มาฝึกพัฒนาแบบจำลองสถานการณ์ ลับคมความคิดเพื่อรับมือกับอนาคต

จันทร์ ๐๒ ตุลาคม ๒๐๑๗ ๑๓:๕๓
เราจะสามารถรับมือกับความไม่แน่นอน ความซับซ้อน และเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับอนาคตได้อย่างไร ไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้ แต่บริษัทต่างๆ รวมทั้งภาครัฐก็ได้เริ่มนำ Scenario planning เข้ามาใช้เป็นเครื่องมือวางแผนกลยุทธ์กันมากขึ้น เพื่อนำทางและรับมือกับอนาคต

การพัฒนาแบบจำลองสถานการณ์หรือ Scenario Planning เป็นกระบวนการเชิงโครงสร้างที่ช่วยคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงในอนาคต และสามารถพัฒนากลยุทธ์เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น สำหรับเชลล์ซึ่งเป็นที่ยอมรับในฐานะผู้นำการพัฒนาแบบจำลองสถานการณ์ โดยได้ริเริ่มนำแบบจำลองสถานการณ์มาประยุกต์ใช้กับการวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจเป็นระยะเวลากว่า 45 ปี ด้วยการพิจารณาความเป็นไปได้ของอนาคตในทุกมิติ จากปัจจัยด้านการเมือง เศรษฐกิจ การพัฒนาทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ทุกวันนี้ เชลล์ยังคงทำงานอย่างหนักในการพัฒนาแบบจำลองสถานการณ์ เพื่อให้สามารถคาดการณ์ผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

เราจะพัฒนาแบบจำลองสถานการณ์ได้อย่างไรนั้น มาเรียนรู้ไปด้วยกันจากนายดัค แมคเคย์ รองประธานฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ของเชลล์ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และอดีตสมาชิกทีมพัฒนาแบบจำลองสถานการณ์ของเชลล์

การพัฒนาแบบจำลองสถานการณ์นั้น ต้องเริ่มด้วยความเข้าใจที่ว่าอนาคตจะมีความซับซ้อนมาก และมีโอกาสที่จะเกิดสถานการณ์ได้หลากหลายรูปแบบ เราจึงจำเป็นต้องเตรียมรับมือกับอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นในหลากหลายรูปแบบ ดังนั้นเราต้องเปลี่ยนมุมมองของเราจากคำถามที่ว่า "จะเกิดอะไรขึ้น" เป็น "เราจะทำอย่างไรเมื่อเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริง"

เชลล์คาดการณ์ว่าในค.ศ. 2050 (หรือพ.ศ. 2593) จำนวนประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 7,000 ล้านคนเป็น 9,500 ล้านคน โดย 3 ใน 4 ของประชากรทั้งหมดจะอาศัยอยู่ในเขตเมือง และจะใช้พลังงานเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ขณะเดียวกันโลกก็จะเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้พลังงานที่สะอาดมากขึ้น

"หลักการทำแบบจำลองสถานการณ์คือ การพิจารณาถึงแนวทางพื้นฐานต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต เพื่อให้สามารถตัดสินใจได้ดีขึ้น" นายแมคเคย์กล่าวและเสริมว่า "การทำ Scenario planning ไม่ใช่แค่เพียงคาดการณ์อนาคตเท่านั้น แต่ต้องมีการนำข้อมูลและสถิติที่เกิดขึ้นจริงมาใช้ในกระบวนการวิเคราะห์ เพื่อประเมินถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในหลายรูปแบบ ซึ่งต้องมีกรอบโครงสร้างการพิจารณามุมมองต่างๆ ที่หลากหลาย ทั้งด้านเทคโนโลยี พลังงาน การเมือง รูปแบบของสังคม และด้านอื่นๆ กระบวนการคิดดังกล่าวทำให้เรามั่นใจว่าได้นำองค์ประกอบและมุมมองในมิติต่างๆ มาพิจารณาอย่างรอบด้าน"

สำหรับแผนจำลองสถานการณ์ล่าสุดของเชลล์คือ "แบบจำลองเทือกเขา" (Mountains) และ "แบบจำลองมหาสมุทร" (Oceans) นั้น เรามีส่วนร่วมในการจำลองเหตุการณ์โลกอนาคตในสองรูปแบบ แบบจำลองเทือกเขา คาดการณ์ว่าโลกจะมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจในระดับปานกลาง แต่มีเสถียรภาพ โดยนโยบายรัฐบาลจะมีบทบาทหลักในการวางโครงสร้างระบบนิเวศพลังงานโลกและแนวทางด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดเมืองมีขนาดกระชับมากขึ้น (compact city) รวมทั้งปรับเปลี่ยนรูปแบบเครือข่ายการคมนาคมขนส่ง การใช้ก๊าซธรรมชาติที่เป็นพลังงานสะอาดจะกลายเป็นพลังงานหลักของระบบนิเวศพลังงานโลกแบบจำลองมหาสมุทร คาดการณ์ถึงโลกที่มีความมั่งคั่งมากขึ้น แต่ก็ผันผวนมากขึ้นด้วย รูปแบบแหล่งพลังงานของโลกจะพัฒนาไปตามปัจจัยตลาดและภาคประชาสังคม มากกว่านโยบายจากภาครัฐ การขยายตัวของพลังงานนิวเคลียร์และก๊าซธรรมชาตินอกทวีปอเมริกาเหนือเป็นไปอย่างจำกัด และภายในช่วงค.ศ. 2060 – 2069 (หรือพ.ศ. 2603 – 2612) พลังงานแสงอาทิตย์จะกลายเป็นแหล่งพลังงานหลักที่ใหญ่ที่สุด

การแข่งขันแบบจำลองสถานการณ์ "MAKE THE FUTURE THAILAND SCENARIOS"

เชลล์ ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาแบบจำลองสถานการณ์นี้ ให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่เข้าร่วมแข่งขันพัฒนาแบบจำลองสถานการณ์ "Make the Future Thailand Scenarios" โดยนายแมคเคย์ ได้จัดกิจกรรมเวิร์คช็อปครึ่งวันเกี่ยวกับหลักการพัฒนาแบบจำลองสถานการณ์เพื่อให้นักศึกษามีความเข้าใจในการนำแนวคิดนี้มาประยุกต์ใช้กับผลงานที่จะส่งเข้าแข่งขันครั้งนี้

การแข่งขันนี้จัดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อพ.ศ. 2559 และประกาศผลทีมชนะเลิศไปเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2560 ในปีนี้ได้ขยายการแข่งขันไปในระดับภูมิภาค เปิดโอกาสให้ทีมจากประเทศไทย ฟิลิปปินส์ อียิปต์ และสิงคโปร์เข้ามาแข่งขัน โดยการแข่งขันในประเทศไทยนี้ มีทีมนักศึกษาเข้าร่วม จาก 2 มหาวิทยาลัย ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังและ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นายธเนศร์ รัชตะปีติ กรรมการบริหาร ฝ่ายจัดหาและจัดส่ง บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด และผู้อำนวยการโครงการฯ กล่าวว่า "เชลล์ตื่นเต้นที่จะได้ร่วมแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับแบบจำลองสถานการณ์ให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัย เราหวังจะช่วยให้คนรุ่นใหม่มีความเข้าใจและช่วยให้เห็นมุมมองทางความคิดที่แตกต่าง เพื่อให้พวกเขาวางแผนสำหรับอนาคตของพวกเขาเองได้ดีขึ้น"

นายธเนศร์ กล่าวเสริมว่า "การยกประเด็นชุมชนเมือง (Urban City) และพลังงานขึ้นมาแลกเปลี่ยนกัน ทำให้นักศึกษามองเห็นปัญหาแบบองค์รวม เรายังอยากให้นักศึกษาได้เรียนรู้ความสำคัญของกระบวนการตั้งสมมุติฐานที่น่าเชื่อถือ และการพัฒนาแบบจำลองสถานการณ์ที่เป็นไปได้จริง ด้วยพื้นฐานของข้อมูลและข้อเท็จจริงต่างๆ"

ตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงช่วงเดือนตุลาคม 2560 เชลล์ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทฯ และผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทยให้มาร่วมแบ่งปันมุมมองในประเด็นต่างๆ ให้กับนักศึกษา อาทิ เรื่องสภาวะโลกร้อน การเคลื่อนย้าย (Mobility ) ความท้าทายของชุมชนเมืองในกรุงเทพฯ และการวางผังเมือง กิจกรรมนี้จะช่วยเปิดแนวคิดใหม่ๆ กระบวนการคิดใหม่ๆ ให้แก่นักศึกษา เพื่อให้น้องๆ มีไอเดียที่จะนำไปใช้ประโยชน์สร้างสรรค์ผลงานต่อไป

นางสาวปาณัท แสนมหาชัย ปี 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ตัวแทนจากทีมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงประโยชน์ที่ได้รับจากกิจกรรมเวิร์คช็อปครั้งนี้ว่า "เราได้ลองจินตนาการถึงอนาคต จากที่ปกติจะนึกภาพไม่ออก เมื่อพูดถึงอนาคต ก็จะนึกภาพที่เห็นจากภาพยนตร์หรือแอนิเมชั่น แต่พอได้มาเข้าร่วมกิจกรรมวันนี้ ทำให้เราได้เห็นภาพชัดเจนขึ้น โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากเชลล์คอยให้คำแนะนำ และทำให้เราสนุกกับการนำเสนอไอเดียได้อย่างอิสระค่ะ"

ทางด้านตัวแทนจากคณะวิศวกรรมไฟฟ้ากำลัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นายภัทรกิจ วรวะไล ชั้นปีที่ 4 กล่าวว่า "กิจกรรมวันนี้ทำให้เรารู้จักการคิดถึงอนาคตอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่ว่าเราจะคาดการณ์อะไรก็ได้ แต่จะต้องใช้องค์ประกอบหลายๆ อย่างจากข้อมูลที่มีมารวมกันในการสร้างแบบจำลองสถานการณ์ขึ้นมา ซึ่งเราจะนำความรู้และคำแนะนำดีๆ ที่ได้ในวันนี้กลับไปทำการค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมครับ"

ทางด้านนายแมคเคย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า "จากการจัดการแข่งขันขึ้นที่สิงคโปร์เมื่อปีที่แล้ว สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมรู้สึกทึ่งมากคือ นักศึกษาสามารถวาดภาพวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ ควบคู่ไปกับการเติบโตของเทคโนโลยีในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างยอดเยี่ยม ซึ่งถือเป็นเรื่องง่ายเพราะพวกเขาเติบโตขึ้นมาในยุคของเทคโนโลยี โดยสิ่งที่สำคัญพื้นฐานคือ ความสนใจที่จะพิจารณาความเป็นไปได้ในหลายรูปแบบ ทั้งเรื่องการทำงาน การใช้ชีวิต และการเดินทางที่เราไม่เคยได้นึกถึงมาก่อนในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา"

เมื่อพูดถึงเรื่องพลังงาน เรากำลังอยู่ในช่วงกลางของการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่จะส่งผลต่อทั้งชีวิตของเด็กรุ่นใหม่ เยาวชนกลุ่มนี้จะเป็นพลังสำคัญในการร่วมสร้างและเปลี่ยนแปลงอนาคต พวกเขาต้องทำการบ้านอย่างหนักว่าพวกเขาต้องการจะเห็นภาพในอนาคตเป็นอย่างไร ชอบอะไร พวกเขาจะจัดการอย่างไรทั้งในด้านพลังงาน รวมถึงด้านอื่นๆ ทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าทุกวันนี้โลกเรามีความซับซ้อน การพัฒนาแบบจำลองสถานการณ์ก็เพื่อประเมินสถานการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบในอนาคต ซึ่งแม้พวกเขาจะมีผลลัพธ์ที่ต้องการอยู่แล้ว แต่ก็ตระหนักว่ายังมีความท้าทายอื่นๆ และผลลัพธ์ในแบบอื่นอีกที่จะต้องรับมือ แบบจำลองสถานการณ์จะช่วยให้พวกเขาสามารถรับมือกับความท้าทายที่ต้องเผชิญ ซึ่งในช่วง 3 ทศวรรษข้างหน้า ระบบพลังงานของโลกเราจะเปลี่ยนไปมาก ขณะเดียวกันก็หมายถึงโอกาสอันมหาศาลด้วยเช่นกัน นักศึกษาเหล่านี้คือหนึ่งในผู้ที่จะร่วมสร้างอนาคต ซึ่งพวกเขาจะพบกับความท้าทายในด้านพลังงาน ทั้งในเรื่องปริมาณความต้องการที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงความต้องการพลังงานสะอาดในภูมิภาคเอเชียอีกด้วย

คุณมองอนาคตไว้อย่างไร มาร่วมแบ่งปันไอเดียกับเราและค้นหาว่านักศึกษาไทยจะมองอนาคตของพวกเขาอย่างไรได้จากงานนิทรรศการ Make The Future Thailand ที่จะจัดขึ้นระหว่าง 24 – 26 พฤศจิกายน 2560 ณ สยามดิสคัฟเวอรี่ และติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ www.shell.co.th

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4