รวมพลังเคลื่อน 'ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ’ วางเป้า ๑๐ ปี พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข

ศุกร์ ๒๒ ธันวาคม ๒๐๑๗ ๑๐:๑๖
พระสงฆ์ทั่วประเทศพร้อมขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๐ ชูแนวทาง "ธรรมนำโลก" ปลุกพลังทุกภาคส่วน ร่วมใช้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติเป็นกรอบและแนวทางส่งเสริมสุขภาวะพระสงฆ์และชุมชนทั่วประเทศ มุ่งให้เกิด "พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข" เชื่อภายใน ๑๐ ปีเห็นความเปลี่ยนแปลงดีขึ้น

ในพิธีเปิดการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๐ เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๐ ณ อาคารอิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี นนทบุรี พระพรหมวชิรญาณ กรรมการมหาเถรสมาคม และประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม เป็นประธานในพิธีประกาศ "ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๐" พร้อมด้วยคณะสงฆ์ร่วมในพิธี ต่อเนื่องด้วยพิธีการลงนามประกาศเจตนารมณ์ร่วมขับเคลื่อนธรรมนูญพระสงฆ์แห่งชาติของผู้บริหารหน่วยงานหลัก ได้แก่ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงกระทรวงสาธารณสุข ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ นพ.ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ นางวชิรา น่วมเจริญ ผู้ตรวจราชการ ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่ง โดยมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี

พระพรหมวชิรญาณ กล่าวในพิธีประกาศธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติว่า การจัดทำธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ เป็นการดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๕ พ.ศ.๒๕๕๕ เรื่อง "พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ" เนื่องจากพระสงฆ์เป็นที่พึ่งพิงทางจิตใจให้กับประชาชนและสังคม ดังนั้นสุขภาวะของพระสงฆ์จึงมีความสำคัญต่อการปฏิบัติศาสนกิจ การประกาศใช้ "ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๐" จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นกรอบและแนวทางส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์และชุมชนทั่วประเทศ โดยกำหนดเป้าหมายในการขับเคลื่อน ๓ ประการ ได้แก่ ๑. พระสงฆ์กับการดูแลสุขภาพตนเองตามหลักพระธรรมวินัย ๒.ชุมชนและสังคมกับการดูแลอุปัฏฐากพระสงฆ์ที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย และ๓.บทบาทพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม โดยยึดหลัก "ใช้ทางธรรมนำทางโลก"

"ขณะนี้สุขภาพของพระสงฆ์กำลังมีปัญหาทั้งจากอาหาร ซึ่งญาติโยมได้นำมาถวาย การออกกำลังกาย และสภาพแวดล้อมภายในวัดวาอารามต่างๆ ที่ทุกฝ่ายควรช่วยกันให้ความรู้เพื่อสร้างให้เกิดสุขภาวะที่ดี นำไปสู่การส่งเสริมสุขภาวะของพระสงฆ์และชุมชนที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญาและทางสังคม ตลอดจนจัดการสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ ระหว่างวัด ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มุ่งให้เกิด พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุขให้ได้ภายใน ๑๐ ปี นับจากนี้"

ในช่วงบ่ายวันเดียวกันคณะสงฆ์จากทั่วประเทศ กว่า ๕๐ รูป ได้ประชุมร่วมกันในห้องเสวนานโยบายสาธารณะ เพื่อกำหนด "ก้าวย่างที่ ๒ สู่การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ" โดยได้มีการเสนอความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์เพื่อขับเคลื่อนให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในหมวด ๕ ว่าด้วยการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติสู่การปฏิบัติ ทั้งให้มีกลไกระดับชาติและการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ ผ่านเจ้าคณะปกครองสงฆ์

พระมหาประยูร โชติวโร ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) กล่าวว่า หลังจากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้มีฉันทมติเรื่อง "พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ" ซึ่งนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาโดยภาคีเครือข่าย คฤหัสถ์ ญาติโยม ในการขับเคลื่อนมติฯ แล้ว ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเห็นร่วมกันให้มีกระบวนการยกร่างธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ โดยได้รับความเห็นชอบเบื้องต้นจากที่ประชุมมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2560 จากนั้นได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากพระสงฆ์ทั้งมหานิกายและธรรมยุต รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, สสส., สปสช., สช., สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ถึง 5 เวที มีคณะสงฆ์เข้าร่วมกว่า 300 รูป จนเมื่อเสร็จสิ้นจึงได้เสนอต่อที่ประชุมมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 โดยที่ประชุมฯ ได้มีมติรับทราบผลการพิจารณาเห็นชอบธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2560 และประกาศใช้ธรรมนูญฯ ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 พ.ศ.2560 ในวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2560

พระครูพิพิธสุตาทร รองประธานคณะทำงานจัดทำธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ กล่าวว่า หลายหน่วยงานได้ให้ความสนใจกับการส่งเสริมสุขภาวะพระสงฆ์ เช่น สปสช. กำลังมีแนวคิดปรับปรุงนโยบายการรักษาพยาบาลของพระสงฆ์ในปี ๒๕๖๒ โดยให้พระสงฆ์ที่อาพาธสามารถไปรักษา ณ สถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ ไม่ต้องมีอุปสรรคเรื่องการส่งตัวหรือข้อจำกัดเรื่องพื้นที่บริการอีกต่อไป เนื่องจากพระสงฆ์บางรูปจำพรรษาหรือไปธุดงควัตรในพื้นที่ห่างไกล ไม่สามารถกลับมารักษาตามสิทธิได้ นับว่าเป็นแนวปฏิบัติชัดเจนที่จะเกิดขึ้น หลังการประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ

นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวเสริมว่า การออกแบบระบบหลักประกันสุขภาพช่วง ๑๕ ปีที่ผ่านมา ไม่ได้มองเรื่องของพระสงฆ์เป็นการเฉพาะ ดังนั้นเมื่อมีธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๐ แล้ว จะนำไปสู่การเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น โดย สปสช. จะเชิญฝ่ายพระสงฆ์เข้าร่วมการออกแบบระบบบริการสุขภาพต่อไป

ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สช.จะร่วมมือกับพันธมิตร อาทิ สสส. สปสช. สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และกระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ ขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดสุขภาวะที่ดี ตามวัตถุประสงค์และเนื้อหาของธรรมนูญฯ ฉบับใหม่โดยมุ่งใช้ทางธรรมนำทางโลก

"เมื่อมีธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ ในระดับประเทศแล้ว จะต้องขับเคลื่อนทั่วประเทศ โดยอาจมีการจัดทำ ธรรมนูญสุขภาพระดับชุมชน เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปตามวิถีชีวิตและบริบทของแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริง"

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๘ มี.ค. องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๒๘ มี.ค. การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๒๘ มี.ค. DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๒๘ มี.ค. JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๒๘ มี.ค. นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๒๘ มี.ค. Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๒๘ มี.ค. โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๒๘ มี.ค. STEAM Creative Math Competition
๒๘ มี.ค. A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๒๘ มี.ค. ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้