ป.ป.ช. ส่งข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการวางมาตรการป้องกันการทุจริต ในกระบวนการอนุญาตให้ชนต่างด้าวพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราว

พุธ ๐๙ สิงหาคม ๒๐๑๗ ๑๗:๔๔
นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ได้แถลงว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ศึกษาข้อมูลสถิติคนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย การขอพำนักอยู่ต่อ คนต่างด้าวทำผิดกฎหมาย และการร้องเรียนเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยหรือรับผลประโยชน์จากคนต่างด้าว

จากสถิติข้อมูล พบว่าคนต่างด้าวเดินทางเข้าออกประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและจำนวนคนต่างด้าวที่ขออยู่ต่อในราชอาณาจักรโดยการตรวจตราคนอยู่ชั่วคราวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

ปี พ.ศ. คนต่างด้าวเดินทางเข้าออกประเทศไทย คนต่างด้าวที่ขออยู่ต่อในราชอาณาจักรประเภทคนอยู่ชั่วคราว (คน)

เดินทางเข้า (คน) เดินทางออก (คน)

2551 14,624,372 14,481,439 211,979

2555 24,072,940 23,343,873 345,932

2559 36,222,580 35,448,516 554,100

สำหรับกรณีปัญหาคนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในประเทศ และคนต่างด้าวที่ขอพำนักอยู่ต่อนั้น จากการรวบรวมข่าวสารทางสื่อมวลชน การศึกษาวิเคราะห์และข้อมูลที่มีการกล่าวหาร้องเรียน พบพฤติการณ์กระทำผิดของคนต่างด้าวในหลายกรณี และบางกรณีมีเจ้าหน้าที่ของรัฐรู้เห็นเป็นใจด้วย ตลอดจนปัญหาช่องโหว่ให้เกิดการกระทำผิดหรือทุจริต ได้แก่

1. คนต่างด้าวเดินทางเข้ามาโดยถือวีซ่าประเภทนักท่องเที่ยว แต่เมื่อเข้ามาแล้วมีการลักลอบประกอบอาชีพ เช่น เป็นครูอาจารย์ในสถานศึกษา โรงเรียนนานาชาติ สถาบันสอนภาษา หรือปล่อยเงินกู้ / เงินผ่อนให้คนไทย แล้วส่งเงินรายได้กลับประเทศ โดยทำเป็นขบวนการ

2. อยู่ในประเทศไทยเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนด (Over Stay) โดยสามารถพำนักและประกอบอาชีพ ในประเทศต่อไปได้ เนื่องจากมีการจ่ายเงินหรือส่งส่วยเจ้าหน้าที่ของรัฐ

3. คนต่างด้าวอ้างเหตุความจำเป็นกรณีต่างๆ เช่น เพื่อดูแลคู่สมรสชาวไทย โดยมีการว่าจ้างคนไทย มาจดทะเบียนสมรส / นำทะเบียนสมรสที่ได้มาโดยมิชอบไปยื่นขออนุญาตพำนักชั่วคราว , การอ้างเหตุเพื่อเข้ามาศึกษาต่อ โดยจัดทำบัตรนักศึกษาปลอม / นำบัตรนักศึกษาปลอมไปยื่นขออนุญาตพำนักชั่วคราว , การอ้างเหตุจำเป็นกรณีใช้ชีวิตปั้นปลาย โดยจัดทำเอกสารแสดงการมีรายได้และหนังสือรับรองเงินฝากธนาคารเป็นเท็จ / นำหลักฐานปลอมดังกล่าวไปยื่นขออนุญาตพำนักชั่วคราว , อาศัยสถานการณ์เป็นพระต่างด้าวเข้ามาศึกษาต่อมหาวิทยาลัยสงฆ์ / นำหนังสือรับรองสถานะการเป็นพระสงฆ์ ไปยื่นขออนุญาตพำนักชั่วคราว

4. บทลงโทษกรณีคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือการอนุญาตสิ้นสุดหรือถูก เพิกถอนไม่รุนแรงและเด็ดขาด ทำให้คนต่างด้าวกล้าเสี่ยงทำผิดกฎหมาย

5. คนต่างด้าวที่มีพฤติการณ์อยู่เกินกำหนด เมื่อถูกเจ้าหน้าที่จับกุม จะใช้วิธีทิ้งหนังสือเดินทาง (Passport) เพื่อเลี่ยงมิให้ถูกดำเนินคดีข้อหาอยู่เกินกำหนด ยินยอมให้ถูกจับกุมข้อหาลักลอบหนีเข้าเมืองแทน เพื่อป้องกันมิให้ ถูกขึ้นบัญชีเป็นบุคคลต้องห้ามเดินทางเข้ามายังราชอาณาจักรไทย

6. มีการโฆษณาชวนเชื่อในรูปของธุรกิจดำเนินการจัดทำวีซ่า โดยผู้ประกอบการและนายหน้าโฆษณาชวนเชื่อว่าสามารถดำเนินการขอวีซ่าได้ แม้คนต่างด้าวจะไม่มีคุณสมบัติหรือไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมาย

7. ความล่าช้าในขั้นตอนประสานข้อมูลเพื่อการตรวจสอบรายชื่อบุคคลต้องห้ามเข้าราชอาณาจักร (Black List) ระหว่างสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและกระทรวงการต่างประเทศยังไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูลออนไลน์

8. กระบวนการขั้นตอนตรวจสอบข้อมูลของพนักงานเจ้าหน้าที่ ยังไม่มีการตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับว่าเอกสารที่ใช้ยื่นคำร้องเป็นเอกสารจริงหรือเท็จ

9. จากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยการให้สิทธิคนต่างด้าวในกลุ่มที่ได้รับการยกเว้น การตรวจลงตรา จำนวน 59 ชาติ และกลุ่มที่สามารถขอรับการตรวจลงตรา เพื่อการท่องเที่ยวได้ ณ ช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมือง จำนวน 21 ชาติ แม้จะเป็นผลดีด้านการท่องเที่ยว แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นช่องให้มีการกระทำผิดกฎหมายด้วย

10. จากนโยบายภายใต้ยุทธศาสตร์ การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ส่งผลให้สามารถขยายเวลาพำนักในราชอาณาจักรสำหรับกลุ่มพำนักระยะยาว จากเดิม 1 ปี เป็น 10 ปี มีผลกระทบ ทั้งทางบวกและทางลบเช่นเดียวกัน จำเป็นต้องมีการติดตามและประเมินผล

11. คนต่างด้าวที่ถูกบังคับให้ต้องเดินทางออกจากประเทศบ้านเกิด เนื่องจากภาวะสงคราม ความขัดแย้งและความรุนแรง ที่เข้ามาพำนักในพื้นที่พักพิงชั่วคราวฯประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประจำประเทศไทย ยังมีการจัดทำฐานข้อมูลที่ไม่เป็นปัจจุบัน เกี่ยวกับทะเบียนประวัติและกำหนดเลขประจำตัวพร้อมบัตรประจำตัวคนต่างด้าวประเภทนี้

ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 19 (11) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เห็นชอบให้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในกระบวนการอนุญาตให้คนต่างด้าวพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราว ดังนี้

1. ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล

1.1 กำหนดนโยบายเพื่อให้มีการดำเนินการบูรณาการจัดทำฐานข้อมูลคนต่างด้าวที่พำนัก อยู่ในราชอาณาจักรไทยทั้งระบบ โดยมอบหมายให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง จัดทำระบบฐานข้อมูลคนต่างด้าวในเชิงการบูรณาการร่วมกัน เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการ การควบคุม ตรวจสอบ คนต่างด้าวที่จะเดินทางเข้ามาและพำนักเพื่อการใด ๆ ในประเทศไทย รวมทั้งให้มีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อการดำเนินการจัดทำระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูล

1.2 สั่งการให้มีการปรับปรุงการเชื่อมโยงฐานข้อมูลบุคคลต้องห้ามเดินทางเข้าราชอาณาจักร (Blacklist) ระหว่างกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ กับ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้การตรวจสอบข้อมูลคนต่างด้าวที่ขอรับการพิจารณาอนุญาตเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย เป็นไปด้วยความรวดเร็วและสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ทันที พร้อมทั้งให้มีการจัดตั้ง

ศูนย์ตรวจสอบและติดตามคนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาพำนักในราชอาณาจักรไทย โดยมอบหมายให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ดำเนินการจัดทำระบบฐานข้อมูลเพื่อการตรวจสอบและติดตามคนต่างด้าวที่พำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราว และฐานข้อมูลคนต่างด้าวที่พำนักอยู่เกินกำหนดในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมตรวจสอบคนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาพำนักในราชอาณาจักรไทย

1.3 ทบทวนนโยบายการพิจารณาให้สิทธิแก่คนต่างด้าวในกลุ่มประเทศซึ่งได้รับสิทธิในการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยว ณ ช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival) และการให้สิทธิแก่คนต่างด้าว ในกลุ่มประเทศที่ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา โดยกำหนดเป็นหลักการให้มีการจัดประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาทบทวนนโยบายดังกล่าว อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ อาจกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาโดยนำสถิติข้อมูลคนต่างด้าว เช่น สถิติคนต่างด้าวแต่ละสัญชาติที่มีพฤติการณ์อยู่เกินกำหนดในราชอาณาจักรไทย สถิติการกระทำความผิดของคนต่างด้าวในราชอาณาจักรไทย รวมทั้งการพิจารณาให้ความสำคัญระหว่างผลประโยชน์ต่างตอบแทนระหว่างรัฐและความมั่นคงภายในของประเทศ มาใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาทบทวนการให้สิทธิแต่ละประเทศ โดยมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง รับไปดำเนินการร่วมกัน เพื่อเป็นการป้องกันแก้ไขปัญหามิให้คนต่างด้าวในกลุ่มประเทศที่ได้รับสิทธิ เดินทางเข้ามาและอาจกระทำพฤติการณ์อันมิชอบด้วยกฎหมายภายในราชอาณาจักรไทย

1.4 สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดทำบัตรประจำตัวคนต่างด้าวในกลุ่มคนต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวอย่างต่อเนื่องโดยสามารถระบุประเภท การเข้ามาพำนักในราชอาณาจักรได้ เช่น กลุ่มคนต่างชาติที่เข้ามาพำนักเพื่อการศึกษาในประเทศไทย กลุ่มคนต่างชาติที่เข้ามาพำนักเพื่อการศึกษาต่อพระพุทธศาสนาในประเทศไทย กลุ่มคนต่างชาติที่แต่งงานกับคนสัญชาติไทย กลุ่มคนต่างชาติที่เข้ามาเพื่อการใช้ชีวิตในบั้นปลาย กลุ่มคนต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย เป็นต้น โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาและวางแผนแนวทางในการดำเนินการเกี่ยวกับการออกบัตรประจำตัวคนต่างด้าว

1.5 ให้มีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่22 พฤศจิกายน 2559 เรื่อง การขยายระยะเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทยสำหรับกลุ่มพำนักระยะยาว (Long Stay Visa) โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้มีผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ร่วมเป็นคณะกรรมการติดตามและประเมินผล โดยกำหนดให้มีการรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบอย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง

1.6 กำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันจัดทำแผนแม่บทและแผนการประเมินผลร่วมกัน ทั้งนี้ ในการเขียนแผนแม่บท เห็นควรให้นำข้อเสนอแนะมาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการอนุญาต ให้คนต่างด้าวพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราว ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ไปกำหนดไว้ในแผนแม่บทดังกล่าวด้วย โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดทำแผนแม่บทดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอแนะ ทั้งนี้ ภายหลังจากได้มีการบังคับใช้ แผนแม่บทดังกล่าวแล้วนั้น ให้มีการรายงานผลการดำเนินงานและการติดตามประเมินผลต่อรัฐบาลเพื่อทราบ เป็นระยะเวลาทุก 6 เดือน

2. ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

2.1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง)

2.1.1 กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมในกรณีการพิจารณาอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ต่อ ในราชอาณาจักร กรณีมีเหตุจำเป็นครั้งละไม่เกิน 1 ปี ตามนัยมาตรา 35 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 327/2557 เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณากรณีคนต่างด้าวขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2557 โดยกรณีที่เป็นการพิจารณาอนุญาตให้คนต่างด้าวสามารถพำนักอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลาครั้งละ 1 ปี ให้มีเอกสารรับรองจากบุคคลสัญชาติไทยที่เชื่อถือได้ เป็นบุคคลอ้างอิงหรือเป็นผู้ให้การรับรองวัตถุประสงค์ ในการพำนักอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวในแต่ละครั้ง เพื่อให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสอบทานข้อมูลไปยังผู้ให้การรับรอง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างกระบวนการตรวจสอบติดตามคนต่างด้าวภายหลังจากได้รับการพิจารณาอนุญาตให้พำนักอยู่ในราชอาณาจักร

2.1.2 แก้ไขคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 327/2557 เรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณากรณีคนต่างด้าวขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2557 ประกอบคำสั่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ที่ 138/2557 เรื่อง รายการเอกสารประกอบการพิจารณากรณีคนต่างด้าวขออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2557 โดยให้มีการทบทวนการกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาและระยะเวลาการขออนุญาตพำนักอยู่ต่อไปในราชอาณาจักรไทยของคนต่างด้าว ตามเหตุแห่งความจำเป็นในแต่ละกรณี เพื่อให้มีความรัดกุมและป้องกันมิให้เกิดช่องว่างให้คนต่างด้าวกระทำการใด ๆ โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เช่น

(1) กรณีการอ้างเหตุแห่งความจำเป็นเพื่อเข้ามาศึกษาต่อในประเทศไทยให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาเพิ่มเติมโดยกำหนดระยะเวลาสูงสุดที่คนต่างด้าวสามารถพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยสำหรับกรณีการเข้ามาศึกษาต่อในประเทศไทย เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา มิให้คน ต่างด้าวมีการอ้างสิทธิเพื่อการเข้ามาศึกษาต่อได้เรื่อย ๆ และกำหนดให้คนต่างด้าวต้องมีเอกสารธนาคารค้ำประกัน (Bank guarantee) เพื่อวัตถุประสงค์ในการเดินทางเข้ามาศึกษาต่อในประเทศไทย

(2) กรณีการอ้างเหตุแห่งความจำเป็นเพื่อเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาหรือปฏิบัติศาสนกิจให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาเพิ่มเติมโดยให้กำหนดระยะเวลาสูงสุดที่คนต่างด้าวสามารถพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยสำหรับกรณีการเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาหรือปฏิบัติศาสนกิจ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหามิให้คนต่างด้าวอ้างสิทธิเพื่อการเข้ามาศึกษาต่อได้เรื่อย ๆ

(3) กรณีการอ้างเหตุแห่งความจำเป็นเพื่อการใช้ชีวิตในบั้นปลายให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาเพิ่มเติมโดยให้มีการคงบัญชีเงินฝาก จำนวน 800,000 บาท ตามที่แสดงไว้ในธนาคารตามกฎหมายของไทยเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน นับจากวันที่ได้รับการตรวจลงตรา ภายหลังจากนั้นจึงจะสามารถถอนเงินได้ไม่เกินร้อยละ 50 โดยในการยื่นขอรับการตรวจลงตราในแต่ละครั้ง ให้แสดงหลักฐานการถอนเงินเพื่อใช้จ่ายในประเทศไทยเท่านั้น ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ข้างต้น ให้มีการบังคับใช้ภายหลังจากคนต่างด้าวได้รับสิทธิในการพำนักอยู่ต่อในราชอาณาจักรไทยเป็นระยะเวลาครั้งละ 1 ปี

2.1.3 กรณีผู้ได้รับการพิจารณาอนุญาตตรวจลงตราให้พำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพื่อการใดๆ เช่น เข้ามาศึกษาต่อในประเทศไทย เข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาหรือปฏิบัติศาสนกิจในประเทศไทย เข้ามาทำงานในประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งปรากฏภายหลังว่าขาดคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาต เช่น ถูกตัดสิทธิการเข้าศึกษาต่อเนื่องจากผลการศึกษาไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษา และถูกตัดชื่อออกจากการเป็นนักเรียน นักศึกษา หรือถูกเพิกถอนสิทธิในการอนุญาตให้ทำงานก่อนครบกำหนดระยะเวลาอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราว เป็นต้น เห็นควรให้มีการกำหนดระเบียบ หลักเกณฑ์ รวมทั้งช่องทางในการดำเนินการพิจารณาเพื่อยกเลิกสิทธิในกลุ่มคนต่างด้าวข้างต้นต่อไป

2.1.4 กรณีการพิจารณาอนุญาตตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว กรณีการเปลี่ยนประเภทการตรวจลงตรา และกรณีการพิจารณาอนุญาตให้คนต่างด้าวพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราวต่อไปภายหลังครบกำหนดระยะเวลาอนุญาต โดยอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเห็นควรให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการในรูปแบบของคณะกรรมการเพื่อพิจารณาอนุญาตโดยคณะกรรมการดังกล่าว ให้มีองค์ประกอบของผู้แทนซึ่งต้องมีความหลากหลายและมาจากหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อให้กระบวนการพิจารณาอนุญาตและการให้สิทธิแก่คนต่างด้าวในการพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยมีความโปร่งใสและป้องกันปัญหาการกระทำทุจริต

2.1.5 ให้มีการบังคับใช้บทลงโทษตามมาตรา 81 กรณีคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือการอนุญาตสิ้นสุดหรือถูกเพิกถอนอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการกำหนดบทลงโทษให้มีการจำคุก รวมทั้งให้มีการดำเนินการอย่างเข้มงวดต่อคนต่างด้าวที่มีพฤติการณ์พำนักอยู่เกินกำหนด ตามคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ 1/2558 เรื่อง การไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาในราชอาณาจักร ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2558 พร้อมทั้งจัดทำฐานข้อมูลรายชื่อบุคคลต้องห้ามเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรตามคำสั่งดังกล่าวให้เป็นปัจจุบัน พร้อมให้หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ หน่วยงานทางด้านความมั่นคง เป็นต้น สามารถเชื่อมโยงฐานข้อมูลเพื่อการตรวจสอบได้

2.1.6 ให้มีการกำหนดบทลงโทษสำหรับคนต่างด้าวที่กระทำความผิดในฐานความผิดลักลอบหลบหนีเข้าเมือง โดยคนต่างด้าวที่มีพฤติการณ์ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองนอกจากต้องได้รับโทษตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ต้องถูกขึ้นบัญชีเป็นบุคคลต้องห้ามเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร (Blacklist) เพื่อให้เป็นไปในลักษณะเดียวกับกลุ่มคนต่างด้าวที่มีพฤติการณ์อยู่เกินกำหนด (Over Stay)

ในราชอาณาจักร

2.1.7 จัดให้มีการอบรมส่งเสริมด้านคุณธรรมจริยธรรม การป้องกันแก้ไขปัญหาการกระทำทุจริต แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดยให้มีการเน้นย้ำถึงระเบียบและบทลงโทษของผู้กระทำความผิด และดำเนินการลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง รวมทั้งให้มีการเผยแพร่พฤติการณ์และบทลงโทษต่อผู้กระทำความผิดในฐานกระทำการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่ ให้เป็นที่รับทราบต่อบุคลากรภายในหน่วยงานและบุคคลภายนอก

2.2 กระทรวงมหาดไทย

2.2.1 ในขั้นตอนกระบวนการเพื่อการพิสูจน์สถานะความเป็นคู่สมรสระหว่างคนต่างด้าวกับคนสัญชาติไทย ควรต้องพิจารณาและให้ความสำคัญในเรื่องการกำหนดระยะเวลาที่คนต่างด้าวเดินทางเข้ามาพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทย ก่อนที่จะยื่นจดทะเบียนสมรสกับคนสัญชาติไทย

2.2.2 ให้มีการตรวจสอบกรณีเอกสารใบรับรองความโสด ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญในการใช้ยื่นประกอบการจดทะเบียนสมรสระหว่างคนต่างด้าวและคนสัญชาติไทย โดยให้มีการประสานงานร่วมกับ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ในการดำเนินการเพื่อให้มีช่องทางการตรวจสอบข้อมูลของคนต่างด้าวก่อนการดำเนินการพิจารณาอนุญาตจดทะเบียนสมรส

2.2.3 ให้มีการตรวจสอบย้อนหลังกรณีการดำเนินการจดทะเบียนสมรสระหว่างคนต่างด้าวและคนสัญชาติไทยทุกกรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบเชิงพื้นที่ในจังหวัด เขต หรืออำเภอที่ปรากฏเป็นข่าวว่ามีการกระทำทุจริตและการตรวจสอบเชิงพื้นที่ ซึ่งมีสถิติการดำเนินการจดทะเบียนสมรสของคนต่างด้าวที่มีแนวโน้มสูง โดยหากพบเป็นกรณีที่มีความผิดปกติหรือเป็นการจดทะเบียนสมรสโดยมิชอบ

ด้วยกฎหมาย ให้มีการดำเนินการเพิกถอนทันที และให้มีการดำเนินการลงโทษผู้กระทำความผิดทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง คนสัญชาติไทย และคนต่างด้าวที่ร่วมกระทำความผิดด้วย

2.2.4 ให้มีการสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลคนต่างด้าวโดยดำเนินการขึ้นทะเบียนประวัติ พร้อมทั้งจัดทำบัตรประจำตัวให้แก่คนต่างด้าวในกลุ่มที่พำนักอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราวฯ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees : UNHCR) ประจำประเทศไทย เพื่อจัดทำฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบันสำหรับเป็นข้อมูลในการควบคุมตรวจสอบโดยหน่วยงานทางด้านความมั่นคงของประเทศไทย

2.3 กระทรวงศึกษาธิการ

2.3.1 ควบคุมและตรวจสอบสถานศึกษาหรือสถาบัน การศึกษาที่มีลักษณะเข้าข่ายเป็นการเปิดขึ้นมาเพื่อดำเนินการรองรับนักศึกษาต่างชาติโดยที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาอย่างแท้จริง โดยหากพบว่าเป็นกรณีที่มีความผิดปกติหรือเป็นสถาบันการศึกษาที่มิได้จัดตั้งขึ้นเพื่อการศึกษาอย่างแท้จริง ให้มีการดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตของสถานศึกษาทันที

2.3.2 จัดทำฐานข้อมูลด้านการศึกษาของนักศึกษาต่างชาติที่เดินทางเข้ามาศึกษาในประเทศไทยทั้งระบบ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนนักศึกษาต่างชาติในแต่ละสถานศึกษา ระยะเวลาการเดินทางเข้ามาศึกษาต่อในประเทศไทย ระยะเวลาการสิ้นสุดการศึกษา สถิติหรือจำนวนครั้งในการขอเดินทางเข้ามาเพื่อการศึกษาในประเทศไทยของนักศึกษาต่างชาติ การสิ้นสภาพการเป็นนักศึกษาก่อนกำหนด เป็นต้นเพื่อปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันและสามารถตรวจสอบข้อมูลได้

2.3.3 ควบคุมตรวจสอบสถานะและข้อมูลของครู/อาจารย์ซึ่งเป็นชาวต่างชาติ ที่ทำหน้าที่เป็นครู อาจารย์ ผู้สอน ผู้เชี่ยวชาญ หรือบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษาของรัฐหรือเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานศึกษาของเอกชน โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนของเอกชน และสถาบันสอนภาษา โดยมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการในการป้องกันแก้ไขปัญหาคนต่างด้าวอาศัยช่องว่างของกฎหมาย เพื่อเป็นช่องทางในการเข้ามาพำนักในประเทศไทยโดยมิชอบ

2.4 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

จัดระเบียบเพื่อควบคุมและตรวจสอบพระภิกษุสงฆ์ต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเพื่อศึกษาต่อยังมหาวิทยาลัยสงฆ์ในประเทศไทย และให้มีการจัดทำฐานข้อมูลด้านการศึกษาของพระภิกษุสงฆ์ต่างชาติ เช่น จำนวนพระภิกษุสงฆ์ต่างชาติในมหาวิทยาลัยสงฆ์แต่ละแห่ง ระยะเวลาการเดินทางเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ระยะเวลาการสิ้นสุดการศึกษา สถิติหรือจำนวนครั้งในการขอเดินทาง เข้ามาเพื่อการศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทยของพระภิกษุสงฆ์ต่างชาติ การสิ้นสภาพการเป็นนักศึกษาก่อนกำหนด เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้มีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและสามารถตรวจสอบได้

2.5 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ กระทรวงพาณิชย์

กำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบและควบคุมการดำเนินธุรกิจของบริษัทรับจัดทำวีซ่า และบริษัททัวร์/บริษัทท่องเที่ยว มิให้มีการดำเนินการใด ๆ เพื่อช่วยเหลือคนต่างด้าวให้สามารถเดินทางเข้ามายังราชอาณาจักรไทยและพำนักอยู่ในประเทศไทยโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เช่น บริษัททัวร์/บริษัทท่องเที่ยวจะต้องรับรองว่านักท่องเที่ยวที่บริษัทฯ นำเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ต้องเดินทางกลับออกไปเมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยแล้วด้วย เป็นต้น รวมทั้งให้มีการลงโทษผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้ประกอบการที่กระทำความผิดอย่างเคร่งครัด

2.6 กระทรวงแรงงาน

เร่งรัดการปรับปรุงการเชื่อมโยงฐานข้อมูลแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ระหว่างกระทรวงแรงงาน กับ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบความถูกต้องในการพิจารณาออกใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว

จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๕๐ ก.แรงงาน เตือนประชาชนรอบโกดังกากของเสีย จ.ระยอง ปฏิบัติตามคำแนะนำ พร้อมกำชับดูแลความปลอดภัยของลูกจ้างแรงงาน
๐๙:๒๘ MSC ร่วมกับ AWS จัดงาน MSC x AWS ECO Connect
๐๙:๐๕ เอเอฟเอส ประเทศไทย ผนึกกำลังศิษย์เก่า แลกเปลี่ยนแนวคิดธุรกิจให้เติบโตและยั่งยืน
๐๙:๐๐ Synology ช่วยให้องค์กรต่างๆ นำแผนการกู้คืนข้อมูลจากแรนซัมแวร์ไปปรับใช้ได้อย่างไร
๐๙:๓๗ ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ชวนคนกรุงฯ ค้นหาความสุขที่แท้จริงของชีวิต กับกิจกรรม ธรรมะในสวน ห้วข้อ เข้าใจชีวิต พิชิตสุข ณ สวนเบญจกิติ 4 พฤษภาคม 2567
๐๙:๐๒ ฉางเจียงเปิดแฟชั่นโชว์ หลอมรวมวัฒนธรรมและงานศิลป์อวดสายตาชาวโลก
๐๙:๕๗ เจาะฟีเจอร์กล้อง 108MP ใน HUAWEI nova 12i สเปกเท่าเรือธงในงบต่ำหมื่น!
๐๘:๑๓ ม.หอการค้าไทย ลงนามความร่วมมือ กับ AIT
๐๘:๒๑ จับติ้วแบ่งสายสุดเดือด ศึกลูกหนังเยาวชน แอสเซทไวส์ สยามกีฬาคัพ 2024 เริ่มโม่แข้ง 23 เม.ย.นี้!!
๐๘:๔๐ The Winner of OpsSimCom 2024 by MIT Sloan is.THAMMASAT.!!