โพลล์ระบุร้อยละ 80.14 เคยให้ทานกับกลุ่มคนขอทานในสถานที่สาธารณะ แต่มากกว่าสองในสามเชื่อว่ามีกลุ่มคนใช้คนขอทานเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ ร้อยละ 61.58 เห็นด้วยที่จัดให้กลุ่มวนิภกไม่ใช่ขอทาน

พฤหัส ๑๖ มิถุนายน ๒๐๑๖ ๑๔:๕๑
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) แถลงผลการสำรวจพฤติกรรมและความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการให้ทานกับกลุ่มคนขอทานในสถานที่สาธารณะ ซึ่งทำการสำรวจระหว่างวันที่ 23 ถึง 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,153 คน

ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่า ปัญหากลุ่มคนขอทานถือเป็นปัญหาที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาตั้งแต่อดีต แม้ในปัจจุบันผู้คนยังคงสามารถพบเห็นกลุ่มคนขอทานในสถานที่สาธารณะต่างๆ เช่น สะพานลอย บาทวิถี ตามวัด/ศาสนสถาน หรือแม้แต่ตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ทั้งนี้หน่วยงานภาครัฐได้พยายามหาทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับกลุ่มคนขอทานมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากการจับกุมตามกฎหมายแล้วยังมีการส่งกลุ่มคนเหล่านี้ไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ต่างๆเพื่อให้ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตามกลุ่มคนขอทานในสถานที่สาธารณะยังคงไม่หมดไปจากสังคมไทย ประกอบกับด้วยลักษณะนิสัยของคนที่ที่ชอบทำบุญให้ทานจึงยังมีกลุ่มคนที่ให้ทานกับกลุ่มคนขอทานอยู่อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันในปัจจุบันมีกลุ่มคนขอทานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาขอทานซึ่งได้ปรากฎเป็นข่าวอยู่เป็นระยะว่ากลุ่มคนเหล่านี้สร้างความเดือดร้อนรำคาญรวมถึงสร้างอันตรายให้กับผู้คนทั่วไป ขณะที่ผู้คนในสังคมส่วนหนึ่งเชื่อว่ากลุ่มคนขอทานถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อหาผลประโยชน์จากบุคคลหรือกลุ่มคนบางกลุ่ม จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจพฤติกรรมและความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการให้ทานกับกลุ่มคนขอทานในสถานที่สาธารณะ

ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวต่อว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.74 และเพศชายร้อยละ 49.26 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านการพบเห็นกลุ่มคนขอทาน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 31.74 ระบุว่าตนเองเคยพบเห็นกลุ่มคนขอทานอยู่บนสะพานลอยบ่อยที่สุด รองลงมาระบุว่าพบเห็นที่บาทวิถีตามถนนสาธารณะบ่อยที่สุดซึ่งคิดเป็นร้อยละ 23.85 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 13.96 เคยพบเห็นที่วัด/ศาสนสถานบ่อยที่สุด ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่เหลือเคยพบเห็นกลุ่มคนขอทานที่บริเวณสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ สวนสาธารณะ หน้าสถานีขนส่งสาธารณะ/ป้ายรถประจำทาง และหน้าห้างสรรพสินค้า/โรงพยาบาล/สถาบันการศึกษาคิดเป็นร้อยละ 9.8 ร้อยละ 8.59 ร้อยละ 5.46 และร้อยละ 4.34 ตามลำดับ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 2.26 ระบุว่าเคยพบเห็นในสถานที่อื่นๆ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งหรือคิดเป็นร้อยละ 52.12 ระบุว่าในปัจจุบันตนเองพบเห็นกลุ่มคนขอทานที่เป็นคนต่างชาติมากกว่าคนไทย ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 27.32 ระบุว่าพบเห็นพอๆกัน ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 20.56 ระบุว่าพบเห็นคนไทยมากกว่า นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 47.35 มีความคิดเห็นว่าในปัจจุบันตนเองพบเห็นจำนวนกลุ่มคนขอทานลดลงเมื่อเทียบกับในอดีต ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 35.39 มีความคิดเห็นว่ามีจำนวนเท่าเดิม ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 17.26 มีความคิดเห็นว่าเพิ่มขึ้น

ในด้านพฤติกรรมการให้ทาน กลุ่มตัวอย่างถึงประมาณสี่ในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 80.14 ระบุว่าตนเองเคยให้ทานกับกลุ่มคนขอทานในสถานที่สาธารณะ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 19.86 ยอมรับว่าไม่เคยให้ จากจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่ระบุว่าเคยให้ทานกับกลุ่มคนขอทานในสถานที่สาธารณะนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ระบุว่าตนเองให้ทานกับกลุ่มคนขอทานเป็นจำนวนเงิน 3 ถึง 5 บาทโดยเฉลี่ยต่อคน/ต่อครั้งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 43.07 รองลงมาร้อยละ 31.17 ระบุว่าตนเองให้ประมาณ 1 ถึง 2 บาท นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 47.51 เคยให้ทานกับกลุ่มคนขอทานที่ไม่ใช่คนไทย ขณะที่กลุ่มตัวอย่างประมาณหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 33.98 ไม่เคย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 18.51 ไม่แน่ใจ/จำไม่ได้

ในด้านความคิดเห็นต่อปัญหาเกี่ยวกับกลุ่มคนขอทานนั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 54.9 มีความคิดเห็นว่าการเพิ่มโทษกับบุคคลที่นำกลุ่มคนมาขอทานให้หนักขึ้นจะมีส่วนช่วยลดจำนวนกลุ่มคนขอทานได้ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 65.22 มีความคิดเห็นว่าการส่งกลุ่มคนขอทานต่างชาติกลับไปยังประเทศของกลุ่มคนเหล่านั้นโดยไม่มีการลงโทษทางอาญาใดใดอีกจะไม่มีส่วนทำให้กลุ่มคนขอทานต่างชาติลดลงได้ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 67.48 เชื่อว่ากลุ่มคนขอทานส่วนใหญ่ถูกบุคคล/กลุ่มบุคคลนำมาเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ให้กับตนเอง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 59.84 มีความคิดเห็นว่าการจัดให้มีการฝึกอาชีพหรือฝึกความสามารถกับกลุ่มคนขอทานจะมีส่วนช่วยลดจำนวนกลุ่มคนขอทานได้ และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 61.58 เห็นด้วยที่มีการจัดให้กลุ่มผู้แสดงความสามารถในสถานที่สาธารณะ เช่น เล่นดนตรี แสดงมายากล ไม่อยู่ในกลุ่มคนขอทาน ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๒:๑๔ องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๑๒:๑๒ การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๑๒:๔๔ DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๑๒:๑๐ JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๑๒:๒๓ นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๑๒:๕๗ Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๑๒:๒๘ โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๑๒:๑๐ STEAM Creative Math Competition
๑๒:๔๔ A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๑๒:๔๗ ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้