จาก “นาเคมี” สู่ “นาอินทรีย์” เพิ่มมูลค่า 'ข้าวสังข์หยด’ สร้างรายได้ช่วยเกษตร

พุธ ๑๙ เมษายน ๒๐๑๗ ๐๙:๐๘
"เราต้องการอนุรักษ์ความเป็นพื้นถิ่น สร้างมูลค่าด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ และสร้างรายได้ให้เกษตรกรในท้องถิ่น" นี่คือเสียงความตั้งใจแรกเริ่มของ ดร.อนิศรา เพ็ญสุข ติ๊บแก้ว อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ที่สร้างมูลค่าให้กับข้าวสังข์หยด ส่งเสริมให้เกษตรหันมาทำนาในระบบเกษตรอินทรีย์ ซึ่งดีต่อตัวเกษตร ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมพื้นที่นาข้างสังข์หยดเกือบ 3,500 ไร่ ที่มีกำลังผลิตข้าว 1,200 ตัน/ปี โดยฝีมือเกษตรกรรายย่อย 400 ราย ที่เปลี่ยนการทำนาจากเดิมที่ใช้สารเคมี หรือที่เรียกกันว่า "นาเคมี" มาเป็น "การทำนาอินทรีย์"

ดร.อนิศรา เล่าว่า จากการทำงานเรื่องการกำกับและควบคุมมาตรฐานการผลิตข้าวร่วมกับเกษตรกรของคณะทำงานเป็นระยะเวลา 6 ปี มีข้อสังเกตสำคัญคือ เกษตรกรขาดแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนการทำนาจากนาเคมีเป็นนาอินทรีย์ เนื่องจากไม่มีความแตกต่างทางด้านราคาที่โดเด่นพอที่จะเป็นแรงจูงใจได้ ทางโครงการวิจัยจึงนำเรื่องราคามาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการและชูจุดเด่นข้าวสังข์หยดอินทรีย์

"ข้าวสังข์หยดอินทรีย์ เป็นข้าวเฉพาะถิ่นทางภาคใต้ เป็นข้าวที่มีปริมาณอะมิโลสต่ำ รสชาติคล้ายข้าวเหนียวและมีคุณค่าทางอาหารสูง ปลูกได้ในพื้นที่ที่เป็นนาลุ่ม มีฤดูการเพราะปลูก-เก็บเกี่ยว เพียงแค่ช่วงเดียวในฤดูฝน ระหว่างเดือนกันยายนถึงมีนาคม ซึ่งข้างสังข์หยดที่เป็นอินทรีย์ มีข้อดีอยู่ 3 เรื่องหลักคือ ดีต่อผู้บริโภคทำให้ได้ทานข้าวที่ไม่มีสารเคมีหรือยาฆ่าแมลงตกค้างในผลิตภัณฑ์ ดีต่อตัวเกษตรกรที่ไม่ต้องสัมผัสกับสารเคมีต่าง ๆ ซึ่งก่อนนี้เกษตรกรบางคนที่ใช้ปุ๋ยเคมีแล้วมีอาการเป็นผื่นแพ้และคันตามขาแข้ง พอเปลี่ยนมาทำนาอินทรีย์ก็หายเป็นปกติ หลายคนเห็นถึงความปลอดภัยในเรื่องนี้จึงหันมาสนใจความเป็นอินทรีย์มากยิ่งขึ้น และยังช่วยเพิ่มราคาทำให้สามารถขายได้ในราคาสูงขึ้นได้ ตรงตามเทรนด์สุขภาพ และดีต่อสิ่งแวดล้อม เพราะใช้ธรรมชาติมาเกื้อกูลธรรมชาติด้วยกัน ทำให้ดินดี สิ่งแวดล้อมดี ทำให้ระบบนิเวศดี ไม่มีผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ"

"การนำกลไกราคามาขับเคลื่อนโครงการ นอกจากเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาทำนาอินทรีย์มากขึ้นแล้ว ยังช่วยให้ราคาต้นทางจากผู้ผลิตโดยตรงและราคาปลายทางผู้บริโภค มีความสัมพันธ์กันอย่างสมเหตุสมผล กล่าวคือ ชาวนาทำนามีความสุขเลี้ยงปากท้องตนเองและครอบครัวได้ ขณะที่ผู้บริโภคก็มีกำลังที่จะซื้อได้ เพราะก่อนนี้พบช่องว่างราคาข้าวสังข์หยดในตลาดมีราคาแพง แต่ทำไมชาวนาถึงบ่นว่าขายแล้วขาดทุนหรือไม่ก็พอดีทุน" ดร.อนิศราอธิบาย

โดยโครงการได้ตกลงซื้อข้าวสังข์หยดอินทรีย์จากเกษตรสมาชิกในปริมาณบางส่วน หลังจากเกษตรกรเก็บไว้บริโภคในครัวเรือนแล้ว ด้วยราคาประมาณ 15,000 - 17,000 บาท ตามคุณภาพและการเจือปน อาจจะดูเหมือนราคาสูง แต่เนื่องจากข้าวสังข์หยดมีผลผลิตต่ำ ประมาณ 400 กิโลกรัม/ไร่ ชาวนาต้องทำนา 3 ไร่ ถึงจะได้ข้าว 1 ตัน อีกทั้งข้าวสังข์หยดมีฤดูเพราะปลูกและเก็บเกี่ยวเพียงครั้งเดียวในระยะเวลา 6 เดือน ส่วนความรู้ที่เรานำไปเสริมให้เกษตรกรในโครงการทั้ง 400 คน ซึ่งแบ่งออกเป็น 18 กลุ่มย่อย ด้วยการให้ความรู้เรื่องการทำนาอินทรีย์ให้ผ่านการรับรองเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand) โดยใช้ปุ๋ยหมัก มูลสัตว์และน้ำหมักชีวภาพ ทดแทนสารเคมีต่าง ๆ แม้จะมีแมลงหรือศัตรูพืชในนาข้าวบ้างเพียงเล็กน้อยตามธรรมชาติ โดยลงพื้นที่สอนเกษตรกรและควบคุมการผลิตด้วยตนเอง และยังเพิ่มเทคนิคการแปรรูปข้าวสังข์หยดให้เป็นผลิตภัณฑ์ เช่น บราวนี่ข้าวสังข์หยดและโจ๊กกึ่งสำเร็จรูปจากปลายข้าว

ดร.อนิศรา เล่าต่อไปว่า โครงการนี้นอกจากจะรักษาความเป็นพื้นถิ่นของจังหวัดแล้ว ยังเป็นกรณีศึกษาตัวอย่างให้กับนักศึกษาได้ดีอีกด้วย และทำให้เกษตรกรในโครงการก่อเกิดเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง บางกลุ่มมีความสามารถมากพอที่จะเป็นวิทยากรให้กับอีกกลุ่ม เพื่อส่งต่อความรู้ให้กับเกษตรกรด้วยตนเอง บางกลุ่มมีพื้นที่พร้อมที่จะผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ป้อนให้กับกลุ่มอื่นต่อได้

สิ่งสำคัญในโครงการ นั่นคือการบูรณาการร่วมกันหลายภาคส่วน ทั้งเกษตรกรในพื้นที่ กรมการข้าว กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงจังหวัดพัทลุงเอง ตลอดจนโรงสีข้าว และได้เข้าร่วมโครงการ Start Up ราชมงคลธัญบุรี โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในการที่เสริมสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรอย่างแท้จริง

ด้าน นายโกศล เดชสง ผู้จัดการ หจก.โกศลธัญญกิจ เจ้าของโรงสีข้าวขนาดกลางที่ร่วมในโครงการ สะท้อนให้ฟังแทนเกษตรกรให้ฟังว่า การทำนาข้าวอินทรีย์ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลาปรับปรุงดินในนาข้าว 2-3 ปีก่อนปลูก มีการตรวจสอบคุณภาพดินอย่างต่อเนื่อง เมื่อปลูกแล้วต้องติดตามและตรวจสอบเพื่อควบคุมมาตรฐานการผลิตข้าวร่วมกับคณะทำงานในโครงการ ขณะเดียวกันโรงสีข้าวต้องได้มาตรฐาน มีการนำเทคโนโลยีชั้นสูงเข้ามาเสริมและได้รับการรับรอง

ข้าวสังข์หยดในโครงการได้จุดกำเนิดสู่แบรนด์ MANORA (มโหราห์) ซึ่งได้คัดสรรเมล็ดพันธุ์และใช้วิธีการขัดสีแบบซ้อมมือ ซึ่งจะเอาเปลือกหุ้มออกเพียงแค่ 30 % ทำให้หุงง่ายและที่สำคัญไม่แข็งกระด้าง ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกาย มีธาตุเหล็ก แคลเซียมและวิตามินบี3 สูง เหมาะกับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะวัยเด็กที่กำลังเจริญเติบโตและผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนและโรคทางระบบประสาท และเป็นผลิตภัณฑ์อินทรีย์คุณค่าจากธรรมชาติ ผู้สนใจหรือต้องการช่วยสนับสนุนเกษตรกรสามารถสอบถามเพิ่มเติมโดยตรง โทร.084 1232268 หรือwww.facebook.com/ManoraRice

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐:๕๙ ซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล ให้การต้อนรับอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ศรีปทุม
๒๐:๓๑ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
๒๐:๕๒ Vertiv เปิดตัวดาต้าเซ็นเตอร์ไมโครโมดูลาร์รุ่นใหม่ที่มี AI ในเอเชีย
๒๐:๐๙ พิธีขึ้นเสาเอก เปิดไซต์ก่อสร้าง โครงการ แนชเชอแรล ภูเก็ต ไพรเวท พูลวิลล่า บ้านเดี่ยวบนทำเลทองใจกลางย่านเชิงทะเล
๒๐:๔๖ เขตบางพลัดประสาน รฟท.-กทพ. ปรับภูมิทัศน์ เพิ่มพื้นที่สีเขียวหน้าสถานีรถไฟบางบำหรุ
๒๐:๕๘ ร่วมแสดงความยินดีแก่อธิบดีกรมยุโรป ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ เซ็นทรัลเวิลด์
๒๐:๐๓ กทม. เดินหน้าจัดกิจกรรมริมคลองโอ่งอ่าง ส่งเสริมอัตลักษณ์ กระตุ้นเศรษฐกิจ-การท่องเที่ยว
๒๐:๔๙ พาราไดซ์ พาร์ค ร่วมกับ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พาคุณไปสัมผัสการนวดเพื่อสุขภาพจาก 4 ภูมิภาคของไทย
๒๐:๒๔ Digital CEO รุ่นที่ 7 เรียนรู้เข้มข้นต่อเนื่อง จากวิทยากรชั้นนำของวงการ
๒๐:๒๔ เด็กไทย คว้ารางวัลระดับโลก โดรนไทย ชนะเลิศนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ทางด้านอากาศยานไร้คนขับ UAV ณ กรุงเจนีวา