สศอ. จัดประชุมวิชาการใหญ่ประจำปี OIE Forum 2560 ดึงภาคเอกชน-ประชาชนร่วมปฎิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมสู่ “ไทยแลนด์ 4.0”

อังคาร ๒๕ กรกฎาคม ๒๐๑๗ ๑๔:๔๗
กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือ ภาคเอกชน-ประชาชน ร่วมปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย เน้นสร้างความยั่งยืนในประเทศ รับมือความผันผวนเศรษฐกิจโลกและการเปลี่ยนแปลงนโยบายประเทศมหาอำนาจ มั่นใจทุกฝ่ายร่วมมือกันกำหนดทิศทางเพื่อผลักดันไทยเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษระหว่างเป็นประธานเปิดงาน "การประชุมวิชาการ สศอ. (OIE Forum) ประจำปี 2560" ในหัวข้อ "Industry 4.0 Roadmap: มิติใหม่สู่ประเทศไทย 4.0" ว่า ขณะนี้ภาคการผลิตทั่วโลกกำลังปรับเปลี่ยนการพัฒนาเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ด้วยการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล ในกระบวนการผลิตทั้งระบบ เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างสมดุล เป็นการสร้างความเข้มแข็งจากเศรษฐกิจภายในประเทศให้มากขึ้น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ปรับเปลี่ยนโมเดลเศรษฐกิจมาหลายครั้งเพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเริ่มจาก ไทยแลนด์ 1.0 ที่เน้นเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม ไปสู่ ไทยแลนด์ 2.0 ที่เน้นอุตสาหกรรมเบา โดยใช้ประโยชน์จากค่าจ้างแรงงานราคาถูกและทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ ที่เน้นการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า จากนั้นก็ได้พัฒนาก้าวสู่ ไทยแลนด์ 3.0 ที่เน้นอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ด้วยการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตส่งออกไปตลาดโลก

อย่างไรก็ตามแม้เศรษฐกิจจะเติบโต แต่ก็ยังเผชิญปัญหากับดักประเทศรายได้ปานกลาง ความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่งและความไม่สมดุลในการพัฒนา จึงเป็นเหตุผลให้รัฐบาลเห็นความสำคัญในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจโดยสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคส่วนต่างๆ ของประเทศ ภายใต้โมเดลไทยแลนด์ 4.0

นายอุตตม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นในการยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยภายใต้บริบทของอุตสาหกรรม 4.0 จึงได้วางแนวทางหรือ Roadmap เพื่อเป็นเข็มทิศนำทางและขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมไทย โดยกำหนดแผนพัฒนาและขับเคลื่อน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ซึ่งครอบคลุมทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (5 First S-Curve) ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่, อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, ท่องเที่ยวที่มีมูลค่าสูง/เชิงสุขภาพ, เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และการแปรรูปอาหาร และกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต (5 New S-Curve)หรือ กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเข้มข้น ได้แก่ หุ่นยนต์,การบินและโลจิสติกส์, เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, ดิจิทัล และการแพทย์ครบวงจร โดยกระทรวงฯ จะกำหนดแผนพัฒนาและขับเคลื่อนเป็นรายสาขาให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยในปี 2560 จะดำเนินการใน 4 สาขานำร่อง ได้แก่

1. อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน

2. อุตสาหกรรมหุ่นยนต์

3. อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ และ

4. อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรม 4.0 (Ecosystem) โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ ซึ่งต้องเชื่อมโยงเข้ากับการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างสอดคล้องและกลมกลืน และก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่ ไม่เฉพาะแต่ในเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น ตัวอย่างการขับเคลื่อนที่เห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนในขณะนี้ คือ การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญและเป็นฐานการผลิต 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยกำหนดเป้าหมายแผนการลงทุนเพื่อพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมจากทั้งภาครัฐและเอกชนประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท ใน 5 ปีแรก แบ่งเป็นการลงทุนในเมืองใหม่ 4 แสนล้านบาท การลงทุนด้านอุตสาหกรรม 5 แสนล้านบาท และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ สนามบินอู่ตะเภารองรับผู้โดยสาร 3 ล้านคน/ปี การลงทุนเพื่อพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดและแหลมฉบัง รวมถึงการลงทุนรถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางคู่ เป็นต้น มุ่งเน้นยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไปพร้อมๆ กับส่งเสริมคุณภาพชีวิตและการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ตามแนวคิดประเทศไทย 4.0

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสนับสนุนการบูรณาการความร่วมมือในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 โดยการสร้างเครือข่ายและกลไกความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ทั้งในและระหว่างประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรมจะผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve ในแต่ละกลุ่มคลัสเตอร์ โดยเริ่มตั้งแต่การจัดทำ Roadmap ทั้งในด้านการลงทุน การพัฒนาบุคลากร การพัฒนาเทคโนโลยี ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้แนวทางประชารัฐ ภายใต้ความร่วมมืออย่างบูรณาการ จากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และองค์กรในระดับพื้นที่ ขณะเดียวกัน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่ห่วงโซ่การผลิตในระดับโลก (Global Value Chain) กระทรวงฯ

ได้กำหนดแพลตฟอร์มความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ เพื่อร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การลงนาม MOU ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมของไทย กับกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่น เพื่อยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยเชื่อมโยงกลุ่มประเทศ CLMV เพื่อออกสู่ตลาดโลกไปด้วยกัน , การลงนาม MOU กับ SMBA หรือกระทรวงส่งเสริม SMEs ของเกาหลีใต้ในการจัดตั้ง Thai – Korea Technology Center (TKTEC) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่โดดเด่นของเกาหลีใต้มายังประเทศไทย นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังจัดตั้งคณะทำงานประชารัฐไทย-เยอรมัน เพื่อการพัฒนา/ปรับเปลี่ยนทักษะแรงงานให้สอดคล้องและส่งเสริมกัน

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาทักษะและฝีมือแรงงานเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 กระทรวงอุตสาหกรรมได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องการพัฒนากำลังคนเข้าสู่ยุค 4.0 จึงได้มีการบูรณาการดำเนินงานร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาบุคลากรรองรับการพัฒนา Industry 4.0 ทั้งในด้านการผลิตกำลังคน การพัฒนามาตรฐานวิชาชีพ การพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอน ในระบบทวิภาคี/สหกิจศึกษา การพัฒนาแรงงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve โดยในปี 2561 มีการวางแผนการพัฒนาแรงงานภาคอุตสาหกรรม จำนวนประมาณ 100,000 คน และให้ความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนา SMEs ซึ่งเป็นผู้เล่นสำคัญในห่วงโซ่การผลิตและเป็นรากฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการสนับสนุนมาตรการทางการเงิน ผ่านโครงการสนับสนุนสินเชื่อและกองทุนต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการเงิน รวมวงเงินทั้งสิ้น 38,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น และ

มาตรการส่งเสริมที่ไม่ใช่ด้านการเงิน เพื่อยกระดับศักยภาพของ SMEs ให้เป็น Smart SME, S-Curve SME, Digital SME

โดยการส่งเสริมพัฒนาในด้านต่างๆ ทั้งด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล การเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด ด้านมาตรฐาน ด้านการบริหารจัดการ ผ่านเครื่องมือ/กลไกการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับ SMEs ในแต่ละกลุ่ม

"การปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่โมเดลประเทศไทย 4.0 จะเกิดขึ้นได้ ต้องได้รับความร่วมมือของทุกฝ่ายในรูปแบบของประชารัฐ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยเดินหน้าไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมได้ ดังนั้นการจัดงานครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่มีผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายภาคส่วนมาแลกเปลี่ยนข้อมูล และให้มุมมองที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" นายอุตตม กล่าวในตอนท้าย

ด้านนายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าสศอ. ในฐานะหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีแนวนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถยกระดับก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงภายใต้โมเดล "ประเทศไทย 4.0" ของรัฐบาล ดังนั้น การจัดประชุมวิชาการ สศอ.ประจำปี 2560 ในครั้งนี้ จึงได้เชิญผู้ประกอบการทั้งภาคการผลิตและบริการ, ภาครัฐ, สมาคมการค้าระหว่างประเทศ, สมาคมบริษัทหลักทรัพย์, สถานบันการศึกษา สถาบันการเงิน และประชาชนทั่วไป ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบูรณาการ เชื่อมโยงแนวคิดและให้ข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม,มาตรการในการแก้ไขปัญหาภาคอุตสาหกรรม รวมถึงคาดการณ์แนวโน้มและเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมต่อไป

ทั้งนี้ ภายในงาน ได้จัดให้มีการเสวนาในหัวข้อ "อุตสาหกรรม 4.0 จุดเปลี่ยนประเทศไทย" โดยได้รับเกียรติจาก ผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรชั้นนำของประเทศ ได้แก่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท ซีที เอเชียโรโบติก จำกัด และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาเภสัชกรรมปฏิบัติ คณะเภสัชศาสตร์ ร่วมเสวนากับ นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ ยังได้จัดให้มีการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้ออื่นๆ ที่น่าสนใจอีก 3 หัวข้อ ได้แก่ Industry 4.0 : Pathways to the Smart Production , Big Data : Industrial Intelligence Information (I3) และ Maker Community : ถอดบทเรียนนักประดิษฐ์สู่ธุรกิจทำเงิน โดยผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ประกอบการในองค์กรชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกด้วย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๒:๑๔ องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๑๒:๑๒ การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๑๒:๔๔ DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๑๒:๑๐ JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๑๒:๒๓ นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๑๒:๕๗ Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๑๒:๒๘ โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๑๒:๑๐ STEAM Creative Math Competition
๑๒:๔๔ A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๑๒:๔๗ ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้