กกพ. กางแผนยุทธศาสตร์ฯ กำกับกิจการพลังงาน ฉบับที่ 3

จันทร์ ๑๘ กันยายน ๒๐๑๗ ๑๕:๓๘
คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ "กกพ." แจงแผนยุทธศาสตร์กำกับกิจการพลังงานใน 4 ปีข้างหน้า พร้อมขับเคลื่อนสู่บทบาท "องค์กรที่สร้างความสมดุลให้กับภาคพลังงานของประเทศ" รองรับกระแสการเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมของเทคโนโลยี(Disruptive Technology) มุ่งผลักดันผลงานในด้านการกำกับ อาทิ เตรียมทบทวนโครงสร้างค่าไฟ ลดการผูกขาด เพิ่มการแข่งขันระบบก๊าซธรรมชาติ จัดตั้งศูนย์วิเคราะห์และพยากรณ์ข้อมูลพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน พร้อมยกระดับประสิทธิภาพการบริการจัดการพลังงานเพื่อความมั่นคง

นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เปิดเผยว่า ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การกำกับกิจการพลังงาน ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2561 – 2564) กกพ. ได้เตรียมแผนงานสะท้อนยุทธ์ศาสตร์ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ (1) การกำกับกิจการพลังงานเป็นเลิศ (2) ส่งเสริมการแข่งขันและก้าวทันนวัตกรรมพลังงาน (3) สื่อสารงานกำกับกิจการพลังงานให้เข้าถึง และ (4) องค์กรมีสมรรถนะสูง เป็นมืออาชีพ อาทิ ดำเนินการทบทวน และผลักดันการปรับปรุงโครงสร้างอัตราค่าบริการในกิจการไฟฟ้าใหม่ โดยคำนึงถึงต้นทุน เป็นธรรม โปร่งใส และรองรับกับรูปแบบกิจการพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป เอื้อต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันธุรกิจทั้งในและนอกภาคพลังงาน ส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจโดยรวมขยายตัว ซึ่งมีปัจจัยหลักมาจากภาพรวมและทิศทางพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งที่เกิดจากปัจจัยภายในและภายนอก ที่ส่งกระทบต่อภาคพลังงานไทย

"ผมเชื่อว่า ในอีกไม่นานปรากฏการณ์ Disruptive Technology จะเกิดขึ้นในทุกวงการ ภาคพลังงานเองก็เช่นกัน จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเกิดจากทิศทางในระดับสากล ได้แก่ การพัฒนาเทคโนโลยีในภาคพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาพลังงานทดแทน ควบคู่ไปกับความพยายามพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อลดข้อจำกัดของพลังงานทดแทนด้วยการพัฒนาแหล่งกักเก็บพลังงาน การพัฒนาพลังงานสะอาดและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบเชื้อเพลิงในระบบขนส่ง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่องานกำกับดูแลภาคพลังงาน" นายพรเทพฯประธาน กกพ. กล่าวระหว่าง การแถลงข่าวหัวข้อ "ทิศทางและแผนงานตามยุทธศาสตร์การกำกับกิจการพลังงานฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2561 – 2564)

สำหรับปัจจัยดังกล่าวข้างต้น จะส่งผลต่องานกำกับกิจการพลังงานที่ต้องปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งได้แก่ การยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลและระบบการผลิตไฟฟ้า การทบทวนโครงสร้างทางด้านต้นทุนและราคาจำหน่ายไฟฟ้า รวมไปถึงการพัฒนาหลักเกณฑ์ใหม่ๆเพื่อเข้ามากำกับดูแลเรื่องของการเปลี่ยนรูปแบบเชื้อเพลิงทั้งในภาคขนส่ง และภาคการผลิตไฟฟ้า ที่ต้องสามารถสร้างความเป็นธรรม เกิดความสมดุล และทันต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ คาดว่าภายในปี 61 จะสามารถประกาศโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าในช่วงปี 61 - 63 รวมทั้งการเตรียมการกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดค่าไฟฟ้าเพื่อให้มีความหลากหลายและสอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้พลังงานที่เปลี่ยนไป เช่น การสนับสนุนการลดใช้พลังงานในช่วง Peak อัตราค่าไฟฟ้าตามมาตรการส่งเสริมการลดใช้ไฟฟ้า (Demand Response) การกำหนดค่าไฟฟ้าสำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ การกำหนดค่าไฟฟ้าสำหรับชุมชนรอบโรงไฟฟ้า รวมทั้งอัตราค่าเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงานทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ

นอกจากนี้ ยังจะเข้าไปกำกับดูแลรถยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า โดยคาดว่าจะสามารถประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลตั้งแต่ต้นทางจนถึงสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าปลายทางได้ภายในปี 2561 อย่างไรก็ตามทางสำนักงาน กกพ. จะมีการจัดตั้ง "ศูนย์วิเคราะห์ และพยากรณ์ข้อมูลพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และข้อมูลเพื่อประกอบการกำกับกิจการพลังงาน" โดยภายในปี 63 สำนักงาน กกพ. จะเป็นศูนย์กลางเครือข่ายด้านการพยากรณ์และการควบคุมระบบไฟฟ้า สำหรับนโยบายการกำกับดูแล และจัดหาเชื้อเพลิงเพื่อการผลิตไฟฟ้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ ขณะนี้ได้ทยอยประกาศหลักเกณฑ์ และแนวทางการกำกับดูแลระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้เกิดการแข่งขันกิจการก๊าซธรรมชาติอย่างต่อเนื่องทุกปี ในส่วนของการศึกษา หลักเกณฑ์ และกำหนดอัตราค่าบริการการขนส่งน้ำมันทางระบบท่อ ก็จะทยอยดำเนินการเช่นกันหลังจากมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วเสร็จ และคาดว่าจะสามารถกำกับอัตราค่าบริการขนส่งน้ำมันทางท่อได้ก่อนสิ้นสุดแผนยุทธศาสตร์ฯ ภายในปี 64

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษก กกพ. ได้กล่าวถึง ผลสำเร็จการดำเนินงานสำคัญที่ผ่านมาตลอดช่วงเวลา 3 ปี ว่า กกพ. ชุดปัจจุบัน ได้กำหนดบทบาทการกำกับดูแลภาคพลังงานเพื่อตอบสนองการดำเนินงานในแต่ละภาคส่วน ได้แก่ (1) เพื่อภาคสังคมและประชาชนผู้ใช้พลังงาน (2) เพื่อภาคเศรษฐกิจและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และ (3) เพื่อภาคความความมั่นคงทางพลังงานของชาติ

ในส่วนบทบาททางด้านภาคสังคมและประชาชนผู้ใช้พลังงานที่ผ่านมานั้น ได้ดำเนินการทบทวนและประกาศค่าไฟฟ้าฐานเพื่อให้สะท้อนต่อสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบันมากขึ้นในปี 58 และบริหารจัดการค่าไฟฟ้า ผันแปร (ค่าเอฟที) ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากกลางปี 57 ถึงแม้จะมีการปรับเพิ่มขึ้นในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมา ค่าเอฟทีก็ยังอยู่ในระดับติดลบ กกพ.ยังได้ดำเนินการทบทวนมาตรการค่าไฟฟรี 50 หน่วยให้เหมาะสมและสอดคล้องกับเป้าหมายในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยจริงๆ รวมทั้งการสร้างความเป็นธรรมและยกระดับการให้บริการ โดยได้มีการออกมาตรฐานสัญญาให้บริการไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยในช่วงต้นปี 59

"ในส่วนของการดูแลผู้เสียสละพื้นที่ชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ผ่านกลไกกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ประกาศได้มีการจัดทำโครงการแล้วกว่า 35,000 โครงการ หรือคิดเป็นมูลค่า กว่า 12,800 ล้านบาทในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผ่านรูปแบบการจัดทำโครงการ ภายใต้กระบวนการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาโครงการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกัน จนทำให้หลายๆพื้นที่ ปัจจุบันได้ใช้เงินจากกองทุนฯมาเพื่อสนับสนุน โครงการหลักประกันสุขภาพ หรือโครงการหลักประกันทางการศึกษา และในส่วนบทบาทการกำกับดูแลเพื่อภาคเศรษฐกิจและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ได้แก่การแก้ไขปัญหาความล่าช้าในการออกใบอนุญาตสร้างโรงไฟฟ้า ผ่านระบบการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service : OSS) ส่งผลให้ผู้ประกอบกิจการพลังงานได้รับความสะดวกรวดเร็ว ลดภาระต้นทุนทางการเงิน สามารถได้รับอนุญาตทุกประเภทภายใต้กรอบเวลาที่กำหนดไว้" นายวีระพลฯ กล่าว

นอกจากนี้ กกพ. ยังได้นำแนวทางการเปิดประมูลเพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ ผ่านการพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนรูปแบบต่างๆ รวมทั้ง เร่งรัดการลงทุนให้เป็นไปตามสัญญาส่งผลให้สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ7,375 เมกะวัตต์ รวมรับซื้อ 9,223 เมกะวัตต์ (ข้อมูล ณ เดือน ส.ค. 60) จากเป้าหมาย 16,778 เมกะวัตต์ ภายในปี 79 ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558 – 2579 (AEDP 2015)

ท้ายสุด เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ที่เทคโนโลยีด้านพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์พลังงาน 4.0 กกพ. ได้จัดทำมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) โดยได้กำหนดอัตราค่าบริการสำหรับ EV ในโครงการนำร่อง จัดทำคู่มือการขอใบอนุญาตสถานีอัดประจุไฟฟ้า รวมทั้งจัดทำมาตรฐานทางด้านวิศวกรรมและความปลอดภัยสำหรับการตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า รวมทั้งประกาศอัตราค่าไฟฟ้าสำรองเพื่อใช้เป็นการการชั่วคราว และการส่งเสริมการแข่งขันในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ โดยการเปิดให้มีการเชื่อมต่อระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีแอลเอ็นจีให้กับบุคคลที่สาม สำหรับการเปิดเสรีในอนาคต และในส่วนการกำกับดูแลเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน นอกจากประกาศรับซื้อไฟฟ้าผ่านพลังงานทดแทนรูปแบบต่างๆ แล้ว ยังได้เตรียมการวางแนวทางการสนับสนุนการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพและลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงพีค (Peak) ผ่านโครงการ Demand Response การพัฒนาฐานข้อมูลและสารสนเทศด้านการผลิตไฟฟ้าเพื่อการบริหารจัดการความมั่นคงทางด้านพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๑๑ เปิดโพล! สงกรานต์ คนไทยยังอยาก รวย อวย Soft Power เสื้อลายดอก-กางเกงช้าง ต้องใส่สาดน้ำ
๑๖:๓๖ ฮีทสโตรก : ภัยหน้าร้อน อันตรายถึงชีวิต
๑๖:๐๐ STX เคาะราคา IPO 3.00 บาท/หุ้น เปิดจองซื้อ 18,19 และ 22 เม.ย. นี้ ปักธงเทรด mai 26 เมษายน 67
๑๗ เม.ย. ถอดบทสัมภาษณ์คุณอเล็กซานเดอร์ ฟาบิก (Alexander Fabig) และคุณปีเตอร์ โรห์เวอร์ (Peter Rohwer) ผู้เชี่ยวชาญ
๑๗ เม.ย. HIS MSC จัดงานสัมมนา The SuperApp ERP for Hotel
๑๗ เม.ย. ที่สุดแห่งปี! ครบรอบ 20 ปี TDEX (Thailand Dive Expo) มหกรรมธุรกิจท่องเที่ยวดำน้ำระดับเอเชีย งานเดียวที่นักดำน้ำรอคอย
๑๗ เม.ย. เคทีซีเสนอดอกเบี้ยพิเศษ 19.99% ต่อปี แบ่งเบาภาระสมาชิกใหม่บัตรกดเงินสด เคทีซี พราว
๑๗ เม.ย. ก.ล.ต. นับหนึ่งไฟลิ่ง CHAO เตรียมเสนอขาย IPO ไม่เกิน 87.7 ล้านหุ้น ระดมทุนเข้าจดทะเบียนใน SET
๑๗ เม.ย. แอร์เอเชีย บิน สุวรรณภูมิ-หาดใหญ่ เริ่มต้น 1,000 บาทต่อเที่ยว* เสริมทัพหาดใหญ่ บินเลือกได้ทั้งดอนเมืองและสุวรรณภูมิ!
๑๗ เม.ย. YONG จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นปี 2567 ผถห.ไฟเขียวทุกวาระ อนุมัติจ่ายเงินปันผล ในอัตรา 0.08 บาท/หุ้น