มจธ. น้อมนำแนวพระราชดำริ ปฏิบัติงานตามหลัก อพ.สธ.

พฤหัส ๑๖ มีนาคม ๒๐๑๗ ๑๑:๔๐
"อดีตพื้นที่ชุมชนรอบ มจธ. บางขุนเทียน ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำบ่อเลี้ยงกุ้ง และมีปลาหมอเทศเป็นพันธุ์ปลาท้องถิ่น ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากบ่อกุ้ง นักวิจัย และชาวบ้านในชุมชน เคยตั้งกลุ่มพัฒนาร่วมกันนำปลาหมอเทศมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อในท้องถิ่นอย่างปลาหมอแดดเดียว และน้ำปลา ในขณะนั้นนักวิชาการไม่ได้สร้างความตระหนักในคุณค่าของทรัพยากรร่วมกับชาวบ้าน มีการนำปลาหมอสีซึ่งเป็นคนละสายพันธุ์มาปล่อยในคลองธรรมชาติทำให้เกิดการทำให้เกิดการผสมข้ามสายพันธุ์ ปลาหมอเทศเกิดการกลายพันธุ์ หน้าตา เนื้อสัมผัส และรสชาติเปลี่ยนไปไม่เหมาะกับการบริโภค ไม่สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายได้เหมือนเดิม จากที่เคยเป็นพันธุ์ปลาท้องถิ่นที่สร้างรายได้ให้ชุมชน แต่ปัจจุบันชาวบ้านต้องซื้อพันธุ์ปลามาจากที่อื่นแทน.....

ซึ่งเรื่องราวนี้ล้วนเกิดขึ้นจากความไม่รู้และไม่ตระหนักรักษาทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น"

กว่า 20 ปีแล้วที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ปฏิบัติงานภายใต้กิจกรรมสนองพระราชดำริของศูนย์ส่งเสริมมูลนิธิโครงการหลวง และโครงการพระราชดำริ มจธ. ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและการฟื้นฟู ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถและส่งเสริมอาชีพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ห่างไกล ไม่ว่าจะเป็น เยาวชน กลุ่มชาติพันธุ์ และชาวบ้าน รวมไปถึงการปฏิบัติงานในกลุ่มมหาวิทยาลัยกับชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง

และในปี พ.ศ. 2555 มจธ. ได้รับพระราชทานอนุญาตให้เข้าร่วมโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดขึ้นมานานเกือบ 30 ปีแล้ว ดำเนินงานสืบสานพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติจากยอดเขาสู่ท้องทะเล โดย ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ที่ปรึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้กล่าวว่า ที่ผ่านมา มจธ. มีการทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์อยู่จำนวนมาก แต่กระจายอยู่ในส่วนงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ดังนั้นหาก มจธ. น้อมนำแนวทางการปฏิบัติของโครงการ อพ.สธ. มาใช้กับงานของมหาวิทยาลัยเพื่อให้เกิดการจัดหมวดหมู่ ก็จะทำให้เห็นว่าแต่ละงานที่ทำนั้นมีประโยชน์อย่างไร มีประโยชน์กับใครได้บ้าง ในแต่ละพื้นที่มีอะไรที่สอดคล้องกัน และจะทำให้เกิดความยั่งยืนได้อย่างไร

"หัวใจสำคัญของ อพ.สธ. คือการรู้จักใช้ประโยชน์ เกิดความตระหนักและหวงแหนในสิ่งที่มีอยู่ แต่ก่อนที่เราจะไปบอกให้ใครทำอะไรได้นั้น กลไกสำคัญต้องเริ่มต้นที่ตัวเองก่อน เราพยายามปลูกฝังให้คนใน มจธ. มีความตื่นตัวเรื่องสภาพแวดล้อมแบบกว้าง สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติคือบุคลากร นักวิจัย ตลอดจนนักศึกษา ของ มจธ.ไม่ว่าจะไปทำงานในพื้นที่ใดก็ตาม ให้นำหลักปฏิบัติตามแนวทางพระราชดำริของ อพ.สธ. ไปใช้ด้วยเสมอ สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้ว่ามีอะไรอยู่ตรงนั้น คนที่นั่นเขาเคยทำอะไรมาก่อน แล้วเราจะใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีตรงนั้นและช่วยอนุรักษ์มันไว้ได้อย่างไร ไม่ใช่ไปตักตวงจากธรรมชาติตลอดเวลาเพราะไม่เกิดความยั่งยืน"

ทางด้าน รศ.นฤมล จียโชค ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มจธ. กล่าวเสริมว่า ในการดำเนินงานตามกรอบของ อพ.สธ.นั้น ต้องสังเกตทรัพยากรในพื้นที่ที่เข้าไปทำงานไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์ หนึ่งในเป้าหมายที่ มจธ.พยายามปลูกฝังคือการที่บุคลากร นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกิดความตระหนัก เมื่อเข้าไปวิจัยและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ต่างๆ เพิ่มบทบาทของตนในการเป็นพี่เลี้ยงชักชวนให้คนในท้องถิ่นนั้นรับรู้ถึงความสำคัญของทรัพยากรที่ยังคงมีอยู่ เกิดความตระหนักที่จะช่วยกันสำรวจและรักษาไม่ให้ทรัพยากรเหล่านั้นหายไป

" ความน่ากลัวที่ทำให้ทรัพยากรหมดไปก็คือ ความไม่รู้ของคนในท้องถิ่น เพราะเขาไม่รู้ว่าสำคัญเขาจึงไม่ทันได้รักษา จึงเป็นหน้าที่ของนักวิชาการที่ต้องทำหน้าที่เติมเต็มในส่วนนี้ มจธ. ปฏิบัติงานตามหลักของ อพ.สธ. โดยยึดหลัก 3 กรอบ 8 กิจกรรม ได้แก่ กรอบการเรียนรู้ทรัพยากร กรอบการใช้ประโยชน์ และกรอบการสร้างจิตสำนึก แต่เราไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ เราต้องทำงานร่วมกับชุมชน และโรงเรียน เพราะเขาอยู่ในพื้นที่มาก่อนเรา หากความตระหนักรักษาไม่ได้เกิดจากพวกเขาก็ไม่สามารถเกิดความยั่งยืนขึ้นได้

กรอบการทำงานของ อพ.สธ.มจธ. เราแบ่งโซนการทำงานเป็น 3 พื้นที่ภายใต้รัศมีอย่างน้อย 50 กิโลเมตรจาก มจธ. โดยแต่ละพื้นที่จะมีขอบเขตของการอนุรักษ์ที่ต่างกันออกไป อย่างที่บางมดเรามองเรื่องของการอนุรักษ์สวนส้มเราต้องสำรวจและรวบรวมพันธุ์ ทำอย่างไรให้คนในพื้นที่เห็นคุณค่าของสวนส้มบางมดที่กำลังจะหมดไป อนาคตหากเกิดน้ำท่วมต้นส้มตายไปหมด สิ่งที่เราทำได้คือช่วยเก็บรักษาพันธุ์และขยายพันธุ์พื้นถิ่นให้ชาวบ้านนำไปปลูกใหม่ได้ ส่วนที่บางขุนเทียนนั้นเนื่องจากตั้งอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลของกรุงเทพฯ เป็นแหล่ง Food Safety ของคนเมืองเราจึงเริ่มต้นที่เรื่องของพันธุ์ไม้ทนเค็ม และสัตว์น้ำที่เป็นพันธุ์ดั้งเดิมในพื้นถิ่น เราต้องเตรียมพร้อมให้คนกับทรัพยากรธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้ในวันที่เมืองมันขยายรุกล้ำธรรมชาติ และอีกแห่งคือ มจธ. ราชบุรีเนื่องจากตั้งอยู่ติดกับพื้นที่ป่าดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของป่าเต็งรัง และอีกอย่างในป่าที่ราชบุรีมักจะมีชาวบ้านมาเก็บเห็ดไปขาย เราเป็นนักวิชาการในพื้นที่อย่างน้อยเราก็ควรจะบอกพวกเขาได้ว่าเห็ดชนิดไหนควรเก็บ ชนิดไหนควรอนุรักษ์ หรือชนิดไหนมีพิษ รวมไปถึงเรื่องของการอนุรักษ์ต้นผึ้งด้วย การอนุรักษ์ในความหมายของโครงการ อพ.สธ.นั้นไม่ได้หมายถึงหมวดหมู่ของพืชเท่านั้น แต่หมายถึงทุกอย่างทั้งทรัพยากรชีวภาพ กายภาพ ภูมิปัญญา และวัฒนธรรม"

ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวเสริมในตอนท้ายว่า ในยุค Bioeconomy เศรษฐกิจฐานชีวภาพ ในวันที่ทรัพยากรธรรมชาติเหลือน้อย ประเทศใดมีฐานของทรัพยากรชีวภาพมั่นคงก็จะเป็นผู้ได้เปรียบ ดังนั้นทั้งหน้าที่ของนักวิชาการที่เข้าไปในพื้นที่ต้องเป็นตัวกระตุ้นสร้างความตระหนักสร้างจิตสำนึกให้เจ้าถิ่นรู้ว่าสิ่งที่เขามีอยู่สำคัญอย่างไร ใช้ประโยชน์อะไรได้ และเกิดความหวงแหน

"ข้อสังเกตหนึ่งพบว่า กระบวนการการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ปัจจุบันนี้เปลี่ยนไป ทุกวันนี้เราเรียนรู้แต่ในห้องlab เราสังเกตธรรมชาติน้อยลง เราไม่พบองค์ความรู้ใหม่จากธรรมชาติมานาน เราสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้เกิดขึ้นในห้องlab มากกว่า ทั้งที่จริงแล้วในธรรมชาติมีองค์ความรู้อีกมาก ถ้าเราจะเข้าสู่ bioeconomy เราต้องไม่รอบรู้อยู่แค่ในห้องที่เราควบคุมทุกอย่างได้เท่านั้น แต่เราต้องรู้ว่าข้างนอกมีอะไร โลกนี้มีอะไร และทำมันไปควบคู่กันเพราะสุดท้ายแล้วองค์ความรู้ที่เกิดจากธรรมชาติถึงจะไม่สร้างผลงานที่อู้ฟู่แต่ยั่งยืนเสมอ"

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑ เม.ย. อ.อ.ป. ร่วม พิธีสรงน้ำพระ ขอพร เนื่องในวันสงกรานต์ประจำปี 2567 ทส.
๑๑ เม.ย. 1 จาก 1,159 ศูนย์การค้า เดอะ พาลาเดียม เวิลด์ ช้อปปิ้ง ส่งมอบลอตเตอรี่ที่ไม่ถูกรางวัล จำนวน 125,500 ใบ ให้กับศูนย์สาธารณสงเคราะห์เด็กพิเศษ วัดห้วยหมู
๑๑ เม.ย. JPARK ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผถห. อนุมัติปันผล 0.0375 บาทต่อหุ้น
๑๑ เม.ย. สเก็ตเชอร์ส สนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อความสบายแก่บุคลากรทางการแพทย์ บริจาครองเท้ารุ่น GOwalk 7(TM) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์
๑๑ เม.ย. ศูนย์คนหายไทยพีบีเอส ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทำงานเชิงป้องกัน เก็บก่อนหาย ในผู้สูงอายุ
๑๑ เม.ย. จุฬาฯ อันดับ 1 ของไทย การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย QS WUR by Subject 2024
๑๑ เม.ย. ครั้งแรกในไทย 'Pet Us' เนรมิตพื้นที่จัดกิจกรรม มะหมามาหาสงกรานต์ ชวนน้องหมาทั่วทั้ง 4 ภาคร่วมสนุกในช่วงสงกรานต์ 13-14 เมษายน ตอกย้ำความสำเร็จฉลอง 'Pet Us' ครบ 3
๑๑ เม.ย. LINE STICKER OCHI MOVE จาก OCEAN LIFE ไทยสมุทร คว้ารางวัลชนะเลิศ Best Sponsored Stickers in Insurance ในงาน LINE THAILAND AWARDS
๑๑ เม.ย. วว. ผนึกกำลังหน่วยงานเครือข่าย พัฒนาเชื่อมโยงการค้า ตลาด วิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
๑๑ เม.ย. บริษัท เค วัน วัน ดี จำกัด ถือฤกษ์ดีจัดพิธีบวงสรวง ซีรี่ส์ Girl's Love เรื่องใหม่ Unlock Your Love : รักได้ไหม ?