กสอ. รุกดันเศรษฐกิจชุมชน เผยแนวทางส่งเสริมผู้ประกอบการ 4 กลุ่ม ในโครงการพระราชดำริรัชกาลที่ 9

พุธ ๐๗ ธันวาคม ๒๐๑๖ ๑๓:๐๐
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและผู้ประกอบการท้องถิ่นในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อาทิ โครงการพัฒนาดอยตุง โครงการภูฟ้า โครงการหลวง ฯลฯ พร้อมเผยแนวทางส่งเสริม 4 กลุ่มอุตสาหกรรมชุมชน ได้แก่ 1. กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป 2. กลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพและความงาม 3. กลุ่มผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ และ 4.กลุ่มผลิตภัณฑ์หัตถกรรม ผ่านแนวคิดการพัฒนาด้านบุคคล ผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต เป็นต้น

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร. 026378389 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th

ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงจัดตั้งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อช่วยเหลือราษฎรและผู้ประกอบการในพื้นที่ต่างๆ ด้วยการสร้างความรู้ การพัฒนาทักษะความสามารถ และการอบรมทางวิชาการ ซึ่งช่วยให้ประชาชนมีรายได้จากการประกอบอาชีพหลักและอาชีพเสริมและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยโครงการดังกล่าวนี้ได้กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคและมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะในเขตชนบท ซึ่งถือเป็นรากฐานในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในท้องถิ่น ทั้งก่อให้เกิดการลงทุน การขยายฐานการผลิต การขยายกิจการอุตสาหกรรม ตลอดจนเกิดหน่วยผลิตในลักษณะของวิสาหกิจชุมชน นอกจากนี้ยังช่วยสร้างโอกาสและทางเลือกในการประกอบอาชีพให้กับประชาชน ซึ่งในอนาคตโครงการนี้จะยังคงช่วยยกระดับชีวิตและมีบทบาทกับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในกลุ่มต่าง ๆ ของประเทศ โดยเฉพาะในด้านความยั่งยืน ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่จะทำให้เกิดความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถให้กับภาคผลิตขนาดต่างๆ ได้ต่อไป

ดร.พสุ กล่าวเพิ่มเติมว่า กสอ. ได้น้อมนำพระราชปณิธานการดำเนินการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมาเป็นแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจในระดับชุมชนผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการพัฒนาดอยตุง โครงการภูฟ้า โครงการหลวง โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองเป็นต้น ทั้งการพัฒนาบุคคล การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการพัฒนากระบวนการผลิต และกิจกรรมส่งเสริมต่าง ๆทั้งด้านองค์ความรู้ การพัฒนาและเพิ่มมูลค่าสินค้าจากชุมชนที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด การสนับสนุนด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ช่วยก่อให้เกิดประสิทธิภาพทางการผลิต ฯลฯ ซึ่งสามารถยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ให้แก่ราษฎรอย่างเห็นได้ชัด โดยในปี 2559 ที่ผ่านมา กสอ. ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการส่งเสริมและพัฒนาใน 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่

1. กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์อาหารจากโครงการในพระราชดำริสามารถนำมาเป็นแบบอย่างเพื่อนำไปสู่ผลิตภัณฑ์ชุมชนได้เป็นอย่างดีจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นอาหารเพื่อสุขภาพจากโครงการหลวง การแปรรูปพืชผลเกษตรท้องถิ่นจากโครงการดอยคำ เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการนำความได้เปรียบจากผลผลิตที่มีในชุมชนมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีความหลากหลายเพิ่มทางเลือก และเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบ โดยการพัฒนาในด้านดังกล่าวนี้ กสอ. ได้มุ่งเน้นส่งเสริมผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการไทยแลนด์ฟู้ดวัลเลย์ โครงการเชื่อมโยงงานวิจัยสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ เป็นต้น ทั้งนี้ จากการพัฒนาและการดำเนินงานเชื่อมั่นว่าในอนาคตวิสาหกิจในระดับชุมชนจะสามารถนำทักษะความรู้มาประยุกต์ใช้เพื่อผลิตอาหารในรูปแบบต่าง ๆ ป้อนสู่ตลาดได้อีกเป็นจำนวนมาก

2. กลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพและความงาม สมุนไพรถือเป็นหนึ่งในผลผลิตสำคัญที่ถูกนำมาพัฒนาอย่างต่อเนื่องในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและในระดับชุมชน โดยปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่าสมุนไพรไทยเป็นพืชที่มีคุณค่าในระดับโลก สามารถสร้างมูลค่าในทางเศรษฐกิจได้ โดย กสอ.ได้มีการนำสมุนไพรที่ปลูกได้ในโครงการมาพัฒนาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยชุมชนบ้านห้วยทรายเหนือ จากโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย ยาสีฟันสมุนไพรจากโครงการหลวง แชมพูสมุนไพรกะเม็งและลูกประคบสมุนไพร จากโครงการภูฟ้า เป็นต้น

3. กลุ่มผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ สินค้าไลฟ์สไตล์ถือเป็นสิ่งจำเป็นและมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้บริโภคอยู่ไม่น้อย เนื่องจากมีประโยชน์ในด้านอุปโภคและการใช้สอย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเรือน เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม สินค้าแฟชั่น เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการในระดับชุมชนควรพัฒนาสินค้าในกลุ่มดังกล่าวนี้จากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมและเอกลักษณ์ที่มีอยู่มากมายในท้องถิ่นมาต่อยอดสู่การเป็นผลิตภัณฑ์ โดย กสอ. ได้ส่งเสริมผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการผ้าทอกะเหรี่ยง โครงการศูนย์ศิลปาชีพ โครงการภูฟ้า ฯลฯ โดยในอนาคตกลุ่มดังกล่าวจำเป็นต้องพัฒนาทั้งในด้านผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ซึ่งจะทำให้สินค้าในระดับชุมชนได้ก้าวสู่ระดับสากลต่อไปในอนาคต

4. กลุ่มผลิตภัณฑ์หัตถกรรม การหัตถกรรมเป็นทักษะด้านหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการและวิสาหกิจในระดับชุมชนมาอย่างยาวนาน ซึ่งเกิดจากงานฝีมือที่ประณีต งดงาม มีความละเอียด เป็นงานที่เลียนแบบไม่ได้และเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ให้กับวิสาหกิจชุมชนได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์จากเซรามิก เครื่องทองลงหิน ผ้าทอและเครื่องจักสานในรูปแบบต่าง ๆ เป็นต้นโดยการดำเนินงานในกลุ่มดังกล่าวนี้ กสอ. ได้มีส่วนร่วมด้วยการเข้าไปพัฒนาในด้านความสร้างสรรค์เพื่อการต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ พร้อมส่งเสริมให้ผู้ผลิตได้เรียนรู้ด้านการออกแบบสินค้าเพื่อการตลาด ทั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สินค้าไทยได้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเมื่อพัฒนาแล้วจะช่วยให้งานสินค้าประเภทหัตถกรรมสามารถเติบโตต่อไป ได้ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ในปี 2559 กสอ. ได้ฝึกอบรมพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนในโครงการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพตามแนวพระราชดำริ จำนวน 1,000 ราย และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพพาณิชย์ตามแนวพระราชดำริ 32 ผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาราษฎรในพื้นที่ต่าง ๆ อาทิ โครงการภูฟ้า โครงการหลวง โครงการศูนย์ศึกษาพัฒนาภูพาน โครงการศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยทราย โครงการศูนย์ศึกษาพัฒนาพิกุลทอง โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง และโครงการผ้าทอกะเหรี่ยงกว่า 1,000 ราย โดยในปี 2560 ตั้งเป้าหมายการพัฒนาผ่านโครงการต่าง ๆ อีกกว่า 400 ราย ด้วยงบประมาณกว่า 12 ล้านบาท ดร.พสุ กล่าวปิดท้าย

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร. 0 2367 8389 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๒๒ เสนา ตอกย้ำความสำเร็จ ในการจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร
๐๙:๑๑ EP พร้อมเดินหน้ารับรู้รายได้โรงไฟฟ้าพลังงานลม ดันผลงานปี67โตทะยาน 4 เท่า หลังได้รับการสนับสนุนเงินกู้ Project Finance จาก
๐๙:๓๘ BEST Express บุก บางบัวทอง เปิดแฟรนไซส์ขนส่งสาขาใหม่ มุ่งศึกษาพื้นที่ เจาะกลุ่มลูกค้าที่แตกต่าง ตอบความต้องการตรงจุด
๐๙:๑๗ ผถห.TQR โหวตจ่ายปันผลปี 66 อีก 0.226 บ./หุ้น รวมทั้งปี 0.40 บ./หุ้น ลุยพัฒนาโปรดักส์ประกันภัยต่อรูปแบบใหม่เต็มสปีด
๐๙:๓๗ CPANEL APM ร่วมต้อนรับคณะนักธุรกิจชาวกัมพูชา พร้อมนำเยี่ยมชมกระบวนการผลิต Precast จ.ชลบุรี
๐๘:๒๒ SCGP ทำกำไรไตรมาสแรก 1,725 ล้านบาท เดินหน้ากลยุทธ์สร้างการเติบโตอย่างมีคุณภาพ
๐๘:๐๑ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดบ้านต้อนรับนักเรียนมัธยม โชว์หลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์
๐๘:๔๗ ค่ายสมหวัง สร้างโอกาส รุ่นที่ 4 ขยายความรู้ทางการเงินสู่เครือข่ายคนรุ่นใหม่ต่อเนื่อง
๐๘:๕๓ ส่องสัญญาณฟื้นตัว ตลาดรับสร้างบ้านไตรมาส 2 รับผลบวกมาตรการรัฐกระตุ้นกำลังซื้อ - ยอดสั่งสร้าง
๐๘:๕๕ RSP จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผถห.ไฟเขียวจ่ายปันผล 0.13 บ./หุ้น กำหนดจ่าย 15 พ.ค. นี้