เวทีเสวนาแนวทางจัดการคนย้ายถิ่น แรงงานข้ามชาติ และผู้อพยพลี้ภัย ยื่นข้อ 6 ข้อเรียกร้องต่อรัฐไทย ให้ลดขั้นตอนการดำเนินการในการพิสูจน์สัญชาติ

พุธ ๒๑ ธันวาคม ๒๐๑๖ ๑๕:๓๘
เครือข่ายองค์กรประชากรข้ามชาติ จัดงานแถลงข่าวการนำเสนอรายงานสถานการณ์การเคลื่อนย้ายถิ่นสากลปี 2559 ขณะที่เวทีเสวนาแนวทางจัดการคนย้ายถิ่น แรงงานข้ามชาติ และผู้อพยพลี้ภัย ยื่นข้อ 6 ข้อเรียกร้องต่อรัฐไทย ให้ลดขั้นตอนการดำเนินการในการพิสูจน์สัญชาติ เพื่อลดปัญหานายหน้า และการค้ามนุษย์ พร้อมเร่งแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงานทำงานในบ้านให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ขณะเดียวกัน เสนอแก้ไขนิยามคำว่า "แรงงานบังคับ" ให้รวมการยึดพาสปอร์ตของแรงงานไว้ด้วย ชง วิธีคัดแยกผู้ลี้ภัยตั้งแต่ต้นทาง อย่ากักขังรวมกับความผิดประเภทอื่นเพื่อประโยชน์ในการจัดการของรัฐ แนะ ออกวีซ่ามนุษยธรรมแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยและโรฮิงญา

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2559 ที่ห้องประชุมชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เครือข่ายองค์กรทื่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติได้จัดแถลงข่าวการนำเสนอรายงานสถานการณ์การเคลื่อนย้ายถิ่นสากล ปี 2559 และเสวนาในหัวข้อ แนวทางการจัดการคนย้ายถิ่น แรงงานข้ามชาติ และผู้อพยพลี้ภัยในประเทศไทย "ไปไม่สุด หยุดไม่ได้ ไกลเกินถอย" เนื่องในวันผู้อพยพย้ายถิ่นสากลประจำปีพ.ศ.2559 โดยมีตัวแทนองค์กรที่ทำงานด้านคนย้ายถิ่น แรงงานข้ามชาติ และผู้อพยพลี้ภัยในประเทศไทยเข้าร่วมเป็นวิทยากร

นายอดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ สรุป 5 สถานการณ์เด่นการย้ายถิ่นข้ามชาติประจำปี 2559 ดังนี้ 1.นโยบายการจัดระบบแรงงานข้ามชาติ ด้วยการผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนแรงงานข้ามชาติ และมีบัตรอนุญาตทำงานชั่วคราว (บัตรชมพู) มารายงานตัวเพื่อขัดทำทะเบียนประวัติขออนุญาตทำงานได้ 2.ไทย ได้เลื่อนขั้นจากรายงานด้านการค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกาไปเป็นบัญชีประเภท 2 ที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ แต่การดำเนินการในปัจจุบันยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำอย่างครบถ้วน 3.การจัดการผู้อพยพชาวโรงฮิงญา และผู้ย้ายถิ่นเพื่อแสวงหาที่ลี้ภัยของประเทศไทย ที่ไทยยังไม่มีมาตรการอื่นใด นอกจากการกักตัวในห้องขัง ทั้งที่บางรายได้รับการรับรองสถานะจาก UNHCR แล้ว 4. การเดินทางมาเยือนไทยของออง ซาน ซูจี และการแก้ไข MOU ด้านการจ้างแรงงานข้ามชาติ จำนวน 3 ฉบับ คือ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน บันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างงาน และความตกลงว่าด้วยการข้ามแดนระหว่างประเทศทั้งสอง และ5. กรณีกลุ่มทุนตอบโต้การลุกขึ้นเพื่อปกป้องสิทธิของแรงงานข้ามชาติโดยการฟ้องกลับแรงงาน และนักสิทธิมนุษยชนในข้อหาหมิ่นประมาท และข้อหาอื่นๆ เช่น กรณี ของแรงงานข้ามชาติในฟาร์มไก่ที่ออกมายื่นคำร้องและฟ้องต่อศาลแรงงานว่าได้ถูกละเมิดสิทธิตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน

ด้านนายปภพ เสียมหาญ ผู้ประสานงานโครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านแรงงานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชน และการพัฒนา กล่าวในหัวข้อการปกป้องคุ้มครองสิทธิแรงงานบนเรือประมง ว่า แรงงานประมงในประเทศไทยมีข้อจำกัดมากกว่าแรงงานประเภทอื่น เนื่องจากแรงงานประมงไม่สามารถเปลี่ยนประเภทการทำงานไปเป็นแบบอื่นได้เพราะบัตรอนุญาตทำงานชั่วคราว (บัตรสีชมพู) กำหนดให้เป็นแรงงานประมงตามที่ใบอนุญาตได้กำหนดเท่านั้น และเมื่อไม่สามารถย้ายงานได้ตามความต้องการ ในที่สุดก็ต้องย้ายประเภทงานและกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย นอกจากนี้ยังพบแรงงาน "ขัดหนี้" โดยแรงงานกลุ่มนี้เมื่อเข้ามาในประเทศไทย จะถูกสร้างหนี้ร่วมกับนายจ้าง โดยจะถูกเรียกเก็บทั้งค่าเดินทาง ค่าที่อยู่อาศัย และค่าอาหาร เมื่อมีหนี้สิ้นก็จะถูกผูกมัดให้ทำงานในเรือประมง โดยกรณีที่พบแรงงานประมง ใน อ.กันตัง จ. ตรัง บางคนทำงานมาเป็น 10 ปี ก็ยังชดใช้หนี้ไม่หมด

นายปภพ ยังเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ควรยึดเจตรมย์ของตัวบทกฎหมาย ที่มีขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองแรงงานจึงควรมุ่งคุ้มครองแรงงานมากกว่า อีกทั้งควรให้ความสำคัญกับแรงงาน มากกว่าเอกสารตามกฎหมายของนายจ้าง รวมทั้งแก้ไขนิยามคำว่า "แรงงานบังคับ" ให้ครอบคลุมการถูกบังคับจากวิธีการอื่น เช่น การยึดพาสปอร์ต หรือ บัตรสีชมพู ด้วย เพราะหากตีความว่าเป็นการค้ามนุษย์ เรื่องก็จะถูกส่งไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่จะต้องใช้ระยะเวลานาน และจบที่ศาล ซึ่งหากศาลพิจารณาว่าไม่ได้เป็นการค้ามนุษย์ เรื่องก็จะตก และแรงงานก็จะไม่มีทางเลือก และลงใต้ดินเป็นแรงงานผิดกฎหมายในที่สุด

ด้านนางจันทนา เอกเอื้อมณี ผู้ประสานงานคณะทำงานเพื่องานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ กล่าวในหัวข้อ การปกป้องคุ้มครองแรงงานที่ทำงานในบ้าน ว่า ปัญหาของแรงงานในบ้าน คือ ทำงานไม่ตรงกับประเภทที่ระบุในใบสีชมพู เพราะนายจ้างมักใช้ระบบนายหน้าในการขอใบอนุญาตทำงานชั่วคราว ทำเวลาเกิดปัญหาขึ้นแรงงานไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการร้องเรียนตามกฎหมายได้ รวมไปถึงการที่แรงงานไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลสิทธิที่ตัวเองควรจะได้ว่ามีอะไรบ้าง เช่น วันหยุด หรือ สิทธิในการลาคลอด สิทธิการเข้าถึงประกันสังคมที่กำหนดให้แรงงานในบ้านถูกกำหนดว่าเป็นผู้ประกันตนนอกระบบ ตามมาตรา 40 ทั้งที่ แรงงานในบ้านควรถูกกำหนดอยู่ในมาตรา 33

ขณะที่นายวันรบ วราราษฏร์ ตัวแทนจาก Acylum access Thailand กล่าว ในหัวข้อนโยบายทางเลือกอื่นที่นอกเหนือจากการกักขังผู้ลี้ภัย ว่า ปัจจุบันมีผู้ได้รับการรับรองสถานภาพจาก UNHCR และอยู่ในกระบวนการพิจารณาประมาณ 8,000 คน ส่วนใหญ่ เป็น เด็ก ผู้หญิง และ ผู้สูงอายุ โดยเกือบครึ่งหนึ่งในจำนวนทั้งหมดนี้เดินทางมาจากประเทศปากีสถาน ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการละเมิดสิทธิมนุษยชนสูงเป็นอันดับต้นๆของโลก แต่แม้ว่าจะถือเอกสารรับรองสถานะผู้ลี้ภัยที่ออกโดย UNHCR แต่ไม่เพียงพอที่จะอยู่ในประเทศไทยได้ถูกกฎหมาย

"ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาการลี้ภัยที่ถูกจับกุม และอาศัยอยู่ในสถานกักตัวคนต่างด้าวมากกว่า 200 คน มีทั้งเด็ก ผู้หญิง ผู้สูงอายุ และคนป่วย ซึ่งสถานกักตัวคนต่างด้าวเป็นสถานที่ๆรวบรวมคนหลายกลุ่มที่ถูกจับกุม และรอผลักดันออกนอกประเทศ ปะปนกัน ทั้ง แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย นักโทษต่างชาติที่พ้นคดี ทำให้มีความเป็นอยู่ที่แออัด สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ทำให้มีผู้ถูกกักขังจำนวนไม่น้อยกลายเป็นผู้ที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพกาย และใจ " นายวันรบกล่าวและว่า ดังนั้นการจับกุมคุมขังจึงไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมที่สุด เท่ากับนโยบายทางเลือกอื่น ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายมากกว่า เช่น ในประเทศฮ่องกง มีนโยบายคัดกรองผู้เข้าเมืองตั้งแต่ต้นทาง ว่า เป็นผู้ลี้ภัยที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมาหรือไม่ ซึ่งก็จะให้การดูแลกลุ่มคนที่เข้าเมืองมาแตกต่าง

ด้านนายศิววงศ์ สุขทวี ตัวแทนจากเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐกล่าวในหัวข้อทางเลือกในการจัดการการย้ายถิ่นไม่ปกติของผู้อพยพลี้ภัยชาวโรฮิงญา ว่า ความสำเร็จของไทยในการหยุดยั้งการหลบหนีเข้ามาของชาวโรฮิงญาหลังเหตุการณ์ในปี 2559 คือการบังคับใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ที่มุ่งปกป้องและคุ้มครองกลุ่มผู้อพยพที่มีความเสี่ยงแม้ว่าจะไม่ได้มีสัญชาติไทยก็ตาม โดยความร่วมมือหลายหน่วยงาน รวมถึงองค์กรประชาสังคมและองค์กรระหว่างประเทศ มากกว่าการใช้แนวนโยบายและหน่วยงานความมั่นคง อีกทั้งยังมีการออกหมายจับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์มากที่สุดเท่าที่เกิดขึ้นมาถึง 150 คน รวมถึงเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานมั่นคงด้วย รวมไปถึงทีมสหวิชาชีพที่ทำให้การคัดแยกกลุ่มที่มีความเสี่ยง มีความจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ ออกจากกลุ่มที่หลบหนีเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย และนำไปสู่การประสานงานกับองค์กรประชาสังคม องค์กรระหว่างประเทศเข้ามาช่วยเหลือในแต่ละกลุ่ม

นายศิววงศ์ กล่าวว่า ก่อนเกิดการอพยพหนีออกมาจากรัฐยะไข่อีกครั้งในปี 2560 รัฐบาลไทยจำเป็นที่จะต้องดำเนินนโยบายกดดันต่อรัฐบาลพม่าให้หยุดใช้ความรุนแรงไม่ว่ากับใครก็ตามที่อาศัยอยู่ในประเทศพม่า เพื่อที่จะหยุดการผลักดันกลุ่มชาวโรฮิงญาให้ต้องหลบหนีออกจากรัฐยะไข่ พร้อมขอเสนอต่อรัฐบาลไทยดังนี้ 1. รัฐไทยต้องผลักดันให้กลไกในอาเซียนบีบบังคับให้รัฐบาลพม่าหยุดการใช้ความรุนแรงกับคนที่อาศัยในประเทศของตน ไม่ว่าเขาจะเป็นพลเมืองของตนหรือไม่ 2. รัฐไทยต้องสนับสนุนท่าทีและจุดยืนของอาเซียนในการแก้ไขมากกว่าการปกป้องท่าที จุดยืนที่จะไม่แทรกแซงกิจการภายในปัญหาในพม่า 3. รัฐไทยต้องผลักดันให้มีกลไกและแผนการตอบสนองต่อวิกฤติการณ์การอพยพที่ชัดเจน และความรับผิดชอบของแต่ละชาติสมาชิก เช่น การสนับสนุนงบประมาณ การกำหนดจุดขึ้นฝั่ง การกระจายผู้อพยพให้แต่ละชาติดูแล เป็นต้น

ส่วนข้อเสนอต่อรัฐบาลทางกฎหมายและนโยบายในการแก้ไขปัญหาชาวโรฮิงญานั้น ที่มาตรการเฉพาะหน้า รัฐต้องหยุดการกักขังอย่างไม่มีกำหนด โดยให้พิจารณากำหนดแนวทางการวางเงินประกัน (Release on bail/bond) สำหรับผู้อพยพชาวโรฮิงยาที่ยังอยู่ในการควบคุมในปัจจุบัน โดยอาจใช้ร่วมกับการจัดหาผู้รับรอง/ผู้ค้ำประกัน หรือกำหนดให้องค์กรที่ไม่หวังผลกำไรสามารถเป็นผู้ค้ำประกัน พร้อมกับเงื่อนไขระหว่างการรอส่งตัวต่อไปให้ประเทศที่สาม หรือส่งกลับประเทศบ้านเกิดเมื่อสามารถกลับได้ เช่น กำหนดให้ผู้แสวงหาที่ลี้ภัยไปรายงานตัวกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือองค์กรอื่นๆ กำหนดให้ผู้ขอลี้ภัยพักอาศัยในสถานที่ซึ่งกำหนดไว้ หรืออยู่ภายในพื้นที่เฉพาะ การกำหนดให้มีผู้รับรอง/ผู้ค้ำประกัน เพื่อรับรองว่าผู้ขอลี้ภัยจะปฏิบัติ ตามกฎระเบียบที่กำหนดไว้ การกำหนดให้มีผู้อุปถัมภ์/สนับสนุน (sponsorship) ผู้อุปถัมภ์หรือผู้สนับสนุนอาจเป็นบุคคล หรือกลุ่มบุคคล หรือองค์กรการกุศล/องค์กรพัฒนาเอกชน/องค์กรศาสนา เพื่อให้ความช่วยเหลือทั้งการเป็นผู้ค้ำประกัน การวางเงินประกัน การจัดหาที่พักและค่ายังชีพ

สำหรับมาตรการระยะยาว กรณีที่ชาวโรฮิงญาเดินทางเข้ามาถูกต้องตามกฎหมาย รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องพิจารณาการให้วีซ่ามนุษยธรรมสำหรับผู้ที่แสวงหาที่ลี้ภัยที่สามารถยื่นขอก่อนที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศ และในส่วนของกรณีที่เร่งด่วนและไม่สามารถยื่นขอได้ก่อนการเดินทางเข้ามาในประเทศ รัฐบาลควรจะพิจารณาเปิดให้สามารถขอวีซ่ามนุษยธรรมชั่วคราวเมื่อเดินทางถึงประเทศไทย

ทั้งนี้ในท้ายการเสวนาเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติได้ร่วมกันอ่านข้อเสนอเนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากลวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ดังนี้ ทางเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ มีข้อเสนอเนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล เพื่อยกระดับการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ และครอบครัว รวมถึงผู้อพยพย้ายถิ่นอื่น ๆ ในประเทศไทยดังนี้

1. รัฐบาลไทยและรัฐบาลประเทศต้นทางจะต้องเร่งดำเนินการพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามอย่างรวดเร็ว รวมทั้งลดขั้นตอนในการดำเนินการต่าง ๆ ให้มีความสะดวกและเอื้อต่อการเข้าถึงของแรงงานข้ามชาติเพื่อลดการแสวงหาประโยชน์จากนายหน้าหรือผู้แสวงหาประโยชน์อื่น ๆ ทั้งนี้รัฐบาลไทยและประเทศต้นทางจะต้องตระหนักถึงการเปิดโอกาสให้เด็กข้ามชาติในฐานะผู้ติดตามได้เข้าถึงการมีสถานะทางกฎหมายและการได้รับการคุ้มครองตามหลักการประโยชน์สูงสุดสำหรับเด็ก

2. รัฐบาลไทยจะต้องพัฒนากลไกการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติที่เน้นการเข้าถึงของแรงงานข้ามชาติ โดยเร่งแก้ไขพรบ.แรงงานสัมพันธ์ที่เปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานอันเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาด้านสิทธิแรงงานร่วมกัน การเร่งแก้ไขในเรื่องการยึดเอกสารแสดงตนและการแก้ไขปัญหาแรงงานขัดหนี้ เปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติได้เปลี่ยนย้ายงานและนายจ้างตามเงื่อนไขที่จำเป็นต่อการทำงานและการได้รับการคุ้มครองสิทธิ และเร่งแก้ไขข้อจำกัดเชิงนโยบายที่กีดกันไม่ให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน

3. รัฐบาลไทยจะต้องเร่งแก้ไขกฎหมายเพื่อให้การคุ้มครองแรงงานทำงานในบ้านให้ได้รับการปฎิบัติอย่างเท่าเทียมภายใต้ พรบ. คุ้มครองแรงงาน เช่น ระยะเวลาทำงาน ค่าจ้าง สิทธิในการลาคลอด และการเป็นผู้ประกันตนตาม พรบ. ประกันสังคม และพรบ.กองทุนเงินทดแทน

4. รัฐบาลไทยและกระทรวงแรงงานจะต้องดำเนินการ แก้ไขนิยามคำว่า "แรงงานบังคับ"ให้ครอบคลุมการถูกบังคับจากวิธีการอื่น นอกจากการถูกข่มขู่ การใช้ความรุนแรง โดยขยายความรวมถึง การยึดหนังสือเดินทางหรือเอกสารแสดงตน การไม่ได้รับเงินค่าจ้างด้วย เนื่องจากการใช้แรงงานบังคับในบางกรณีอาจยังไม่เข้าข่ายการค้ามนุษย์ การแยกระหว่างแรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ออกจากกัน จะทำให้แรงงานได้รับความคุ้มครองสิทธิได้มากขึ้นและสามารถเข้าถึงสิทธิได้สะดวกยิ่งขึ้น

5. รัฐบาลไทยจะต้องเร่งดำเนินการตามที่ประกาศในเวทีสหประชาชาติ เรื่องการพัฒนากลไกการคัดกรองบุคคลเข้าเมืองในกลุ่มผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัย โดยมีกลไกการคุ้มครองบุคคลที่ได้รับการลงทะเบียนเป็นผู้ลี้ภัยหรือบุคคลที่อยู่ในระหว่างการคัดกรองให้ได้รับการคุ้มครองที่เหมาะสมโดยกำหนดให้รับรองสถานะและเอกสารรับรองสถานะภาพผู้ลี้ภัย และเอกสารรับรองผู้อยู่ในกระบวนการพิจารณาสถานะผู้ลี้ภัยของ UNHCR มีมาตรการกำหนดสถานะในการอยู่อาศัยในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวในรูปแบบของการให้วีซ่าเพื่อมนุษยธรรม หรือการผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทยในรูปแบบอื่น ๆ ยุติการจับกุมคุมขังกลุ่มผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัย รวมทั้งพิจารณาให้สามารถดำเนินการทำงานหรือหาเลี้ยงชีพให้แก่ตนเองและครอบครัวขณะที่ยังดำรงชีวิตอยู่ในประเทศไทย

6. รัฐบาลไทยจะต้องมีมาตรการดำเนินการต่อผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่นอกเหนือจากการกักขัง ทั้งนี้อาจจะดำเนินการในรูปแบบของการให้ประกันตัวโดยมีชุมชน หรือองค์กรไม่แสวงหากำไรเป็นผู้ค้ำประกันและให้การช่วยเหลือดูแล ควบคู่ไปกับการพัฒนากลไกการขอสถานะผู้ลี้ภัยและเดินทางไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สามหรือกลับประเทศต้นทางหากไม่มีสถานการณ์ที่เป็นอันตรายต่อชีวิตโดยสมัครใจ ทั้งนี้ประเทศไทยจะต้องมีมาตรการที่จริงจังต่อการยุติสถานการณ์ความรุนแรงในประเทศต้นทาง และมีมาตรการรองรับที่ชัดเจนและเคารพในหลักสิทธิมนุษยชนในกรณีที่มีการอพยพของกลุ่มโรฮิงญาอันเนื่องมาจากความรุนแรงที่เกิดขึ้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4