มรภ.สงขลา จดอนุสิทธิบัตร 2 งานวิจัย เพาะปลาดุก-ผงหมักเปลือกมะละกอ

จันทร์ ๐๒ ตุลาคม ๒๐๑๗ ๑๒:๔๔
กรมทรัพย์สินทางปัญญา ออกอนุสิทธิบัตร 2 งานวิจัยทางเทคโนโลยีเกษตร มรภ.สงขลา จากผลงานเพาะปลาดุกลูกผสม "บิ๊กลำพัน" ชูจุดเด่นเลี้ยงง่าย โตไว ทดแทนปลาดุกในธรรมชาติที่เสี่ยงสูญพันธุ์ และผลงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ผงหมักเนื้อนุ่มรสกระเทียมพริกไทยจากเปลือกมะละกอ ช่วยลดปริมาณขยะ เพิ่มมูลค่าวัสดุเศษเหลือ

ผศ.ณิศา มาชู อาจารย์โปรแกรมวิชาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ออกอนุสิทธิบัตรให้กับผลงานวิจัยของตน ในชื่อ "การประดิษฐ์กรรมวิธีเพาะพันธุ์ปลาดุกลูกผสมระหว่างปลาดุกลำพันและปลาดุกเทศ" ซึ่งเกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างแม่ปลาดุกลำพันกับพ่อปลาดุกเทศ จนออกมาเป็นปลาดุกชนิดใหม่ที่ตนให้ชื่อว่า ปลาดุกบิ๊กลำพัน เนื่องจากปัจจุบันปลาดุกลำพันในธรรมชาติที่มีแหล่งอาศัยในพื้นที่ป่าพรุ มีจำนวนลดน้อยลงมาก จึงจัดเป็นปลาหายากและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ซึ่งปลาดุกลำพันเป็นปลาที่มีความอดทนสูง สามารถเลี้ยงในน้ำที่มีคุณภาพต่ำได้ ตนจึงนำพ่อแม่พันธุ์ปลาดุกลำพันมาเลี้ยงในสภาพน้ำจืดทั่วไป ที่โปรแกรมวิชาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา และนำมาเพาะขยายพันธุ์ให้อัตราการผสมติดและฟักเป็นตัว ประมาณ 40-50%

ผศ.ณิศา กล่าวว่า ลูกปลาดุกลำพันที่ได้มีอัตราการเจริญเติบโตค่อนข้างช้า และเป็นปลาที่มีผิวหนังบางถลอกได้ง่าย ตนจึงปรับปรุงพันธุ์ด้วยการนำมาผสมข้ามพันธุ์กับปลาดุกเทศ ซึ่งเป็นปลาที่เจริญเติบโตเร็ว โดยนำปลาดุกลำพันเพศเมียมาผสมพันธุ์กับปลาดุกเทศเพศผู้ ใช้วิธีการฉีดฮอร์โมนผสมเทียม พบว่าแม่ปลาดุกลำพันสามารถผสมข้ามพันธุ์กับพ่อปลาดุกเทศได้ มีอัตราการผสมติดและอัตราการฟักเป็นตัวประมาณ 30-40% เมื่อนำปลาดุกลูกผสมที่ได้ (ดุกลำพัน×ดุกเทศ) มาอนุบาลเปรียบเทียบกับลูกปลาดุกลำพัน และลูกปลาดุกเทศ เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ พบว่าปลาดุกลูกผสมมีน้ำหนักและความยาวเฉลี่ยมากกว่าปลาดุกลำพัน แต่น้อยกว่าปลาดุกเทศ โดยที่ปลาทั้ง 3 ชนิด มีอัตราการรอดตายไม่แตกต่างกันทางสถิติ

โดยปลาดุกลูกผสมมีลักษณะเด่น คือ มีลำตัวยาว มีลายสีขาวบนลำตัวในแนวขวางเหมือนแม่ (ปลาดุกลำพัน) ทำให้มีความสวยงามและน่าสนใจ ในขณะเดียวกันก็มีการเจริญเติบโตที่ดีคล้ายพ่อ (ปลาดุกเทศ) อีกทั้งยังสามารถกินอาหารสำเร็จรูปได้ดี

อาจารย์โปรแกรมวิชาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม ควรมีการศึกษาข้อมูลการเลี้ยงและการยอมรับของผู้บริโภคต่อปลาดุกลูกผสมชนิดนี้ให้ชัดเจน เพื่อจะได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า มีโอกาสพัฒนาเลี้ยงเป็นปลาเศรษฐกิจได้ในอนาคต ซึ่งจะช่วยรักษาพันธุ์ของปลาดุกลำพันไว้ในทางอ้อม เนื่องจากต้องมีผู้สนใจเพาะเลี้ยงเพื่อป้อนฟาร์มผลิตปลาดุกลูกผสม ระหว่างปลาดุกลำพันกับปลาดุกเทศด้วยเช่นกัน

ในโอกาสเดียวกันนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญายังได้ออกอนุสิทธิบัตรให้กับผลงานวิจัยเรื่อง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผงหมักเนื้อนุ่มรสกระเทียมพริกไทยจากเปลือกมะละกอ จัดทำโดย ดร.ธิติมา พานิชย์ประธานโปรแกรมวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร และคณะ ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากวัสดุเศษเหลืออย่างเปลือกมะละกอ ช่วยลดปริมาณขยะและเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเศษเหลือ อีกทั้งข้อมูลที่ได้จากการศึกษายังสามารถใช้เป็นพื้นฐานในการนำเปลือกมะละกอมาใช้จัดทำผลิตภัณฑ์ผงหมักเนื้อนุ่มในระดับอุตสาหกรรม และนำไปประยุกต์ใช้ในการผลิตผงหมักเนื้อนุ่มรสชาติอื่นๆ ได้ต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4