สถาบันนานมีบุ๊คส์อินโนเวชั่น พัฒนาศักยภาพครูปฐมวัย ยกระดับการเรียนรู้ในห้องเรียน จัดงานอบรม Sensory Integration & Active Learning for Active Citizen

อังคาร ๐๘ สิงหาคม ๒๐๑๗ ๑๖:๓๖
สถานการณ์โลกปัจจุบัน เรียกร้องให้เด็กรุ่นใหม่ต้องมีทักษะของศตวรรษที่ 21 คือทักษะสำคัญของชีวิต ตั้งแต่กระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาน ควบคู่กับความคิดสร้างสรรค์ และรู้เท่าทันเทคโนโลยี แต่ขณะเดียวกัน ระบบการเรียนการสอนในห้องเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล กลับยังไม่เอื้อให้เด็กไปถึงเป้าหมายของการเรียนรู้แบบศตวรรษที่ 21 เท่าที่ควรจะเป็น

สถาบันนานมีบุ๊คส์อินโนเวชั่น จึงได้จัดงานอบรมเชิงปฏิบัติการ Sensory Integration & Active Learning For Active Citizen เชิญผู้บริหารและครูปฐมวัย เข้าร่วมอบรมและลงมือปฏิบัติจริงในกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Hands-On โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านปฐมวัย มาให้คำแนะนำในประเด็นสำคัญ เริ่มจากทำความเข้าใจถึงแนวทางการขับเคลื่อนการศึกษาปฐมวัยในอนาคต พร้อมทั้งเรียนรู้การสอนวิทยาศาสตร์แบบโครงการ "บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย" ซึ่งส่งเสริมการเรียนรู้แบบสืบเสาะ รวมถึงการสอนแบบ Active Learning และยกระดับการเรียนรู้ Sensory Integration เพื่อส่งเสริมพัฒนาการรอบด้านให้แก่เด็ก

โดย อ.ธิดา พิทักษ์สินสุข คณะทำงานจัดทำรายงานการปฏิรูปการปฐมวัยของประเทศ ได้มาร่วมบรรยายในหัวข้อ "แนวทางการขับเคลื่อนการศึกษาปฐมวัยในอนาคต" เกี่ยวกับประเด็นการสร้างรากฐานการเรียนรู้ของเด็ก ผู้ซึ่งจะเป็นทรัพยากรอันทรงคุณค่าของสังคมในอนาคต จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้บริหารโรงเรียน และครูอนุบาล ผู้ซึ่งจุดประกายทักษะของเด็กๆ ได้

อ.ธิดา พิทักษ์สินสุข กล่าวถึงความสำคัญของการเรียนรู้ปฐมวัยว่า "ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันเด็กยุคใหม่ติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ทำให้เด็กเกิดสภาวะสมาธิสั้นเทียม และเรายังพบว่าพัฒนาการภาษาของเด็กมีแนวโน้มที่ช้าลง เรียกว่าสภาวะออทิสติกเทียมอีกด้วย นอกจากนั้นเรายังพบอีกว่าพัฒนาการของเด็กมีความล่าช้าไม่สมวัย จากผลปรากฏว่าเด็ก 1 – 3 ปี พบปัญหานี้ถึงร้อยละ 28.6 เพราะพัฒนาการเรียนรู้ในช่วงปฐมวัย จะส่งผลไปถึงพัฒนาการของเด็กในช่วงวัยที่โตขึ้น ปัญหาสถานการณ์ตอนนี้ถูกนำไปพูดในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรีแล้ว เพราะวิกฤตปฐมวัย คือวิกฤตของชาติที่มีความสำคัญอย่างมาก ครั้งนี้เราจึงมาแนะแนวทางการขับเคลื่อนการศึกษาปฐมวัย ให้กับคุณครูอนุบาล ซึ่งเป็นผู้ที่ควรจะคำนึงถึงปัญหานี้ที่สุด เพราะอนาคตของประเทศ ขึ้นอยู่กับอนาคตของปฐมวัย และหน้าที่ของครูคือผู้สร้างอนาคตของเด็กโดยแท้จริง"

ด้าน วรรณธนา เดวีเลาะห์ ครูประจำระดับชั้นอนุบาล ร.ร.ศาลาคู้ ผู้เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ กล่าวว่า "ก่อนหน้านี้เคยถกปัญหาเรื่องพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กกับคุณครูอนุบาลด้วยกัน ทำให้เราต้องมาคิดต่อว่า จะทำอย่างไรให้การสอนเด็กอนุบาลของเราเชื่อมโยงกับการสอนของเด็กประถมต่อไปได้ดี เพราะว่าบางครั้งนโยบายที่เราได้รับมา มันอาจจะตรงกันข้ามกับสิ่งที่เราปฏิบัติ พอเด็กที่เราสอนขึ้นไปเรียนชั้นประถมฯ ก็จะถูกถามกลับมาว่าทำไมเขาถึงอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ การมาร่วมอบรมในหัวข้อนี้ จึงอยากให้ผู้บริหารของโรงเรียนต่างๆ ได้มาเข่าร่วม และมารับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในเด็กปฐมวัย รวมถึงคุณครูผู้สอนก็ควรจะรับทราบข้อมูลตรงนี้ด้วย เพื่อเห็นแนวทางการแก้ไขอย่างเป็นเอกภาพ ไปสู่ความสำเร็จทางการศึกษาในทิศทางเดียวกันค่ะ"

นอกจากนี้ ปัญหาการสอนในระดับปฐมวัยยังมีในส่วนของการถ่ายทอดทักษะการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แบบ "สืบเสาะ" (inquiry) กล่าวได้ว่าทักษะทางวิทยาศาสตร์ของเด็กไทย ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย หน้าที่ของครูอนุบาล นอกจากจะให้ข้อมูลเชิงวิชาการที่เหมาะสมแล้ว ยังต้องเป็นผู้สร้างทัศนคติที่ดีด้านการเรียนรู้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เด็กได้ได้ตั้งคำถาม พร้อมหาคำตอบด้วยตัวเอง ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ เพราะปฐมวัยเป็นช่วงอายุที่มีความสามารถในการเรียนรู้และจดจำมากที่สุด การอบรม ในกิจกรรม "การสอนวิทยาศาสตร์ง่ายๆ แบบฉบับบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย" โดย คิม จงสถิตย์วัฒนา กรรมการและเลขานุการโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยประเทศไทย จึงได้หยิบยกวิธีการสอนแบบ Active Learning เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับเด็กชั้นอนุบาล โดยได้ยกตัวอย่างกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Hands-On ที่เน้นการลงมือหาคำตอบด้วยตัวเองแบบสืบเสาะ เพื่อฝึกกระบวนการเรียนรู้อย่างครบวงจร

คิม จงสถิตย์วัฒนา กล่าวว่า "วิธีการเรียนรู้ของบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย คือการมุ่งเน้นให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติเพื่อไปสู่กระบวนการคิดด้วยตัวเอง จากการทดลองเอง สังเกต ฟังคำบรรยาย และบันทึกข้อมูล หลังจากนั้นคุณครูผู้สอนจะทำหน้าที่ในการสอบถามเด็ก ว่าเมื่อสักครู่ที่เราทำคืออะไร เกิดขึ้นเพราะอะไร เด็กจะมีวิธีการบรรยายที่แตกต่างกันออกไป บางคนอาจจะอยากวาดรูป บางคนอาจจะอยากเต้นให้ดู บางคนอาจจะอยากพูดให้ฟัง เป็นวิธีการตอบได้หลากหลายไปตามปัจเจกบุคคล ซึ่งวิธีการเรียนรู้เหล่านี้ เมื่อคุณครูทุกท่านได้คุ้นชิน หรือทราบถึงวิธีการแล้ว สุดท้ายจะสามารถสร้างสรรค์กิจกรรมที่หลากหลาย สามารถเชื่อมโยงกับบริบทในโรงเรียนได้เป็นอย่างดี"

และสุดท้ายการบรรยายในหัวข้อ "แนวทางการพัฒนา Sensory Integration" โดย Mr.Elton Chiu CEO KIDDIE'S PARADISE INC. ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาสื่อการสอนปฐมวัย จากไต้หวัน บินตรงมาให้ความรู้เรื่องสื่อการสอน เพื่อแนะแนวทางการประสานการเรียนเข้ากับการเรียนรู้ ทำให้ทุกกิจกรรมเต็มไปด้วยความสนุกสนานและปูรากฐานการเรียนรู้เพื่อความสำเร็จในอนาคต

Mr.Elton Choiu กล่าวว่า "สำหรับเด็กปฐมวัยเป็นช่วงวัยที่เราควรจะพัฒนาทักษะของเขาเป็นพิเศษ ทั้งทักษะการเคลื่อนไหว การฝึกสมดุลร่างกาย การเรียนรู้ผิวสัมผัส และการเล่นอย่างสร้างสรรค์ ถ้าเด็กได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสม จะช่วยให้เด็กเกิดความมั่นใจในตัวเอง มีความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ เพราะเราสนับสนุนให้เขาได้รับการเรียนรู้โดยการทดลองจริง รวมถึงการมีสมาธิทางอารมณ์ การสร้างสื่อการเรียนรู้ผลิตภัณฑ์ We play We learn ของบริษัทเรา จึงอยู่บนพื้นฐานแนวคิด "การเล่นควบคู่กับการเรียนรู้" ในส่วนของ We Play คือผลิตภัณฑ์ที่เล่นควบคู่กับการเรียนรู้สำหรับเด็ก ในส่วนของ We learn คือองค์ความรู้และศักยภาพที่เด็กจะได้รับจากการเล่นสื่อการเรียนรู้เหล่านี้ เมื่อร่วมกันคือสื่อการเรียนรู้โดยสมบูรณ์แบบ ซึ่งแนวทาง Sensory integration จะช่วยเตรียมร่างกายให้พร้อมกับการเรียนรู้ในอนาคต"

ครูมลริณี วงศ์ล้ำเลิศ ครูประจำระดับชั้นอนุบาล ร.ร.รุ่งอรุณ กล่าวว่า "จากการเข้าร่วมอบรมในวันนี้ทำให้ได้ไอเดีย ที่จะนำไปใช้ปรับปรุงการสอนนักเรียนในห้องเรียน ซึ่งโดยปกติครูจะเน้นกิจกรรมให้เด็กได้ฝึกวิเคราะห์และลงมือทำเองอยู่แล้ว แต่อาจจะต้องนำไปพัฒนาเพิ่มอีก ตัวอย่างการทดลองที่วิทยากรหยิบยกมาให้ดู เปิดโอกาสให้เราได้ทดลองหาวิธีเอง เป็นหลักการสอนที่เหมาะสมกับการปรับใช้กับนักเรียนอนุบาล 3อย่างมาก ส่วนเรื่องของการนำสื่อการเรียนรู้มาใช้ประกอบการสอน คิดว่าจำเป็นสำหรับเด็กในช่วงวัยนี้ด้วยเช่นกัน เพราะอุปกรณ์ที่เด็กได้เล่น นอกจากจะได้รับฝึกทักษะทางด้านร่างกายแล้ว ยังมีการฝึกใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบและแก้ปัญหา เช่น อุปกรณ์ของเล่นต่อบล็อค เป็นรูปร่างตามจินตนาการ ทำให้เขาได้ฝึกความคิด ควบคู่ไปกับประสาทสัมผัสรอบด้านค่ะ"

งานอบรมเชิงปฏิบัติการ Sensory Integration & Active Learning for Active Citizen จัดขึ้นเพื่อหาคำตอบในปัญหาเรื่องการศึกษาปฐมวัย โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสร้างความตระหนักให้กับครูไทย ถึงความสำคัญของพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยอย่างรอบด้าน เพื่อบรรลุเป้าหมายสู่การสร้างทักษะของเด็กในศตวรรษที่ 21 เพื่อเป็นกำลังขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศในอนาคตอย่างสมบูรณ์

กิจกรรมอบรมคุณครูและโรงเรียนยังมีจัดต่อเนื่องตลอดปี และสำหรับหน่วยงานหรือโรงเรียนที่ต้องการจัดอบรมและกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างคุณภาพการเรียนการสอน นานมีบุ๊คส์สามารถออกแบบกิจกรรมในหลักสูตรที่เหมาะสมสำหรับนักเรียนทุกช่วงวัย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0-2662-3000 ต่อ 5226, 4425, 4441 หรือ Call Center 02-662-3000 กด 0 และ www.nanmeebooks.com หรือ www.facebook.com/nanmeebooksfan

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4