กระทรวงเกษตรฯ เร่งช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้ผลกระทบจากอุทกภัยหลังน้ำลด พร้อมขยายระยะเวลาชำระหนี้แก่สมาชิกสหกรณ์ภายในสิ้นเดือน พ.ย. นี้

พฤหัส ๐๙ พฤศจิกายน ๒๐๑๗ ๑๓:๐๑
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวทางการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลด ตามกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม วงเงินงบประมาณ 4,715.19 ล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลด และอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น กรอบวงเงินรวม 4,703.78 ล้านบาท นั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งดำเนินการ ดังนี้

1) การช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยพายุตาลัส และเซินกา ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม - 15สิงหาคม 2560 โดยให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 3,000 บาท (เพิ่มเติม) ในพื้นที่ 30 จังหวัด เกษตรกร 1.19 ล้านครัวเรือน วงเงิน 3,592.66 ล้านบาท และขยายระยะเวลาชำระหนี้แก่สมาชิกสหกรณ์/กลุ่มสหกรณ์ร้อยละ 3 ต่อปี 6 เดือน ในพื้นที่ 36 จังหวัด สมาชิก 138,317 ราย วงเงิน 233.51 ล้านบาท ซึ่งจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน พ.ย. นี้

2) การช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยพายุทกซูรี หย่อมความกดอากาศต่ำ และร่องมรสุม (พื้นที่ได้รับผลกระทบขยายจากช่วงพายุตาลัสและเซินกา) ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม - 31 ตุลาคม 2560 โดยให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 3,000 บาท ครอบคลุมพื้นที่ 39 จังหวัด เกษตรกร 250,000 ครัวเรือน วงเงิน750 ล้านบาท พร้อมให้การสนับสนุนวัสดุปรับปรุงบำรุงดิน และพันธุ์พืชระยะสั้น ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน ธ.ค. นี้ ทั้งนี้ เกษตรกรที่จะได้รับความช่วยเหลือจะต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนด โดยไม่เป็นเกษตรกรรายเดิมที่ได้รับความช่วยเหลือไปแล้ว รวมทั้งมีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรตั้งแต่ก่อนเกิดอุทกภัยและประกอบกิจกรรมด้านการเกษตร และ

3) การช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่โครงการปรับเปลี่ยนระบบผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง วงเงิน127.61 ล้านบาท ประกอบด้วย 3 แนวทาง คือ การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวนาปี ไร่ละ 5 กิโลกรัม พื้นที่ 1.41 ล้านไร่ มีแผนดำเนินการในช่วง กุมภาพันธ์ – มีนาคม2561 การปล่อยปลาเข้าทุ่ง ในปี 2561 จำนวน 20.2 ล้านตัว วงเงิน 2.20 ล้านบาท มีแผนดำเนินการในเดือน กันยายน – ตุลาคม 2561 และการส่งเสริมอาชีพทางเลือก ได้แก่ การปลูกพืชหลากหลาย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชปุ๋ยสด และพืชอาหารสัตว์ มีแผนดำเนินการในเดือน ตุลาคม 2560 – มิถุนายน 2561

ด้าน นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากที่ไม่มีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้สามารถระบายน้ำจากจังหวัดนครสวรรค์และท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงไปได้ จากเดิมมีปริมาณน้ำสูงถึง 2,700 ลบ.ม./นาที ลดลงเหลือ 650 ลบ.ม./นาที ส่งผลให้ระดับน้ำตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลดลงไม่น้อยกว่า 1 เมตร แต่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาลดลงเพียง 10 ซ.ม./วัน ขณะนี้กรมชลประทานได้ปรับแผนการระบายน้ำ โดยใช้แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนในการระบายน้ำออกไป พร้อมกับใช้เครื่องผลักดันน้ำ ซึ่งการลดการระบายน้ำผ่านลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะลดแบบขั้นบันได และมีเป้าหมายอยู่ที่ 700 ลบ.ม. การระบายน้ำในทุ่งพื้นที่ลุ่มทั้ง 13 พื้นที่จะลดลงภายในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม สำหรับพื้นที่ภาคอีสาน หลังจากที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพื้นที่ประสบภัยนั้น พบว่า มีตัวคันกั้นน้ำชำรุดเสียหาย จึงได้สั่งการให้ซ่อมแซมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งระดับน้ำบริเวณท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ได้ลดลง 28 ล้าน ลบ.ม./วัน (เป้าหมาย 20 ล้าน ลบ.ม./วัน) ส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ ตั้งแต่ ลำน้ำพอง จ.ขอนแก่น และ จ.มหาสารคาม ลดลงมาตามลำดับแต่ก็ยังสูงกว่าตลิ่ง ขณะนี้น้ำยังคงชะลอตัวอยู่บริเวณ จ.ร้อยเอ็ด และยโสธร โดยจะระบายออกให้ได้ในช่วงปลายเดือน พ.ย.

สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ได้แก่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง ที่อำเภอบางสะพานมีฝนตกหนักต่อเนื่อง ซึ่งกรมชลประทานได้สั่งการให้มีการเดินเครื่องสูบน้ำคู่ขนานกันไป และเฝ้าระวังติดตามอย่างใกล้ชิด โดยในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง 7 จังหวัด คือ พัทลุง สงขลา ตรัง สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส มีฝนระดับปกติ แต่ได้เตรียมการพร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญ 3 แห่งไว้เพื่อรอรับฝนที่จะตกเหนืออ่างฯ คือ อ่างเก็บน้ำสะเดา อ่างเก็บน้ำคลองหลา และอ่างเก็บน้ำจำไหล ซึ่งจะสามารถรองรับน้ำรวมกันได้ประมาณ 32 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สำคัญที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ อำเภอหาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งกรมชลประทานได้เตรียมกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ วัชพืชทางน้ำภายในคลองอู่ตะเภา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือระบายน้ำไม่ให้เข้าท่วมตัวเมืองหาดใหญ่ พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ไว้ทุกบริเวณที่เคยท่วมซ้ำซาก ทั้งนี้ ได้มีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ทุกจุด หากมีพายุดีเปรสชั่นหรือฝนตกหนัก สามารถเดินเครื่องทำงานได้ทันที

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๒:๑๔ องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๑๒:๑๒ การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๑๒:๔๔ DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๑๒:๑๐ JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๑๒:๒๓ นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๑๒:๕๗ Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๑๒:๒๘ โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๑๒:๑๐ STEAM Creative Math Competition
๑๒:๔๔ A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๑๒:๔๗ ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้