พลังบวก พลังเล็กๆของเด็กไทย สู่เฟืองขับเคลื่อนประเทศ มูลนิธิสยามกัมมาจล

ศุกร์ ๑๓ มกราคม ๒๐๑๗ ๑๒:๕๓
การที่ไทยเข้าสู่ยุครหัส Thailand 4.0 ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบาย ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม พร้อมๆกับการวางเป้าหมายเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจไทยให้เป็นเศรษฐกิจใหม่ (News Engines of growth) ของรัฐบาล

ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นของการพัฒนาประเทศนอกจากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้ว "การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์"ถือเป็น "ตัวแปรหลัก" ที่สำคัญอย่างยิ่งในการทำให้ประเทศเดินหน้าต่อ

ชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ ผู้บริหารโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)ระบุว่า "เด็กและเยาวชน" คือเป้าหมายลำดับแรกๆ ของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ภายใต้การหนุนเสริมของพ่อ-แม่ ครู และผู้ใหญ่ในสังคมที่เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนสามารถใช้พลังรังสรรค์ในเรื่องต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและสังคม เพื่อส่งต่อการใช้ชีวิตสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต เพราะการพัฒนาศักยภาพของตัวเด็กและเยาวชนนั้น ต้องมีผู้ใหญ่หนุนเสริม แนะนำ รวมถึงการ "กระตุ้น" เพื่อให้เด็กพัฒนาศักยภาพตนเองอย่างเต็มขีดความสามารถ

นอกจากนี้ ชิษนุวัฒน์ ยังกล่าวถึงมุมมองของการพัฒนาศักยภาพเด็กๆ และเยาวชนในพื้นภาคตะวันตกซึ่งประกอบด้วยจังหวัดสมุทรสงคราม เพชรบุรี ราชบุรี และกาญจนบุรี โดยใช้รูปแบบ community project ว่า การเชื่อมโยงกันระหว่างทิศทางการพัฒนาประเทศไทยที่มียุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ที่รัฐบาลวางไว้ ถือเป็นแนวคิดที่ Active citizen กำลังขับเคลื่อน เพราะการที่เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ท้องถิ่น ทำให้เขามองเห็นทุนชุมชนของตัวเองที่เป็นอัตลักษณ์ได้อย่างเข้าใจมากขึ้นแล้วนำส่วนนั้นมาพัฒนาขับเคลื่อนชุมชนต่อไป

จากการขับเคลื่อนที่ผ่านมาพบว่าการทำงานของเด็กในแต่ละโครงการทำให้พวกเขามีทักษะชีวิต มีประสบการณ์ และการดำรงชีวิตในสังคมสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างราบรื่นสามารถพัฒนาตัวเอง สิ่งที่เด็กพัมนาได้ชัดคือการมีวินัยและรู้จักการเรียนรุ้ในการปรับตัวกับสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง

ตัวอย่าง โครงการศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมจุ๊เมิญในพื้นที่ตำบลบางจะเกร็ง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นการทำโครงการผ่านการขับเคลื่อนประเพณีจุ๊เมิญหรือการรำผีมอญ ที่เป็นศูนย์รวมของศรัทธาของชาวมอญ ตัวแทนความเชื่อที่ผูกโยงไปถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม ดำเนินการโดยกลุ่มเยาวชนโรงเรียนวัดศรัทธาธรรม ที่มองว่า แม้จะอยู่ในยุคไร้พรมแดนและมีการเชื่อมโยงข้อมูลจากโลกโซเชียลแต่น้อยคนนักที่จะรู้จักประเพณีนี้ เพราะเมื่อค้นหา กลับพบว่า ข้อมูลเกี่ยวกับประเพณีจุ๊เมิญไม่สามารถหาได้ทั่วไปทางอินเทอร์เน็ตและหนังสือ ทีมงานจึงต้องเก็บข้อมูลจากผู้รู้ในชุมชนอย่างรัดกุม เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วนและถูกต้องที่สุด

เช่นเดียวกับโครงการทวนเข็มนาฬิกา ย้อนเวลาหาความหลัง บ้านพงพรต ตำบลหนองห้าง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ จักร-ประจักษ์ สุทโท แกนนำเยาวชน ที่ลุกขึ้นมาปลุกกระแสสืบค้นรากเหง้าบ้านเกิดเพื่อนำไปสู่การบันทึกประวัติสาสตร์ชุมชนที่เป็นจุดเริ่มต้นของชุมชนในปัจจุบัน โดยให้เหตุผลว่า ประวัติศาสตร์บ้านเรา ถ้าเราไม่รู้จุดกำเนิดของบ้านตนเอง ไม่รู้รากเหง้าของตนเอง จะนำไปสู่การมีจิตสำนึกรักบ้านเกิดร่วมกันยาก

ประกอบกับจักรอยากให้เด็กและคนในชุมชนได้รู้ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านอย่างแท้จริง โดยทีมงานเยาวชนมีกระบวนการสืบค้นข้อมูลจากผู้รู้ในชุมชน และการใช้เครื่องมือในการศึกษาชุมชนตามแนวทางของนักมานุษยวิทยาที่จักรเคยร่ำเรียนมา ได้แก่ เส้นประวัติศาสตร์ (Time Line) ปฏิทินการผลิต ปฏิทินวัฒนธรรม แผนที่เดินดิน แผนที่ตัดขวาง ผังเครือญาติ

"เมื่อได้ทบทวนบริบทของชุมชนร่วมกับพี่เลี้ยงจึงพบว่า ที่มาที่ไปของหมู่บ้านเป็นประวัติศาสตร์ ยังไม่มีความชัดเจน จนรู้สึกได้ถึงความไร้รากของตนเอง ความสงสัยต่อที่มาของชุมชนจึงเป็นประเด็น ที่สร้างความสนใจให้แก่ทีมงานจึงตกลงกันว่า จะทำโครงการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของหมู่บ้าน เพื่อบันทึกเรื่องราวความเป็นของชุมชนไว้เป็นหลักฐานความภาคภูมิใจของถิ่นกำเนิด"

ส่วนโครงการเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชุมชนบ้านหัวนา ต.บ้านป่าแดด อ.สันติสุข จ.น่าน นิ – จิรัชญา โลนันท์ หนึ่งในเยาวชนที่เป็นพลังหนุนสำคัญจากโครงการอนุรักษ์ป่าชุมชนต้นน้ำ สามารถแปลงพลังเล็กๆของเยาวชนในหมู่บ้านให้กลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่จากความตั้งใจทำโครงการ โดยตั้งเป้าในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นแก่ชุมชนของตนเองใน 2 ระดับ ได้แก่ ระดับแรก ให้เส้นทางศึกษาธรรมชาติเป็นเส้นทางแหล่งอาหารของคนในชุมชนและชุมชนข้างเคียง รวมทั้งเป็นเส้นทางศึกษาเรียนรู้ด้านชีววิทยาแก่นักเรียนในโรงเรียนต่างๆ และระดับที่สอง ยกระดับป่าชุมชนต้นน้ำบ้านหัวนาให้เป็น "แหล่งเรียนรู้และเส้นทางศึกษาธรรมชาติ" ที่พร้อมเปิดรับผู้สนใจและนักท่องเที่ยวที่มีใจรักป่า ได้เข้ามาสัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด โดยมีเด็กและเยาวชนในชุมชนเป็นมัคคุเทศก์คอยนำทาง

ซึ่งในส่วนของกิจกรรมมัคคุเทศก์ นิ ย้ำถึงวัตถุประสงค์สำคัญว่า ส่วนหนึ่งเพื่อช่วยแนะนำและให้ความรู้แก่ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมเส้นทางศึกษาธรรมชาติ และอีกส่วนหนึ่งเพื่อปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนรู้จักและเห็นความสำคัญของป่าต้นน้ำในชุมชนของตนเอง

"ความตั้งใจทำโครงการจากปีที่แล้ว เป็นบทพิสูจน์หนึ่งที่แสดงให้ผู้ใหญ่ในชุมชนและน้อง ๆ เห็นว่าเราไม่ได้ทำเล่นๆ พวกเราคิดและลงมือทำอย่างเอาจริงเอาจัง เราทำโครงการด้วยความจริงใจ เลยได้รับความร่วมมือจากทุกคน ด้วยความมุ่งมั่นจะปลูกป่าในใจคน แล้วเราก็ทำได้"

เช่นเดียวกับ ไอซ์ (นามสมมุติ) และเพื่อน ๆ ในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 9 จังหวัดสงขลา ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสานสายใยเพื่อนช่วยเพื่อน ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ที่ดำเนินการโดยสงขลาฟอรั่ม ไอซ์ระบุว่าโลกหลังกำแพง เป็นโลกที่ไร้ซึ่งอิสระใดๆ ในชีวิต แต่การได้รับโอกาสจากครูฝึกในศูนย์ฯที่สนับสนุนทุกอย่างเพื่อให้เด็กและเยาวชนในศูนย์ฝึกได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคม ได้ทำกิจกรรมกับเพื่อนและชุมชน ทำให้ไอซ์และเพื่อนๆเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตหลังกำแพงสูงได้อย่างมีภาวะอารมณ์ที่เข้มแข็งขึ้น พร้อมตั้งปณิธานถึงการทำความดีและการปฏิบัติตัวเป็นคนใหม่ เมื่อกลับสู่โลกของความอิสระอีกครั้ง

จากกิจกรรมที่ได้รับการสนับสนุนและการหนุนเสริมโอกาสจากผู้ใหญ่ตลอดระยะเวลาการทำกิจกรรมกว่า 1 ปีที่ผ่านมา พวกเขาสะท้อนว่า รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน มีโอกาสสร้างและพัฒนาชุมชน รวมถึงจะถ่ายทอดแนวคิดการทำงานให้กับน้องๆ เยาวชนรุ่นต่อๆ ไป เพื่อให้เกิดความตระหนักและภูมิใจกับชุมชนของตน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญในการทำงานเพื่อพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชน เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนายุทธศาสตร์ชาติฯ ผู้ใหญ่ต้องพึงตระหนักถึง การส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการพัฒนาทักษะ พร้อมทั้งยกระดับการเชื่อมโยงการทำงานกับชุมชนที่หลากหลายมิติและขยายผลไปสู่โครงสร้างกลไกของจังหวัดหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้าง Active citizen พลเมืองตื่นรู้ให้ขยายผลมากขึ้น

ซึ่งนั่นหมายถึงเป็นการการันตีจากผู้ใหญ่ถึงความมุ่งมั่นของกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ ที่มีจิตสำนึกกับการเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสังคมและพร้อมเป็นรากฐานในการขับเคลื่อนประเทศในยุคต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4