มธ. แนะรัฐวางนโยบายรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมไทย เสนอเพิ่มโอกาสทำงานผู้สูงอายุ อัพ GDP ประเทศเพิ่มร้อยละ 4 – 9

จันทร์ ๐๒ พฤศจิกายน ๒๐๑๕ ๑๑:๐๕
มธ. จัดสัมมนาวิชาการ "เหลียวหลัง แลหน้า เศรษฐกิจสังคมไทย" ชี้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้เพิ่มขึ้น พร้อมเสนอมาตรการเพิ่มโอกาสทำงานผู้สูงอายุวัย 60-79 ปี ช่วยสร้างรายได้หลังวัยเกษียณ 44,268 - 165,295 บาทต่อคนต่อปี

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยคณะเศรษฐศาสตร์ ชี้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้เพิ่มขึ้น แนะรัฐขยายโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษาของประชาชน ควบคู่ไปกับการพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีความรู้ และทักษะฝีมือเทียบเท่ามาตรฐานสากล แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในสังคมไทยให้ลดน้อยลง พร้อมเสนอมาตรการเพิ่มโอกาสทำงานในกลุ่มผู้สูงอายุวัย 60-79 ปี ที่ยังสามารถทำงานได้ หวังเพิ่มรายได้หลังวัยเกษียณอายุ ซึ่งจะช่วยขยับฐาน GDPประเทศได้ถึงร้อยละ 4.74-9.35 และส่งผลให้รัฐบาลมีรายได้ภาษีเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 33,279- 65,994 ล้านบาทต่อปี รับมือการเปลี่ยนแปลงทางสภาพเศรษฐกิจ สังคม และโครงสร้างทางประชากรของสังคมไทย ที่กำลังมุ่งสูงสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบในปี 2568 ทั้งนี้ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดสัมมนาวิชาการประจำปี 2558 "เหลียวหลัง แลหน้า เศรษฐกิจสังคมไทย" ในวาระครบรอบ 100 ปี อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดยนำเสนอบทวิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจและสังคมไทยข้างต้น อาทิ "ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย" โดย ดร.พงษ์ธร วราศัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ "สังคมผู้สูงอายุกับการคลังที่สอดคล้อง: บทวิเคราะห์กรณีประเทศไทย" โดย รศ.ดร.เอื้อมพร พิชัยสนิธ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฯลฯ ณ หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ชั้น 3 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ศาสตราจารย์ ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ในวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2558 "เหลียวหลัง แลหน้า เศรษฐกิจสังคมไทย" เพื่อร่วมรำลึกและเชิดชูเกียรติแด่อาจารย์ป๋วย ผู้สร้างคุณประโยชน์อันหลายหลากแก่สังคมไทย โดยเฉพาะการเป็นนักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญชั้นแนวหน้าของประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งถือเป็นแบบอย่างที่ดีของนักเศรษฐศาสตร์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และเนื่องจากสภาพสังคมไทยในปัจจุบันที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านทางสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากร ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสังคมไทย ภายหลังการก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุอย่างเต็มรูปแบบในปี 2568 ดังนั้น การวางนโยบายรัฐเพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไทย จึงถือเป็นความท้าทายที่สำคัญยิ่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะสถาบันการศึกษาที่บริการสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง จึงได้ร่วมนำเสนอข้อมูลวิชาการและบทวิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจและสังคมไทย ผ่านการศึกษาและจัดทำวิจัยของคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อสะท้อนสภาพปัญหาที่แก้จริงและใช้เป็นแนวทางแก้ปัญหาเชิงนโยบายสำหรับหน่วยงานรัฐ

ดร.พงษ์ธร วราศัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากการศึกษาความเหลื่อมล้ำทางรายได้กับความเจริญเติบโตของประเทศไทย โดยใช้ข้อมูลดัชนีชี้วัดทางรายได้และทางสังคม ตั้งแต่ปี 2531-2556 ใน 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉลียงเหนือ และภาคใต้ พบว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การเข้าถึงและการขยายโอกาสทางการศึกษา และการพัฒนาประชากรในวัยทำงาน มีส่วนช่วยทำให้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ลดลง เพราะการศึกษาถือเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมากที่สุดในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ดังนั้น รัฐจึงควรทุ่มเททรัพยากรเพื่อยกระดับการเข้าถึง และพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยเฉพาะในชนบทและต่างจังหวัด เพราะเป็นปัจจัยหลักในการกำหนดอาชีพและรายได้ครัวเรือน

นอกจากนี้ การพัฒนาประชากรในวัยทำงานก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่สามารถช่วยขยายอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทยได้ในภาพรวม โดยหน่วยงานรัฐต้องเน้นการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่แก่แรงงาน ผ่านการพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีความรู้ความสามารถและทักษะฝีมือได้มาตรฐานสากล และวิเคราะห์ข้อมูลอุปสงค์และอุปทานความต้องการแรงงาน เพื่อบริหารจัดการกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการในสาขาที่คลาดแคลนทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ โดยมุ่งเน้นให้คนไทยทุกคนมีงานทำในทุกพื้นที่ และส่งเสริมการจ้างงานในทุกกลุ่มและทุกช่วงวัย ควบคู่ไปกับการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการค้าเสรีและประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ตลอดจนเร่งรัดการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ครอบคลุมทุกสาขาอาชีพในอุตสาหกรรมสำคัญ เพื่อให้แรงงานสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ด้าน รศ.ดร.เอื้อมพร พิชัยสนิธ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมไทยยังขาดความยืดหยุ่นในโครงสร้างเชิงนโยบายที่เอื้อให้ผู้สูงอายุทุกสถานะและทุกระดับการศึกษา สามารถคงความกระฉับกระเฉงได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในระบบองค์กรของหน่วยเศรษฐกิจในภาคส่วนต่างๆ งานวิจัยสังคมผู้สูงอายุที่พึงปรารถนากับการคลังที่สอดคล้อง :บทวิเคราะห์กรณีประเทศไทย จึงได้เสนอแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมและวิเคราะห์สถานการณ์จำลองที่สังคมไทย ควรสร้างทางเลือกการทำงานเพื่อนำไปสูชีวิตหลังวัยเกษียณอันพึงปรารถนา (employment options to support desirable life after retirement) ควบคู่ไปกับการเงินการคลังที่เกื้อหนุนให้สภาวะอันพึงปรารถนานั้นมีความยั่งยืน โดยในกระบวนการทำวิจัยคณะผู้จัดทำได้หยิบยกตัวอย่างการใช้เครื่องมือของภาครัฐ ประกอบด้วย "กฎหมายแรงงาน" และ "แรงจูงใจทางภาษี" เพื่อให้เกิดโครงสร้างการจ้างงานที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุระหว่าง 60-79 ปีที่ยังทำงานได้

ผลการวิจัยพบว่าหากสามารถกระตุ้นให้อย่างน้อยร้อยละ 50 ของผู้สูงอายุที่ยังสามารถทำงานได้ในช่วงอายุดังกล่าว เข้าร่วมในตลาดแรงงานโดยทำงานในลักษณะที่เหมาะสมกับอายุ จะก่อให้เกิดรายได้ส่วนเพิ่มในผู้สูงอายุอีกประมาณ 44,268 - 165,295บาทต่อคนต่อปี ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ GDP เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.74 - 9.35 ซึ่งการเพิ่มขึ้นของรายได้และ GDPจะส่งผลให้รัฐบาลมีรายได้ภาษีเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 33,279- 65,994 ล้านบาทต่อปี ซึ่งหากสมมติว่ารัฐนำเงินรายได้ภาษีเหล่านี้ ไปช่วยสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายขั้นพื้นฐานของผู้สูงอายุจะจัดสรรได้โดยเฉลี่ยประมาณ 4,000 บาทต่อคนต่อปี จึงกล่าวได้ว่าการใช้มาตรการกระตุ้นการมีส่วนร่วมของแรงงานผู้สูงอายุ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างองค์กรในภาครัฐ รวมทั้งกลไกการขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วนในสังคม จะสามารถช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถเลี้ยงตัวเองได้ บนพื้นฐานความยั่งยืนทางการคลังและการมีคุณภาพชีวิตที่ดี รศ.ดร.เอื้อมพร กล่าวสรุป

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งมั่นสู่การเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อสังคมไทย ผ่านการปลูกฝังจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ต่อบุคลากรและนักศึกษา ด้วยการยึดมั่นในความเป็นธรรม การมีจิตสาธารณะ และการมีความรับผิดชอบต่อสังคม ควบคู่ไปกับการสร้างบัณฑิตยุคใหม่ให้มีคุณสมบัติผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21 สอดรับตามแนวคิด "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.. มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง" สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทร.02-613-3030

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๔:๓๙ สมาคมธนาคารไทย ออกแนวทางช่วยเหลือเพิ่มเติม เพื่อลดภาระดอกเบี้ยให้กลุ่มเปราะบางทั้งลูกค้าบุคคลและSME
๑๔:๐๒ ผู้ลงทุนเชื่อมั่น โลตัส (Lotus's) จองซื้อหุ้นกู้เต็มจำนวน 9 พันล้านบาท
๑๔:๑๕ สมัครบัตรกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ วีซ่า รูดช้อปรับคุ้ม! รับเครดิตเงินคืนสูงสุด 5%
๑๔:๔๘ MASTER ประชุมผู้ถือหุ้นปี 67 ผ่านฉลุย ไฟเขียวจ่ายปันผล เดินหน้าสร้างโอกาสโตตามกลยุทธ์ MP
๑๔:๔๓ ธนาคารกรุงเทพ จับมือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนาม MOU ส่งเสริมการผลิตบุคลากร-พัฒนาศักยภาพ-ถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีดิจิทัล
๑๔:๒๐ ITEL จัดประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผถห. เห็นชอบทุกวาระ อนุมัติจ่ายปันผลอัตรา 0.0696 บ./หุ้น
๑๔:๒๙ ไทยพาณิชย์ ตอกย้ำกลยุทธ์ Digital Bank with Human Touch เปิดตัว โปรจีน อาฒยา นักกอล์ฟหญิงระดับโลก เป็น Brand
๑๔:๓๐ KCG จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2567 พร้อมอนุมัติจ่ายปันผล 0.30 บาทต่อหุ้น
๑๔:๔๙ บาฟส์ ประกาศความสำเร็จ ลุยขยายโครงข่ายขนส่งน้ำมันทางท่อ เชื่อมต่อเครือข่ายพลังงานทั่วไทย
๑๔:๓๙ บีโอไอจับมือพันธมิตร จัดงาน SUBCON Thailand 2024