TCELS จับมือ มจธ. เดินหน้า “พัฒนาระบบเลี้ยงเซลล์อัตโนมัติ” สู่เชิงพาณิชย์ เพื่อรักษาโรคเสื่อม

อังคาร ๒๙ มีนาคม ๒๐๑๖ ๑๖:๔๑
ภาวะเสื่อมสภาพของร่างกายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งอายุสูงขึ้นปัญหาความเสื่อมสภาพย่อมตามมาเช่นกัน ความต้องการเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในการบำบัดรักษาและฟื้นฟูโรคเสื่อมต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งวิจัยและพัฒนาเพื่อรองรับกับความต้องการในอนาคต โดยเฉพาะการพัฒนาคน ทักษะ และวิชาชีพ ด้านการผลิตเซลล์หรือเนื้อเยื่อเชิงพาณชิย์ที่กำลังจะเกิดขึ้นจริงในอีก 10 ปีข้างหน้า และเพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงการรักษาแบบเวชศาสตร์ฟื้นฟูความเสื่อมได้มากขึ้น ดังนั้น จึงเกิดความร่วมมือขึ้นระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ใน " การพัฒนาระบบเลี้ยงเซลล์อัตโนมัติ ในโครงการศูนย์บริการผลิตเซลล์เชิงพาณิชย์ หรือ Automated Tissue Kulture (ATK) " เพื่อผลักดันและกระตุ้นให้เกิดงานวิจัยและธุรกิจทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูภาวะเสื่อมขึ้นในประเทศ

ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า แม้ปัจจุบันความก้าวหน้าของเทคโนโลยีจะยังไม่สามารถนำไปใช้ในการบำบัดรักษาและฟื้นฟูได้เต็มที่ แต่ในอีก 10 ปีข้างหน้าเราจะได้เห็นเทคโนโลยีการผลิตเซลล์เนื้อเยื่อไปจนถึงการผลิตอวัยวะทดแทนทยอยเข้าสู่การใช้งานจริง ดังนั้น เพื่อเป็นการรองรับความต้องการในอนาคต ไทยจำเป็นต้องเร่งทำการวิจัยและพัฒนาระบบเลี้ยงเซลล์อัตโนมัติ รวมทั้งการวิจัยเรื่องเซลล์ การพัฒนานักวิจัยและบุคลากรที่ให้บริการควบคู่กัน

" การนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้เลี้ยงเซลล์จะช่วยลดต้นทุน และจะทำให้อนาคตคนไทยสามารถเข้าถึงการรักษาได้ แต่เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย TCELS ในฐานะผู้เชื่อมต่องานวิจัยจากห้องแล็บไปสู่ต้นแบบจนนำไปสู่การใช้จริงกับผู้ใช้ คือ แพทย์และคนไข้ จึงอยากเห็นงานวิจัยการบำบัดรักษาด้วยเซลล์ผ่านระบบที่มีการผลิตที่ได้มาตรฐานไปใช้งานได้จริงในเชิงพาณิชย์ ดังนั้น สิ่งสำคัญในการพัฒนาระบบเลี้ยงเซลล์อัตโนมัติ จึงต้องมีการพัฒนาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ไปพร้อมกับการพัฒนาด้านชีววิทยาและทางการแพทย์ ซึ่ง มจธ.ถือเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านงานวิจัย และเป็นพันธมิตรที่มีวิสัยทัศน์ที่ดีที่ได้ริเริ่มทำในสิ่งที่สำคัญๆ ต่อประเทศ จึงได้ต่อสัญญาความร่วมมือในโครงการศูนย์บริการผลิตเซลล์เชิงพาณิชย์ ในการพัฒนาระบบเลี้ยงเซลล์อัตโนมัติ เพื่อให้การดำเนินงานของศูนย์ฯเป็นไปอย่างต่อเนื่องและบรรลุวัตถุประสงค์ในการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเซลล์หรือเนื้อเยื่อด้วยระบบอัตโนมัติด้วยระบบอัตโนมัติที่พัฒนาจากเทคโนโลยีเซลล์บำบัดและยีนบำบัดและนำไปสู่การบำบัดรักษาโรคต่างๆ ที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ในปัจจุบัน และผลักดันให้มีการผลิตผลิตภัณฑ์เซลล์และการบริการสู่เชิงพาณิชย์ที่ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดสากล โดยความร่วมมือดังกล่าวได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 2 ปี อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญของโครงการความร่วมมือครั้งนี้ คือ การพัฒนาบุคลากรในเชิงทักษะ ความเชี่ยวชาญ และวิชาชีพสำหรับผู้ที่จะมาทำวิจัย ผู้ดูแลรักษา และผู้ที่จะให้บริการต่อไปในอนาคต"

ด้าน รศ.ดร.บัณฑิต ฟุ้งธรรมสาร รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า มจธ.แม้จะถือเป็นมหาวิทยาลัยขนาดเล็ก แต่ก็เป็นหนึ่งในเก้ามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ เรามีเป้าหมายหลัก คือ การพัฒนาคนให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และในด้านงานวิจัยมหาวิทยาลัยมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาผลิตผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ในแง่ของการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและมีคุณค่าทางสังคม ดังนั้นโครงการศูนย์บริการผลิตเซลล์เชิงพาณิชย์ หรือ Automated Tissue Kulture (ATK) จึงถือเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับปณิธานของมหาวิทยาลัย

" เรื่องนี้ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของมหาวิทยาลัย แม้เราจะไม่ได้มีความชำนาญทางด้านการแพทย์ แต่การวิจัยทางด้านสุขภาพหรืองานวิจัยที่เพิ่มคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยฟื้นฟูภาวะความเสื่อมสภาพของผู้ป่วยผู้พิการหรือผู้ป่วยสูงวัยถือเป็นหนึ่งในจำนวนสาขาวิชาที่มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญ แต่เราก็สามารถดำเนินงานวิจัยที่หลายคนอาจไม่เชื่อว่าเราทำได้ เช่นงานวิจัยนำร่องเรื่องเซลล์บำบัด เพราะเราอาศัยความร่วมมือจากอาจารย์และนักวิจัยที่มีความชำนาญจากหลากหลายสาขาเข้ามาทำงานด้วยกันโดยเฉพาะสาขาทางด้านชีววิทยาหรือเทคโนโลยีชีวิภาพ และวิศวกรรมศาสตร์ สำหรับศูนย์ดังกล่าวยังได้รับความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยโอซาก้าในเชิงเทคนิค และบริษัทชิบูยะ โคเกียว ในเรื่องของระบบอัตโนมัติ ซึ่งนอกจากงบประมาณบางส่วนที่มหาวิทยาลัยให้การสนับสนุนในการทำวิจัยแล้ว ยังได้การสนับสนุนงบประมาณจาก TCELS จำนวนกว่า 50 ล้านบาท จึงเชื่อมั่นว่าความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้มหาวิทยาลัยสามารถเดินหน้าดำเนินการทำวิจัยและพัฒนาเซลล์ที่เป็นประโยชน์ต่อ Regenerative medicine ได้สำเร็จลุล่วง"

นอกจากนี้ รศ.ดร.ขวัญชนก พสุวัต ประธานหลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. และนักวิจัยหลักโครงการศูนย์ให้บริการผลิตเซลล์เชิงพาณิชย์ (ATK) กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวคิดนี้เกิดขึ้นจากที่เห็นผู้เลี้ยงเซลล์นั้นมีความสามารถไม่เท่ากันทำให้คุณภาพและปริมาณเซลล์ที่ออกมาไม่เท่ากัน ดังนั้นในมุมของวิศวกรมองว่าหากควบคุมการผลิตให้สามารถผลิตได้คงที่ในปริมาณมากๆ และผลิตได้ตลอดเวลา เราก็จะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและใช้งานได้จริงมากกว่า จึงเกิดแนวคิดจัดตั้งโครงการศูนย์ให้บริการผลิตเซลล์เชิงพาณิชย์ขึ้น โดยนำความรู้ทางวิศวกรรมที่เรามีมาใช้ เชื่อว่า โครงการนี้จะมีประโยชน์ในการผลักดันงานวิจัยทางด้าน Regenerative medicine ให้เกิดขึ้นได้จริง โดยขณะนี้เราได้ดำเนินการติดตั้งระบบและเครื่องมือสำหรับการเลี้ยงเซลล์อัตโนมัติเรียบร้อยและเริ่มทำการทดสอบไปบ้างแล้ว ซึ่งคาดว่าจะเกิดเป็นรูปธรรมได้ในเร็วๆนี้ นอกจากนี้มีผู้สนใจติดต่อเข้ามาทั้งในและต่างประเทศหลายราย ด้านการพัฒนาคนโครงการได้จัดส่งนักศึกษาไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่ประเทศญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศเพื่อศึกษาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ทำให้หลังจาก 5 ปีนี้เราจะมีกำลังคนในสาขาวิชาชีพนี้ในระดับหนึ่ง ที่จะทำให้สามารถขยายศูนย์ให้บริการฯไปได้หลายๆ โครงการ

อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยหลักภายใต้โครงการศูนย์ให้บริการผลิตเซลล์เชิงพาณิชย์ (ATK) มีด้วยกัน 3 ท่าน ประกอบด้วย ผศ.ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ , ผศ.ดร.ธีรนุช จันทโสภีพันธ์ และ รศ.ดร.ขวัญชนก พสุวัต จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. โดยมีเป้าหมายของโครงการคือการใช้เครื่องเลี้ยงเซลล์อัตโนมัติในระดับอุตสาหกรรม เพราะการนำระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยจะทำให้ต้นทุนการผลิตเซลล์และเนื้อเยื่อต่ำลง อีกทั้งยังสามารถควบคุมคุณภาพการผลิตได้ตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงการรักษาแบบเวชศาสตร์ฟื้นฟูความเสื่อมได้มากขึ้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๗ ไทยพีบีเอสผนึกกำลัง สสส. ผลิต และเผยแพร่เนื้อหาส่งเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว
๑๗:๕๓ NPS ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ประจำปี 2567
๑๗:๐๕ แพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี แนะฤดูร้อนควรทานพืชผักที่มีฤทธิ์เย็นช่วยลดความร้อนในร่างกาย
๑๗:๓๒ แพรนด้า จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566
๑๗:๒๕ RBRU Herb Shot ขยายศักยภาพทางธุรกิจ รุกตลาดอินเดีย
๑๗:๔๘ ไฮเออร์ ประเทศไทย เดินเกมรุกไตรมาส 2 เปิดตัวตู้เย็นรุ่นใหม่ Multi-door HRF-MD679 ตั้งเป้าปี 67 ดันยอดขายตู้เย็นโต
๑๗:๐๕ เอ็น.ซี.ซี.ฯ ประกาศจัดงาน PET EXPO THAILAND 2024 ระดมสินค้า บริการ ลดหนักจัดเต็ม รับกระแส Petsumer ดันตลาดสัตว์เลี้ยงโตแรง
๑๗:๐๖ ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาล ลดอัตราดอกเบี้ย MRR 0.25% ต่อปี พร้อมส่งเสริมวินัยการออม ด้วย เงินฝากออมทรัพย์เก็บออม ดอกเบี้ยสูงถึง 1.95%
๑๗:๔๙ ManageEngine ลดความซับซ้อน ช่วยองค์กรจัดการต้นทุนบนคลาวด์ทั่วมัลติคลาวด์ได้ง่ายขึ้น พร้อมรองรับแพลตฟอร์ม Google Cloud
๑๗:๐๐ เปิดรับสมัครแล้ว HaadThip Fan Run 2024 แฟนรัน ฟันแลนด์ ดินแดนมหัศจรรย์ หาดสมิหลา จ.สงขลา