สสส.หนุนหมู่บ้านยากจน ตั้ง“กองบุญขยะ” จัดสวัสดิการ เกิด เจ็บ ตาย ที่บ้านเขาดินวนา จังหวัดชัยภูมิ

พฤหัส ๒๒ ธันวาคม ๒๐๑๖ ๐๗:๕๔
หากพูดถึงกองทุนสวัสดิการชุมชน สำหรับหมู่บ้านเขาดินวนา ตำบลซับใหญ่ อำเภอซับใหญ่ จังหวัดชัยภูมิ คงจะมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาเสียแล้ว เพราะชาวบ้านที่นี่ได้แปลงรูปร่างหน้าตาเปลี่ยนจาก "กองทุน" ให้กลายเป็น "กองบุญ" และกองบุญดังกล่าวก็เกิดจากเศษขยะที่เมื่อก่อนคนในชุมชนคิดว่าเป็นของทิ้งและไม่มีค่า แต่พอนำขยะมาปัดฝุ่นและจัดการโดยการคัดแยก ขยะที่ว่าเป็นของไร้ค่ากลับกลายเป็นมูลค่าที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับสมาชิกในชุมชนได้อย่างหน้าชื่นตาบาน

บ้านเขาดินวนาเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่ติดอันดับความยากจนเป็นลำดับต้นๆของอำเภอ มีประชากรแค่ 355 คน ในจำนวนครัวเรือน 106 หลังคา ตั้งอยู่ท่ามกลางเนินเขาที่รายล้อม เป็นชุมชนใหม่ที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 2545 จากเดิมที่เป็นแค่คุ้มเขาดินวนาขึ้นกับหมู่บ้านตลุกคูณ หมู่ที่ 8 ตำบลซับใหญ่ สมาชิกชุมชนส่วนมากอพยพมาจาก อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อมาก่อร่างสร้างตัวทำมาหากิน โดยการปลูกพืชเศรษฐกิจเป็นอย่าง มันสำปะหลัง อ้อย และรวมถึงมันเทศที่พักหลังๆชาวบ้านเริ่มหันมาปลูกมากขึ้น เพราะถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถสร้างรายได้ หลังจากที่ราคามันสำปะหลังเริ่มลดลง

และด้วยความเป็นหมู่บ้านที่ทำเกษตรอุตสาหกรรมนี่เอง จึงทำให้ทุกๆเช้าชาวบ้านจะต้องเร่งรีบออกไปไร่ จนไม่ค่อยมีเวลาทำอาหารกินเอง ดังนั้น ทุกอย่างจึงต้องซื้อและขยะก็เป็นผลพลอยตามกันมา ซึ่งวัชรินทร์ เรดสันเทียะ ผู้ใหญ่บ้านเขาดินวนา ได้เล่าให้ฟังว่า "ชุมชนเขาดินวนามีปัญหาเรื่องขยะ เพราะเกือบครึ่งเป็นครัวเรือนที่มีฐานะยากจน ไม่มีที่ทำกิน ต้องเช่าที่คนอื่นทำไร่ ทั้งปลูกมันเทศ ข้าวโพด หรือมันสำปะหลัง หรือบางครอบครัวก็รับจ้างในไร่คนอื่นเพื่อให้มีรายได้เพียงพอสำหรับการเลี้ยงชีพ วิถีชีวิตของคนที่นี่จึงไม่ต่างจากคนเมือง ที่ต้องรีบเร่งไปไร่หรือหารับจ้างแต่เช้า อาหารแต่ละมื้อของคนส่วนใหญ่จึงเรียกใช้บริการจากรถพุ่มพวงที่วิ่งเข้ามาจอดกลางบ้าน เพราะตอบสนองความต้องการได้รวดเร็ว ทำให้เกิดปัญหาขยะตามมา โดยเฉพาะกล่องโฟม ถุงพลาสติก ขวด ที่มีปริมาณมากขึ้นทุกวัน" คำพูดของผู้ใหญ่บ้านเขาดินวนาที่สะท้อนปัญหาให้ฟัง และนี่คือจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การรวมชุมชนเพื่อจัดการกับปัญหาขยะที่มีอยู่เกลื่อดกลาดในชุมชน

นับว่าเป็นโชคดีของชาวบ้านประกอบกับความเอาใจใส่ของผู้นำชุมชน จนต่อมาได้เกิดโครงการร่วมสร้างชุมชนให้น่าอยู่หมู่บ้านเขาดินวนา โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้รูปแบบการจัดตั้งสภาผู้นำชุมชน ที่เน้นให้ชาวบ้านเข้ามาทำงานร่วมกันเพื่อวิเคราะห์ปัญหาและค้นพบสาเหตุที่แท้จริงว่าที่ผ่านมาชุมชนไม่รู้วิธีการคัดแยกขยะหรือบางคนรู้แต่ก็ไม่ได้ใส่ใจที่จะคัดแยกเพราะไม่รู้ว่าขยะที่พอคัดแยกแล้วจะกลายเป็นของมีค่าที่สามารถแปลงเป็นเงินได้ และจากข้อมูลที่ชุมชนช่วยกันสำรวจ พบว่า เมื่อก่อนชุมชนมีขยะเกิดขึ้นเฉลี่ยวันละประมาณ 140 กิโลกรัมต่อวัน หรือ 51,100 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งเหล่านี้มีทั้ง ขวดแก้ว ถุงพลาสติก กล่องกระดาษ เศษกระป๋องและโลหะต่างๆ

หลังจากดำเนินโครงการสมาชิกชุมชนก็ได้เข้ามาร่วมกันออกแบบกิจกรรมที่มีทั้งการอบรมคัดแยกขยะและการเดินทางไปศึกษาดูงานเพื่อหาต้นแบบและสร้างแรงบันดาลใจเพื่อกลับมาเปลี่ยนแปลงชุมชน จนต่อมาชาวบ้านที่นี่ได้ช่วยกันสร้างกติกาที่รียกว่า ประกาศชุมชน ในเรื่องการจัดการขยะและหนึ่งในกิจกรรมเด่นคือการนำขยะมาบริจาคและให้สมาชิกชุมชนช่วยกันคัดแยกขยะ ที่ไม่เพียงแค่ผู้ใหญ่เท่านั้น หากแต่ยังมีภาพของเด็กๆ ซึ่งพวกเขาเรียกตัวเองว่า "กลุ่มเด็กต้นกล้า" ที่ออกมาช่วยพ่อๆแม่ในทุกๆวันอาทิตย์

ความพิเศษของชุมชนที่นี่ คือขยะที่คัดแยกจะเป็นขยะที่ทุกคนนำมาจากบ้านและจะไม่ได้นำมาขายแล้วเอาเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง แต่จะเรียกว่าเป็นการ "บริจาคขยะ" เพื่อนำเงินที่ได้จากการขายขยะเข้ากองกลางและเงินกองกลางนี้จะกลายเป็นทุนในการจัดสวัสดิการให้กับคนในชุมชน ซึ่งปัจจุบันจากการดำเนินงานในระยะเวลาปีกว่าๆชุมชนมีเงินทุนสะสมจากการขายขยะถึง 90,000 บาท

เมื่อได้เงินจากการขายขยะแล้วก็จะนำมาจัดสวัสดิการให้สมาชิกชุมชน ซึ่งระบบสวัสดิการของชุมชนเขาดินวนานั้น จะครอบคลุมการดำเนินชีวิตของชาวบ้านตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บจนกระทั่งเสียชีวิต โดยแบ่งเป็นกรณีที่มีเด็กเกิดใหม่ในหมู่บ้านจะมีเงินรับขวัญเด็ก 500 บาท และยังมีเงินให้กับแม่ที่คลอดซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "ค่าช่วยเบ่ง" อีก 500 บาท กรณีที่สมาชิกชุมชนป่วยต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลก็จะมีเงินช่วยเหลือให้คืนละ 200 บาทและให้ญาติที่เฝ้าผู้ป่วยอีกคืนละ 100 บาท สูงสุดไม่เกิน 10 คืน และกรณีเสียชีวิตก็จะมีเงินช่วยเหลือรายละ 3,000 บาท แต่มีข้อแม้คือสมาชิกครัวเรือนจะได้สิทธิ์เหล่านี้ก็ต่อเมื่อนำขยะมาบริจาคอย่างต่อเนื่องตามกติกาที่วางไว้ ซึ่งถ้าครัวเรือนไหนไม่นำขยะมาบริจาคในแต่ละสัปดาห์ก็จะมีการทำเครื่องหมายดอกจันทร์สีแดงลงในสมุดบันทึกแล้วถ่ายรูปเข้าไลน์กลุ่มให้สมาชิกชุมชนทุกคนรับทราบ ซึ่งเป็นรูปแบบในการกระตุ้นให้สมาชิกทุกคนทำตามกติกาที่มีการนำสื่อสมัยใหม่อย่างไลน์เข้ามาใช้ในหมู่บ้าน

แม้เงินที่ได้รับจากการจัดสวัสดิการโดยคนในชุมชนอาจดูเหมือนไม่มากสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับชุมชนที่ต้องทำมาหากินแบบวันต่อวัน ที่พอมีคนในบ้านเจ็บป่วยขึ้นมานั่นหมายถึงรายได้จะต้องขาดไปและยังมีญาติที่ต้องไปเฝ้าไข้ทำให้รายได้ยิ่งน้อยลง ซึ่งเงินสวัสดิการเล็กๆน้อยเหล่านี้นับว่าเป็นกำลังใจชั้นดีให้กับสมาชิกชุมชน ซึ่งฉวีวรรณ พรายสันเทียะ หนึ่งในสมาชิกชุมชนที่เคยได้รับเงินช่วยเหลือ ก็ได้เล่าให้ฟังเช่นกันว่า "เมื่อเดือนธันวาคม 2558 ตนเจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจ นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลกว่า 10 คืน ได้รับสวัสดิการจากกองขยะจำนวน 3,000 บาท แม้จะไม่ใช่เงินจำนวนที่มากนัก แต่ก็ช่วยให้ครอบครัวก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดได้ง่ายขึ้น เพราะการเจ็บป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาลหลายคืนติดต่อกัน ทำให้ขาดรายได้จากการทำไร่ทั้งคนไข้ และญาติที่สลับเวรกันไปเฝ้าไข้"

โดยวิถีของคนอีสานนั้นมักชอบที่จะทำบุญ และสถานที่ทำบุญที่ง่ายที่สุดคือการเข้าวัด เพราะเป็นความเชื่อในเรื่องพระพุทธศาสนาที่มีมานานในการสั่งสมบุญ แต่ที่ชุมชนเขาดินวนาแห่งนี้ บุญที่พวกเขาสร้างไม่ได้เกิดอยู่ในวัดแห่งเดียว หากแต่อยู่ในชุมชนที่พวกเขาดูแลกันเองก็เป็นบุญได้เหมือนกัน และบุญที่ว่านี้เกิดจากเศษขยะที่ไร้ค่า ที่พอนำมาปัดฝุ่นจัดการและคัดแยกก็จะกลายเป็นของมีราคาที่แปลงเป็นเงิน จนกลายเป็นทุนสำหรับจัดสวัสดิการให้แก่กันและกัน นับเป็นรูปแบบการพึ่งตนเองของชุมชนที่ไม่ต้องรอหน่วยงานภาครัฐฝ่ายเดียว ซึ่งภาพรอยยิ้มของเด็กๆและผู้ใหญ่ที่นี่ คงจะเป็นประจักษ์พยานที่ดีว่า วันนี้พวกเขามีความสุขจาก "กองบุญ" ที่เกิดจากเศษขยะที่เมื่อก่อนเคยไร้ค่าแต่วันนี้กลับสร้างราคาและกลายเป็นสวัสดิการให้กับทุกคน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๒:๑๔ องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๑๒:๑๒ การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๑๒:๔๔ DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๑๒:๑๐ JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๑๒:๒๓ นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๑๒:๕๗ Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๑๒:๒๘ โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๑๒:๑๐ STEAM Creative Math Competition
๑๒:๔๔ A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๑๒:๔๗ ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้