เจาะทิศทางแรงงานเกษตร พัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ก้าวสู่เกษตรกรรม 4.0

จันทร์ ๐๖ พฤศจิกายน ๒๐๑๗ ๑๖:๓๓
สศก. แจงทิศทางอาชีพเกษตรกรมีแนวโน้มได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่มากขึ้น เผย มี Smart Farmer ทั่วประเทศ รวมกว่า 9 แสน 8 หมื่นราย และกลุ่ม Young Smart Farmer อีกกว่า 5 พันราย พร้อมเปิดผลศึกษาวิเคราะห์แก้ปัญหาแรงงานเกษตร แนะเทคโนโลยีและนวัตกรรมคือสิ่งสำคัญ พร้อมสร้างความตระหนักรู้ ความภาคภูมิใจในอาชีพเกษตร

นางสาวราตรี เม่นประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า การก้าวเข้าสู่เกษตรกร 4.0 ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 นั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยแรงงานที่มีทักษะ มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ทดแทนแรงงานคน การรวมกลุ่ม การบริหารจัดการทรัพยากร/ปัจจัยการผลิต และการบริหารจัดการด้านการตลาดเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

ข้อมูลภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนเกษตรปีเพาะปลูก 58/59 พบว่ามีจำนวนครัวเรือนเกษตร 5.9 ล้านครัวเรือน มีสมาชิกเฉลี่ยครัวเรือนละ 4.04 คน ขนาดแรงงาน 2.88 คนต่อครัวเรือน อายุเฉลี่ยของแรงงานภาคเกษตร คือ 56 ปี และมีผู้สูงอายุสูง (อายุ 65 ปีขึ้นไป) ร้อยละ 12.48 ของประชากรภาคเกษตรทั้งหมด

ผลกระทบของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุต่อผลิตภาพของภาคเกษตรนั้น สังคมผู้สูงอายุจะทำให้กิจกรรมการผลิต การออม และการลงทุนลดลง มีความเป็นไปได้สูงที่จะเปลี่ยนไปทำการเกษตรที่ใช้แรงงานน้อยกว่าแต่ต้องได้ผลิตภาพ มากขึ้น และนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิต

ด้านสัดส่วนของแรงงานภาคเกษตรมีระดับการศึกษาสูงขึ้น และปัจจุบันอาชีพเกษตรกรมีแนวโน้มได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่มากขึ้น ทั้งจากผู้ที่จบการศึกษาในสาขาเกษตร รวมถึงลูกหลานของเกษตรกร และผู้ที่ประกอบอาชีพอื่นแล้วผันตัวเองมาเป็นเกษตรกร โดยพบว่ามี Smart Farmer ทั้งประเทศ รวม 981,649 ราย และกลุ่มYoung Smart Farmer 5,477 ราย ซึ่งเป็นทิศทางที่ดี เพราะจะช่วยให้แรงงานภาคเกษตรสามารถเรียนรู้และนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาและปรับปรุงเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบัน สินค้าเกษตรเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทั้งในด้านพลังงานและอาหาร ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตของประเทศอุตสาหกรรมใหม่ และประชากรโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ความต้องการพืชพลังงานและพืชอาหารมากขึ้น โดยไทยก็ยังเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรรายสำคัญของโลก สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพความพร้อมของภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสม ซึ่งเป็นจุดแข็งในการที่จะสร้างโอกาสและพัฒนาภาคเกษตรได้อีกมาก ซึ่งหากแรงงานภาคเกษตรไทยปรับตัวได้ช้าเหมือนในอดีตที่ผ่านมา นอกจากจะเสียโอกาสด้านการตลาดแล้ว ปัญหาการขาดแคลนแรงงานก็จะยังคงอยู่ต่อไป ซึ่งในระยะยาวหากจะพึ่งพาแรงงานต่างด้าวคงเป็นไปได้ยาก เพราะความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านยังคงพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ทำให้แรงงานต่างด้าวมีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนย้ายแรงงานกลับประเทศของตน

จากสภาพปัญหาดังกล่าว สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรจึงได้ทำการศึกษาแนวทางการสนับสนุนเยาวชนเข้าสู่ภาคเกษตร กรณีศึกษาเยาวชนที่กำลังศึกษาในระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาสาขาเกษตร โดยใช้วิธีการศึกษาวิจัยทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยใช้แบบสอบถาม (Questioniare) สัมภาษณ์เชิงลึก (Indepth Interview)และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) ในการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 437 คน ในจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางของการศึกษาสาขาเกษตรในแต่ละภูมิภาค รวม 5 จังหวัด รวม 9 สถาบัน ได้แก่

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จังหวัดกรุงเทพมหานคร วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครศรีธรรมราช และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จังหวัดนครศรีธรรมราช เกี่ยวกับแนวทางการสนับสนุนเยาวชนเข้าสู่ภาคเกษตร เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการสนับสนุนเยาวชนสู่ภาคเกษตร เพื่อให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ในการสนับสนุนทั้งด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพการเกษตรให้แก่เยาวชน

ผลการศึกษา พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเรียนด้านการเกษตร เป็นเพราะความชอบเรียนด้านการเกษตรและอยากประกอบอาชีพด้านการเกษตรหลังเรียนจบมากที่สุด เลือกที่จะประกอบอาชีพการเกษตรหลังสำเร็จการศึกษา เพราะงานในภาคเกษตรมีอิสระ ชอบทำงานในภาคเกษตร และได้กลับไปอยู่กับครอบครัวที่บ้านเกิด ส่วนเหตุผลที่นักศึกษาเลือกประกอบอาชีพนอกภาคเกษตร เพราะงานในภาคเกษตรไม่มีสวัสดิการ ขาดปัจจัยการผลิตหรือทุนในการผลิต และอาชีพในภาคเกษตรมีรายได้ต่ำ

ดังนั้น การแก้ปัญหาแบบยั่งยืนควรมีการกำหนดนโยบาย โดยเฉพาะแนวคิดเกษตร 4.0 ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยระยะสั้น ต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลตอบแทนจากการผลิต โดยใช้ศาสตร์ของพระราชา และการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาทิ แปลงใหญ่/ระบบสหกรณ์ เกษตรอุตสาหกรรม โดยภาครัฐร่วมมือกับภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ตลอดจนห่วงโซ่การผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าเกษตรผ่านการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชและเทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสม ควบคู่กับการกำหนดพื้นที่สำหรับการทำเกษตร (Zoning) การบูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัยต่างๆ เข้ากับเกษตรกรมแบบดั้งเดิม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก เพิ่มผลผลิต และเพิ่มคุณภาพของผลิตผล โดยใช้ข้อมูลของชนิดพืชหรือสัตว์ สภาพแวดล้อมของฟาร์ม และฐานข้อมูลด้านการเกษตร ที่เชื่อมโยงถึงกันเป็นเครือข่าย เพื่อช่วยเกษตรกรในการตัดสินใจในการปรับปัจจัยการผลิตและการดูแลรักษาพืชแต่ละชนิดอย่างพอเหมาะ

ทั้งนี้ จะต้องมีการดำเนินการสร้างภูมิคุ้มกัน/ลดความเสี่ยง ด้วยการให้เกษตรกรทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ รวมทั้ง ควรมีการบรรจุหลักสูตรอาชีพการเกษตรตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา เพื่อให้เด็กไทยมีความรู้และความรักในการประกอบอาชีพการเกษตร ซึ่งเป็นอาชีพฐานหลักของประเทศ มีการปรับปรุงวิธีการคัดเลือกนักศึกษาสาขาเกษตรทั้งในระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาโดยให้ใช้หลักความรู้ความสามารถ ทักษะในการปฏิบัติงาน และความมุ่งมั่นในการประกอบอาชีพการเกษตร โดยสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งสร้างให้เกิดขึ้น คือ การสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคมและชุมชนถึงความสำคัญของภาคเกษตรที่มีต่อประเทศไทย เพื่อให้อาชีพการเกษตรเป็นอาชีพที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี

นอกจากนี้ ยังต้องมีการจัดการผลิตผลเกษตรหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อคงคุณภาพของผลผลิตเกษตร การส่งเสริมระบบประกันภัยพืชผลเพื่อให้เกษตรกรสามารถลดความเสี่ยงของผลผลิตจากภัยธรรมชาติ ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุน และสนับสนุนกลุ่มแรงงานรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพให้มีความสนใจในการเข้ามาประกอบอาชีพการเกษตร เนื่องจากเป็นกลุ่มที่สามารถเรียนรู้และปรับตัวได้เร็วกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงการผลักดันยุทธศาสตร์พัฒนาการเกษตร ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ให้เกิดผลในการรองรับการก้าวผ่านประเทศรายได้ปานกลาง สู่ประเทศที่มีรายได้สูง ให้แรงงานภาคเกษตรมีรายได้เพียงพอที่จะทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะประชากรในภาคเกษตรที่เป็นผู้สูงอายุควรส่งเสริมการให้ความรู้และสนับสนุนการใช้เครื่องจักรกลช่วยผ่อนแรงสำหรับแรงงานภาคเกษตรสูงอายุที่ยังคงทำงานได้ เพื่อให้สามารถทำการเกษตรต่อไปได้ด้วยความมั่นคง และสามารถที่จะยืนหยัดอยู่ในภาคเกษตรอย่างพึ่งพาตนเองได้

ระยะยาว มีการจัดทำแผนพัฒนาสินค้าเกษตร การกำหนดความต้องการแรงงานภาคเกษตรในแต่ละชนิดการผลิตเพื่อความยั่งยืนในระยะยาว มีการบริหารจัดการแรงงาน (Good Labor Practice : GLP) ที่ดีเพื่อจูงใจให้แรงงานรุ่นใหม่กลับเข้าสู่ภาคเกษตร กำหนดนโยบายการสนับสนุนให้เยาวชนเข้าสู่ภาคเกษตร ตลอดจนการพัฒนาภาคเกษตรและแรงงานภาคเกษตรของประเทศไทยให้เป็นวาระแห่งชาติ ส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุ และผู้พิการในภาคเกษตร เพื่อลดการว่างงานตามฤดูกาล ทดแทนการใช้แรงงานต่างด้าว และการทำงานต่ำระดับที่ทำให้เกิดการว่างงานแฝง โดยการส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตในท้องถิ่น OTOP เพื่อให้มีงานทำตลอดปี ซึ่งจำเป็นต้องมีการรวมกลุ่มเกษตรกรในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการจัดหาตลาดให้แก่เกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง รวมทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ทั้งนี้ ในการดำเนินนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ปัจจุบันภาครัฐได้มีการดำเนินการแล้ว แต่อาจยังไม่ครอบคลุม ดังนั้น การดำเนินการระยะต่อไปจะต้องมีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา เพื่อให้ภาคเกษตรเป็นฐานการผลิตที่มั่นคงและเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การยกระดับสินค้าเกษตรรวมถึงคุณภาพชีวิตและความมั่นคงในอาชีพของเกษตรกรไทยได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑ เม.ย. อ.อ.ป. ร่วม พิธีสรงน้ำพระ ขอพร เนื่องในวันสงกรานต์ประจำปี 2567 ทส.
๑๑ เม.ย. 1 จาก 1,159 ศูนย์การค้า เดอะ พาลาเดียม เวิลด์ ช้อปปิ้ง ส่งมอบลอตเตอรี่ที่ไม่ถูกรางวัล จำนวน 125,500 ใบ ให้กับศูนย์สาธารณสงเคราะห์เด็กพิเศษ วัดห้วยหมู
๑๑ เม.ย. JPARK ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผถห. อนุมัติปันผล 0.0375 บาทต่อหุ้น
๑๑ เม.ย. สเก็ตเชอร์ส สนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อความสบายแก่บุคลากรทางการแพทย์ บริจาครองเท้ารุ่น GOwalk 7(TM) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์
๑๑ เม.ย. ศูนย์คนหายไทยพีบีเอส ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทำงานเชิงป้องกัน เก็บก่อนหาย ในผู้สูงอายุ
๑๑ เม.ย. จุฬาฯ อันดับ 1 ของไทย การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย QS WUR by Subject 2024
๑๑ เม.ย. ครั้งแรกในไทย 'Pet Us' เนรมิตพื้นที่จัดกิจกรรม มะหมามาหาสงกรานต์ ชวนน้องหมาทั่วทั้ง 4 ภาคร่วมสนุกในช่วงสงกรานต์ 13-14 เมษายน ตอกย้ำความสำเร็จฉลอง 'Pet Us' ครบ 3
๑๑ เม.ย. LINE STICKER OCHI MOVE จาก OCEAN LIFE ไทยสมุทร คว้ารางวัลชนะเลิศ Best Sponsored Stickers in Insurance ในงาน LINE THAILAND AWARDS
๑๑ เม.ย. วว. ผนึกกำลังหน่วยงานเครือข่าย พัฒนาเชื่อมโยงการค้า ตลาด วิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
๑๑ เม.ย. บริษัท เค วัน วัน ดี จำกัด ถือฤกษ์ดีจัดพิธีบวงสรวง ซีรี่ส์ Girl's Love เรื่องใหม่ Unlock Your Love : รักได้ไหม ?