สวรส. จับมือ ม.วลัยลักษณ์ ผนึกกำลังตั้ง “ศูนย์วิจัยด้านระบบสุขภาพและการแพทย์”

พฤหัส ๐๓ สิงหาคม ๒๐๑๗ ๑๓:๐๓
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สนับสนุนการจัดตั้งและดำเนินงานของ "ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ (Center of Excellence in Health System and Medical Research [CE-HSMR])" (ในพื้นที่เขต 11) มุ่งตอบสนองการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศ โดยมีสถาบันการศึกษาเป็นศูนย์กลางเติมเต็มช่องว่างความรู้ด้านสุขภาพและการแพทย์ พัฒนาโจทย์วิจัยเชื่อมต่อจากระดับพื้นที่สู่ระดับประเทศ พร้อมพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายจากความรู้งานวิจัยควบคู่กับการพัฒนานักวิจัยหน้าใหม่ โดยได้มีการลงนามความร่วมมือระหว่าง สวรส. โดย นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ ผอ.สวรส. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดย ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในการสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2560 ณ หน่วยประสานงานมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อาคาร SM Tower ถ.พหลโยธิน กรุงเทพฯ

ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีนโยบายชัดเจนในการส่งเสริมการวิจัยในรูปแบบของการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ และสร้างเครือข่ายนักวิชาการ ผ่านการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศในด้านต่างๆ สำหรับการวิจัยด้านระบบสุขภาพนั้น มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ (CE-HSMR) ขึ้น เพื่อเป็นการเชื่อมโยงงานวิชาการ นวัตกรรมสร้างสรรค์ในสถาบันอุดมศึกษากับการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศ ศูนย์ความเป็นเลิศต่างจากหน่วยวิจัยทั่วไปคือ มุ่งเน้นการนำความรู้จากงานวิจัยไปประยุกต์ใช้ได้จริง และต้องสามารถตอบสนองต่อความต้องการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนั้นๆ ตลอดจนมุ่งเน้นทำวิจัยในลักษณะการสะสมและต่อยอดองค์ความรู้ สามารถเกาะติดประเด็นวิจัยที่สำคัญ ทันต่อสถานการณ์ เพื่อการตอบโจทย์และแก้ปัญหาด้านสุขภาพและการแพทย์ของประเทศ โดยมหาวิทยาลัยยินดีให้การสนับสนุนการดำเนินงานของ CE-HSMR อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น การสนับสนุนเชิงนโยบาย การสนับสนุนบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ การบริหารจัดการและงบประมาณ ฯลฯ เพื่อให้การดำเนินงานของ CE-HSMR สามารถสร้างงานวิจัย สร้างเครือข่ายนักวิจัยที่มีศักยภาพสูง นำไปสู่การเสนอองค์ความรู้เพื่อการจัดการเชิงระบบ หรือต้นแบบการพัฒนาระบบสุขภาพที่มีประสิทธิภาพให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ โดยเน้นความต้องการของผู้ใช้เป็นสำคัญ

ด้าน นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า สถาบันการศึกษาตามภูมิภาคต่างๆ นับเป็นศูนย์กลางและแหล่งทรัพยากรที่มีทั้งองค์ความรู้และบุคลากรที่มีความสามารถจำนวนมาก โดยเฉพาะด้านการวิจัยสาขาต่างๆ ซึ่ง สวรส. ได้มีการทำงานเชื่อมกับภาคีวิจัยที่เป็นสถาบันการศึกษามาโดยตลอด หากแต่ยังไม่เกิดกลไกที่ชัดเจนและยั่งยืนในการสนับสนุนมากนัก ดังนั้นเมื่อมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีนโยบายการสนับสนุนงานด้านการวิจัยที่ชัดเจนและสอดคล้องกับนโยบายของ สวรส. และยังเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาระบบวิจัยของประเทศอีกด้วย ความร่วมมือของ สวรส. และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในครั้งนี้ จึงนับเป็นความร่วมมือที่มีแนวโน้มของความสำเร็จค่อนข้างสูง โดย สวรส. ได้มีแผนดำเนินงานในการร่วมสนับสนุนศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น การสนับสนุนงบประมาณ การสนับสนุนด้านการพัฒนาศักยภาพ การบริหารจัดการงานวิจัย การพัฒนาระบบวิจัย และการสร้างเครือข่ายวิจัยที่สามารถเชื่อมโยงการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อมุ่งเป้าให้เกิดผลลัพธ์และผลกระทบในเชิงสุขภาพและระบบสุขภาพของประชาชน

ทั้งนี้ ประเภทงานวิจัยที่สำคัญต่อการพัฒนาสุขภาพและระบบสุขภาพ ได้แก่ การวิจัยด้านกำลังคนและรูปแบบการจัดบริการสุขภาพ การวิจัยด้านการคลังระบบสุขภาพ ระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ ระบบยาและอุปกรณ์การแพทย์ ตลอดจนธรรมาภิบาลและการบริหารระบบสุขภาพ นอกจากนั้นยังรวมถึงการวิจัยด้านระบาดวิทยาและปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพด้วย ซึ่งในการทำวิจัยอาจเป็นการวิจัยมุ่งเป้าเพื่อสร้างความรู้ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของผลลัพธ์สุขภาพหรือการปรับปรุงระบบสุขภาพก็ได้ ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นการวิจัยเชิงนโยบายและระบบสุขภาพ (Policy and Health Systems Research) หรืออาจเป็นการวิจัยเพื่อสร้างความรู้ช่วยการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ (Implementation Research)

"งานวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศ เป็นงานที่ต้องมีการทำงานเชื่อมโยงระหว่างสหวิชาชีพ และร่วมมือกันระหว่างสถาบันและทุกภาคส่วน ดังนั้นศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ จึงนับเป็นกลไกหนึ่งที่จะทำให้เกิดการสร้างและพัฒนาความรู้ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ ตลอดจนพัฒนาข้อเสนอที่ตอบโจทย์ความต้องการและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม" นพ.พีรพล กล่าว

อนึ่ง การลงนามความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้มีผลบังคับใช้เป็นเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2560 เป็นต้นไป โดยความร่วมมือดังกล่าว นอกจากจะเป็นกลไกสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศแล้ว ยังส่งเสริมให้เกิดโอกาสในการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรของทั้งสองสถาบัน ผ่านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการวิจัย การบริหารจัดการงานวิจัย และด้านอื่นๆ ได้อีกด้วย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4