เผยยอดนักเรียนสมัคร TCAS น้อยน่าห่วง มหาวิทยาลัยทั้งรัฐ-เอกชนกระทบแนะเร่งปรับตัวเปิดสอนหลักสูตรมุ่งสู่อาชีพในอนาคต

พฤหัส ๐๕ เมษายน ๒๐๑๘ ๑๔:๔๗
รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กล่าวว่า จากที่ตนได้ติดตามข้อมูลในภาพรวมเกี่ยวกับจำนวนนักเรียนที่สมัครเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาด้วยระบบ TCAS ประจำปีการศึกษา 2561 พบว่ามีเด็กที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สมัครเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ กว่า 8 หมื่นคน ในขณะที่สถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ สามารถรับนักศึกษาได้กว่า 1.2 แสนคน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าปีนี้มีเด็กที่จะเข้าสู่การเรียนระดับอุดมศึกษาลดลง ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ที่อาจจะมีเด็กจำนวนหนึ่งที่หันเข้าสู่อาชีพก่อนก็ได้ ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ย่อมส่งผลให้ทั้งมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนจะขาดแคลนหรือมีตัวเลขเด็กที่จะเข้ามาเรียนลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชน เพราะส่วนใหญ่แล้วนักเรียนจะมุ่งเข้าสู่มหาวิทยาลัยของรัฐก่อน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่ชื่อเสียงและค่าเล่าเรียนที่ถูก นอกจากนี้มหาวิทยาลัยที่เปิดการเรียนการสอนภาคพิเศษ เช่น เรียนวันเสาร์-อาทิตย์เรียนเฉพาะภาคบ่าย ก็ได้รับผลกระทบในเรื่องจำนวนนักศึกษาลดลงเช่นเดียวกัน เพราะเด็กจะมุ่งสู่การเรียนภาคปกติเป็นหลัก จะมีคนมาสมัครเข้าเรียนบ้างก็อาจจะเป็นหลักสูตรต่อเนื่อง เช่น ผู้ที่จบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และเป็นคนที่ทำงานแล้ว จึงจะสมัครเรียนภาคพิเศษ ขณะเดียวกันจากการติดตามข้อมูลยังพบสาขาวิชาในกลุ่มสังคม กลุ่มศิลปะมีตัวเลขลดลงพอสมควร แต่ในกลุ่มวิศวกรรม กลุ่มอาหาร กลุ่มคอมพิวเตอร์ ยังถือว่าได้รับความสนใจจากนักศึกษาสมัครเข้าเรียนต่อเป็นจำนวนมาก และที่น่ายินดีก็คือกลุ่มที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมใหม่ กลุ่มสุขภาพ มีนักศึกษาให้ความสนใจสมัครเข้าเรียนเต็ม

อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวอีกว่า สิ่งที่สถาบันอุดมศึกษาจะต้องคำนึงและจะต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดก็คือ 1.ต้องเน้นการเรียนการสอนในหลักสูตรที่มุ่งสู่อาชีพในอนาคต 2.หลักสูตรที่ขาดความชัดเจนในการประกอบอาชีพจะไม่ได้รับความสนใจจากนักศึกษาอีกต่อไป ดังนั้นแต่ละหลักสูตรที่เปิดสอนจะต้องบอกได้ว่าจบไปแล้วสามารถไปประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง ทุกวันนี้ก่อนนักเรียนจะเข้าศึกษาต่อจะมีการศึกษาหาข้อมูลมากขึ้นก่อนตัดสินใจ ผิดกับอดีตที่จะเรียนตามเพื่อนและรู้จักหลักสูตรก็ต่อเมื่อเข้าเรียนแล้ว หลังจากนี้เชื่อว่าจะมีมหาวิทยาลัยทยอยปิดหลักสูตรที่ไม่มีนักศึกษาสมัครเรียน ทั้งจะมีมหาวิทยาลัยที่มุ่งเป้าไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะทางมากขึ้น และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปิดหลักสูตรภาคพิเศษเหมือนที่ผ่านมาอีกต่อไป

"นักศึกษาที่หายไปจากระบบบางคนเข้าสู่อาชีพ ซึ่งผมยังเชื่อว่าเด็กยังมีความต้องการที่จะเรียนต่อ เพียงแต่ระบบที่เด็กจะเข้าเรียนนั้น ต้องเอื้อต่อการทำงาน เช่น ระบบออนไลน์ ดังนั้นวันนี้ สถาบันอุดมศึกษาจะต้องไม่ใช่จัดการเรียนการสอนเพื่อนักเรียนระดับ ม.6 หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) แต่ต้องกลับไปมองกลุ่มที่ทำงานควบคู่ไปกับการเรียน พร้อมทั้งจัดหลักสูตรระยะสั้นเพื่อตอบสนองกลุ่มนี้ มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวและเตรียมตัวกับการเรียนการสอนที่จะเปลี่ยนไป รวมทั้งมุ่งทำงานร่วมกับเอกชนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการตอบโจทย์สร้างกำลังคนให้ถูกกับงาน และสามารถทำงานได้จริง" รศ.ดร.ประเสริฐ กล่าวและว่า สำหรับมทร.ธัญบุรี มีการปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการเรียนของนักศึกษามาตลอดระยะเวลา 2 ปี มีการยุบรวมหลักสูตร 4-5 หลักสูตร และปีการศึกษา 2562 จะมีการบูรณาการหลักสูตรที่เกี่ยวกับสิ่งทอ อาหาร วิทยาศาสตร์การอาหาร จัดหลักสูตรใหม่ให้นักศึกษามีองค์ความรู้ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ให้มีความรู้แบบครบวงจร เพราะทุกวันนี้นักศึกษาเรียนไม่ได้คิดเฉพาะประกอบอาชีพแต่มีความต้องการเป็นผู้ประกอบการด้วย.

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๗:๓๓ รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๗:๔๔ กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๗:๔๒ ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๗:๑๕ กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๗:๑๕ เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4