ปภ.บูรณาการทุกภาคส่วนแก้ไขปัญหาอุทกภัยภาคใต้ เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยเต็มกำลัง

ศุกร์ ๑๓ มกราคม ๒๐๑๗ ๑๔:๔๗
ฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2559 ทำให้เกิดสถานการณ์อุทกภัย ซึ่งได้ขยายวงกว้างและทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงต้นเดือนมกราคม 2560 สร้างความสูญเสียต่อชีวิต ทรัพย์สิน บ้านเรือน พื้นที่การเกษตรและสิ่งสาธารณประโยชน์จำนวนมาก รัฐบาลห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย จึงได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภัยและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และครอบคลุมทุกมิติ

กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ประกาศยกระดับการจัดการสาธารณภัยจากระดับ 2 (สาธารณภัยขนาดกลาง) เป็นระดับ 3 (สาธารณภัยขนาดใหญ่) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ควบคุมสั่งการ และบัญชาการเหตุการณ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้อำนวยการกลาง ทำหน้าที่อำนวยการและประสานปฏิบัติการแก้ไขปัญหาพร้อมยึดพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 และแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558เป็นแนวทางสำคัญในการแก้ไขปัญหาอุทกภัย และให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย ดังนี้

• มุ่งจัดการปัญหาอุทกภัยในระดับพื้นที่ โดยจัดตั้งกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ส่วนหน้า) ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี และเขต 12 สงขลา เป็นศูนย์กลางในการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงแบ่งมอบพื้นที่และภารกิจในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การแจกจ่ายถุงยังชีพ การระบายน้ำลงสู่ทะเล การจัดการศูนย์พักพิงชั่วคราว การซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภค และเส้นทางคมนาคมให้สามารถใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว

• เชื่อมโยงการจัดการปัญหาอุทกภัยอย่างเป็นระบบ ผ่านกลไกกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยแบ่งโครงสร้างการปฏิบัติงานในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็น 2 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์ข้อมูลประชาสัมพันธ์ร่วม ศูนย์ประสานการปฏิบัติ 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนปฏิบัติการ ส่วนอำนวยการ และส่วนสนับสนุน เพื่อเป็นศูนย์กลางในการอำนวยการสั่งการ และเชื่อมโยงการแก้ไขปัญหาให้มีเอกภาพและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

• บูรณาการทุกภาคส่วนจัดการในภาวะฉุกเฉินอย่างเป็นระบบ โดยจัดกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน หน่วยทหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุดเคลื่อนที่เร็ว และชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) พร้อมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย รวมกว่า 1,000 รายการ ร่วมสนธิกำลังปฏิบัติการกู้วิกฤตอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ มุ่งแก้ไขปัญหาและคลี่คลายสถานการณ์ โดยเร่งระบายน้ำและผลักดันน้ำออกสู่ทะเลและแหล่งน้ำสาธารณะต่างๆ พร้อมให้ความสำคัญกับการดูแลด้านการดำรงชีพในระยะเร่งด่วน การบรรเทาทุกข์ที่ครอบคลุมทุกด้าน และการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่สภาพปกติโดยเร็ว

• ขยายวงเงินทดรองราชการในอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด 9 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ พัทลุง นราธิวาส ยะลา สงขลา ปัตตานี ตรัง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และชุมพร (เพิ่มเติม) จังหวัดละ 50 ล้านบาท รวมเป็น 100 ล้านบาท อีกทั้งได้อนุมัติให้ยกเว้นหลักเกณฑ์เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งจะทำให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปด้วยความรวดเร็วและคล่องตัวมากขึ้นโดยผู้ว่าราชการจังหวัดได้จัดสรรงบประมาณให้อำเภอที่ประสบภัยอย่างน้อย 500,000 บาท หากจังหวัดใดสถานการณ์รุนแรงและขยายวงกว้าง สามารถขอขยายวงเงินทดรองราชการเพิ่มเติมผ่านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งจะได้ประสานกรมบัญชีกลางอนุมัติวงเงินเพิ่มเติมต่อไป

• เร่งสำรวจความเสียหายเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู แยกเป็น 3 ด้าน ดังนี้ ด้านชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน อาทิ ค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต ค่าซ่อมแซมบ้านและที่อยู่อาศัย ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ด้านการประกอบอาชีพ อาทิ การเกษตร ประมง ปศุสัตว์ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ด้านสิ่งสาธารณประโยชน์ อาทิ ถนน สะพาน และระบบสาธารณูปโภคให้หน่วยรับผิดชอบหลักดำเนินการตามแผนงบประมาณให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว สำหรับเส้นทางที่ไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบดูแล ให้จังหวัดขอรับการสนับสนุนงบกลาง เพื่อดำเนินการซ่อมแซมโดยด่วนต่อไป

• เยียวยาผู้ประสบภัย ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลัง ข้อสั่งการเชิงนโยบายตามมติคณะรัฐมนตรี รวมถึงหลักเกณฑ์การช่วยเหลือของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นอกจากนี้ จะได้กำหนดมาตรการชดเชยเยียวยาเพิ่มตามความเหมาะสมต่อไปโดยเฉพาะภาคการเกษตรที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์อุทกภัย

ทั้งนี้ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ได้บูรณาการทุกภาคส่วนบริหารจัดการปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้อย่างเข้มข้น เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ทั่วถึง มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมทุกมิติ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๗ ไทยพีบีเอสผนึกกำลัง สสส. ผลิต และเผยแพร่เนื้อหาส่งเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว
๑๗:๕๓ NPS ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ประจำปี 2567
๑๗:๐๕ แพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี แนะฤดูร้อนควรทานพืชผักที่มีฤทธิ์เย็นช่วยลดความร้อนในร่างกาย
๑๗:๓๒ แพรนด้า จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566
๑๗:๒๕ RBRU Herb Shot ขยายศักยภาพทางธุรกิจ รุกตลาดอินเดีย
๑๗:๔๘ ไฮเออร์ ประเทศไทย เดินเกมรุกไตรมาส 2 เปิดตัวตู้เย็นรุ่นใหม่ Multi-door HRF-MD679 ตั้งเป้าปี 67 ดันยอดขายตู้เย็นโต
๑๗:๐๕ เอ็น.ซี.ซี.ฯ ประกาศจัดงาน PET EXPO THAILAND 2024 ระดมสินค้า บริการ ลดหนักจัดเต็ม รับกระแส Petsumer ดันตลาดสัตว์เลี้ยงโตแรง
๑๗:๐๖ ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาล ลดอัตราดอกเบี้ย MRR 0.25% ต่อปี พร้อมส่งเสริมวินัยการออม ด้วย เงินฝากออมทรัพย์เก็บออม ดอกเบี้ยสูงถึง 1.95%
๑๗:๔๙ ManageEngine ลดความซับซ้อน ช่วยองค์กรจัดการต้นทุนบนคลาวด์ทั่วมัลติคลาวด์ได้ง่ายขึ้น พร้อมรองรับแพลตฟอร์ม Google Cloud
๑๗:๐๐ เปิดรับสมัครแล้ว HaadThip Fan Run 2024 แฟนรัน ฟันแลนด์ ดินแดนมหัศจรรย์ หาดสมิหลา จ.สงขลา