นักเรียนทุนอาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ โดยมูลนิธิเอสซีจี คว้ารางวัลสุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา

ศุกร์ ๒๓ มีนาคม ๒๐๑๘ ๑๘:๐๓
อาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ ถือเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาประเทศ ยิ่งในยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การสร้างสรรค์นวัตกรรม การคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ มีความสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศเป็นอย่างมาก เวทีการประกวดจึงเป็นพื้นที่แห่งโอกาสให้น้องๆอาชีวะฝีมือชนได้นำความรู้ความสามารถเชิงช่างมาฝึกฝนประลองทักษะฝีมือ เพื่อพัฒนาตนเองและยังประโยชน์แก่สังคมในหลายมิติ

ล่าสุด กับ 'การประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่และการแข่งขันหุ่นยนต์อาชีวศึกษา ระดับชาติ ประจำปีการศึกษา 2560' ชิงถ้วยประทานพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ซึ่งถือเป็นการประกวดสุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยในครั้งนี้ มีน้องๆ อาชีวศึกษา ส่งผลงานเข้าร่วมแข่งขันจำนวน 240 ผลงานที่ผ่านการคัดเลือกจากการประกวดระดับจังหวัดและระดับภาคซึ่งผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการตัดสินที่มีความรู้ความสามารถและเป็นที่ยอมรับหนึ่งในนั้นยังรวมถึงผลงานจาก นักเรียนทุนอาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ โดยมูลนิธิเอสซีจี ที่สร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาคณะกรรมการในเวทีระดับประเทศ คว้ารางวัลมาหลากหลายสาขาทีเดียว

"มูลนิธิเอสซีจี องค์กรสาธารณะกุลศลที่มุ่งเน้นการให้การสนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่น้อง ๆ ที่เรียนอาชีวะระดับ ปวช. และ ปวส. สาขาช่างอุตสาหกรรม และสาขาบริการ มาอย่างต่อเนื่อง และนอกจากสนับสนุนทุนการศึกษาแล้ว ยังได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพทางการศึกษาของนักเรียนทุนฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างอาชีวะฝีมือชนน้ำดีที่มีคุณภาพ คือ ทั้งเป็นคนเก่งและดี ซึ่งจากผลการแข่งขันในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่น้อง ๆ นักเรียนทุนที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิฯ ได้สร้างผลงานได้ดีเยี่ยม ได้รับรางวัลอันทรงคุณค่า นำมาซึ่งสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ตัวน้องๆ เอง ซึ่งการเข้าร่วมการแข่งขัน รวมถึงการใช้ความรู้ความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นสร้างสรรค์ผลงาน จากองค์ความรู้ที่เกิดจากเรียนทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ถือเป็นการจุดประกายไอเดียคนรุ่นใหม่ และมูลนิธิฯ เชื่อว่าในอนาคต อาจจะมีผลงานจากเหล่าอาชีวะฝีมือชนอีกมากมายที่เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ในวันนี้" สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวชื่นชม

ด้านนักเรียนทุนอาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ น้องอาร์ต - เมธี ขำพวง นักศึกษาชั้น ปวส.1 สาขาช่างกลโรงงาน วิทยาลัยการอาชีพบางสะพาน ผู้ได้รับรางวัลรางวัลเกียรติยศ (Honor Award) ประเภทสิ่งประดิษฐ์ด้านการประกอบอาชีพ ด้านเครื่องมือหรืออุปกรณ์ (Tool / Equipment) ซึ่งรางวัลนี้เป็นรางวัลที่คัดเลือกโดยผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก เช่น สำนักงานวิจัยแห่งชาติ กรมทรัพย์สินทางปัญญา สมาคมการประดิษฐ์ไทย สื่อมวลชน และบริษัทเอกชน โดยมุ่งคัดผลงานที่มีศักยภาพสามารถพัฒนาเข้าสู่อุตสาหกรรมหรือเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์ได้ โดยผลงานชิ้นนี้ คือเครื่องวัดความสุกของทุเรียน ซึ่งน้องอาร์ตได้เล่าถึงแนวคิดที่มาของผลงานว่า ประชาชนในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ส่วนใหญ่ทำอาชีพปลูกทุเรียน ทีมจึงได้คิดประดิษฐ์อุปกรณ์ตรวจสอบความสุกของทุเรียน เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ให้แก่ผู้บริโภค โดยได้ออกแบบอุปกรณ์ในรูปแบบของเข็มฉีดยา ให้สะดวกต่อการใช้งาน เลือกใช้วัสดุที่ไม่ทำความเสียหายต่อเนื้อทุเรียน และไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

"สำหรับการแข่งขันครั้งนี้ ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ ครับ แค่ผมได้มาแข่งขันและได้ลงมือทำอย่างเต็มที่ก็ดีใจมากแล้ว ซึ่งการได้รับรางวัลเกียรติยศ (Honor Award) นี้ ทำให้ผมภูมิใจกับสิ่งประดิษฐ์ของตนเองมากขึ้น และยิ่งไปกว่านั้นคือผมภูมิใจที่เลือกเรียนอาชีวะ ถือว่าเป็นประสบการณ์นอกห้องเรียนที่มีประโยชน์ และเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนออกไปสู่โลกของการทำงานได้เป็นอย่างดีครับ" น้องอาร์ต กล่าว

ด้านน้องหน่านี้ - นูรไอนี กำลังเที่ยง นักศึกษาชั้น ปวช.3 สาขาอาหารและโภชนาการ วิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานี หนึ่งในเจ้าของผลงาน "น้ำนมข้าวหอมกระดังงาพร้อมดื่ม" ซึ่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้สูงอายุ กล่าวถึงที่มาของการสร้างสรรค์ผลงานว่า ตลาดเครื่องดื่มในปัจจุบันถือเป็นตลาดที่มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเครื่องดื่มสุขภาพ ทางทีมจึงได้นำข้าวพันธุ์พื้นเมืองของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มน้ำข้าวสุขภาพ ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีสารต้านอนุมูลอิสระ และมีโปรตีนที่สูงกว่าน้ำนมข้าวทั่วไปที่ขายในท้องตลาด เพื่อเป็นการสร้างทางเลือกใหม่ให้แก่ผู้สูงอายุและผู้บริโภคทั่วไป

"การเข้าแข่งขันในครั้งนี้ทำให้ได้รับประสบการณ์ที่มีค่ามาก ได้เห็นผลงานของเพื่อนๆ อาชีวะด้วยกัน ทำให้เราเก็บเกี่ยวความรู้เพื่อไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเราให้ดีขึ้น รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้รับรางวัลนี้ เพราะถือว่าเป็นการเผยแพร่ข้าวหอมกระดังงาของดีประจำจังหวัดให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นด้วยค่ะ" น้องหน่านี้ กล่าว

ด้าน น้องเมย์ - อรัญภรณ์ ดิษฐยภัทรท์ นักศึกษาชั้น ปวส.2 วิทยาลัยเทคนิคลำปาง สาขาช่างไฟฟ้า หนึ่งในเจ้าของผลงานเครื่องควบคุมสภาพแวดล้อมของการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ แบบอัตโนมัติด้วย Internet of Things หรือ Smart Hydroponics ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm) กล่าวถึงที่มาของผลงานว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญอย่างมากในการดำเนินชีวิต จึงเห็นว่าควรนำมาประยุกต์ใช้กับการทำเกษตรกรรม เพื่อให้เกษตรกรมีความสะดวกสบายในการดูแลพืชผักมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับผักไฮโดรโปนิกส์ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ จุดเด่นของเครื่องนี้คือสามารถทำงานได้อัตโนมัติ โดยถ้าภายในฟาร์มมีอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น เครื่องก็จะทำงานทันที โดยไม่ต้องตั้งเวลาไว้ล่วงหน้า และยังสามารถสั่งงานผ่านแอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือได้อีกด้วย ทำให้สั่งการได้ทุกที่ทุกเวลา

"รู้สึกดีใจที่ได้รับรางวัลที่มีเกียรตินี้ เพราะกว่าจะได้รางวัลนี้ ต้องผ่านการคัดเลือกมาหลายขั้นตอน ทำให้รู้สึกคุ้มค่ากับการทุ่มเทแรงกายแรงใจในการสร้างสรรค์ผลงาน Smart Hydroponics ขึ้นมา ซึ่งหนูได้รับทักษะความรู้ใหม่ๆ มากมาย ที่จะนำไปพัฒนาต่อยอด เพื่อสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้แก่ตัวเองต่อไปในอนาคตค่ะ" น้องเมย์ กล่าว

ปิดท้ายที่นักเรียนทุนฯ อีกหนึ่งคนอย่าง น้องเทิด - จิรชัย ใสสะอาด นักศึกษาชั้น ปวช.1 สาขาอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคชัยภูมิ หนึ่งในเจ้าของผลงาน หุ่นยนต์กู้ภัย ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทหุ่นยนต์กู้ภัย บอกเล่าจุดเริ่มต้นของการเข้าแข่งขันในครั้งนี้ว่า เมื่อเห็นประกาศเปิดรับสมัครการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย ก็ทำให้เกิดความสนใจอยากส่งผลงานเข้าประกวด จึงได้คิดกับเพื่อนๆ ในทีมสร้างหุ่นยนต์กู้ภัยขึ้นมา เพราะอยากให้ทุกคนเห็นว่าเด็กอาชีวะก็สามารถสร้างผลงานดีๆ ได้ โดยหุ่นยนต์กู้ภัยนี้สามารถอ่านบาร์โค้ดได้ วัดค่า CO2 วัดอุณหภูมิความร้อนบริเวณโดยรอบหุ่นยนต์ รวมถึงมีไมโครโฟนไว้สำหรับสื่อสารระหว่างผู้ที่ควบคุมอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ กับผู้ที่ควบคุมหุ่นยนต์อีกด้วย

"การเข้าแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยในปีนี้ ถือเป็นปีแรกของผมที่ได้รางวัลใหญ่ขนาดนี้ รู้สึกภูมิใจมากครับ ซึ่งผมจะพัฒนาฝีมือให้ดียิ่งขึ้นไป เพื่อในอนาคตจะสามารถไปแข่งขันในระดับโลก ให้ทุกคนได้รู้ว่าเด็กอาชีวะก็มีศักยภาพทัดเทียมกับนานาประเทศครับ" น้องเทิด กล่าว

การประกวดสุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา ถือเป็นกิจกรรมการประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ที่มุ่งเน้นการสนับสนุน ส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษาระดับอาชีวศึกษาได้ประดิษฐ์คิดค้นสร้างสรรค์ผลงานสิ่งประดิษฐ์จากองค์ความรู้ที่เกิดจากกระบวนการเรียนการสอนหลากหลายสาขาวิชา อันนำไปสู่ผลงานที่มีประโยชน์ สามารถใช้งานได้จริง และสามารถจำหน่ายได้ จนก่อเกิดเป็น "สุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา" อย่างแท้จริง

มูลนิธิเอสซีจี เชื่อมั่นในคุณค่าของคน เชื่อมั่นในอาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๐๑ ALLY ผนึก Mural ลงทุนซื้อหุ้นสมาคมมวยปล้ำสเปน หวังผลักดันมวยปล้ำสเปนขึ้นแท่นลีกหลักในยุโรปและลาตินอเมริกา
๑๖:๓๙ โอกาสจองซื้อหุ้นกู้บริษัทชั้นนำ ช.การช่าง เสนอขายช่วงวันที่ 25 - 29 เมษายน 2567 ชูผลตอบแทน 3.40 - 4.10% ต่อปี อันดับความน่าเชื่อถือ A- ติดต่อผ่าน ธ.กรุงเทพ และ ธ.กรุงไทย
๑๖:๕๔ บางจากฯ สนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาเยาวชนในทักษะแห่งอนาคต ผ่านโครงการ SI Sphere: Sustainable Intelligence-based Society Sphere โดย UN Global Compact Network
๑๕:๑๓ เปิดไลน์อัพ 10 ศิลปินหน้าใหม่มาแรงแห่งปีจาก Spotify RADAR Thailand 2024
๑๕:๐๘ อาร์เอส กรุ๊ป เดินหน้ากลยุทธ์ Star Commerce ยกทัพศิลปิน-ดารา เป็นเจ้าของแบรนด์ และดันยอดขายด้วย Affiliate Marketing ประเดิมส่งศิลปินตัวแม่ ใบเตย อาร์สยาม
๑๕:๒๐ กสิกรไทยผนึกกำลังเจพีมอร์แกน เปิดตัวโปรเจกต์คารินา ดึงศักยภาพบล็อกเชน ลดระยะเวลาธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ
๑๕:๐๖ สเก็ตเชอร์ส จัดกิจกรรม SKECHERS PICKLEBALL WORKSHOP ส่งเสริมสุขภาพและขยายคอมมูนิตี้กีฬา Pickleball ในไทย
๑๕:๕๖ SHIELD จับมือแอสเซนด์ มันนี่ และ Money20/20 Asia จัดกิจกรรมระดมเงินบริจาคแก่มูลนิธิรามาธิบดี
๑๕:๔๓ 'ASW' เตรียมโอนกรรมสิทธิ์ 4 คอนโดฯ ใหม่ ไตรมาส 2 ครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ และภูเก็ตมูลค่ารวมกว่า 6,600 ล้านบาท
๑๕:๔๑ โก โฮลเซลล์ สนับสนุนเกษตรกรไทย ปูพรมจำหน่ายผลไม้ฤดูกาล สดจากสวนส่งตรงถึงมือคุณ