เกษตรฯ เตรียมพ่นทางใบมะพร้าวปราบหนอนหัวดำ

พุธ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๘ ๑๐:๔๙
กรมส่งเสริมการเกษตรเตรียมพ่นสารทางใบกำจัดหนอนหัวดำในมะพร้าวต้นเตี้ย มีนาคม 2561

ตามที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินโครงการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว (หนอนหัวดำ) ด้วยวิธีผสมผสานแบบครอบคลุมพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน ตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีพื้นที่ดำเนินการ 29 จังหวัด ประกอบด้วย กิจกรรมการฉีดสารเคมีเข้าต้นมะพร้าวที่มีความสูงมากกว่า 12 เมตร จำนวน 2,608,034 ต้น พ่นสารเคมีทางใบมะพร้าวที่มีความสูงน้อยกว่า 12 เมตร จำนวน 1,269,100 ต้น และปล่อยแตนเบียนบราคอน 252 ล้านตัว ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ เมษายน 2560 – มิถุนายน 2561 โดยกรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการฉีดสารเคมีเข้าต้นเสร็จสิ้นแล้วเมื่อเดือนธันวาคม 2560 พบการฟื้นตัวของต้นมะพร้าวดีขึ้นตามลำดับ

นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สำหรับการเตรียมสารฟลูเบนไดอะไมด์ 20% ดับเบิ้ลยูจี (flubendiamide 20% WG) เพื่อพ่นทางใบในมะพร้าวต้นเตี้ยกว่า 12 เมตร เจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการใช้สารที่ถูกต้อง เพื่อเตรียมความพร้อมแก่เกษตรกรและผู้ใช้ ซึ่งขณะนี้กรมส่งเสริมการเกษตรลงนามสัญญาซื้อสารพ่นทางใบมะพร้าวกับบริษัทแล้วจำนวน 6,358 กิโลกรัม โดยอยู่ระหว่างการส่งมอบสารดังกล่าว ทั้งนี้ คณะกรรมการตรวจรับพัสดุและเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรของกรมวิชาการเกษตรจะดำเนินการสุ่มตัวอย่างส่งให้กลุ่มวิจัยวัตถุมีพิษ กรมวิชาการเกษตร วิเคราะห์คุณภาพ เมื่อผลการวิเคราะห์เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด จึงจะจัดสรรสารพ่นทางใบมะพร้าวกระจายลงพื้นที่เป้าหมายที่มีการระบาดของหนอนหัวดำใน 28 จังหวัด และเริ่มพ่นสารกำจัดหนอนหัวดำได้ประมาณต้นเดือนมีนาคม 2561 ซึ่งกำหนดพ่น 2 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 15 วัน เพื่อประสิทธิภาพในการควบคุมหนอนหัวดำ

รองอธิบดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สารฟลูเบนไดอะไมด์ 20% ดับเบิ้ลยูจี ใช้พ่นกำจัดหนอนหัวดำที่อาศัยอยู่ใต้ทางใบมะพร้าว โดยเป็นสารเคมีกลุ่มที่ 28 (ไดอะไมด์) ฉลากสีน้ำเงิน ระดับความเป็นพิษน้อย กรมวิชาการเกษตรทดสอบแล้วว่าไม่ส่งผลให้เกิดพิษร้ายแรงต่อคนและสัตว์ อาทิ ผึ้งและปลา เพียงแต่ในช่วงการพ่นจะเห็นเป็นละอองค่อนข้างหนาแน่นในบริเวณกว้างเท่านั้น แล้วจะจางหายไปเอง ดังนั้นจึงขอชี้แจงให้เกษตรกรและประชาชนเกิดความเข้าใจ โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่พ่นสาร และไม่ตื่นตระหนกต่อการฉีดพ่นสารดังกล่าว อย่างไรก็ตามผู้รับจ้างพ่นสารต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันและปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้โดยเคร่งครัด

สำหรับการปล่อยแตนเบียนบราคอนเพื่อป้องกันกำจัดหนอนหัวดำด้วยชีววิธีนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำให้เกษตรกรหยุดปล่อยบริเวณที่พ่นสาร แต่ให้ปล่อยตามปกติในพื้นที่ข้างเคียงและพื้นที่ที่ไม่พ่นสาร ซึ่งขณะนี้กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการปล่อยแล้วประมาณ 102 ล้านตัว คิดเป็นร้อยละ 40.47 ของเป้าหมาย และจะปล่อยต่อเนื่องถึงเดือนมิถุนายน 2561 ได้ครบตามเป้าหมาย ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมากรมส่งเสริมการเกษตรปล่อยแตนเบียนบราคอนครอบคลุมพื้นที่ระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวควบคู่กับการฉีดสารเข้าต้นเพื่อกำจัดหนอนหัวดำ พบว่ามีการฟื้นตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน จากการสำรวจสถานการณ์การระบาด เช่น ในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย และอำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๗ ไทยพีบีเอสผนึกกำลัง สสส. ผลิต และเผยแพร่เนื้อหาส่งเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว
๑๗:๕๓ NPS ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ประจำปี 2567
๑๗:๐๕ แพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี แนะฤดูร้อนควรทานพืชผักที่มีฤทธิ์เย็นช่วยลดความร้อนในร่างกาย
๑๗:๓๒ แพรนด้า จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566
๑๗:๒๕ RBRU Herb Shot ขยายศักยภาพทางธุรกิจ รุกตลาดอินเดีย
๑๗:๔๘ ไฮเออร์ ประเทศไทย เดินเกมรุกไตรมาส 2 เปิดตัวตู้เย็นรุ่นใหม่ Multi-door HRF-MD679 ตั้งเป้าปี 67 ดันยอดขายตู้เย็นโต
๑๗:๐๕ เอ็น.ซี.ซี.ฯ ประกาศจัดงาน PET EXPO THAILAND 2024 ระดมสินค้า บริการ ลดหนักจัดเต็ม รับกระแส Petsumer ดันตลาดสัตว์เลี้ยงโตแรง
๑๗:๐๖ ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาล ลดอัตราดอกเบี้ย MRR 0.25% ต่อปี พร้อมส่งเสริมวินัยการออม ด้วย เงินฝากออมทรัพย์เก็บออม ดอกเบี้ยสูงถึง 1.95%
๑๗:๔๙ ManageEngine ลดความซับซ้อน ช่วยองค์กรจัดการต้นทุนบนคลาวด์ทั่วมัลติคลาวด์ได้ง่ายขึ้น พร้อมรองรับแพลตฟอร์ม Google Cloud
๑๗:๐๐ เปิดรับสมัครแล้ว HaadThip Fan Run 2024 แฟนรัน ฟันแลนด์ ดินแดนมหัศจรรย์ หาดสมิหลา จ.สงขลา