เปิดแล้ว “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2558” พลาดไม่ได้!!! กับ 4D Simulator พบกับสุดยอดเทคโนโลยี นวัตกรรม และตั๊กแตนไทยชนิดใหม่ของโลก

จันทร์ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๐๑๕ ๐๙:๕๗
เริ่มแล้วอย่างยิ่งใหญ่กับงาน "มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2558" (National Science and Technology Fair 2015) ภายใต้แนวคิด "จุดประกายความคิด?พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม" โดยรวมสุดยอดนิทรรศการและกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมทั้งในและต่างประเทศ มาจัดแสดงอย่างอลังการ พลาดไม่ได้กับไฮไลท์ 4D Simulator เรือมหัศจรรย์ The Tomorrow Ship ในรูปแบบ 4D Effect สมจริง พร้อมพบกับหุ่นยนต์โรโบเทสเปียน ฮิวมานอยด์สุดอัจฉริยะ และตั๊กแตนไทยชนิดใหม่ของโลกที่ค้นพบได้เฉพาะในประเทศไทย วันที่ 14-25 พฤศจิกายน 2558 ณ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวในการเป็นประธานในพิธีเปิดงาน "มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2558" ณ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ว่า มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2558 จัดขึ้นเนื่องในสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช "พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย" และ "พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย" พร้อมกันนี้เพื่อร่วมฉลองวาระสำคัญทางวิทยาศาสตร์ที่องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้ปีนี้เป็น "ปีดินสากล" (UN International Year of Soils) และ "ปีสากลแห่งแสง" (UNESCO International Year of Light) ตามมติขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติอีกด้วย ภายใต้แนวคิด "จุดประกายความคิด?พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม" มหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ถือเป็นกิจกรรมที่ยิ่งใหญ่แห่งปีระดับประเทศ และแถบภูมิภาคเอเชีย ในการแสดงผลงานความก้าวหน้าและศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ที่ทันสมัย และศักยภาพของนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ของไทย โดยการผนึกกำลังร่วมกันของ 9 กระทรวง 7 ประเทศ มากกว่า 100 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน และปีนี้ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างประเทศมากกว่า 10 หน่วยงานเข้าร่วมจัดกิจกรรมแสดงความก้าวหน้าทาง วทน. ได้แก่ ญี่ปุ่น (11 หน่วยงาน) จีน เกาหลีใต้ เวียดนาม สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์ การค้นคว้าใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์มาจัดแสดงและให้ความรู้จำนวนมากเต็มพื้นที่ในงาน อันจะเป็นการกระตุ้นความสนใจแก่นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนที่ต้องเติบโตและเป็นกำลังสำคัญของประเทศในวันข้างหน้า ในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปต่อยอดเพื่อพัฒนาชีวิต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศต่อไป

รศ. ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวเสริมถึงความยิ่งใหญ่ของงานนี้ว่า มหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ในปีนี้ มีการดำเนินการปรับปรุงรูปแบบการจัดแสดงนิทรรศการให้ทันสมัยยิ่งขึ้น เพิ่มกิจกรรมและองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สำหรับทุกเพศทุกวัยให้ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ ร่วมสนุกและทดลองอย่างเพลิดเพลิน สำหรับนิทรรศการที่ไม่ควรพลาด คือ นิทรรศการ Royal Pavilion นิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" พบกับนิทรรศการย้อนอดีตไปเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ย้อนรอยสยามประเทศ "แสงสว่างแห่งปัญญา สยามประเทศก้าวหน้าสู่อารยะ" ชมพระวิสัยทัศน์และพระอัจฉริยภาพ และพระราชกรณียกิจที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ที่สำคัญของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์ นิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช "พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย" และ "พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย" ชื่นชมกับแสงสว่างจากปัญญาพระราชทาน สู่งานพัฒนา เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ที่แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ที่ทรงนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาทดลองประยุกต์ใช้จนบรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนไทยให้อยู่ดีกินดีได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอผลงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของพระบรมวงศานุวงศ์อีกด้วย

ที่สำคัญในปีนี้ ยังมีวาระสำคัญทางวิทยาศาสตร์ที่องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้ปีนี้เป็น "ปีดินสากล" (UN International Year of Soils) และ "ปีสากลแห่งแสง" (UNESCO International Year of Light) จึงได้จัดให้มีโซนพิเศษที่ไม่ควรพลาดเช่นกัน คือ นิทรรศการดินดีชีวิตดี ใน Soil Pavilion เพื่อเทิดพระเกียรติคุณและพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะทรงเป็น "นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม" (Humanitarian Soil Scientist)?ที่ทรงสร้างคุณูปการให้กับประเทศชาติและนานาชาติจนเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วกัน นิทรรศการแสงคือชีวิต ใน Light is Life Pavilion ที่จะทำให้เราเข้าใจเรื่องราวของแสงกับชีวิต ท่องเข้าไปในอุโมงค์ที่จะทำให้เราได้ทดลองสัมผัสความรู้สึก "หากไร้แสงสว่าง...ปราศจากการมองเห็น" แล้วเราจะเป็นเช่นไร

ดร.พิเชฐ ได้กล่าวแนะนำถึงนิทรรศการหลักเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการที่ให้ความรู้ความเข้าใจและสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นในสังคม และเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันทั้งในปัจจุบันและอนาคต อาทิ นิทรรศการสู้...วิกฤตลมฟ้าอากาศ สัมผัสประสบการณ์ 4D Simulator ที่ทุกคนรอคอย กับการจำลองสถานการณ์ให้ผู้ชมอยู่บนเรือมหัศจรรย์ ล่องไปท่ามกลางอุบัติภัยทางธรรมชาติ ด้วย 4D Effect สมจริง เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับโลกของเราและการช่วยกันแก้ปัญหาเพื่อการดำรงอยู่อย่างสมดุลบนโลกใบนี้ นิทรรศการความหลากหลายสู่ความยั่งยืน เพลิดเพลินกับการค้นหาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านภาพยนตร์ 3 มิติ เรื่อง การกำเนิดโลก และไฮไลท์ที่จะได้พบกับการค้นพบสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ของโลกที่พบได้เฉพาะถิ่นของไทยถึง 4 ชนิด ได้แก่ ตั๊กแตนแม่โจ้แพร่ มดต้นไม้สิรินธร มดหนามสาครและจิ้งหรีดต้นไม้สะแกราช นิทรรศการดิจิตอลเพื่ออนาคต พบหุ่นยนต์โรโบเทสเปียน (Robo TheSpian) ฮิวมานอยด์สุดอัจฉริยะ จากประเทศอังกฤษ ที่ถูกออกแบบให้มีโครงสร้างและการเคลื่อนไหวคล้ายมนุษย์ และสามารถตอบสนองความต้องการของมนุษย์ นิทรรศการของเล่นภูมิปัญญาไทยและนิทรรศการช้างไทย ที่นำเรื่องไทยๆ ความเชื่อมานำเสนอในมุมมองวิทยาศาสตร์ และกิจกรรมสำหรับเยาวชน ได้แก่ ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ลานกิจกรรมพัฒนาปัญญาเยาว์ สำหรับเด็กก่อนวัยเรียน ลานกิจกรรมประกวดแข่งขัน แสดงผลงานและสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ ห้องฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ กิจกรรมประชุมสัมมนา กิจกรรมการอบรมสาธิตเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสร้างอาชีพ ตลอดจนการแสดงสินค้าเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ จากหน่วยงานร่วมจัดอีกมากมาย โดยในส่วนของหน่วยงานเหล่านี้ยังมีไฮไลท์ที่น่าสนใจ อาทิ แสงซินโครตรอน แสงจิ๋วทะลวงโลก แสงแห่งเอกภพ รู้จักกาแลกซี่ทางช้างเผือก ผลงาน 3D Printing Design Contest เปียโนล่องหน และสนุกกับกิจกรรม Soil for Life ฯลฯ

พร้อมกันนี้ในวันดังกล่าว ดร.พิเชฐฯ ยังเป็นประธานมอบรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ โครงการประกวดหุ่นยนต์บริการ ประจำปี 2558 โครงการประกวดรางวัลเทคโนโลยีและเครื่องจักรกลยอดเยี่ยม ประจำปี 2558 และการประกวดสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2557-2558 ที่จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนเยาวชนและผู้ประกอบการไทยในการคิดค้นพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้สามารถต่อยอดการผลิตและใช้งานได้จริงในเชิงพาณิชย์ อันจะก่อให้เกิดการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั้งด้านอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของคนในประเทศต่อไป

ทั้งนี้ ดร.พิเชฐ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอเชิญชวนเยาวชนและประชาชนทุกท่านเข้าชมงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ปี 2558 ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และหน่วยงานร่วมจัด ทุ่มเทเต็มที่เพื่อจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ระหว่างวันที่ 14-25 พฤศจิกายน 2558 ณ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมสนุกและเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ทุกคนสามารถเข้าชมได้อย่างเพลิดเพลิน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชมและร่วมกิจกรรม?

สำหรับโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาที่ต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะ ติดต่อได้ที่โทร. 0 2577 9960 เวลาที่เหมาะสมของการเข้าชมสำหรับประชาชนทั่วไป วันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 15.00 - 20.00 น. และวันเสาร์ - อาทิตย์ เวลา 09.00-20.00 น. ติดตามข่าวสารและรายละเอียดงานได้ที่ www.nstf2015.com หรือ facebook : มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐:๕๙ ซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล ให้การต้อนรับอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ศรีปทุม
๒๐:๓๑ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
๒๐:๕๒ Vertiv เปิดตัวดาต้าเซ็นเตอร์ไมโครโมดูลาร์รุ่นใหม่ที่มี AI ในเอเชีย
๒๐:๐๙ พิธีขึ้นเสาเอก เปิดไซต์ก่อสร้าง โครงการ แนชเชอแรล ภูเก็ต ไพรเวท พูลวิลล่า บ้านเดี่ยวบนทำเลทองใจกลางย่านเชิงทะเล
๒๐:๔๖ เขตบางพลัดประสาน รฟท.-กทพ. ปรับภูมิทัศน์ เพิ่มพื้นที่สีเขียวหน้าสถานีรถไฟบางบำหรุ
๒๐:๕๘ ร่วมแสดงความยินดีแก่อธิบดีกรมยุโรป ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ เซ็นทรัลเวิลด์
๒๐:๐๓ กทม. เดินหน้าจัดกิจกรรมริมคลองโอ่งอ่าง ส่งเสริมอัตลักษณ์ กระตุ้นเศรษฐกิจ-การท่องเที่ยว
๒๐:๔๙ พาราไดซ์ พาร์ค ร่วมกับ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พาคุณไปสัมผัสการนวดเพื่อสุขภาพจาก 4 ภูมิภาคของไทย
๒๐:๒๔ Digital CEO รุ่นที่ 7 เรียนรู้เข้มข้นต่อเนื่อง จากวิทยากรชั้นนำของวงการ
๒๐:๒๔ เด็กไทย คว้ารางวัลระดับโลก โดรนไทย ชนะเลิศนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ทางด้านอากาศยานไร้คนขับ UAV ณ กรุงเจนีวา