เอยูโพล (AU Poll) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ ดัชนีความเครียดของคนไทย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา

จันทร์ ๒๒ พฤษภาคม ๒๐๑๗ ๑๒:๐๓
สถาบันวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอยูโพล) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่องดัชนีความเครียดของคนไทยกรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,006 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 18 เมษายน – 15 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา พบว่า

ตัวอย่างเกินครึ่งหรือร้อยละ 54.99 เป็นหญิง และร้อยละ 45.01 เป็นชาย เมื่อจำแนกออกเป็น เจเนอเรชั่น พบว่า ร้อยละ 6.69 เป็นเจเนอเรชั่น Z (ตัวอย่างที่มีอายุ 15-18 ปี) ร้อยละ 12.52 เป็นเจเนอเรชั่น M (ตัวอย่างที่มีอายุ 19-24 ปี) ร้อยละ 21.36 เป็นเจเนอเรชั่น Y (ตัวอย่างที่มีอายุ 25-36 ปี) ร้อยละ 30.69 เป็นเจเนอเรชั่น X (ตัวอย่างที่มีอายุ 36-50 ปี) และร้อยละ 28.74 เป็นเจเนอเรชั่น B (ตัวอย่างที่มีอายุ 51-69 ปี) ด้านสถานภาพสมรส พบว่า ตัวอย่างเกินครึ่งหรือร้อยละ 53.97สมรสแล้ว ร้อยละ 35.86 เป็นโสด และร้อยละ 10.17เป็นหม้าย/หย่า/แยกกันอยู่ ส่วนการศึกษาที่สำเร็จมาชั้นสูงสุด พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.50 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 26.60 ระดับปริญญาตรี และร้อยละ 1.90 ระดับสูงกว่าปริญญาตรี ส่วนรายได้ส่วนตัวเฉลี่ยต่อเดือน พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 32.76 มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท ร้อยละ 42.01 มีรายได้ 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 15.08 มีรายได้ 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 5.48 มีรายได้ 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 2.81 มีรายได้ 40,001-50,000 บาท และร้อยละ 1.86 มีรายได้สูงกว่า 50,000 บาท สำหรับอาชีพ พบว่า ร้อยละ 20.02 อาชีพพนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 16.18 อาชีพค้าขาย ร้อยละ 13.58 เป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 12.43 อาชีพรับจ้างทั่วไป ร้อยละ 8.64 อาชีพธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 8.54 อาชีพรับราชการ ร้อยละ 6.59 เป็นพ่อบ้านแม่บ้าน ร้อยละ 5.39 อาชีพพนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 8.63 ประกอบอาชีพอื่นๆ เช่น อาชีพเกษตรกรรม เกษียณอายุ ว่างงาน พนักงานมหาวิทยาลัย เป็นต้น

ผลสำรวจในเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกเบื่อหน่าย (ร้อยละ 70.59) ไม่มีความสุขเลย (ร้อยละ 62.86) รู้สึกหมดกำลังใจ (ร้อยละ 49.46) และไม่อยากพบปะผู้คน (ร้อยละ 41.82) เป็นครั้งคราวถึงบ่อยๆ โดยในภาพรวมพบว่า ประชาชนมีความเครียดน้อย มีคะแนนความเครียดเฉลี่ยเท่ากับ 2.26 คะแนนจากคะแนนเต็ม 5 คะแนน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อครั้งที่ผ่านมาในเดือนมกราคม 2560 ที่มีคะแนนความเครียดเฉลี่ยเท่ากับ 2.18 คะแนน โดยเรื่องที่ทำให้เกิดความเครียดมากที่สุด คือ เรื่องเศรษฐกิจ/การเงิน(คะแนนความเครียดเฉลี่ยเท่ากับ 2.87) โดยเฉพาะปัจจัยที่เกี่ยวกับราคาสินค้าแพง ปัญหาหนี้สิน/รายรับไม่พอกับรายจ่าย และสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน เป็นต้น รองลงมา คือ เรื่องการเรียน (คะแนนความเครียดเฉลี่ยเท่ากับ 2.85 คะแนน) โดยเฉพาะปัจจัยเกี่ยวกับผลการเรียน การศึกษาต่อ และเนื้อหาการเรียน เป็นต้น อีกด้านหนึ่งที่ประชาชนมีความเครียดสูง คือ เรื่องการงาน (คะแนนความเครียดเฉลี่ยเท่ากับ 2.73) โดยเฉพาะปัจจัยเกี่ยวกับสวัสดิการและค่าตอบแทน ความก้าวหน้าในอาชีพ และปริมาณงานที่ทำ/ขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบ เป็นต้น

และผลสำรวจยังพบว่า ประชาชนในต่างจังหวัดมีความเครียด (คะแนนความเครียดเฉลี่ยเท่ากับ 2.36 คะแนน) สูงกว่าประชาชนในกรุงเทพมหานคร (คะแนนความเครียดเฉลี่ยเท่ากับ 2.18 คะแนน) โดยประชาชนในกรุงเทพมหานครมีความเครียดในเรื่องต่างๆ คือ มีความเครียดในเรื่องเศรษฐกิจ/การเงินมากที่สุด รองลงมา คือ เรื่องการเรียน และเรื่องสิ่งแวดล้อมตามลำดับ ส่วนประชาชนในต่างจังหวัดมีความเครียดในเรื่องต่างๆ คือ มีความเครียดในเรื่องเศรษฐกิจ/การเงินมากที่สุด รองลงมา คือ เรื่องการเรียน และเรื่องการงานตามลำดับ ซึ่งผลการสำรวจที่ได้ในครั้งนี้ ไม่แตกต่างจากผลการสำรวจในครั้งที่แล้ว (มกราคม 2560) ที่ประชาชนในต่างจังหวัดมีความเครียดสูงกว่าประชาชนในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งเมื่อพิจารณาจากผลสำรวจในครั้งจะเห็นว่า ปัญหาที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เกิดความเครียด คือ ปัญหาสินค้าราคาแพงและปัญหาการจราจร ซึ่งเป็นปัญหาที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรนำไปพิจารณาเพื่อปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ประชาชนเกิดความเครียดต่อปัญหาต่างๆ เหล่านี้น้อยลง

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบความเครียดแต่ละเรื่องในกลุ่มประชาชนแต่ละวัย (Generation) พบว่า ประชาชนในกลุ่ม Gen Y (อายุ 25-35 ปี) มีความเครียดมากที่สุด รองลงมา คือ Gen M (อายุ 19-24 ปี) (คะแนนความเครียดเฉลี่ยเท่ากับ 2.34 และ 2.31 คะแนนตามลำดับ) ส่วนกลุ่มที่มีความเครียดน้อยที่สุด คือ ประชาชนในกลุ่ม Gen X (อายุ 36-50 ปี) (คะแนนความเครียดเฉลี่ยเท่ากับ 2.17 คะแนน) และเมื่อพิจารณารายละเอียดความเครียดในแต่ละเรื่องของกลุ่มประชาชนแต่ละวัย พบว่า

Gen Z (อายุ 15-18 ปี) มีความเครียดในเรื่องการเรียนมากที่สุด รองลงมาเครียดเรื่องความรัก และเครียดเรื่องสิ่งแวดล้อมตามลำดับ (คะแนนความเครียดเฉลี่ยเท่ากับ 3.00, 2.72 และ 2.66 คะแนนตามลำดับ)

Gen M (อายุ 19-24 ปี) มีความเครียดในเรื่องการเรียนมากที่สุด รองลงมาเครียดเรื่องการงาน และเครียดเรื่องสิ่งแวดล้อมตามลำดับ (คะแนนความเครียดเฉลี่ยเท่ากับ 2.85, 2.70 และ 2.69 คะแนนตามลำดับ)

Gen Y (อายุ 25-35 ปี) มีความเครียดในเรื่องเศรษฐกิจ/การเงินมากที่สุด รองลงมาเครียดเรื่องการงาน และเรื่องสิ่งแวดล้อมตามลำดับ (คะแนนความเครียดเฉลี่ยเท่ากับ 2.89, 2.75 และ 2.63 คะแนนตามลำดับ)

Gen X (อายุ 36-50 ปี) มีความเครียดในเรื่องเศรษฐกิจ/การเงินมากที่สุด รองลงมาเครียดเรื่องการงาน และเรื่องความรักกับสิ่งแวดล้อมตามลำดับ (คะแนนความเครียดเฉลี่ยเท่ากับ 2.97, 2.85 และ 2.71 คะแนนตามลำดับ)

Gen B (อายุ 51-69 ปี) มีความเครียดในเรื่องเศรษฐกิจ/การเงินมากที่สุด รองลงมาเครียดเรื่องสิ่งแวดล้อม และเรื่องความรักตามลำดับ (คะแนนความเครียดเฉลี่ยเท่ากับ 2.93, 2.73 และ 2.66 คะแนนตามลำดับ)

ส่วนวิธีปฏิบัติตนเพื่อแก้ปัญหาเมื่อตนเองรู้สึกเครียดในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ/การเงิน เรื่องการเรียน และเรื่องการงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนส่วนใหญ่มีความเครียด ในภาพรวมพบว่า เมื่อประชาชนรู้สึกเครียดในเรื่องเศรษฐกิจ/การเงินจะแก้ปัญหาความเครียดโดยการใช้จ่ายอย่างประหยัด ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ทำอาชีพเสริมทำงานให้มากขึ้น และหากิจกรรมที่ทำแล้วมีความสุข หางานอดิเรกทำ เป็นต้น ส่วนในเรื่องการงานจะแก้ปัญหาความเครียดโดยการหากิจกรรมที่ทำแล้วมีความสุข หางานอดิเรก ตั้งใจและรับผิดชอบงานในหน้าที่ให้ดีที่สุด และลาออกหางานใหม่ เป็นต้น สำหรับในเรื่องการเรียนจะแก้ปัญหาโดยการขยันและตั้งใจเรียนมากขึ้น การทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกเพื่อคลายเครียด และยอมรับความเป็นจริงและรู้จักปล่อยวาง เป็นต้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๗:๓๓ รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๗:๔๔ กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๗:๔๒ ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๗:๑๕ กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๗:๑๕ เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๒๙ สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๗:๑๐ GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๗:๔๓ เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๖:๓๖ เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4