นักวิชาการ CMMU แนะผู้ประกอบการใช้ FinTech อัพดีกรีการทำธุรกิจในปี 59

อังคาร ๐๘ ธันวาคม ๒๐๑๕ ๑๒:๕๖
กระแสธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup) หรือธุรกิจเกิดใหม่ในกลุ่มดิจิทัลกำลังมาแรงในปัจจุบันเป็นแรงขับเคลื่อนชั้นดีให้คนรุ่นใหม่หันมาให้ความสนใจกับการเริ่มธุรกิจด้วยตัวเองมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งที่มาคู่กับการเริ่มทำธุรกิจก็คือการหาจุดเด่นของสินค้าที่มาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวก ธุรกิจที่สามารถตอบสนองความต้องการให้กับผู้บริโภคได้มากกว่า ย่อมมีโอกาสที่จะอยู่รอดในยุคที่มีอัตราการแข่งขันกันทางธุรกิจสูง โดยสิ่งหนึ่งที่สามารถสร้างการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพในโลกธุรกิจปัจจุบันคือ การจัดการระบบการเงินที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดการซื้อง่ายขายคล่องภายในไม่กี่วินาที จึงเป็นที่มาของเทคโนโลยีฟินเทค หรือ Financial Technology (FinTech)

อาจารย์กิตติชัย ราชมหา อาจารย์ประจำภาควิชาผู้ประกอบการและนวัตกรรม วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ฟินเทคคือการประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัลเข้าสู่การทำธุรกิจและธุรกรรมทางการเงินทำให้เกิดเป็นรูปแบบการร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการและสถาบันการเงินที่เอื้อประโยชน์กันในลักษณะวิน-วิน(Win-win) ทั้งในด้านอำนวยความสะดวกให้แก่การทำธุรกรรมทางการเงินการเพิ่มกิจกรรมทางการเงิน ช่วยให้มีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น โดยเทคโนโลยีดังกล่าวการเริ่มเข้ามามีบทบาทในฐานะบริการทางการเงินรูปแบบใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของนักธุรกิจในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินระดับโลกเมื่อปี 2008 หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ประกอบกับในช่วงนั้นการทำธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบเครดิตเป็นที่ยอมรับมากขึ้นทั้งในด้านผู้ผลิตและผู้บริโภค อีกทั้งการทำธุรกิจแนวใหม่หรือธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup) กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากนักธุรกิจรุ่นใหม่ซึ่งการทำธุรกิจสตาร์ทอัพนั้นฟินเทคถือได้ว่าเป็นกลยุทธ์สำคัญที่นักธุรกิจรุ่นใหม่ไม่สามารถมองข้ามได้ จึงทำให้ฟินเทคกลายเป็นนวัตกรรมมาแรงที่ได้รับความนิยมจากทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ รวมถึงในประเทศไทยเองก็มีกระแสตอบรับจากทางสถาบันการเงิน ผู้สนับสนุนภาคธุรกิจ และนักธุรกิจรุ่นใหม่เป็นอย่างดี

ทั้งนี้สามารถวิเคราะห์ความเชื่อมโยงจากเทคโนโลยีฟินเทคเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ

1. กลุ่มนักธุรกิจและผู้ประกอบการ – ฟินเทคเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกแก่ประกอบการรุ่นใหม่หรือธุรกิจสตาร์ทอัพ ให้สามารถดำเนินกิจการได้ในสถานการณ์การแข่งขันสูงในการทำการตลาดในปัจจุบัน โดยฟินเทคถือเป็นตัวแปรสำคัญที่สามารถเพิ่มยอดการจำหน่ายสินค้าและบริการได้ด้วยการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงิน อีกทั้งการใช้ฟินเทคยังเป็นการลดต้นทุนได้อย่างดีทีเดียว ตัวอย่างธุรกิจที่ฟินเทคเข้าไปเป็นส่วนสำคัญคือ สต็อคเรดาร์ (StockRadars) แอพพลิเคชั่นวิเคราะห์และให้คำปรึกษาในเรื่องการเล่นหุ้น โดยฟินเทคเข้ามาช่วยในการชำระเงินค่าสมัครสมาชิกได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ซึ่งในยุคปัจจุบัน หากธุรกิจรายใหญ่ในตลาดไม่มีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย ธุรกิจรุ่นใหม่อาจผันตัวกลายเป็นคู่แข่งในอนาคตกันใกล้ก็เป็นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจบริการและให้คำปรึกษาเฉพาะด้านผ่านทางเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น ที่ควรให้ความสำคัญกับฟินเทคในฐานะเครื่องมือการตลาดที่ขาดไม่ได้

2. กลุ่มผู้บริโภค – กลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีฟินเทคมากที่สุดคงจะหนีไม่พ้นกลุ่มผู้บริโภคหรือลูกค้า(Consumer) เนื่องจากเทคโนโลยีนี้คิดขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคโดยเฉพาะ ให้สอดคล้องกับด้านพฤติกรรมของการบริโภค อาทิ การเลือกชมสินค้าและบริการผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ และทำการชำระค่าบริการได้อย่างสะดวกสบายผ่านอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งในเวลาเพียงไม่กี่วินาที หรือแม้กระทั่งสามารถเลือกลงทุนให้กับผู้ระดมทุนออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น ธุรกิจใดหรือผลิตภัณฑ์ใดเข้าถึงผู้บริโภคได้ก่อน ธุรกิจนั้นก็จะมีสิทธิ์เป็นผู้ชนะในสมรภูมิการตลาด นอกจากนี้ในระยะยาวยังเป็นตัวแปรสำคัญในการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคในอนาคตอีกด้วย ซึ่งจากสถิติ ในปัจจุบันผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์มากขึ้นถึง 40 เปอร์เซ็นต์จากเดิม

3. กลุ่มสถาบันทางการเงิน และนักลงทุนสถาบัน – สถาบันทางการเงินได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีฟินเทคผ่านทางการเติบโตของกลุ่มนักธุรกิจและผู้ประกอบการ โดยเป็นเสมือนตัวกลางยื่นมือเข้ามาอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ โดยเมื่อผู้ประกอบการต้องการนำระบบฟินเทคมาใช้ สามารถติดต่อสถาบันทางการเงินเพื่อตกลงข้อเสนอร่วมกันในการทำธุรกรรมทางการเงิน การธนาคารและการลงทุน เพื่อหาบริการทางการเงินที่เหมาะสมกับกิจการนั้น ๆ มากที่สุด ซึ่งทางสถาบันทางการเงินเองนั้นจะมีอำนาจในการต่อรองทางด้านผลประโยชน์ อีกทั้งฟินเทคยังเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงินให้กับลูกค้าของธนาคารอีกด้วย

สำหรับประเทศไทย เทคโนโลยีฟินเทคเริ่มเข้ามามีบทบาท ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจสต็อคเรดาร์(StockRadars)ที่ให้คำปรึกษาเรื่องการเล่นหุ้นผ่านแอพพลิเคชั่น ธุรกิจโฟลว์แอคเคาท์(FlowAccount)ที่ให้บริการระบบบัญชีออนไลน์ ตลอดจนธุรกิจช็อคโก้คาร์ด(ChocoCard) หรือธุรกิจบัตรสะสมแต้มจากร้านอาหารในเครือเพื่อเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคในการแลกรางวัลและส่วนลดในครั้งต่อๆไป ธุรกิจเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญานที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของเทคโนโลยีฟินเทคในวงการธุรกิจประเทศไทย

ฟินเทคถือได้ว่าเป็นเครื่องมือที่ดีในฐานะหน้าต่างแห่งโอกาสในการเสริมศักยภาพให้กับธุรกิจสตาร์ทอัพให้เกิดขึ้นและเติบโตได้แบบก้าวกระโดด ไม่เพียงเท่านั้น ฟินเทค ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มการบริหารจัดการอาทิ ลดการฉ้อโกงหรือรั่วไหลทางการเงิน ช่วยการจัดการด้านการออมเงิน ส่งเสริมการวางแผนทางการเงิน ฯลฯ โดยนอกจากธุรกิจสตาร์ทอัพแล้วฟินเทคยังสามารถประยุกต์ใช้กับธุรกิจทั่วไปและใช้ได้กับธุรกิจสินค้าหรือบริการได้ทุกประเภท โดยตัวอย่างธุรกิจทั่วไปที่เหมาะสมกับการใช้ฟินเทค ได้แก่ กลุ่มร้านอาหาร การท่องเที่ยว และอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้จากข้อมูล 3 ปี ย้อนหลัง มูลค่ามวลรวมของธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีฟินเทคเกี่ยวข้อง (FinTech Startup) ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากปี 2556 ที่มีมูลค่ารวมกว่า 3 พันล้านบาท เป็น 12 พันล้านบาทในปี 2557 หรือเติบโตเพิ่มขึ้นปีละ 4 เท่าตัวและมีอัตราการทะยานสูงขึ้นอีกเรื่อยๆในปีนี้และในอนาคต

ปัจจุบันมีหลายสถาบันการศึกษาที่บรรจุหัวข้อนี้ลงไปในรายวิชาการเรียนการสอน รวมถึง วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ได้บรรจุเป็นหนึ่งในวิชาบังคับของนักศึกษาปริญญาโท สาขาผู้ประกอบการและนวัตกรรม โดยรายวิชาดังกล่าวเป็นวิชาที่โดดเด่นและมีบทบาทสำคัญสำหรับผู้สนใจในการทำธุรกิจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก และธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยเนื้อหาจะมีการเปลี่ยนแปลงหัวข้อการเรียนการสอนทุกปีการศึกษา เพื่อให้เนื้อหาเข้ากับกระแสนวัตกรรมใหม่ล่าสุดอยู่เสมอ

สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายวิชาและหลักสูตรข้างต้น สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU)โทรศัพท์ 02-206-2000 หรือเข้าไปที่ www.cmmu.mahidol.ac.th

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4