พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ตามวิถีทางประชาธิปไตย?

อังคาร ๐๖ กันยายน ๒๐๑๖ ๑๐:๐๔
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ตามวิถีทางประชาธิปไตย" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 30 – 31 สิงหาคม 2559 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไปทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับแนวทางการกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาคออกเป็น 5 ภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภาคสุ่มตัวอย่างแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4

จากการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อความเหมาะสมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ภายหลังการเลือกตั้งในปี 2560 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 60.80 ระบุว่า เหมาะสม เพราะ ชื่นชอบในการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีความเป็นผู้นำ กล้าคิด กล้าทำ กล้าตัดสินใจ เด็ดขาด ตรงไปตรงมา ชัดเจน สามารถจัดการบ้านเมืองให้มีความเรียบร้อยเป็นปกติ ความขัดแย้งความวุ่นวายทางการเมืองต่าง ๆ ลดลง ซึ่งที่ผ่านมามีผลงานปรากฎให้เห็นชัดเจนเป็นรูปธรรม อีกทั้งในเวลานี้ ยังมองไม่เห็นใครที่จะทำงานได้ดีเท่า และเป็นการสานต่อนโยบายและการทำงานต่าง ๆ ให้สามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างราบรื่น รองลงมา ร้อยละ 25.84 ระบุว่า ไม่เหมาะสม เพราะ ไม่ชอบในระบบการบริหารประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ ยึดติดกับอำนาจ จนประชาชนรู้สึกอึดอัดเหมือนถูกบังคับ มีความเป็นเผด็จการทางการเมืองในบางประเด็นมากเกินไป และผลงานบางอย่างยังไม่มีความชัดเจน โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจปากท้องที่ยังแก้ไขปัญหาได้ไม่ดีเท่าที่ควร ควรเปลี่ยนให้บุคคลอื่นเข้ามาบริหารประเทศ รวมไปถึงท่านเคยกล่าวไว้ว่า จะไม่กลับมาเป็นนายกฯ หรือลงเล่นการเมืองอีก และบุคลิกลักษณะของการเป็นทหารที่อาจจะยังไม่เหมาะกับการเป็นนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 2.64 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ มีทั้งความเหมาะสมและไม่เหมาะสม ขึ้นอยู่กับผลงานและความโปร่งใสในการทำงาน และช่องทางที่เหมาะสมในการเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ว่าจะเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่หรือไม่อย่างไร ทั้งนี้ ควรเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และร้อยละ 10.72 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อแนวทางที่เหมาะสมในการกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 32.89 ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับการเสนอชื่อให้เป็น นายกฯ คนนอก ตามช่องทางที่เปิดไว้ในรัฐธรรมนูญใหม่ รองลงมา ร้อยละ 25.53 ระบุว่า ให้พรรคการเมืองเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ในบัญชีรายชื่อผู้ที่พรรคสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 21.45 ระบุว่า ให้พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งพรรคการเมืองแล้วเป็นหัวหน้าพรรค ร้อยละ 8.95 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงรับสมัครการเลือกตั้ง ตามระบอบประชาธิปไตย ขณะที่บางส่วนระบุว่า เป็นแนวทางใดก็ได้ และร้อยละ 11.18 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถ้ากลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.20 ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะสามารถบริหารประเทศได้สบาย คล่องตัวกว่า ในปัจจุบัน เพราะ เป็นการใช้อำนาจตามแนวทางของประชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จากที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แสดงให้เห็นถึงการทำงานที่มีความชัดเจน พูดจริงทำจริง ตรงไปตรงมา รวดเร็ว ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันลดลง และการทำงานมีความต่อเนื่องและน่าจะทำได้ดีกว่า เนื่องจากผ่านการบริหารประเทศมาระยะหนึ่งแล้ว รองลงมา ร้อยละ 26.64 ระบุว่า การบริหารประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ จะเหมือนในปัจจุบัน เพราะ ระบบการทำงานยังมาจากบุคคลเดิม แนวคิด และรูปแบบการทำงาน การบริหารบ้านเมืองต่าง ๆ

ก็จะยังคงเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก และยังมีบางประเด็นที่ทำให้ไม่สามารถบริหารบ้านเมืองได้อย่างเต็มที่ เช่น การไม่ยอมรับจากกลุ่มคนที่ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากคนภายในประเทศเอง หรือ แม้แต่ในสายตาของชาวต่างชาติเองก็ตาม ซึ่งการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ นั้นต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร ร้อยละ 24.88 ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะบริหารบ้านเมืองได้ลำบากกว่า ในปัจจุบัน เพราะ อำนาจการบริหารจะไม่ได้อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหลัก แต่จะถูกคานอำนาจด้วย ส.ส. และส.ว. ในสภา

อีกทั้งอาจมีแนวความคิดที่เห็นต่างออกไปจากกลุ่มนักการเมือง พรรคการเมืองหรือกลุ่มคนที่คัดค้านการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งแนวความคิดการทำงานและการบริหารงานของท่านยังไม่ทันสมัย และด้วยความที่เป็นคนซื่อสัตย์ ทำงานตรงไปตรงมา อาจขัดผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม และหากยิ่งไม่มี มาตรา 44. ในการบริหารบ้านเมืองแล้ว จะทำงานได้ลำบากกว่าในปัจจุบัน ร้อยละ 1.28 ระบุ อื่น ๆ ได้แก่ การจะบริหารได้ดีหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับผลงานในปัจจุบันและทีมงานที่อยู่ภายใต้การบริหารประเทศโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งบางเรื่องก็แก้ไขได้ดี แต่บางเรื่องก็ยังแก้ไขได้ไม่ดี ต้องรอดูในความเป็นจริงว่าจะเป็นอย่างไร และร้อยละ 6.00 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 9.44 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 24.72 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.32 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.52 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.00 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 56.00 เป็นเพศชาย ร้อยละ 43.92 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.08 เป็นเพศทางเลือก ตัวอย่าง ร้อยละ 6.64 มีอายุ 18- 25 ปี ร้อยละ 15.92 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 22.72 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 32.40 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 18.72 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 3.60 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่าง ร้อยละ 91.36 ระบุว่า นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.76 ระบุว่า นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.28 ระบุว่า นับถือศาสนาคริสต์/ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 3.60 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่าง ร้อยละ 20.00 ระบุว่าสถานภาพโสด ร้อยละ 72.72 สมรสแล้ว ร้อยละ 3.36 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 3.92 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 26.80 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 27.84 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 6.40 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 28.16 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 6.24 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 4.56 ไม่ระบุการศึกษา

ตัวอย่างร้อยละ 12.48 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 13.20 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 20.72 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 16.08 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 14.32 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 16.08 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.24 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 4.88 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 15.52 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 21.12 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 24.72 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 9.68 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 6.08 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 9.60 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 13.28 ไม่ระบุรายได้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๗:๓๓ รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๗:๔๔ กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๗:๔๒ ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๗:๑๕ กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๗:๑๕ เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๒๙ สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๗:๑๐ GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๗:๔๓ เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๖:๓๖ เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4