ชูผลการดำเนินงาน ศพก. เกษตรกรต้นแบบมีความพร้อม เกษตรกรขอใช้บริการเฉลี่ย 667 คน/ศูนย์/ปี

อังคาร ๒๐ กันยายน ๒๐๑๖ ๑๓:๔๓
ผลติดตามการดำเนินงานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร 882 ศูนย์ มีเกษตรกรเข้าใช้บริการเฉลี่ย 667 คน/ศูนย์/ปี เผย เกษตรกรส่วนใหญ่ร้อยละ 95 เห็นว่า เกษตรกรต้นแบบเป็นผู้มีความพร้อมที่จะเป็นแบบอย่างให้แก่เกษตรกรในการดำเนินกิจกรรมทางการเกษตรได้จริง ระบุ เกษตรกรต้นแบบทุกราย พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการช่วยเหลือเกษตรกรในท้องถิ่นของตนอย่างเต็มที่

นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรในระดับชุมชน สร้างความรู้ความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่ ให้ได้เรียนรู้จากผู้ร่วมอาชีพเดียวกันที่ประสบความสำเร็จ ช่วยเหลือและเรียนรู้ร่วมกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรและชุมชน จำนวน 882 ศูนย์ กระจายอยู่ในทุกอำเภอทั่วประเทศ (อำเภอละ 1 ศูนย์) โดยมีแนวทางการดำเนินงานในลักษณะบูรณาการงานร่วมกัน ระหว่างเกษตรกรต้นแบบเจ้าของพื้นที่ศูนย์ฯ และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น พัฒนาพื้นที่ของเกษตรกรต้นแบบให้เป็นศูนย์เรียนรู้ที่มีความเหมาะสมต่อสภาพแวดล้อมของพื้นที่และตอบสนองความต้องการของเกษตรกรที่จะเข้ามาใช้บริการทั้งในด้านการถ่ายทอดความรู้ การสนับสนุนข้อมูลข่าวสารด้านการเกษตร และการจัดทำฐานเรียนรู้/แปลงเรียนรู้ เพื่อให้เกษตรกรได้เห็นของจริงสามารถนำกลับไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนได้

ในการนี้ สศก. ได้สำรวจข้อมูลจากเกษตรกรต้นแบบ (27 ราย) และเกษตรกรตัวอย่างทั่วไป (521ราย) ระหว่างกรกฏาคม - สิงหาคมที่ผ่านมา ในพื้นที่ 9 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย พะเยา ลำปาง ตาก อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร สุรินทร์ และศรีสะเกษ พบว่า สถานที่ใช้เพื่อดำเนินการ ศพก. มีพื้นที่เฉลี่ย 9.47 ไร่ แบ่งออกเป็น 2ส่วน ได้แก่ พื้นที่ใช้ในการถ่ายทอดความรู้ และ พื้นที่ฐานเรียนรู้/แปลงเรียนรู้ เกษตรกรต้นแบบเจ้าของพื้นที่ ศพก. ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรผู้นำกลุ่มในท้องถิ่นอยู่ก่อน ซึ่ง ศพก. ร้อยละ 83 ได้รับการประสานงาน/สนับสนุนปัจจัยการผลิตต่างๆจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อการพัฒนาและจัดทำฐานเรียนรู้เพิ่มเติมจากเดิมที่เกษตรกรต้นแบบมีอยู่ก่อนแล้ว

การให้บริการของ ศพก. แก่เกษตรกรทั่วไป พบว่า นอกจากจะใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมเกษตรกรตามโครงการอบรมเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/59 และจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรในช่วงเดือนกุมภาพันธุ์-พฤษภาคม 2559 จำนวน 250 คน/ศูนย์ ที่ผ่านมาแล้ว ยังมีเกษตรกรทั่วไปเข้ามาขอใช้บริการด้านข้อมูล ความรู้ต่างๆ รวมถึงการศึกษาดูงานจากเกษตรกรต้นแบบ และร่วมงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี เฉลี่ย 417 คน/ศูนย์/ปี

จากการสำรวจเกษตรกรตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 97 รู้จักและเคยเข้ามาใช้บริการ ศพก. โดยกิจกรรมที่ขอรับบริการมากที่สุด คือ การฝึกอบรม (ร้อยละ 38) รองลงมา เป็นการศึกษาดูงานในฐานเรียนรู้ (ร้อยละ 21) การขอคำแนะนำความรู้และข้อมูลข่าวสารต่างๆ (ร้อยละ 20) และเข้าร่วมงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเริ่มต้นฤดูเพาะปลูก (ร้อยละ 17) ส่วนการนำไปใช้ประโยชน์ พบว่า เกษตรกรที่เข้ามาใช้บริการ ร้อยละ 87 ได้นำความรู้/ข้อมูลที่ได้รับนำกลับไปใช้ประโยชน์ โดยเป็นความรู้ด้านการปรับปรุงบำรุงดินด้วยแนวทางแบบธรรมชาติ เช่น การผลิตและการใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนการใช้สารเคมี การใช้ปุ๋ยพืชสด รองลงมาเป็นความรู้ด้านการป้องกันและกำจัดศัตรูพืช เช่น การผลิตและการใช้สารชีวภัณฑ์ การใช้ตัวห้ำตัวเบียน และความรู้ด้านการลดต้นทุนการผลิต ทั้งนี้ เกษตรกร ร้อยละ 58 เริ่มเห็นผลจากการใช้ความรู้ดังกล่าว โดยสามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวจากการใช้ปุ๋ยอินทรีย์และการลดปริมาณเมล็ดพันธุ์ลงได้ เฉลี่ย 324.23 บาท/ไร่

ทั้งนี้ ความคิดเห็นของเกษตรกร พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ร้อยละ 95 เห็นว่า เกษตรกรต้นแบบเป็นผู้มีความพร้อมที่จะเป็นแบบอย่างและเป็นที่พึ่งให้แก่เกษตรกรในการดำเนินกิจกรรมทางการเกษตร อย่างไรก็ตาม เกษตรกร ร้อยละ 55 ต้องการให้ปรับปรุงสถานที่ ศพก. เนื่องจากหลายแห่งยังมีความพร้อมไม่เพียงพอที่จะรองรับการจัดอบรม โดยเฉพาะศาลาเอนกประสงค์ที่ใช้เป็นสถานที่นั่งรับฟังการบรรยายมีสภาพคับแคบและไม่มั่นคง ห้องสุขาที่มีไม่เพียงพอ ฐานเรียนรู้ที่ยังไม่หลากหลาย ดังนั้น ควรจัดทำฐานเรียนรู้เพิ่มเติมให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น รวมถึงการปรับปรุงฐานเรียนรู้ที่มีอยู่เดิมให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมที่จะใช้เป็นจุดศึกษาดูงานได้ตลอดเวลา

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑:๓๘ โอซีซี มอบฝาขวดน้ำ เพื่อทำเก้าอี้ให้น้อง ๆ ในโรงเรียนขาดแคลน
๑๑:๑๘ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จับมือมหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดศูนย์ทดสอบหลักสูตร CISA ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
๑๑:๓๕ 'ราชบุรี มีลาย' อนุรักษ์มรดกแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่น ชูอัตลักษณ์ 'ลายผ้าราชาบุรี (กาบโอ่งนกคู่) รองผู้ว่าฯ เมืองโอ่ง
๑๑:๕๓ พีทีที สเตชั่น ร่วมกับ ทิพยประกันภัย มอบความสะดวกและรวดเร็ว ซื้อประกันภัยผ่าน QR Code
๑๑:๐๙ FTI จัดงานประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2567 ผถห.อนุมัติจ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น
๑๐:๑๙ รมว.อว. เป็นประธานเปิดบูธนิทรรศการผลงาน @ Thai Pavilion พร้อมให้กำลังใจนักประดิษฐ์ไทย นำเสนอผลงานสิ่งประดิษฐ์นานาชาติเจนีวา ครั้งที่
๑๐:๔๖ BRIDGESTONE TURANZA T005 EV ยางพรีเมียมสมรรถนะสูงสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เหนือระดับด้วยเทคโนโลยี ENLITEN(R)ได้รับเลือกเป็นยางล้อมาตรฐานติดตั้งในรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ MG4 XPOWER
๐๙:๑๔ อพท. เปิดรับสมัคร สุดยอดนวัตกรรมเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน เพื่อพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ชิงเงินรางวัลกว่า 130,000
๐๙:๔๑ หนังสือ Royal Thai Cuisine ตำรับอาหารไทยชาววัง วิทยาลัยดุสิตธานี
๑๘ เม.ย. เด็ก ม.กรุงเทพ ยกทีม คว้าชนะเลิศครีเอทคลิปสั้นได้ใจฟูมาก