นักวิชาการ มธ. แนะสื่อลดขายประเด็นดราม่าเพื่อยกระดับคุณภาพสังคม พร้อมชี้ “ดราม่าโลกออนไลน์” สะท้อนความต้องการในการแสดงออกอย่างเสรีภาพของคนไทย

อังคาร ๒๙ พฤศจิกายน ๒๐๑๖ ๑๓:๔๐
นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน มธ. แนะทางออกการพัฒนาประเทศผ่านการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนในโลกออนไลน์ โดยให้สื่อมวลชนเพิ่มการนำเสนอข่าวสารเชิงวิเคราะห์เพื่อให้คนในสังคมได้เกิดการเรียนรู้ในหลากหลายมิติอย่างสร้างสรรค์ พร้อมทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนพฤติกรรมของคนบนสื่อสังคมออนไลน์ อีกทั้งนักวิชาการด้านนวัตกรรมการสื่อสารและสังคม มธ. ตั้งข้อสังเกตการเกิดดราม่าในโลกออนไลน์ สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการในการแสดงออกอย่างเสรีภาพของคนไทยที่ไม่มีความหมายหรือไม่สามารถทำได้ในชีวิตจริง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประไพพิศ มุทิตาเจริญ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป และธุรกิจสื่อสารมวลชนที่มีการแข่งขันสูงในยุคปัจจุบัน ส่งผลให้สื่อมวลชนมีการปรับตัวในการทำงาน โดยมุ่งเน้นการนำเสนอข่าวที่มีความรวดเร็วฉับไว โดยเฉพาะประเด็นที่กำลังเป็นกระแสบนสื่อสังคมออนไลน์ หรือดราม่า เพื่อสร้างฐานคนดูและผู้ติดตามให้มีจำนวนมากๆ อันจะเป็นการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจต่อไป อย่างไรก็ตาม การนำเสนอดราม่าในหลายกรณีได้ส่งผลให้ผู้เสพสื่อที่ไม่มีวิจารณญาณ เกิดการใช้อารมณ์ และแสดงพฤติกรรมอันน่าเป็นห่วง อาทิ การละเมิดสิทธิมนุษยชน การคิดตามกลุ่ม การลงโทษทางสังคม และการเกิดเหยื่อทางอ้อม ฯลฯ ซึ่งอาจบานปลายกลายเป็นผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างได้

ทั้งนี้ สื่อมวลชนซึ่งมีบทบาทในการกำหนดทิศทางของประเด็นสาธารณะ รวมทั้งมีอิทธิพลต่อการรับรู้ และพฤติกรรมของคนในสังคมควรจะมีการนำเสนอข่าวสารที่มากไปกว่าการรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรายวัน โดยในการนำเสนอข่าวดราม่าควรมีการพิจารณาถึงกระแสตอบรับจากผู้เสพว่าเป็นไปในทิศทางใด ซึ่งหากชาวเน็ตมีการใช้อารมณ์รุนแรง แสดงความเห็นอย่างเกินพอดี สื่อมวลชนก็มีหน้าที่ที่จะเป็นกระจกสะท้อนให้คนโซเชียลได้เห็นผลของการกระทำที่ไม่เหมาะสมเช่นกัน เพื่อควบคุมสถานการณ์ให้เป็นปกติ ช่วยลดอารมณ์ และเรียกสติของผู้เสพกลับมา นอกจากนี้ยังควรมีการนำเสนอข่าวสารเชิงวิเคราะห์ที่ทำให้คนในสังคมได้เข้าใจที่มาที่ไปของเหตุการณ์ ประเด็นปัญหา และผลกระทบที่เกิดขึ้นในภาพรวม โดยสะท้อนผ่านมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เพื่อให้คนในสังคมได้เกิดการเรียนรู้ในหลากหลายมิติอย่างสร้างสรรค์ อย่างไรก็ดี ในสังคมยุคปัจจุบันที่เต็มล้นไปด้วยข้อมูลข่าวสาร สถาบันสื่อสารมวลชนยิ่งต้องเป็นที่พึ่งสำคัญในการเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง และเป็นประโยชน์ของประชาชน

ด้าน ดร.สุวรรณ จันทิวาสารกิจ นักวิชาการด้านนวัตกรรมการสื่อสารและสังคม วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า จากกรณีดราม่าที่เป็นกระแสบนสื่อสังคมออนไลน์ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นดราม่าแอร์กราบ ดราม่าเต้าหู้ไข่ ดราม่าครูปาแก้วใส่นักเรียน ดราม่าครอบครัวดารา ดราม่าคนไทยไม่ใส่เสื้อดำ ดราม่ากราบรถกู ฯลฯ ล้วนสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยยังขาดความตระหนักรู้ และความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมาก โดยสังเกตได้จากต้นเหตุการเกิดดราม่าส่วนใหญ่จะมาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่การทำร้ายร่างกาย การข่มขืนใจ และการเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในขณะเดียวกันผู้เสพดราม่าก็ได้ใช้เสรีภาพการในแสดงออกทางความคิดอย่างเกินพอดี จนกลายเป็นศาลเตี้ยทำลายเสรีภาพและความมั่นคงในการใช้ชีวิตของเหยื่อดราม่า ซึ่งในหลายกรณีส่งผลกระทบที่รุนแรงกว่าบทลงโทษทางกฎหมายที่ผู้กระทำผิดสมควรได้รับเสียด้วยซ้ำไป

อย่างไรก็ตาม สาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไทยไม่คำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของคนอื่น อาจเพราะว่าทุกคนเติบโตขึ้นในสังคมไทยที่ยังคงพันธนาการอยู่กับระบบอาวุโส และระบบอุปถัมภ์ โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบัน คือผู้ใหญ่มักจะใช้มายาคติ 'อาบน้ำร้อนมาก่อน' กับคนที่มีอายุต่ำกว่า จนกลายเป็นวัฒนธรรม 'เด็กห้ามเถียง' อันส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมขึ้นในสถาบันทางสังคมต่างๆ ตั้งแต่สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา ไปจนถึงสถาบันการเมือง โดยยังไม่รวมถึงปัญหาในระดับประเทศอีกมากมาย อาทิ ความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ ระบบการเมืองการปกครองที่ไม่มั่นคง มลพิษทางสิ่งแวดล้อมจากนิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่ทำให้คนไทยตอกย้ำในความคิดที่ว่าสิทธิและเสรีภาพเป็นแค่ภาพลวงตาในโลกแห่งความเป็นจริง แล้วหันไปพึ่งสิ่งยึดเหนี่ยวใหม่อย่างโลกออนไลน์ อันเป็นพื้นที่สาธารณะที่เปิดให้แสดงออกทางความคิดได้อย่างเสรี และสามารถแสดงออกซึ่งตัวตนได้อย่างใจต้องการ

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนบนสื่อสังคมออนไลน์มีต้นตอมาจากปัญหาภาพรวมที่เกิดขึ้นในสังคมไทยถึงแม้ว่าหลายปัญหาจะไม่สามารถแก้ไขได้ในช่วงระยะเวลาอันสั้น แต่สิ่งหนึ่งที่สถาบันทางสังคมต่างๆ สามารถช่วยกันได้ตั้งแต่ตอนนี้ ก็คือการเสริมสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องสิทธิมนุษยชนให้แก่สมาชิกของตนอย่างจริงจัง เป็นต้นว่าสถาบันครอบครัวควรปลูกฝังให้สมาชิกรู้จักสิทธิ หน้าที่ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความเท่าเทียม ขณะที่สถาบันการศึกษาควรสอนให้นักเรียนรู้จักมารยาท และการเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นเมื่อต้องใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมที่กว้างขึ้น โดยอย่างน้อยที่สุดเมื่อคนในสังคมไทยรู้จักขอบเขตและข้อจำกัดของสิทธิและเสรีภาพแล้ว ก็น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาการก้าวล้ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นให้ลดลงได้บ้าง ตลอดจนช่วยลดโอกาสการเกิดวัฒนธรรม 'ล่าแม่มด' หรือการลดทอนความเป็นมนุษย์ของเหยื่อดราม่าด้วยอารมณ์และบรรทัดฐานส่วนบุคคลบนโลกออนไลน์ได้ ดร.สุวรรณ กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๕๐ ก.แรงงาน เตือนประชาชนรอบโกดังกากของเสีย จ.ระยอง ปฏิบัติตามคำแนะนำ พร้อมกำชับดูแลความปลอดภัยของลูกจ้างแรงงาน
๐๙:๒๘ MSC ร่วมกับ AWS จัดงาน MSC x AWS ECO Connect
๐๙:๐๕ เอเอฟเอส ประเทศไทย ผนึกกำลังศิษย์เก่า แลกเปลี่ยนแนวคิดธุรกิจให้เติบโตและยั่งยืน
๐๙:๐๐ Synology ช่วยให้องค์กรต่างๆ นำแผนการกู้คืนข้อมูลจากแรนซัมแวร์ไปปรับใช้ได้อย่างไร
๐๙:๓๗ ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ชวนคนกรุงฯ ค้นหาความสุขที่แท้จริงของชีวิต กับกิจกรรม ธรรมะในสวน ห้วข้อ เข้าใจชีวิต พิชิตสุข ณ สวนเบญจกิติ 4 พฤษภาคม 2567
๐๙:๐๒ ฉางเจียงเปิดแฟชั่นโชว์ หลอมรวมวัฒนธรรมและงานศิลป์อวดสายตาชาวโลก
๐๙:๕๗ เจาะฟีเจอร์กล้อง 108MP ใน HUAWEI nova 12i สเปกเท่าเรือธงในงบต่ำหมื่น!
๐๘:๑๓ ม.หอการค้าไทย ลงนามความร่วมมือ กับ AIT
๐๘:๒๑ จับติ้วแบ่งสายสุดเดือด ศึกลูกหนังเยาวชน แอสเซทไวส์ สยามกีฬาคัพ 2024 เริ่มโม่แข้ง 23 เม.ย.นี้!!
๐๘:๔๐ The Winner of OpsSimCom 2024 by MIT Sloan is.THAMMASAT.!!