บ่มเพาะผู้นำรุ่นใหม่ นำร่วมด้วยใจและปัญญา

พฤหัส ๒๙ มีนาคม ๒๐๑๘ ๑๘:๒๗
โครงการผู้นำแห่งอนาคต

คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ที่ผ่านมาเมื่อนึกถึงคำว่า "ผู้นำ (Leader)" ผู้คนมักจะนึกถึงวีรบุรุษหรือผู้ที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อม อันเป็นความหวังในการนำพาสังคมไปสู่ความเจริญ เป็นผู้แก้ไขปัญหาตั้งแต่เรื่องเล็กไปถึงเรื่องใหญ่ ซึ่งเป็นมุมมองแบบกระบวนทัศน์เดิม ที่ผู้นำจะมีบทบาทในการนำเดี่ยวหรือนำแบบวีรบุรุษ (Heroic Leadership) แต่การนำแบบที่ผ่านมาอาจไม่เหมาะกับการนำในสภาวะปัจจุบันที่สังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าหลายครั้งการพึ่งพาการนำของผู้นำเพียงคนเดียว อาจทำให้เกิดการตัดสินใจผิดพลาด จนส่งผลกระทบต่อผู้อื่นในวงกว้างได้

"โครงการผู้นำแห่งอนาคต" คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงมีแนวคิดว่าหากจะสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกแก่สังคมในระยะยาว ควรที่จะพัฒนาบ่มเพาะ "พลเมืองรุ่นใหม่ (Young Active Citizen)" ให้เป็น "ผู้นำร่วม (Collective Leadership)" หรือ ผู้นำที่ใช้ปัญญาร่วมจากสังคม รับฟังและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อหาทางแก้ไขและพัฒนาร่วมกัน โดยได้จัด "เวทีบ่มเพาะภาวะการนำร่วมสำหรับพลเมืองรุ่นใหม่ (Collective Leadership for Young Active Citizen)" ขึ้นเป็นครั้งที่ 5 ในวันที่ 16 – 18 มีนาคม ที่ผ่านมา รวมจำนวนพลเมืองรุ่นใหม่ที่ผ่านการบ่มเพาะมากถึงกว่า 100 คน

ในการจัดครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก "คุณธนัญธร เปรมใจชื่น" กระบวนกรจากบริษัทบริษัทเซเว่น เพรสเซนส์ (Sevenpresents) และทีมมาเป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม คุณธนัญธรได้อธิบายแนวคิดในการบ่มเพาะพลเมืองรุ่นใหม่ร่วมกับโครงการฯ ว่า "การจัดกิจกรรมเน้นให้คนรุ่นใหม่ที่จะก้าวมาเป็นผู้นำในอนาคต ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องด้านในของตัวเอง เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตกับผู้คนในการทำงานร่วม เพราะในวันข้างหน้าเมื่อเขาเติบโตขึ้น เขาจะได้ไม่พลาดที่จะได้ยินเสียงของตัวเองและผู้อื่น และไม่พลาดโอกาสที่จะได้รับรู้และเข้าใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว โดยการก้าวมาเป็น 'ผู้นำร่วม' ไม่ได้หมายถึงว่าทุกคนจะต้องมีตำแหน่ง แต่หมายถึงการมี 'สำนึกร่วม' ที่จะรู้สึกว่านี่คือองค์กรของฉัน นี่คือบ้านของฉัน นี่คือประเทศของฉัน และฉันจะดูแลทั้งหมด คนทุกคนเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบและแบ่งเบาซึ่งกันและกัน"

โดยการจัดกระบวนการเรียนรู้ได้ดำเนินควบคู่กันไปสองส่วน ส่วนแรก คือ "การสร้างความตระหนักถึงตัวเอง ทั้งตัวตน ความคิด และความรู้สึก" ผ่านกิจกรรมที่ทำให้แต่ละคนได้ย้อนมองตัวเองว่า 'ความปรารถนาสูงสุดที่เราไขว่คว้าอยู่คืออะไร' ความรัก ความสำเร็จ หรือมิตรภาพ 'การค้นหาแรงขับเคลื่อนในการดำเนินชีวิต' ว่าเป็นไปในทิศทางใด เช่น การมุ่งสู่ความสำเร็จ การมองหาความมั่นคง การมองหาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ในการขับเคลื่อนชีวิต หรือการขับเคลื่อนด้วยความรัก ซึ่งส่งผลให้เกิดพฤติกรรมบางอย่างแตกต่างกันไปตามลักษณะของสัตว์ 4 ทิศ ไปจนถึง 'การเรียนรู้และยอมรับเสียงภายในจิตใจของตนเองอย่างลึกซึ้ง (Voice Dialogue)' เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เข้าใจความเป็นตัวเอง ยอมรับและเยียวยาบาดแผลด้านในจิตใจ พร้อมที่จะก้าวข้ามจากพื้นที่ปลอดภัยเดิม รับฟัง เรียนรู้ และทำความเข้าใจผู้อื่นโดยไม่ปิดกั้น ตัดสินผู้อื่นน้อยลงและเคารพผู้อื่นมากขึ้น

อีกส่วนหนึ่งที่ควบคู่กันไป คือ "การเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นรวมไปถึงการทำงานร่วม" ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่ท้าทายให้สัมผัสกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของตัวเอง อย่างการ 'รับฟังและถ่ายทอดเรื่องราวของกันและกัน ในรูปแบบสุนทรียสนทนา (Dialogue)' โดยการฟังอย่างลึกซึ้ง ห้อยแขวนการตัดสิน หันมาเคารพซึ่งกันและกัน และเผยเสียงอันจริงแท้ไม่บิดเบือน 'การทำกิจกรรมที่ต้องอาศัยการบริหารการทำงานร่วมกัน' เพื่อให้เห็นบทบาทในการทำงานเป็นทีมของตัวเองและผู้อื่น การบริหารการทำงานร่วมกัน ความสำเร็จและความผิดพลาดของการทำงานร่วมที่เกิดขึ้น ส่วนสุดท้ายที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ กิจกรรมเพื่อเรียนรู้ 'การให้โอกาสแก่ความผิดพลาด' ให้โอกาสตัวเองและผู้อื่นในการที่จะแก้ไข ขัดเกลา ให้การทำงานได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยในกระบวนการเรียนรู้คุณธนัญธรได้สรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า "น็อตทุกตัวสำคัญต่อการขับเคลื่อน ทุกก้าวที่เราคืบขยายเกิดจากการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน หากตระหนักรู้ถึงเรื่องนี้คุณจะเป็นความงดงามที่ผู้อื่นอยากเดินร่วมไปกับคุณ"

โดย "คุณวริษฐา ขอประเสริฐ" Visual note taker ได้สะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อตัวเองในครั้งนี้ว่า "เมื่อก่อนไม่ค่อยอยากยอมรับตัวตนบางอย่างของตัวเอง เช่น ตัวตนที่เราเคยวางใจโลก ตัวตนที่อ่อนโยน เพราะกลัวถูกเอาเปรียบหรือดูอ่อนแอเกินไปเวลาอยู่กับโลกข้างนอก แต่การเข้าร่วมกิจกรรมนี้ทำให้เรายอมรับตัวตนที่เกือบหลงลืมไปแล้วได้มากขึ้น เพราะเขาก็มีข้อดีที่ทำให้เราเป็นเรา"

"คุณศรุต ศีลแจ่มใส" วิศวกรอาวุโส จากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) สะท้อนว่า "ปกติเราจะเป็นคนบ้างานมาก มีเป้าหมายชัดเจน ทำงานแล้วก็พุ่งไปอย่างเดียว ไม่ได้มองว่าคนรอบข้างจะรู้สึกอย่างไร พอเข้าร่วมกิจกรรมแล้วทำให้เห็นตัวเองชัดขึ้น สิ่งที่จะไปปรับคงเป็นการลดอีโก้ของตัวเองลง เห็นอกเห็นใจคนอื่นมากขึ้น ถามความเห็นและความรู้สึกของคนอื่นมากขึ้น"

และ "คุณสุรเชษฐ์ ตรรกโชติ" Project Manager จากองค์กรด้านธุรกิจเพื่อสังคม EdWINGS ได้สะท้อนมุมมองต่อการนำร่วมที่เห็นชัดขึ้นจากเวทีนี้ว่า "การเป็นผู้นำร่วม เป็นวิถีของสังคมไหนก็ตามที่พร้อมจะก้าวไปข้างหน้าและพร้อมจะเผชิญหน้ากับความโกลาหลในการก้าวไป อาจไม่ใช่การก้าวที่เร็วที่สุด สงบที่สุด แต่ยุติธรรมที่สุด และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนที่สุด"

ก่อนการแยกย้ายกลับสู่วิถีชีวิตของตนพร้อมดวงตาดวงใหม่ หรือดวงตาที่มองเห็นถึงมุมมองใหม่ต่อบริบทเดิม คุณธนัญธรได้ย้ำเสริมพลังให้แก่ทุกคนว่า "ทุกคนคือพลเมืองรุ่นใหม่ซึ่งพร้อมจะก้าวมาเป็นผู้นำร่วมที่นำพาความเปลี่ยนแปลงเชิงบวก และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สังคม" ติดตามองค์ความรู้ของกิจกรรมได้ที่ Facebook : โครงการผู้นำแห่งอนาคต Leadership for the Future

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4