาณล้นตลาด ส่งผลให้ราคาลดลง ขณะที่ปริมาณน้ำมันปาล์มในสต็อกของผู้ประกอบการยังมีปริมาณสูง), อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ (สินค้าประเภทไม้ยางพาราแปรรูปมียอดคำสั่งซื้อจากประเทศจีน อินโดนีเชีย ลดลงเนื่องจากลูกค้ามีสต๊อกสินค้าจำนวนมาก ขณะที่คำสั่งซื้อไม้แปรรูปในประเทศชะลอตัว) อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 103.6 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 103.5 ในเดือนสิงหาคมองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศกับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) โดยจากการสำรวจพบว่า ในเดือนกันยายน 2558 ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากในเดือนสิงหาคม

กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกันยายน อยู่ที่ระดับ 81.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 80.8 ในเดือนสิงหาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง, อุตสาหกรรมแก้วและกระจก, อุตสาหกรรมหล่อโลหะ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 101.7 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 101.3 ในเดือนสิงหาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกันยายน อยู่ที่ระดับ 90.2 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 89.8 ในเดือนสิงหาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ เพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ, อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโละหะการ และอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็คทรอนิกส์และโทรคมนาคม เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 106.6 เพิ่มขึ้นจากระดับ 105.1 ในเดือนสิงหาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบและ ผลประกอบการ

สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดำเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2558 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมัน ส่วนปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก สถานการณ์การเมืองในประเทศ อัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนกันยายน ได้แก่ อยากให้ภาครัฐเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะงบลงทุนในโครงการที่รัฐบาลได้อนุมัติไปแล้ว รวมถึงกำหนดแผนปฏิบัติงานให้เป็นรูปธรรมและเป็นไปตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เร่งเจรจาการค้ากับประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ เพื่อขยายตลาดและลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน พร้อมทั้งต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนหรือรูปแบบ PPP (Public–Private Partnership) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานด้วย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑ เม.ย. อ.อ.ป. ร่วม พิธีสรงน้ำพระ ขอพร เนื่องในวันสงกรานต์ประจำปี 2567 ทส.
๑๑ เม.ย. 1 จาก 1,159 ศูนย์การค้า เดอะ พาลาเดียม เวิลด์ ช้อปปิ้ง ส่งมอบลอตเตอรี่ที่ไม่ถูกรางวัล จำนวน 125,500 ใบ ให้กับศูนย์สาธารณสงเคราะห์เด็กพิเศษ วัดห้วยหมู
๑๑ เม.ย. JPARK ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผถห. อนุมัติปันผล 0.0375 บาทต่อหุ้น
๑๑ เม.ย. สเก็ตเชอร์ส สนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อความสบายแก่บุคลากรทางการแพทย์ บริจาครองเท้ารุ่น GOwalk 7(TM) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์
๑๑ เม.ย. ศูนย์คนหายไทยพีบีเอส ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทำงานเชิงป้องกัน เก็บก่อนหาย ในผู้สูงอายุ
๑๑ เม.ย. จุฬาฯ อันดับ 1 ของไทย การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย QS WUR by Subject 2024
๑๑ เม.ย. ครั้งแรกในไทย 'Pet Us' เนรมิตพื้นที่จัดกิจกรรม มะหมามาหาสงกรานต์ ชวนน้องหมาทั่วทั้ง 4 ภาคร่วมสนุกในช่วงสงกรานต์ 13-14 เมษายน ตอกย้ำความสำเร็จฉลอง 'Pet Us' ครบ 3
๑๑ เม.ย. LINE STICKER OCHI MOVE จาก OCEAN LIFE ไทยสมุทร คว้ารางวัลชนะเลิศ Best Sponsored Stickers in Insurance ในงาน LINE THAILAND AWARDS
๑๑ เม.ย. วว. ผนึกกำลังหน่วยงานเครือข่าย พัฒนาเชื่อมโยงการค้า ตลาด วิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
๑๑ เม.ย. บริษัท เค วัน วัน ดี จำกัด ถือฤกษ์ดีจัดพิธีบวงสรวง ซีรี่ส์ Girl's Love เรื่องใหม่ Unlock Your Love : รักได้ไหม ?