โครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบและมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ณ จังหวัดเพชรบุรี

จันทร์ ๐๕ มีนาคม ๒๐๑๘ ๑๖:๓๙
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้จัดให้มีโครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบและมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในวันจันทร์ที่ 5 มีนาคม 2561 ณ ตลาดกลางการเกษตรท่ายาง (หนองบ้วย) อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี โดยมีประชาชนชาวเมืองเพชรบุรีเข้าร่วมงานจำนวนประมาณ 400 คน ซึ่งเป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่แจ้งความประสงค์จะเข้าร่วมมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกับทางรัฐบาลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา และในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ประสบปัญหาหนี้นอกระบบด้วย

ในการนี้ นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการซึ่งมีกิจกรรมหลัก 2 ส่วนควบคู่กันไปในเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบและการดำเนินมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ หรือมาตรการคนไทยไม่ทิ้งกัน) กล่าวคือ ทีมหมอประชารัฐสุขใจ (ทีม ปรจ.) และผู้ดูแลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (Account Officer: AO) ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ของรัฐจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และเจ้าหน้าที่ของธนาคารออมสิน ได้ปฏิบัติงานสัมภาษณ์ข้อเท็จจริง สอบถามความประสงค์ของการพัฒนา แล้วทำการประเมิน วิเคราะห์ และให้คำแนะนำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เข้าร่วมงานเป็นรายบุคคล ซึ่งเมื่อผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้รับแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมกับตนเองแล้ว ทีม ปรจ. จะดำเนินการประสานคณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประจำจังหวัดเพชรบุรี (คอจ.จังหวัดเพชรบุรี) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ ของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแต่ละรายต่อไป ทั้งนี้ จังหวัดเพชรบุรีมีผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 64,040 คน และมีผู้แจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ แล้วจำนวน 18,134 คน (ข้อมูลเบื้องต้น ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561) อย่างไรก็ดี ในส่วนของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี และอยู่ในวัยแรงงานที่ยังไม่ได้มาแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ เจ้าหน้าที่ AO จะลงพื้นที่ไปพบผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อไปสอบถามความประสงค์การเข้าร่วมมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ ต่อไป ซึ่งการลงพื้นที่ดังกล่าวจะดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2561

ในส่วนของการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบนั้น เมื่อพบว่าผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เข้าร่วมสัมภาษณ์ข้อเท็จจริงรายใดมีปัญหาหนี้นอกระบบ เจ้าหน้าที่ของ ธ.ก.ส. และธนาคารออมสิน จะเข้าสัมภาษณ์และแนะนำเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบ การเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารและสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ การฟื้นฟูศักยภาพและการให้ความรู้ทางการเงิน เป็นการเพิ่มเติม รวมถึงจะได้มีการประสานส่งลูกหนี้นอกระบบไปยังคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบประจำจังหวัด และคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบ ประจำจังหวัดเพื่อให้การช่วยเหลือตามแต่กรณีต่อไป ทั้งนี้ จังหวัดเพชรบุรีมีผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้นอกระบบจำนวน7,353 คน มีมูลหนี้นอกระบบรวมกัน 351.62 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 47,819.70 บาทต่อคน สำหรับผู้มีหนี้นอกระบบที่ไม่ได้เข้าร่วมงาน เจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. และธนาคารออมสิน จะได้ติดต่อหรือลงพื้นที่ติดต่อลูกหนี้นอกระบบแต่ละรายต่อไป

นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้เกียรติมอบนโยบาย เรื่อง "แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบและมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" โดยกล่าวว่า กระทรวงการคลังพร้อมจะดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม และไม่ทิ้งคนไทยด้วยกันเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิต และช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้หลุดพ้นจากความยากจน โดยภารกิจดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ "โครงการไทยนิยม ยั่งยืน" ของรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืนต่อไป ซึ่งการทำงานที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานระดับพื้นที่ นำโดย ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน กระทรวงมหาดไทย หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน เป็นอย่างดี จึงเชื่อมั่นว่าประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยจะได้รับโอกาส 4 มิติ อย่างครบถ้วน ได้แก่ การมีงานทำ การฝึกอาชีพและการศึกษา การเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ และการเข้าถึงสิ่งจำเป็นพื้นฐาน ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำว่า เมื่อได้รับโอกาสดังกล่าวแล้ว ขอเชิญชวนให้เสริมสร้างวินัยทางการเงินโดยการทำบัญชีครัวเรือน เก็บสะสมเงินออม และน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินชีวิตต่อไปด้วย

อนึ่ง ภายในงาน กระทรวงการคลังยังได้จัดบูธและกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การให้คำปรึกษาทางการเงิน การสาธิตโมเดลอาชีพ 6 อาชีพ การรณรงค์ส่งเสริมการออม การประชาสัมพันธ์ประโยชน์ที่ผู้มีรายได้น้อยจะได้รับจากโครงการบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของรัฐบาล เป็นต้น เพื่อเสริมให้ผู้เข้าร่วมงานได้รับความรู้และประโยชน์อย่างครบวงจรมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีการมอบสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินแก่ผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับการพิจารณาให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. และธนาคารออมสินด้วยอีกส่วนหนึ่ง

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทรศัพท์สายด่วน 1359

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๒๒ บูติคนิวซิตี้ สนับสนุนนักออกแบบคนรุ่นใหม่ Collaboration แบรนด์ GSP X Alex ออก 2 คอลเลคชั่นพิเศษฮีลใจและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
๑๖:๐๑ ดั๊บเบิ้ล เอ มอบหน้ากากอนามัยฯให้รพ.สมเด็จพระพุทธเลิศหล้า สมุทรสงคราม
๑๖:๔๘ ไวไว ร่วมต้อนรับนักท่องเที่ยว ร่วมงานประเพณีสงกรานต์ ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่ ประจำปี 2567
๑๖:๑๘ งานสัมมนาออนไลน์ เปิดโลก Open Source Cloud ประตูบานใหม่ของโลกไอที
๑๖:๔๑ ม.ศรีปทุม ปิดจ๊อบ วุฒิปลอม พัฒนาระบบ Digital Transcript ตรวจสอบวุฒิออนไลน์ง่ายๆ ผ่านมือถือ
๑๖:๕๐ โครงการเพื่อสตรีของคาร์เทียร์ ประกาศรายชื่อผู้เข้ารอบ 33 คน ประจำปี 2024 เตรียมพร้อมประกาศรางวัลชนะเลิศ ณ เมืองเซินเจิ้น สาธารณะรัฐประชาชนจีน 22 พฤษภาคม
๑๖:๔๖ Cryptomind วิเคราะห์เจาะลึก Bitcoin Halving ครั้งที่ 4 โอกาส? หรือกับดัก? นักลงทุน
๑๖:๔๖ 'อ้วน' ปัญหาเชิงมหภาค! แนะภาครัฐต้อง 'จัดการตรงจุด' แบ่งกลุ่มรักษา ย้ำ 'ประชาชน' คือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสุขภาพดี
๑๖:๔๖ SPA จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น E-AGM ประจำปี 2567
๑๖:๒๖ 'นวดกดจุด' หรือ 'นวดทุยหนา' (Tuina) ศาสตร์แพทย์แผนจีนที่ รพ.จุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต