สคร.10 อุบลฯ เตือน ปิดเทอมพ่อแม่ ผู้ปกครอง ช่วยกันดูแลลูกหลานป้องกันอันตรายจากการจมน้ำ

พฤหัส ๑๖ มีนาคม ๒๐๑๗ ๑๖:๔๓
สคร.10 อุบลฯ เตือน ปิดเทอมพ่อแม่ ผู้ปกครอง ช่วยกันดูแลลูกหลานอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันอันตรายจากการจมน้ำ อย่าปล่อยเด็กๆอยู่ใกล้แหล่งน้ำตามลำพัง ที่สำคัญควรปลูกฝังให้เด็กเรียนรู้การว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด และการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ ตามหลัก "ตะโกน โยน ยื่น"

นางศุภศรัย สง่าวงศ์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี (สคร.10) เปิดเผยว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุให้เด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1 ของทุกสาเหตุ จากข้อมูลของสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค ได้ทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงการเสียชีวิตจากการจมน้ำ พบว่า ในปี 2559 ทั่วประเทศมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิตมากถึง 699 คน โดยช่วงปิดเทอม 3 เดือน (มีนาคม-พฤษภาคม) พบเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงถึง 197 คน เรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งในขณะนี้ คือสภาพอากาศได้เปลี่ยนเป็นฤดูร้อน และอยู่ในช่วงปิดเทอมใหญ่ ในเดือนมีนาคม - พฤษภาคม ถือว่าเป็น 90 วันอันตรายที่มีความเสี่ยงเด็กจมน้ำตายสูงที่สุด เนื่องจากเด็กๆมักจะลงเล่นน้ำเพื่อคลายความร้อนในสภาวะอากาศร้อนอบอ้าว และมักลงเป็นกลุ่ม เมื่อมีรายหนึ่งจมน้ำ มักจะลงไปช่วยกัน แต่ช่วยไม่เป็น จึงมักจมน้ำตายด้วยกัน

นางศุภศรัย กล่าวต่อไปว่า แหล่งน้ำที่เด็กตกน้ำ จมน้ำมากที่สุด คือ แหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หนองน้ำ บึง รองลงมาคือ สระว่ายน้ำ และอ่างเก็บน้ำ ส่วนในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ จุดเกิดเหตุมักอยู่ในบ้าน คือจะจมน้ำในถังน้ำ อ่างน้ำ กะละมังที่มีน้ำอยู่ เนื่องจากเด็กยังทรงตัวได้ไม่ดี ทำให้ล้มในท่าศีรษะทิ่มลง และไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ทำให้เสียชีวิต ปัญหาเด็กว่ายน้ำไม่เป็นยังเป็นปัญหาใหญ่ของเด็กไทย โดยผลสำรวจล่าสุดในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่มีประมาณ 13 ล้านคน ว่ายน้ำไม่เป็นมากถึง 11 ล้านคน

จึงขอประชาสัมพันธ์ให้พ่อแม่ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเด็ก ได้ตระหนัก และรับรู้ปัญหา รวมทั้งหาแนวทางเพื่อป้องกันการจมน้ำในเด็ก และจะต้องดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ไม่ควรปล่อยให้เด็กเล่นน้ำเองตามลำพัง และห้ามกระโดดลงไปในน้ำเพื่อช่วยเพื่อน แม้ว่าจะว่ายน้ำเป็น เพราะเด็กมักจะจมน้ำเสียชีวิตเป็นกลุ่ม เนื่องจากเด็กไม่รู้วิธีการเอาชีวิตรอดในน้ำ และวิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้อง ควรตะโกนเรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วย หรือถ้าไม่มีใคร ก็ให้ใช้อุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ เช่น แกลลอน ถัง ลูกมะพร้าว ไม้ยาวๆ หรือเชือกโยนให้ผู้ตกน้ำเกาะลอยตัวเข้าหาฝั่ง

"ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เด็กๆ ควรมีเพื่อเป็นทักษะในการป้องกันตนเอง ไม่ให้เกิดปัญหาจมน้ำ คือ การสร้างเกราะป้องกันตนเองโดยการเรียนหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด เป็นหลักสูตรขั้นพื้นฐานโดยเน้นสอนให้เด็กมีความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยทางน้ำ สามารถเอาชีวิตรอดได้เมื่อตกน้ำ และรู้วิธีการช่วยเหลือคนตกน้ำในเบื้องต้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการป้องกันจากการจมน้ำ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม http://thaincd.com หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 / นางศุภศรัย กล่าวปิดท้าย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4