กฎกระทรวงกำหนดให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับหลักประกัน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ

ศุกร์ ๐๙ มีนาคม ๒๐๑๘ ๑๐:๑๔
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้มีการออกกฎกระทรวงกำหนดให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับหลักประกัน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 เพื่อกำหนดให้บุคคลอื่นนอกจากที่กำหนดในพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 และกฎกระทรวงกำหนดให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับหลักประกัน พ.ศ. 2559 สามารถเป็นผู้รับหลักประกันตามกฎหมายเพิ่มเติม โดยกฎกระทรวงดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561 กำหนดให้บุคคลดังต่อไปนี้ เป็นผู้รับหลักประกันตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ

(1) สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเฉพาะกรณีกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ

(2) ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศเฉพาะกรณีการให้สินเชื่อร่วมกับสถาบันการเงิน

(3) นิติบุคคลซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อและให้เช่าแบบลิสซิ่ง

(4) นิติบุคคลซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจให้สินเชื่อ

ในปัจจุบัน นิติบุคคลดังกล่าวมีการดำเนินการเกี่ยวกับการให้สินเชื่อในระบบ โดยกองทุนพัฒนา เอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐได้รับจัดสรรเงินทุนจากรัฐบาลจำนวน 20,000 ล้านบาท เพื่อให้สินเชื่อและร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศยังมีการให้สินเชื่อร่วมกับสถาบันการเงินของไทยแก่โครงการใหญ่ที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากอันเกินกว่าศักยภาพสถาบันการเงินของไทยจะเป็นผู้ให้สินเชื่อเพียงรายเดียว ส่วนในกรณีของผู้ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อและให้เช่าแบบลิสซิ่ง มีการให้สินเชื่อในแต่ละไตรมาสกว่า 500 ล้านบาท และมีสินเชื่อคงค้างในแต่ละปีกว่า 5,000 ล้านบาท และผู้ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อ เช่น ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ ปัจจุบันก็มีการประกอบธุรกิจแล้วกว่า 250 ราย ใน 60 จังหวัดทั่วประเทศ เป็นต้น

กระทรวงการคลังจึงออกกฎกระทรวงเพิ่มเติมให้นิติบุคคลข้างต้นเป็นผู้รับหลักประกันตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจอย่างกว้างขวาง และเป็นการเพิ่มแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบธุรกิจให้มีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สำหรับใช้ในการประกอบธุรกิจได้มากยิ่งขึ้นด้วย อันจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

กล่าวโดยสรุป จากการออกกฎกระทรวงดังกล่าว ทำให้ในปัจจุบันมีผู้รับหลักประกันตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจทั้งหมด 13 ประเภท ได้แก่

(1) สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน

(2) บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิตและบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย

(3) ธนาคารหรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น

(4) นิติบุคคลเฉพาะกิจที่มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์

(5) ทรัสตีในนามทรัสต์ตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน

(6) บริษัทหลักทรัพย์ กองทุนรวม หรือผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

(7) นิติบุคคลซึ่งประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(8) บริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์

(9) นิติบุคคลซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริง

(10) สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเฉพาะกรณีกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ

(11) ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศเฉพาะกรณีการให้สินเชื่อร่วมกับสถาบันการเงิน

(12) นิติบุคคลซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อและให้เช่าแบบลิสซิ่ง

(13) นิติบุคคลซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจให้สินเชื่อ

ในปัจจุบัน มีผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์แล้วกว่า 200,000 คำขอ รวมแล้วเป็นมูลค่ากว่า 4 ล้านล้านบาท

สำนักกฎหมาย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3266 และ 3269

โทรสาร 0 2618 3371

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๐๗ พลัส พร็อพเพอร์ตี้ เป็นวิทยากรพิเศษ Brokerage and selling strategy ให้กับโครงการปริญญาโทธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
๑๖:๓๓ เจโทรฯ จัดงาน JAPAN PREMIUM HOTATE - From HOKKAIDO Ocean to your Table - ชูความสำเร็จ ดันส่งออกหอยเชลล์โฮตาเตะจากญี่ปุ่นมาไทย โตขึ้นเป็น 2.3
๑๖:๑๒ การ์ทเนอร์เผยคาดการณ์ 8 ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ แห่งปี 2567
๑๖:๓๖ KGI จัดพิธีทำบุญบริษัท เปิดสำนักงานแห่งใหม่ที่ One Bangkok ด้วยแนวคิดพื้นที่แห่งความยั่งยืน
๑๖:๓๕ LINE STICKERS เสิร์ฟฟีเจอร์ใหม่แกะกล่อง 'คอมบิเนชัน สติกเกอร์' ส่งสติกเกอร์หลายตัว ได้ในคราวเดียว เพิ่มความสนุกทวีคูณให้การแชท
๑๖:๕๔ 'จุฬาฯ' จับมือ 'ไอ ทู เอ็นเตอร์ไพรซ์' วิจัยและพัฒนาการจัดการกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำ
๑๖:๑๙ ประกาศ!! พร้อมจัดงาน PET Expo Thailand 2024
๑๖:๔๓ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค เปิดตัวซอฟต์แวร์สำหรับการบริหารจัดการพลังงาน เพื่อความยั่งยืน ในงาน Future Energy
๑๖:๕๘ เตรียมสายจูงให้พร้อมแล้วพาน้องแมวน้องหมามาสนุกกันอีกครั้งกับ โรยัล คานิน ในงาน Pet Expo Thailand 2024
๑๕:๒๖ MAGURO หุ้นไอพีโอสุดฮอตจัดประชุมนักวิเคราะห์ ก่อนขาย IPO 34 ล้านหุ้นไตรมาสนี้