รายงานล่าสุดชี้การลักลอบค้าเสืออย่างผิดกฎหมายไม่ลดปริมาณลงเลย

จันทร์ ๐๓ ตุลาคม ๒๐๑๖ ๑๔:๕๔
รายงานล่าสุดจากองค์การเครือข่ายควบคุมการค้าสัตว์ป่า (TRAFFIC) และกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ยืนยันว่าปริมาณการลักลอบค้าเสืออย่างผิดกฎหมายไม่ลดลงเลยทั่วภูมิภาคเอเชีย ดังที่ได้มีการตรวจยึดชิ้นส่วนอวัยวะของเสือไม่น้อยกว่า 1,755 ตัว ในช่วงระหว่างปี 2543-2558 ซึ่งเฉลี่ยแล้วเท่ากับมีเสือถูกฆ่าตายมากกว่าสัปดาห์ละ 2 ตัว

รายงานเรื่อง เหลือเพียงกระดูกและหนัง ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ก่อนที่จะมีการอภิปรายหารือเกี่ยวกับการลักลอบค้าเสืออย่างผิดกฎหมายในที่ประชุมว่าด้วยการค้าสัตว์ป่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ พบว่ามีการตรวจยึดเสือและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเสือทั่วภูมิภาคเอเชียรวม 801ตัว ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา

ปัจจุบันมีเสือโคร่งเหลืออยู่ในป่าธรรมชาติราว 3,900 ตัว ดังนั้นหลักฐานที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ นี้ สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่าเสือเหล่านี้มีที่มาจากสถานที่เพาะพันธุ์เสือ นอกจากนี้ยังเป็นที่รู้กันว่าอย่างน้อยร้อยละ 30 ของเสือที่ตรวจยึดได้ในช่วงระหว่างปี 2555-2558 ล้วนแต่มาจากสถานที่เพาะพันธุ์เสือ

แม้จะมีรายงานว่า มีการตรวจยึดเสือได้จำนวนมากที่สุดในประเทศอินเดีย ทว่า ยังมีหลักฐานที่แสดงว่าผู้ลักลอบค้าเสือยังคงเลือกใช้เส้นทางเดิมตามแนวจากประเทศไทยสู่ประเทศเวียดนามโดยผ่านทางประเทศลาว ซึ่งทั้งสามประเทศนี้เป็นประเทศที่มีสถานที่เพาะพันธุ์เสือเพิ่มจำนวนมากขึ้น

"รายงานฉบับนี้ เป็นหลักฐานที่พิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่าการลักลอบค้าเสือ อวัยวะ และผลิตภัณฑ์จากเสืออย่างผิดกฎหมาย ยังคงมีอยู่ และเป็นประเด็นที่สำคัญต่อการอนุรักษ์ แม้ว่ารัฐบาลต่าง ๆ จะให้คำมั่นครั้งแล้วครั้งเล่าว่าจะทำการปิดสถานที่เพาะพันธุ์เสือทั่วภูมิภาคเอเชีย แต่สถานที่เพาะพันธุ์เสือกลับผุดจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ และกลายเป็นตัวการสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการค้าเสืออย่างผิดกฎหมาย" สตีเว่น บรอด ผู้อำนวยการองค์การเครือข่ายควบคุมการค้าสัตว์ป่า (TRAFFIC) กล่าว

ในสัปดาห์นี้ คณะผู้แทนจากมากกว่า 180 ประเทศจะร่วมหารือกันในที่ประชุมภาคีสมาชิกประชุมอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกลสู้ญพันธุ์ (The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES) ครั้งที่ 17 เหล่านักอนุรักษ์จึงเรียกร้องให้ประเทศที่มีสถานที่เพาะพันธุ์เสือ ไม่ว่าจะเป็น ประเทศจีน เวียดนาม ไทย และลาว ตกลงให้คำมั่นและระบุระยะเวลาที่ชัดเจนในการทยอยปิดสถานที่เพาะพันธุ์เสือให้หมดไปในที่สุด

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศลาวประกาศว่าจะหารือแนวทางในการทยอยปิดสถานที่เพาะพันธุ์เสือในประเทศของตน หลังจากที่ที่ประชุมภาคีสมาชิกของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกลสู้ญพันธุ์ (CITES) ระบุว่า ประเทศลาวขาดมาตรการและนโยบายควบคุมการค้าสัตว์ป่า ส่วนประเทศไทยก็ได้ลงมือจัดการกับวัดเสือที่มีปัญหาเกี่ยวกับการค้าเสืออย่างผิดกฎหมายแล้ว อีกทั้งยังให้คำมั่นว่าจะตรวจสอบสถานเพาะพันธุ์เสือทุกแห่งในประเทศของตน

"เครือข่ายอาชญากรรมหันมาลักลอบค้าเสือจากสถานที่เพาะพันธุ์ทั่วทวีปเอเชียมากขึ้น พยายามใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย และจัดหาสินค้าป้อนสู่ตลาด ประเทศที่มีประชากรเสือต้องยุติการทำฟาร์มเสือทันที มิเช่นนั้นแล้ว เสือที่อาศัยอยู่ในป่าตามธรรมชาติจะต้องเผชิญกับอนาคตที่จะกลายเป็นผืนหนังและโครงกระดูก" จีเน็ต เฮมลีย์ หัวหน้าคณะผู้แทนจาก WWF ในที่ประชุม CITES กล่าว"ประเทศลาวและไทยประกาศว่าจะก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้อง แต่พวกเขาจำเป็นต้องลงมือปฏิบัติทันที และประเทศอื่น ๆ ก็ควรจะก้าวย่างไปในเส้นทางเดียวกันเพื่อ "ยุติการทำฟาร์มเสือ""

รายงานฉบับนี้ได้เน้นย้ำถึงตัวเลขที่เพิ่มขึ้นของการตรวจยึดเสือที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยเฉพาะในประเทศไทยและเวียดนามที่ตรวจยึดได้ 17 ตัวในช่วงระหว่างปี 2543-2557 และ 186 ตัวในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา และตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นนี้น่าจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำฟาร์มเสือที่เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

ล่าสุดพบว่าประเทศเวียดนามมีการจับกุมการลักลอบค้าสัตว์ป่ามากที่สุด และได้กลายเป็นประเด็นในที่ประชุม CITES เนื่องจากการจัดการกับการลักลอบค้างาแรด งาช้าง และเสืออย่างผิดกฎหมายของประเทศเวียดนามไม่มีความคืบหน้าขึ้นเลย

ทั้งนี้ ในที่ประชุมประเทศภาคีอนุสัญญา ฯ ครั้งที่ 17 ผู้แทนจากประเทศอินเดียเสนอให้รัฐบาลต่าง ๆ ร่วมแบ่งปันหลักฐานภาพถ่ายหนังเสือที่ตรวจยึดได้เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับภาพถ่ายจากกล้องดักถ่ายภาพเสือในธรรมชาติที่อยู่ในฐานข้อมูล และเป็นการร่วมมือกันต่อกรกับการล่าสังหารเสือ เสือแต่ละตัวมีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ เปรียบเสมือนลายนิ้วมือของคน วิธีนี้จะช่วยให้องค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องและนักชีววิทยาด้านเสือสามารถพิสูจน์รูปพรรณของเสือที่ถูกล่าและติดตามที่มาของเสือนั้นได้

การค้าเสือและผลิตภัณฑ์จากเสือเป็นสิ่งต้องห้ามทั่วโลกมาหลายทศวรรษแล้ว ทว่าการล่าสังหารเสือเพื่อการค้าอย่างผิดกฎหมายกลับยังคงเป็นภัยคุกคามอันร้ายแรงที่สุดต่อความอยู่รอดของเสือ

"การตัดสินใจที่สำคัญนั้นไม่สามารถชะลอไปจนถึงการประชุม CITES ครั้งต่อไปที่จะจัดขึ้นในอีก 3 ปีได้ เพราะจะเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการบั่นทอนความสำเร็จในการอนุรักษ์เสือที่เพิ่งจะเพิ่มจำนวนขึ้นได้" เฮมลีย์กล่าว

สามารถดาวโหลดเอกสารสรุปได้ที่ www.traffic.org/Reduced-to-Skin-and-Bones.pdf

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๘ มี.ค. องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๒๘ มี.ค. การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๒๘ มี.ค. DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๒๘ มี.ค. JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๒๘ มี.ค. นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๒๘ มี.ค. Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๒๘ มี.ค. โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๒๘ มี.ค. STEAM Creative Math Competition
๒๘ มี.ค. A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๒๘ มี.ค. ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้