ลุยปั้นดีไซเนอร์สร้างแบรนด์ไทยแข่งเวทีโลก มองตลาดการค้าเปลี่ยนติวเข้มรับยุคออนไลน์

พฤหัส ๐๒ พฤศจิกายน ๒๐๑๗ ๑๖:๐๔
เดินหน้าปั้นดีไซเนอร์ไทยสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการในเวทีโลก ชี้เป็นตัวช่วยในการรักษาส่วนแบ่งตลาดการค้าระหว่างประเทศ ผอ.สำนักส่งเสริมนวัตกรรมฯมองเทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสำคัญการเล่าเรื่องราวผูกกับวัฒนธรรม ติวเข้มการทำตลาดบนโลกออนไลน์ ชี้รูปแบบการค้าเปลี่ยนต้องตามให้ทัน

"แนวโน้มการซื้อขายสินค้า การผลิต และพฤติกรรมผู้ซื้อเปลี่ยนไป ซึ่งการผลิตทุกคนจะมีเทคโนโลยีเหมือนกัน ต้นทุนการผลิตลดลง ดังนั้น สิ่งที่จะเป็นจุดขายก็ต้องต่อยอดเรื่องราววัฒนธรรมของตัวเอง แข่งกันว่าจะใครต่อเติมได้ลึกซึ้งกว่ากัน ประเทศไทยต้องฝากอนาคตไว้กับคนรุ่นใหม่ เพื่อให้เล่าเรื่องราวของไทยผ่านสินค้าและบริการแข่งกับคู่แข่ง ซึ่งจุดเริ่มต้นนี้สามารถนำไปช่วยในเรื่องการขยายธุรกิจการส่งออกของประเทศด้วย หากเราไม่เริ่มต้นอนาคตกู้ไม่รู้ว่าจะขายอะไร" ม.ล. คฑาทอง ทองใหญ่ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงความสำคัญของการออกแบบ และการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยสำนักงานส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า ได้ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งนักออกแบบออกเป็น 2 กลุ่มสินค้า คือ สินค้าแฟชั่น ภายใต้ชื่อ Designers' Room และสินค้าไลฟ์สไตล์ ภายใต้ชื่อ Talent Thai โดยปีนี้ได้จัดโครงการขึ้นภายใต้แนวคิด CREATIVITY BEYOND BORDERS เปิดมิติใหม่ของนักออกแบบไทย พร้อมก้าวเข้าสู่วงการออกแบบระดับโลก แบบไร้พรมแดนขวางกั้น

ขณะที่จากการสำรวจกับผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความคิดสร้างสรรค์ พบว่าเรื่องการออกแบบ และความคิดสร้างสรรค์มีส่วนถึง 30% ในการช่วยรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด หากประเทศไทยไม่พัฒนาเรื่องเหล่านี้ การจะไปแข่งขันกับผู้ผลิตเวียดนามก็ลำบาก หรือแม้แต่จีนก็เปลี่ยนแนวทางการผลิตที่เคยเน้นปริมาณ ผลิตสินค้าได้ถูกกว่าคนอื่น หันมาเน้นการต่อเติมเรื่องราวของวัฒนธรรม เพราะเป็นแนวโน้มที่ซื้อขายกัน อนาคตคนจะเสพเรื่องของประสบการณ์ เรื่องราวของวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นจุดแข็งในการขายสินค้าและบริการ

ปัจจุบันผู้ผลิตเองก็มองเรื่องการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องสำคัญชัดเจนขึ้น เช่น อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้าน พลาสติก มีการขับเคลื่อนมาในทิศทางนี้มาก เพราะหากไม่ปรับตัวก็รอดยาก สินค้าแฟชั่นของไทยในอดีตเป็นการรับจ้างผลิต 90% แต่ขณะที่เหลือแค่ 70% ซึ่งส่วนต่าง 20% ถือว่าเยอะมาก อย่างผู้ประกอบการสิ่งทอไทยทุกวันนี้ต้องมีนักออกแบบ มีคอลเลคชั่น เพื่อโชว์พันธมิตรคู่ค้า ส่วนที่รับจ้างผลิตแทบไม่มี เพราะไปจ้างจีนผลิตกันหมดแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ การรักษาส่วนแบ่งจะเป็นเรื่องการออกแบบ ความคิดสร้างสรรค์ การสร้างความแตกต่าง สร้างเรื่องราวให้คนสนใจสินค้า ต้องเป็นมากกว่าเรื่องวัตถุดิบ เป็นมากกว่าการรับจ้างผลิต

ส่วนรูปแบบการค้าก็เปลี่ยนไปเช่นกัน การค้าระหว่างประเทศไม่ใช่แค่การส่งออก เพราะตลาดในประเทศก็เป็นส่วนหนึ่งของการส่งออกด้วย ผ่านการซื้อขายออนไลน์ หรือสินค้าที่วางในห้างขายให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ สร้างรายได้เข้าประเทศเหมือนกัน อันนี้ถือเป็นตลาดการค้าระหว่างประเทศเหมือนกัน ดังนั้น จึงต้องเปลี่ยนวิธีคิดตามโลกที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่คิดแค่ผลิตเพื่อส่งออกอย่างเดียว

"ปัจจุบันร้านค้าน้อยลง ไปอยู่บนออนไลน์มากขึ้น เปลี่ยนรูปแบบการค้า มูลค่าค้าขายออนไลน์มหาศาลมาก สามารถทำการค้าออนไลน์ได้ง่ายมาก ผมเชื่อว่าโอกาสของผู้ประกอบการยุคใหม่มีมากกว่าสมัย 10-20 ปีที่แล้ว ดังนั้น รูปแบบการส่งเสริมและสนับสนุนนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลกก็จะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ด้วยเช่นกัน ตอนนี้จะมุ่งการทำตลาดผ่านออนไลน์มากขึ้น พยายามหาลูกค้าผ่านออนไลน์ให้ด้วย แพลตฟอร์มทั้งหลายที่จะมารองรับ"

สำหรับโครงการทั้ง 2 โครงการนี้ อยู่ภายใต้โครงการใหญ่ที่กรมพยายามส่งเสริมและสนับสนุนบุคลากรที่อยู่ในวงการการออกแบบให้เป็นมืออาชีพเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมในเรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าไทย ซึ่งโครงการนี้ดำเนินการมากว่า 15 ปี สร้างนักออกแบบ (ดีไซเนอร์) หรือสร้างคนที่อยู่ในวงการนี้มากว่า 600 ราย โดยแต่ละปีจะรับได้ประมาณ 70-80 ราย แต่จะไม่เน้นรับนักศึกษา ผู้ที่เข้าร่วมโครงการนี้จะต้องเป็นผู้ประกอบการที่เน้นในเรื่องของดีไซน์ เน้นในเรื่องการทำแบรนด์ของตัวเอง และต้องมีประสบการณ์ในเรื่องการทำตลาด ต้องขายสินค้าเอง หรืออยู่ในตลาด และอยากต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มออกสู่ตลาดต่างประเทศ

การดำเนินโครงการนี้เปลี่ยนทุกปีมีพัฒนาการต่อเนื่อง แล้วแต่สถานการณ์ เพราะแต่ละปีแต่ละกลุ่มมีความต้องการไม่เหมือนกัน กรมต้องพยายามประเมินว่าแต่ละปีผู้เข้าอบรมต้องการอะไรเป็นพิเศษ ในช่วงแรกทุกคนต้องการขายของ เป็นเรื่องหลักอยู่แล้ว เข้ามาเพื่อต้องการหาลู่ทางในการขายสินค้า แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไป สิ่งที่เขาต้องการคือ โอกาสที่จะเรียนรู้กลยุทธ์ใหม่ๆ เรื่องเทคโนโลยี เรื่องการทำตลาดใหม่ๆ ซึ่งกรมสามารถให้โอกาสตรงนี้ได้ ทำให้นำไปต่อยอดสู่ตลาดต่างประเทศได้มากยิ่งขึ้น

สำหรับหลักสูตรใหม่ๆ เช่น ถ่ายภาพเพื่อลงออนไลน์ หรือวิธีการทำตลาดออนไลน์ หรือกลุ่มลูกค้าหลักที่อยู่ในตลาดออนไลน์เป็นใคร ติดต่อได้อย่างไร หากกรมไม่ช่วยสนับสนุนตรงนี้หรือเป็นแกนให้ เป็นตัวเชื่อมให้ ผู้ประกอบการเหล่านี้อาจไม่มีโอกาสเลย อย่างที่ผ่านมากรมได้สร้างเครือข่ายให้ โดยเน้นไปที่ตลาดจีน เน้นเรื่องการทำตลาดสู่ผู้บริโภค เหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงชัดเจน เรื่องข้อมูลแนวโน้มตลาดกลายเป็นเรื่องที่ใครก็เข้าถึงได้จากการเสาะหาในโลกออนไลน์ แต่บางสิ่งบางอย่างที่เป็นออฟไลน์ เป็นเรื่องของทักษะ เรื่ององค์ความรู้กรมยังต้องหาช่วยสนับสนุน

หากมองถึงความสามารถของนักออกแบบไทยนั้น คงไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องวิจัย (อาร์แอนด์ดี) หรือเรื่องเทคโนโลยี เพราะเรื่องเหล่านี้ไทยคงสู้กับต่างชาติยาก แต่นักออกแบบไทยสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ เรื่องวัฒนธรรมมาผูกโยง นอกจากนี้ นักออกแบบไทยยังมีจุดแข็งเรื่องความสามารถในการขาย ในการถ่ายทอดเรื่องราวของตัวเอง ซึ่งแทบทุกคนทำได้ดีจากความภูมิใจในสิ่งที่แต่ละคิดและลงมือทำเอง ทำด้วยหัวใจ โดยกรมก็มีหน้าที่กระตุ้นสร้างเรื่องราวที่มาของดีไซน์ ความสวยงามของไทยอยู่ที่ไหน อัตลักษณ์ไทยเป็นอย่างไร อันนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการได้

"เราไม่ได้บอกว่านักออกแบบสามารถที่จะมีส่วนช่วย 70-80% ของมูลค่าการขาย แต่นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมนำไปต่อยอดได้ ผู้ประกอบการที่กล้าหน่อยก็จะใช้ดีไซเนอร์เหล่านี้ออกแบบ เป็นพาร์ทเนอร์ให้ ทำโปรดักชั่นให้แล้วทำเป็นแมส เห็นผลงานแพร่หลายเลย นี่เป็นสิ่งที่เราพยายามสร้างขึ้นมา เพราะว่าผมเชื่อว่าการเพิ่มมูลค่าสินค้ามันต้องมาจากคน แล้วคนที่จะสามารถนำเราไปข้างหน้าในอนาคตก็คือคนรุ่นใหม่ และมีการส่งต่อไปเรื่อยๆ แต่ละรุ่นแต่ละรุ่น เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เหมือนเรามาถูกทางแล้ว"

ม.ล.คฑาทองกล่าวต่อว่า ทุกวันนี้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายและรูปแบบผู้ซื้อเปลี่ยนไป โดยในอดีตผู้ซื้อมาดูสินค้าแล้วมีคำสั่งซื้อ แต่สมัยนี้เป็นอีคอมเมิร์ซจำนวนมากวิธีเจรจาการค้าเปลี่ยนไปสู่คำถามว่าสนใจเข้าแพลตฟอร์มหรือไม่ คิดค่าคอมมิชชั่นเท่าไหร่ คุยกับเรื่องระบบ และการดูสินค้าก็ไม่ใช่แค่เรื่องคุณภาพอย่างเดียว เป็นการดูแบรนด์เพื่อนำไปต่อยอด สามารถสร้างแบรนด์บนแพลตฟอร์มของลูกค้าได้หรือไม่ ดูคาแรคเตอร์ของแบรนด์ด้วย เพราะปัจจุบันผู้บริโภคเน้นเรื่องอารมณ์ หรืออีโมชั่นกันมากขึ้น ทำให้นักออกแบบต้องรู้จักขายตัวเอง ต้องมีคาแรคเตอร์ของตัวเอง ซึ่งกรมพยายามดึงเรื่องเหล่านี้ออกมาให้ได้ ผ่านการอบรมบุคลิกภาพ การสร้างเรื่องราวของสินค้าและบริการ

ดังนั้น เมื่อความต้องการของตลาดเปลี่ยนไป ภาคการผลิตก็ต้องพร้อมเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน และต้องเปลี่ยนเร็วให้ทันกับความต้องการของตลาดด้วย ซึ่งการเป็นไทยแลนด์ 4.0 นำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต จะทำให้การผลิตทำได้เร็วขึ้น เพราะหากไม่ปรับตัวในอนาคตคงอยู่ยาก นี่คือความท้าทายมาก สิ่งที่เป็นการบ้านของทั้งนักออกแบบและผู้ผลิตก็คือ การตามตลาดให้ทัน หรือสามารถคาดการณ์ความต้องการของตลาดให้ได้ อันนี้ เป็นสิ่งที่ยากมาก และเป็นความเสี่ยงด้วย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๐๑ ALLY ผนึก Mural ลงทุนซื้อหุ้นสมาคมมวยปล้ำสเปน หวังผลักดันมวยปล้ำสเปนขึ้นแท่นลีกหลักในยุโรปและลาตินอเมริกา
๑๖:๓๙ โอกาสจองซื้อหุ้นกู้บริษัทชั้นนำ ช.การช่าง เสนอขายช่วงวันที่ 25 - 29 เมษายน 2567 ชูผลตอบแทน 3.40 - 4.10% ต่อปี อันดับความน่าเชื่อถือ A- ติดต่อผ่าน ธ.กรุงเทพ และ ธ.กรุงไทย
๑๖:๕๔ บางจากฯ สนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาเยาวชนในทักษะแห่งอนาคต ผ่านโครงการ SI Sphere: Sustainable Intelligence-based Society Sphere โดย UN Global Compact Network
๑๕:๑๓ เปิดไลน์อัพ 10 ศิลปินหน้าใหม่มาแรงแห่งปีจาก Spotify RADAR Thailand 2024
๑๕:๐๘ อาร์เอส กรุ๊ป เดินหน้ากลยุทธ์ Star Commerce ยกทัพศิลปิน-ดารา เป็นเจ้าของแบรนด์ และดันยอดขายด้วย Affiliate Marketing ประเดิมส่งศิลปินตัวแม่ ใบเตย อาร์สยาม
๑๕:๒๐ กสิกรไทยผนึกกำลังเจพีมอร์แกน เปิดตัวโปรเจกต์คารินา ดึงศักยภาพบล็อกเชน ลดระยะเวลาธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ
๑๕:๐๖ สเก็ตเชอร์ส จัดกิจกรรม SKECHERS PICKLEBALL WORKSHOP ส่งเสริมสุขภาพและขยายคอมมูนิตี้กีฬา Pickleball ในไทย
๑๕:๕๖ SHIELD จับมือแอสเซนด์ มันนี่ และ Money20/20 Asia จัดกิจกรรมระดมเงินบริจาคแก่มูลนิธิรามาธิบดี
๑๕:๔๓ 'ASW' เตรียมโอนกรรมสิทธิ์ 4 คอนโดฯ ใหม่ ไตรมาส 2 ครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ และภูเก็ตมูลค่ารวมกว่า 6,600 ล้านบาท
๑๕:๔๑ โก โฮลเซลล์ สนับสนุนเกษตรกรไทย ปูพรมจำหน่ายผลไม้ฤดูกาล สดจากสวนส่งตรงถึงมือคุณ