ประมงเร่งส่งเสริมการเพาะเลี้ยงปลา “พลวงชมพู” หวังฟื้นไม่ให้สูญพันธุ์พร้อมปั้นให้เป็นปลาเศรษฐกิจชนิดใหม่

อังคาร ๐๖ กันยายน ๒๐๑๖ ๑๑:๐๑
ปลาพลวงชมพู เป็นปลาน้ำจืดประจำท้องถิ่นจังหวัดยะลา นราธิวาส มีชื่อเรียกตามภาษาท้องถิ่นภาคใต้ว่า ปลากือเลาะห์ หรือ อีแกกือเลาะห์ เป็นปลาที่มีเนื้อรสชาติดี สามารถรับประทานได้ทั้งเกล็ด ในปัจจุบันตลาดการเลี้ยงปลาสวยงามก็กำลังเป็นที่ต้องการอย่างสูง เนื่องจากเป็นปลาที่มีความโดดเด่นในสีของเกล็ดที่มีลักษณะเป็น สีชมพู บริเวณครีบหลังและครีบหางเป็นสีแดง โดยลักษณะนิสัยและความเป็นอยู่ของปลาชนิดนี้ จะเป็นปลาที่ชอบอาศัยอยู่ในบริเวณแหล่งน้ำที่น้ำไหลผ่าน มีน้ำค่อนข้างเย็น มีปริมาณออกซิเจนสูง เช่น น้ำตก หรือบริเวณต้นแม่น้ำสายหลักในพื้นที่จังหวัดยะลาและนราธิวาส โดยเฉพาะแม่น้ำปัตตานี และป่าฮาลา –บาลา ด้วยเหตุนี้จึงทำให้

ปลาพลวงชมพูได้รับการประกาศให้เป็นปลาประจำจังหวัดยะลาเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2558

ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ปลาพลวงชมพูเป็นปลาที่อยู่ในตระกูลเดียวกับปลาเวียน และปลาพลวงหิน เป็นปลาที่รู้จักกันในภาคอื่นเรียกว่า "ปลาเวียน" ซึ่งปัจจุบันปลาชนิดนี้ได้ลดจำนวนลงมากจนถึงใกล้สูญพันธุ์ เพราะที่ผ่านมาไม่สามารถเพาะพันธุ์และเลี้ยงได้ จึงทำให้มีราคาค่อนข้างสูง ด้วยเหตุนี้ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดยะลา กรมประมง จึงได้ศึกษาวิจัยปลาชนิดนี้มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2515 และได้ดำเนินการศึกษาวิจัยปลาพลวงชมพูมาอย่างต่อเนื่องจนสามารถเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้ได้โดยใช้พ่อแม่พันธุ์ในบ่อดินและบ่อซีเมนต์ ทางกรมประมง เตรียมส่งเสริมและผลักดันปลาชนิดนี้ให้เป็นปลาเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาได้ต่อไป

นายสนธิพันธ์ ผาสุขดี ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด เปิดเผยว่า ปลาพลวงชมพูนับเป็นปลาธรรมชาติอีกชนิดหนึ่งที่มีศักยภาพในการส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงเพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ เนื่องจากเป็นปลาที่นิยมรับประทานใน ประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยเฉพาะประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่นิยมรับประทานปลาชนิดนี้กันมาก แต่ติดที่มีกฎหมายห้ามจับปลาชนิดนี้ตามธรรมชาติมารับประทาน รวมถึงในมาเลเซียก็ยังไม่สามารถวิจัยเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ปลาชนิดนี้ได้ ประกอบกับปลาชนิดนี้เป็นปลาธรรมชาติที่ใกล้ สูญพันธุ์ กรมประมงได้ตระหนักและเห็นว่าปลาชนิดนี้มีศักยภาพในทางเศรษฐกิจจึงทำการศึกษาวิจัย

เพาะขยายพันธุ์ จากความสำเร็จของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดยะลา กรมประมง ที่สามารถทำการวิจัย และเพาะขยายพันธุ์ได้ โดยสามารถเพาะเลี้ยงได้ทั้งบ่อดิน และบ่อซีเมนต์ จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะผลักดันให้ปลาชนิดนี้เป็นปลาเพื่อการส่งออกและทำตลาดในประเทศและต่างประเทศได้รู้จักกันมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้จุดเด่นของ ปลาชนิดนี้คือ เป็นปลาที่สามารถรับประทานได้ทั้งเกล็ด ให้เนื้อสัมผัสดี รสชาติอร่อย สามารถใช้ประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู ทั้งแกง ต้ม นึ่งซีอิ๋ว และทอด ซึ่งคาดว่าในอนาคตปลาพลวงชมพู จะเป็นปลาเกรดพรีเมี่ยมอีกชนิดที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและประเทศได้อย่างแน่นอน

นายนพดล จินดาพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดยะลา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันหลังจากที่กรมประมงสามารถเพาะขยายพันธุ์ปลาพลวงชมพูได้แล้ว ล่าสุดนี้ทางศูนย์ฯ ได้นำร่องส่งเสริมการเลี้ยงปลาพลวงชมพูด้วยการแจกพันธุ์ปลาพลวงชมพูให้กับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดยะลาไปทดลองเลี้ยงพร้อมติดตามผลอย่างใกล้ชิด จำนวน 50 ราย ทั้งเลี้ยงเดี่ยว และเลี้ยงร่วมกับปลาจีน เนื่องจากปลาพลวงชมพูเป็นปลาที่ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยง 1 – 2 ปี ซึ่งมีระยะเวลาเท่ากันกับปลาจีน โดยทั่วไปน้ำหนักปลาพลวงชมพูที่ตลาดต้องการ ประมาณ 1 กิโลกรัมขึ้นไป หรือถ้าขนาดใหญ่ก็จะขายได้ราคาดี ดังนั้นการเลี้ยงร่วมกันนอกจากจะช่วยส่งเสริมด้านสภาพแวดล้อมแล้วและสร้างรายได้ที่ดีให้เกษตรกรมากขึ้น ในด้านราคาทางตลาดปลาจีนจะขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 250 บาท แต่ปลาพวงชมพูจะขายกิโลกรัมละ 2,000 บาท และในแถบประเทศเพื่อนบ้านเราบางประเทศปลาพลวงชมพูขนาดตัวละ 2 – 3 กิโลกรัม. ราคาจะพุ่งสูงถึงกิโลกรัมละ 6,000 – 7,000 บาท ดังนั้นการเลี้ยงปลาพลวงชมพูถึงแม้จะใช้ระยะเวลานานในการเลี้ยงแต่เมื่อสามารถจับขายได้ก็จะสร้างมูลค่าที่แตกต่างกับปลาจีนอย่างเห็นได้ชัด

ในด้านปัญหาและอุปสรรคในการเลี้ยงปลาพลวงชมพูส่วนใหญ่จะเป็นในเรื่องของอัตราการรอดเนื่องจากปลาชนิดนี้เป็นปลาที่มีไข่ปริมาณน้อยกว่าปลาน้ำจืดชนิดอื่นๆ 500-1,000 ตัว และพ่อ-แม่พันธุ์ที่มีจำนวนจำกัด ส่วนใหญ่ทางกรมประมงจะรวบรวมพ่อแม่พันธุ์จากธรรมชาติและนำมาขุนเพื่อให้พ่อ-แม่พันธุ์สมบูรณ์เพศแข็งแรงพร้อมผสมพันธุ์ เนื่องจากปลาพลวงชมพูจัดเป็นปลาในกลุ่มที่โตช้า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กรมประมงสามารถเพาะขยายพันธุ์ปลาพลวงชมพูจนประสบความสำเร็จ นอกจากนักวิจัยจะดูแลเอาใจใส่ในเรื่องอาหาร ความสมบูรณ์ของพ่อแม่พันธุ์แล้ว ขั้นตอนการเลี้ยงก็เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นเดียวกันจะต้องเลี้ยงด้วยระบบน้ำไหล หรือมีน้ำหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากปลาดังกล่าวจะมีพฤติกรรมชอบอยู่ตามต้นน้ำ ชอบน้ำไหล และเป็นปลาที่ต้องการออกซิเจนตั้งแต่ 5-8 ppm ทั้งนี้เกษตรกรส่วนใหญ่ที่กรมประมงเข้าไปส่งเสริมความรู้ในการเลี้ยงปลาพลวงชมพูในอำเภอเบตง จ.ยะลา จะแนะนำให้เกษตรกรเลี้ยงแบบธรรมชาติด้วยการนำน้ำจากต้นน้ำโดยตรง หรือแหล่งน้ำธรรมชาติและปล่อยให้ไหลผ่านระบายออกไป การปล่อยลูกปลาจะปล่อย 1-5 ตัว ต่อตารางเมตร ส่วนการให้อาหารนั้นจะใช้อาหารปลาทั่วไป เช่น อาหารปลาดุก โดยจะให้อาหารวันละ 2 ครั้งเช้า- เย็น ให้ครั้งละ 2-3% ของน้ำหนักตัว

ทำเช่นนี้จนสามารถจับขายได้ ซึ่งโดยรวมขั้นตอนการเลี้ยงนั้นไม่ซับซ้อนมากนัก แต่มีปัจจัยหลักที่สำคัญเพียงเรื่องเดียวในการเพาะเลี้ยงคือน้ำจะต้องหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลาเหมือนกับแหล่งกำเนิดตามธรรมชาติ เพื่อที่จะสามารถควบคุมปริมาณออกซิเจนไม่สูงหรือต่ำกว่าที่กำหนด มิฉะนั้นอาจส่งผลต่อผลผลิตปลาได้

อย่างไรก็ตามหลังจากที่มีการนำร่องส่งเสริมให้ความรู้กับเกษตรกรในการเพาะเลี้ยงปลาพลวงชมพูแล้วนั้นทางด้านตลาดก็ไม่น่าเป็นห่วงเพราะปลาพลวงชมพู เป็นปลาที่มีความต้องการของตลาด โดยตลาดหลักจะอยู่ที่ประเทศมาเลเซียซึ่งนิยมรับประทานปลาชนิดนี้มาก แต่ไม่สามารถจับได้ตามธรรมชาติเนื่องจากติดข้อกฎหมาย จึงทำให้มาเลเซียเตรียมสั่งนำเข้าปลาพลวงชมพูจากเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมการเลี้ยงอยู่ในขณะนี้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4