ประชาชน 64.33 เชื่อว่า social media ช่วยทำให้ใกล้ชิดพุทธศาสนาได้มากขึ้น

พุธ ๒๗ กรกฎาคม ๒๐๑๖ ๑๕:๔๑
ประชาชน 64.33 เชื่อว่า social media ช่วยทำให้ใกล้ชิดพุทธศาสนาได้มากขึ้น แต่ร้อยละ71.26 เคยพบเห็นการใช้ social media ไปในทางพุทธพาณิชย์ มากกว่าครึ่งหนึ่งยอมรับเคยพบเห็นพฤติกรรมการใช้ social media ที่ไม่เหมาะสมของพระสงฆ์

ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ของกลุ่มพระสงฆ์ ซึ่งได้ทำการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,169 คน ระหว่างวันที่ 11 ถึง 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่า ในปัจจุบันเครือข่ายสังคมออนไลน์ถือเป็นช่องทางที่สำคัญช่องทางหนึ่งที่ใช้สำหรับเผยแพร่หลักธรรมคำสั่งสอนรวมถึงความรู้ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาเพื่อให้ผู้คนซึ่งนิยมใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ทำกิจกรรมต่างๆได้มีโอกาสเข้าถึงและเรียนรู้เข้าใจเกี่ยวกับหลักธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนาที่ถูกต้อง นอกจากนี้เครือข่ายสังคมออนไลน์ยังใช้เป็นช่องทางเผยแพร่ข่าวสารกิจกรรมทางพุทธศาสนาต่างๆ เช่น การสวดมนต์ การนั่งสมาธิ การร่วมสร้างพระพุทธรูป เป็นต้น ด้วยเหตุดังกล่าวจึงมีผู้ใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ส่วนหนึ่งที่เป็นกลุ่มพระสงฆ์ซึ่งใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ตามวัตถุประสงค์ข้างต้นรวมถึงใช้เพื่อเทศนาอบรมสั่งสอนและตอบปัญหาธรรมะ จึงมีผู้ใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้มีสถานะเป็นเพื่อนหรือกดติดตามเครือข่ายสังคมออนไลน์ของกลุ่มพระสงฆ์ แต่อย่างไรก็ตามเป็นที่ทราบและพบเห็นกันโดยทั่วไปว่ามีพระสงฆ์กลุ่มหนึ่งที่นำเครือข่ายสังคมออนไลน์มาใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น ใช้ลงรูปภาพต่างๆที่ไม่เหมาะสม เขียนข้อความที่ไม่เหมาะสม สนทนาในเรื่องที่ไม่เหมาะสม หรือนำมาใช้ในเชิงพุทธพาณิชย์ ดังที่ได้ปรากฏเป็นข่าวอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ผู้คนในสังคมออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงพฤติกรรมการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ของกลุ่มพระสงฆ์รวมทั้งตั้งข้อสังเกตถึงความเหมาะสมในการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ของกลุ่มพระสงฆ์

จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ของกลุ่มพระสงฆ์

ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวต่อว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.98 และร้อยละ 49.02 เป็นเพศชาย อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป สามารถสรุปผลได้ดังนี้

ในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับพระพุทธศาสนากับเครือข่ายสังคมออนไลน์ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 64.33 มีความคิดเห็นว่าเครือข่ายสังคมออนไลน์จะสามารถช่วยทำให้ผู้คนได้ใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนาได้มากขึ้น ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 62.79 มีความคิดเห็นว่าการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์เผยแพร่หลักธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนาจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ผู้คนหันมาให้ความสนใจศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนาได้มากขึ้น นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 58.77 มีความคิดเห็นว่าการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์เผยแพร่หลักธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนาจะมีส่วนทำให้ผู้คนเข้าใจหลักธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนาได้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 74.08 มีความคิดเห็นว่าในปัจจุบันมีการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์เผยแพร่หลักธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนาที่ไม่ถูกต้อง/ผิดไปจากหลักธรรมคำสั่งสอนที่แท้จริง

ในด้านพฤติกรรมการเป็นเพื่อน/กดติดตามเครือข่ายสังคมออนไลน์ของกลุ่มพระสงฆ์นั้น กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 65.18 ระบุว่าในปัจจุบันตนเองมีการได้เป็นเพื่อน/กดปุ่มถูกใจ/กดปุ่มติดตามผู้ใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่เป็นกลุ่มพระสงฆ์ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 34.82 ระบุว่าไม่มี

ในด้านความคิดเห็นต่อการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ของกลุ่มพระสงฆ์ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 68.09 เห็นด้วยกับการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ของกลุ่มพระสงฆ์เพื่อเผยแพร่/ตอบปัญหา/ให้ความรู้เกี่ยวกับหลักธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนา ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.98 เห็นด้วยกับการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ของกลุ่มพระสงฆ์เพื่อเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา เช่น การจัดสวดมนต์/นั่งสมาธิ การเปิดสอนพระพุทธศาสนา การบวช หรือ กิจกรรมในวันสำคัญทางพุทธศาสนา เป็นต้น นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 56.12 เห็นด้วยกับการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ของกลุ่มพระสงฆ์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลสาระความรู้ทั่วไปนอกเหนือจากสาระที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เช่น เรื่องสุขภาพ เรื่องสังคม เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องทั่วไป เป็นต้น

ในด้านความรับรู้และการพบเห็นการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ไม่เหมาะสมของกลุ่มพระสงฆ์นั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 71.26 ระบุว่าตนเองเคยพบเห็นกลุ่มพระสงฆ์ที่ใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ไปในทางพุทธพาณิชย์ เช่น จำหน่ายวัตถุมงคล ปลุกเสกวัตถุมงคล จำหน่ายยาสมุนไพร เครื่องรางของขลังต่างๆ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 28.74 ระบุว่าไม่เคยพบเห็น ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.87 ยอมรับว่าตนเองเคยพบเห็นพฤติกรรมการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ไม่เหมาะสมของกลุ่มพระสงฆ์ เช่น ลงรูปภาพที่ไม่เหมาะสม เขียนข้อความที่ไม่เหมาะสม สนทนาในเรื่องที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 47.13 ระบุว่าไม่เคยพบเห็น นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 53.89 ระบุว่าตนเองเคยอ่าน/ฟัง/ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ไม่เหมาะสมของกลุ่มพระสงฆ์ เช่น ลงรูปภาพที่ไม่เหมาะสม เขียนข้อความที่ไม่เหมาะสม สนทนาในเรื่องที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น บ้างเป็นบางครั้ง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 28.23 ระบุว่าไม่เคยอ่านเลย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 17.88 ยอมรับว่าเคยอ่านเป็นประจำ

ในด้านความคิดเห็นต่อพฤติกรรมการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ของกลุ่มพระสงฆ์กับความศรัทธาต่อพุทธศาสนานั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 67.24 มีความคิดเห็นว่าข่าวสารเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ไม่เหมาะสมของกลุ่มพระสงฆ์ เช่น ลงรูปภาพที่ไม่เหมาะสม เขียนข้อความที่ไม่เหมาะสม สนทนาในเรื่องที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น จะไม่ส่งผลให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาในพระพุทธศาสนา อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 57.06 มีความคิดเห็นว่าการถวายอุปกรณ์โทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟน/แท็ปเล็ต/คอมพิวเตอร์ให้กับวัด/พระสงฆ์มีส่วนเพิ่มโอกาสให้พระสงฆ์มีพฤติกรรมการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ไม่เหมาะสมมากขึ้นได้ และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่แต่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 49.87 ไม่เห็นด้วยถ้าจะมีการออกกฎข้อบังคับไม่ให้พระสงฆ์ใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์เลยไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 38.58 เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 11.55 ไม่แน่ใจ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๓:๓๐ นิสิตวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวฯ มก. คว้า 3 รางวัล การแข่งขัน 5MSPP 2024 ชนะเลิศ-รองชนะเลิศอันดับ 1-ชมเชย
๑๓:๒๘ คณะวิศวฯ มก. สำรวจ-แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม พื้นที่สหกรณ์กองทุนสวนยางโนนสัง จ.หนองบัวลำภู
๑๓:๑๓ ผู้บริหาร- อาจารย์ คณะวิศวฯ หารือความร่วมมือ ม.ไต้หวัน
๑๓:๔๖ DE BEAU CLINIC ตอกย้ำเป็นผู้นำคลินิกเสริมความงาม ฉลองครบรอบ 14 ปี ปล่อยโปรสุดพิเศษ!
๑๓:๒๕ PRM ขนส่งน้ำมัน Jet A1 พุ่ง อานิสงส์ท่องเที่ยวซัมเมอร์หนุน
๑๓:๒๐ วว. โดย สถานีวิจัยลำตะคอง จัดกิจกรรมต้อนรับปิดเทอม ยอดนักสืบ.โลกแมลง รุ่นที่ 1
๑๓:๔๕ ลงพื้นที่สำรวจแปลงมะพร้าวติดตามสถานณ์โรคและแมลงในช่วงฤดูแล้ง
๑๓:๒๓ แม็ทชิ่ง กรุ๊ป จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 แนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง มั่นใจรายได้เป็นไปตามเป้า
๑๓:๔๖ เอเอ็มอาร์ เอเซีย จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผ่านฉลุย ผู้ถือหุ้นมีมติเห็นชอบทุกวาระ
๑๓:๑๙ Prepay Nation ร่วมมือกับ MULA เพื่อลดช่องว่างทางการเงินสำหรับแรงงานต่างด้าว