องค์กร Protection International ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและภาคีเครือข่าย จัดนิทรรศการภาพถ่ายแด่นักสู้ผู้จากไปสัญจรภาคใต้ พร้อมจัดเวทีเสวนา“วัฒนธรรมทำผิดแล้วลอยนวล กับการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิ”

พฤหัส ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๗ ๑๒:๔๕
นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระบุ กระบวนการยุติธรรมเอื้อประโยชน์ให้รัฐและกลุ่มทุนมากกว่าประชาชน พร้อมเสนอแก้ไขบัญชีท้ายพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ ให้ดีเอสไอเข้ามาดูแลคดีของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยไม่มีเงื่อนไข

ที่ห้องประชุม LRC 1 ชั้น 8 ศูนย์การเรียนรู้ สำนักทรัพยากรการเรียนรู้คุณหญิงหลงฯมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ องค์กรProtection International คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ คณะนิติศาสตร์ มอ.หาดใหญ่ และภาคีเครือข่ายได้จัดงานเปิดงานแสดงนิทรรศการแด่นักสู้ผู้จากไป โดยการจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายของนักต่อสู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายและ การรับรู้เรื่องราวของนักต่อสู้ผู้หญิงจากสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ที่ถูกลอบสังหาร การแสดงของกลุ่มอนุรักษ์น้ำตกโตนสะตอ จ.พัทลุง การอ่านแถลงการณ์ข้อเสนอวาระเร่งด่วนการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิที่ถูกสังหารและบังคับให้สูญหายของเครือข่ายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนภาคใต้ และการเสวนาในหัวข้อ "วัฒนธรรมทำผิดแล้วลอยนวล กับการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิฯ"โดยมีนักกฎหมาย นักวิชาการ ตัวแทนจากสื่อมวลชน เข้าร่วมเสวนาเป็นจำนวนมาก โดยการเปิดงานในครั้งนี้นั้นได้รับเกียรติผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภัทร อัยรักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และสารสนเทศมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เข้าร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดงานด้วย

ทั้งนี้ก่อนเริ่มงาน นายสุรพล สงฆ์รักษ์ ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ได้กล่าวปาฐกถาถึงสถานการณ์ของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนว่า มูลเหตุของการละเมิดสิทธิคือโครงสร้างอำนาจซึ่งเป็นที่มาของความรุนแรงที่กระทำต่อนักปกป้องสิทธิ ซึ่งโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจเชิงซ้อนที่ทำให้เกิดการสังหารและบังคับให้สูญหายของนักปกป้องสิทธิที่เราพบเจอคืออำนาจรัฐตามกฎหมายผนวกกับอำนาจจากกลุ่มผู้มีอิทธิพลที่อยู่เหนือกฎหมาย ชนชั้นนำระดับชาติและผู้นำในระดับท้องถิ่นรวมถึงข้าราชการนอกแถวในท้องถิ่นเมื่ออำนาจเชิงซ้อนต่างๆ เหล่านี้มารวมกันจึงทำให้เกิดการละเมิดสิทธิขั้นรุนแรงกับประชาชนที่ลุกขึ้นมาต้อสู้ทวงถามในสิทธิของตนเอง นอกจากนี้โครงสร้างการจัดสรรทรัพยากรของสังคมที่ไม่เป็นธรรมเช่นกรณีที่บางสะพานๆ หรือกรณีสวนปาล์มที่หมดสัญญาเช่าแต่รัฐบาลไม่ยอมนำมาจัดสรรให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินทำกินนั้นๆ หรือความไร้ประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมก็เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความรุนแรงกับนักต่อสู้ได้ โดยสรุปมูลเหตุของการละเมิดสิทธิ์คือความขัดแย้งหรือการช่วงชิงเพื่อการเข้าถึงและครอบครองฐานทรัพยากรและที่ดินซึ่งเป็นผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างชนชั้นกับผู้นำท้องถิ่นข้าราชการที่ถูกครอบงำด้วยผลประโยชน์ มูลเหตุเหล่านี้ได้ทำลายชีวิต ของนักต่อสู้สิทธิมนุษยชนศพแล้วศพเล่า

"สุดท้ายนี้หน้าที่ของพวกเราที่ยังคงมีชีวิตอยู่คือการสืบทอดอุดมการณ์ของนักสิทธิมนุษยชนที่ถูกสังหารและบังคับให้สูญหาย ชีวิตเลือดเนื้อของเขาเหล่านั้นอาจถูกทำลายได้แต่อุดมการณ์ของนักต่อสู้เหล่านั้นจะไม่ถูกทำลายจะถูกสานต่อและอยู่ร่วมบนเส้นทางการต่อสู้ของมิตรสหายทุกคนตลอดไปเหมือนอย่างที่ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ นักเขียนชาวอเมริกันที่ได้กล่าวไว้ว่ามนุษย์เรานั้นถูกทำลายได้แต่พ่ายแพ้ไม่ได้"ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้กล่าว

ต่อมาเป็นเวทีเสวนาในหัวข้อ"วัฒนธรรมทำผิดแล้วลอยนวล กับการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิฯ" โดย น.ส.สุภาภรณ์ มาลัยลอย ตัวแทนจากมูลนิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวในเวทีเสวนาว่า นโยบายของภาครัฐที่ผ่านมาไม่ได้คำนึงถึงสิทธิชุมชน ยกตัวอย่างกรณีสร้างโรงไฟฟ้าที่รัฐจะดำเนินการในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แทนที่ภาครัฐจะถามประชาชนในพื้นที่ กลับดำเนินการสร้างทันทีโดยไม่ถามประชาชน ด้วยเหตุนี้ทำให้คนในพื้นที่ต้องลุกขึ้นสู้ ซึ่งถือเป็นสิทธิที่ถูกต้อง แต่กลับกลายเป็นว่า คนที่ลุกขึ้นสู้ ได้เกิดความเสี่ยงมากมายทางด้านกฎหมาย โดยเฉพาะเมื่อมีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้น สิทธิการประกันตัวจะยากมาก หากเปรียบเทียบกับนายทุน ที่เข้าถึงสิทธิต่างๆ ของเขาได้มากกว่าอย่างชัดเจน นอกจากนี้นักต่อสู้เรื่องสิทธิชุมชนต่อสู้กันอย่างหนักจนถึงขั้นเสียชีวิต จะเห็นว่ามีการหาตัวผู้กระทำผิดยากมาก นั่นเป็นเพราะกฎหมายไม่มีการคุ้มครอง ตรงกันข้ามเรากลับมีหลักกฏหมายมากมาย ที่เอื้อประโยชน์เฉพาะนายทุนและภาครัฐ แสดงให้เห็นว่าทุนกับภาครัฐ มีความชัดเจนมากในส่วนของการร่วมมือกัน

"ทั้งนี้คิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องมีกฎหมายคุ้มครองนักสิทธิมนุษยชน และเดินคู่ขนานไปกับการสร้างความเข้มแข็งให้ภาคประชาชน ผ่านการเมืองภาคประชาชน เพื่อเข้าไปต่อรองกับภาครัฐ โดยเฉพาะการออกกฎหมายคุ้มครองต่างๆ ที่ต้องไม่เอื้อประโยชน์เฉพาะนายทุนและภาครัฐเหมือนเช่นที่ผ่านมา" ตัวแทนจากมูลนิติธรรมสิ่งแวดล้อมกล่าว

ด้าน ดร.ไทเรล ฮาเบอร์คอน ภาควิชาการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคม มหาวิทยาลัยนานาชาติออสเตรเลีย กล่าวว่า เมื่อครั้งมาทำวิจัยปริญญาเอกเกี่ยวกับเรื่องการต่อสู้นักสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ตนตกใจมากกับข่าว ที่คุณเจริญ วัดอักษร แกนนำบ่อนอก ถูกสังหาร เมื่อสิบสองปีที่แล้ว ทำให้นึกย้อนปสู่ความรุนแรงเมื่อสามสิบปีที่แล้ว มางานในวันนี้ก็นึกถึงเหตุการณืคุณเจริญและทำให้นึกถึงความรุนแรงที่หนำซ้ำยังต่อเนื่องมาอีกหลายรายในประเทศไทยตลอดระยะเวลาห้าสิบปที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า ความรุนแรงที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้มีอิทธิพล ยังคงมีอยู่ เสมือนเป็นการผลิตซ้ำ ฉายภาพแบบเดิมๆ แม้เวลาจะผ่านมาเป็นสิบๆปี เหตุการณ์การละเมิดสิทธินักต่อสู้ก็ไม่เคยเปลี่ยน เราจะต้องจำประวัติศาสตร์ของนักต่อสู้เหล่านี้เพื่อที่จะเป็นบทเรียนให้กับการดูแลนักต่อสู้ในรุ่นต่อๆ ไป ให้มีความปลอดภัยในชีวิตของตนเองมากยิ่งขึ้น

ขณะที่นายกฤษดา ขุนณรงค์ เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนภาคใต้กล่าวว่า ตนได้มีโอกาสลงพื้นที่ไปในหลายชุมชน แกนนำนักต่อสู้มักพูดเสมอว่า เมื่อลุกขึ้นมาต่อสู้แล้ว ไม่ถูกจำคุก หรือไม่ก็ตาย ซึ่งรู้สึกหดหู่ใจเป็นอย่างมาก ที่คนดีต้องเจอแบบนี้ โดยเฉพาะเมื่อมีการฟ้องร้องคดี มักถูกเอาเข้าคุก หนักสุดคือการอุ้มหาย ที่สำคัญหนักกว่านั้นก็คือกระบวนการยุติธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานไม่สามารถนำคนผิดมาลงโทษได้ และกฎหมายหลายตัวก็ไม่เอื้อให้กับนักต่อสู้สามารถใช้ปกป้องตนเองได้ ตนไม่อยากให้ภาพความรุนแรงกับนักต่อสู้ถูกฉายซ้ำแบบนี้ไปอีกเรื่อยๆ และไม่อยากให้นักต่อสู้เหล่านี้ต้องถูกกระทำซ้ำๆ จากกระบวนการยุติธรรมโดยที่เราไม่สามารถช่วยหรือแก้ไขอะไรได้ จึงอยากขอเสนอให้มีการแก้ไขบัญชีท้าย พรบ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 มาตรา 21 (1) ให้รวมคดีของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งทำได้โดยให้คณะกรรมการคดีพิเศษเสนอผ่านคณะรัฐมนตรีให้ออกเป็นกฎกระทรวง เพื่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเข้ามาดูแล

ด้านนายสมชาย ฝั่งชลจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า กรณีคนไทยถูกสังหารภายใต้ความคิดต่างทุกวันนี้มีจำนวนมากขึ้นโดยเฉพาะบุคคลที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิในพื้นที่ทำกินและปกป้องทรัพยากรของตนเอง ยกตัวอย่างกรณีชาวนาในพื้นที่ภาคเหนือที่ถูกสังหารเนื่องจากไปขัดแย้งผลประโยชน์กับพ่อค้าข้าว ทั้งนี้ตัวอย่างการต่อสู้ของชาวนาในประเทศญี่ปุ่นที่มีการเรียกร้องสิทธิของตนเองกรณีเรียกร้องให้มีการปิดสนามบินนาริตะตั้งแต่สี่ทุ่มถึงหกโมงเช้าเพื่อให้ชาวนาได้มีการพักผ่อนในการทำงาน ในส่วนของการสังหารนักต่อสู้สิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งตนเองเห็นว่าจาการคัดค้านทุนท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่ ขณะทีความขัดแย้งกับทุนขนาดใหญ่มักเกิดขึ้นน้อย

ขณะที่นายสุรชา บุญเปี่ยม บรรณาธิการอาวุโสสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ กล่าวว่า ปัญหาการอุ้มหายในแง่สื่อตนมองว่าเกิดจากโครงสร้างทางสังคมยกกรณีตัวอย่างกรณีคุณบิลลี่ที่ถูกบังคับให้สุญหายซึ่งเป็นชาติพันธ์กะเหรี่ยงที่คนทั่วมีทัศนคติที่ไม่ให้ความสำคัญกับชนกลุ่มน้อย ทำให้กระบวนการกฎหมายที่ต้องปกป้องไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรหรือแทบไม่มีเลย ขณะที่การนำเสนอของสื่อเองต้องยอมรับว่าไม่ให้ความสำคัญมากนักกับข่าวการถูกสังหารหรือถูกบังคับให้สูญหายของนักสิทธิมนุษยชน เนื่องจากภาพรวมปัจจุบันของสื่อไทยเชื่อมโยงกับทุน จึงทำให้ข่าวแบบนี้ถูกนำเสนอในสัดส่วนน้อยต่างจากข่าวประเภทอื่นที่จะถูกนำเสนอในสัดส่วนที่มาก

ด้าน น.ส. ปรานม สมวงศ์ ตัวแทนจากองค์กร Protection international กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้เราต้องการให้สังคมไทยได้ตั้งคำถาม ว่าอะไรหรือสิ่งใดที่ทำให้นักต่อสู้เหล่านี้จนต้องถูกสังหารและถูกบังคับให้สูญหาย ที่เรากำลังพูดคุยกันวันนี้คือการพูดถึงเรื่องราวของประชาชนตัวเล็กเล็กตัวน้อยที่เป็นกระบอกเสียง และเป็นกระดูกสันหลังให้กับประเทศของเราและเป็นประชาชนที่แผ้วทางให้เสรีภาพในบ้านเมืองของเรางอกเงยขึ้นมาและรักษาพื้นที่สิทธิเสรีภาพของเราเกิดขึ้รได้จากการต่อสู้ของพวกเขา เราเชื่อว่าสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิเสรีภาพในการรักษาซึ่งทรัพยากรในท้องถิ่นของตนเองและสิทธิในการที่จะเรียกร้องในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนทุกชนชั้นควรได้รับ แต่น่าเสียดายที่กระบวนการยุติธรรมเหล่านั้นนักต่อสู้สิทธิมนุษยชนส่วนมากต้องร้องขอเพื่อที่จะให้ได้มา รายชื่อของนักต่อสู้ที่สังหารและบังคับให้สูญหายกำลังจะเลือนหายไปกับความทรงจำเราจึงอยากให้ทุกคนได้จดจำและเรียนรู้ และอยากให้ทุกคนช่วยกันสืบหาข้อเท็จจริงถึงการตายการถูกสังหารและการถูกอุ้มหายของบุคคลเหล่านี้ อยากให้เราสืบว่าเกิดอะไรขึ้นกับบุคคลเหล่านี้ และครอบครัวของเขา เราสามารถช่วยกันได้ด้วยพลังของเราในการที่จะยืนหยัดว่าตัวเราทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพในการที่จะปกป้องพื้นแผ่นดินของตนเองมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและมีสิทธิเสรีภาพในการที่จะเข้าถึงความยุติธรรมด้วย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4