กพร. ตั้งเป้าส่งเสริมและพัฒนาของเสียเป็นแหล่งทรัพยากรทดแทนเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0

พุธ ๐๗ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๘ ๑๕:๔๖
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ตั้งเป้าส่งเสริมและพัฒนาของเสียเป็นแหล่งทรัพยากรทดแทนด้านแร่ โลหะ และสารประกอบโลหะ เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 ที่เน้นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้วยนวัตกรรม การสร้างการมีส่วนร่วม และการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า ตามนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่อุตสาหกรรมไทย 4.0 กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการปรับโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรมที่เน้นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้วยนวัตกรรม การสร้างการมีส่วนร่วม และการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่ง กพร. เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีการปรับบทบาทภารกิจและโครงสร้างให้เป็นเชิงรุกมากขึ้น โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานในฐานะที่เป็นหน่วยงานจัดหาและบริหารจัดการวัตถุดิบ เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านวัตถุดิบให้แก่ภาคอุตสาหกรรม

ทั้งวัตถุดิบจากแหล่งแร่ธรรมชาติ (Natural Mineral Resources หรือ Primary Raw Materials) วัตถุดิบทดแทน

ที่ได้จากการรีไซเคิลขยะหรือของเสีย (Secondary Raw Materials) และวัตถุดิบขั้นสูง (Advanced Raw Materials) ที่เป็นแร่ โลหะ สารประกอบโลหะชั้นคุณภาพสูง เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคตของประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-curve) ซึ่งได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-curve) ซึ่งได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิตอล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร รวมทั้งรองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

ขนาดใหญ่ หรือ Mega Projects ของรัฐบาล ซึ่งในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย (ยกเว้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว) และโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ดังกล่าว จำเป็นต้องใช้วัตถุดิบตั้งต้นที่เป็นแร่ โลหะ สารประกอบจากแร่และโลหะ ที่มีความหลากหลาย มีคุณภาพสูง มีปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการ และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า ในเรื่องของวัตถุดิบทดแทนที่มาจากการรีไซเคิลขยะหรือของเสีย กพร. ได้ให้ความสำคัญกับการรีไซเคิลขยะหรือของเสีย เพื่อแยกสกัดแร่และโลหะกลับมาใช้ประโยชน์ รวมถึงแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน หรือที่เรียกกันในหลายประเทศว่า "การทำเหมืองแร่ในเมือง" หรือ "Urban mining" โดยที่ผ่านมาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ได้ดำเนินโครงการต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการนำขยะ วัสดุเหลือใช้ รวมถึงผลพลอยได้ (By-products) จากกระบวนการผลิต กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เพื่อเป็นแหล่งทรัพยากรทดแทนให้แก่ภาคอุตสาหกรรม ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติใหม่ ลดการเกิดขยะและปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนสู่ Zero Waste Society โดยอาศัยจุดแข็งของกรมฯ ที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีแต่งแร่ และด้านเทคโนโลยีโลหการ ซึ่งเป็นรากฐานของเทคโนโลยีรีไซเคิล ร่วมดำเนินงานกับที่ปรึกษาที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งนี้ เพื่อให้วัสดุเหลือใช้และกากของเสียที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเฉลี่ย 50 ล้านตันต่อปี กลายเป็นแหล่งวัตถุดิบด้านแร่ โลหะ และพลังงานทดแทนที่สำคัญของประเทศ ซึ่งจากการติดตามประเมินผลการดำเนินงานที่ผ่านมาจากผู้ประกอบการที่ได้รับการฝึกอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีรีไซเคิลจาก กพร. พบว่า ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในประเทศจากการลงทุนและ/หรือการรีไซเคิลของเสียเป้าหมาย 100–130 ล้านบาทต่อปี ซึ่งปัจจุบัน กพร. มีเทคโนโลยีรีไซเคิลขยะหรือของเสีย รวม 69 ชนิด โดย 39 ชนิด ได้พัฒนาเป็นเทคโนโลยีรีไซเคิลต้นแบบของ กพร. ซึ่งมีศักยภาพในการถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ

และภายในเดือนสิงหาคม 2561 นี้ กพร. จะเปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลของรัฐแห่งแรกของประเทศ ซึ่งมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลทั้งในระดับห้องปฏิบัติการ (Lab scale) และขยายผลไปสู่โรงงานต้นแบบ (Pilot scale) เพื่อผลักดันนวัตกรรมและเทคโนโลยีรีไซเคิลสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งเป็นต้นแบบให้ผู้ประกอบการได้ศึกษาเรียนรู้กระบวนการรีไซเคิล และการจัดการมลพิษที่เกิดขึ้นตามหลักวิชาการ โดยจะสามารถรองรับการฝึกอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีรีไซเคิลให้แก่ผู้ประกอบการทั้งใน Lab scale และ Pilot scale ได้ไม่น้อยกว่า 200 รายต่อปี

"ประเทศไทยมีขยะหรือของเสียเกิดขึ้นเฉลี่ย 50 ล้านตันต่อปี เป็นของเสียครัวเรือน 25-26 ล้านตันต่อปี โดยมีสัดส่วนการใช้ประโยชน์ในประเทศเฉลี่ยเพียง 18-20% และของเสียอุตสาหกรรม 25-30 ล้านตันต่อปี โดยมีสัดส่วนการใช้ประโยชน์ในประเทศเฉลี่ย 70-75% ซึ่งหากสามารถเพิ่มอัตราการใช้ประโยชน์ของเสียครัวเรือนและอุตสาหกรรมได้อีก 10% และมีการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขยะหรือของเสียที่มีประสิทธิภาพและครบวงจรตั้งแต่กิจกรรม/กระบวนการที่ก่อให้เกิดของเสีย กระบวนการคัดแยก การจัดเก็บรวบรวม การขนส่ง การรีไซเคิล การบำบัด และการกำจัด รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีการรีไซเคิลในประเทศ คาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มในประเทศจากการลงทุน/การนำของเสียเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่เพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี โดยกุญแจสำคัญ คือ การสร้างความร่วมมือแบบ 3 ฝ่าย ระหว่างรัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ผมมองว่า ด้วยนวัตกรรมและการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เราสามารถเปลี่ยนขยะหรือของเสียให้กลายเป็นแหล่งทรัพยากรทดแทนที่สำคัญ เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคตของประเทศได้ ดังเช่นในประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งหลายประเทศไม่มีแหล่งแร่ธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังเป็นการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติใหม่ ลดการเกิดขยะและปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ตามแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนสู่ Zero Waste Society" นายวิษณุ กล่าวทิ้งท้าย

พร้อมกันนี้ กพร. เตรียมจัดสัมมนาหัวข้อ "Innovation for materials value-added" มีวัตถุประสงค์เพื่ออภิปรายทิศทางความต้องการใช้วัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม และสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ในวันพฤหัสบดีที่ 22 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 08.30 - 15.45 น. ณ ห้องวาสนา 6 - 8 ชั้น 3 โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอริน กรุงเทพมหานคร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองนวัตกรรมวัตถุดิบและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2202 3897 หรือเข้าไปที่ www.dpim.go.th

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4