สรุปภาวะสินค้าเกษตรประจำสัปดาห์ วันที่ 7 - 11 พฤษภาคม 2561

ศุกร์ ๑๑ พฤษภาคม ๒๐๑๘ ๑๗:๒๘
ข้าวโพด : ราคาเพิ่มขึ้น

เนื่องจากสัปดาห์นี้ผลผลิตข้าวโพดนาเก็บเกี่ยวใกล้หมดแล้ว จึงมีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ขณะที่ความต้องการใช้ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ ไซโลโรงงานอาหารสัตว์สัปดาห์นี้ปรับเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา จากหาบละ 618 บาท เป็นหาบละ 624 บาท

ด้านราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 รอบส่งมอบเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ 394.75 เซนต์/บุชเชล ราคาอ่อนตัวเล็กน้อย เนื่องจากการเพาะปลูกข้าวโพดของสหรัฐอเมริกามีความคืบหน้าดีกว่าสัปดาห์ก่อน โดยเกษตรกรเพาะปลูกข้าวโพดได้แล้ว 39% แม้จะยังล่าช้ากว่าอัตราปกติอยู่ 5 จุด แต่ราคายังคงมีแรงสนับสนุนที่แข็งแรง เพราะคาดว่าสต็อกข้าวโพดสหรัฐฯจะลดลงในปลายฤดูการผลิต 2018/19 ซึ่งกระทบจากพื้นที่ปลูกปีนี้ที่ลดลงจากปีก่อน กอปรกับการเพาะปลูกที่ล่าช้า รวมถึงการปลูกข้าวโพดในบราซิลประสบกับภาวะแล้ง จึงอาจได้ผลผลิตน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ในรุ่นที่สอง

แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวโพดในประเทศน่าจะยืนแข็ง

ถั่วเหลือง : ราคาทรงตัว

ความต้องการใช้ผลผลิตถั่วเหลืองยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณถั่วเหลืองในท้องตลาดยังสมดุลกับการใช้ ทำให้ราคากากถั่วเหลืองที่ได้จากเมล็ดถั่วเหลืองนำเข้าไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา อยู่ที่กิโลกรัมละ 15.75 บาท

ส่วนการซื้อขายกากถั่วเหลืองในตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 รอบส่งมอบเดือนพฤษภาคม ราคาอยู่ที่ 389.20 เหรียญสหรัฐฯ/ชอร์ตตัน สำหรับถั่วเหลืองรอบส่งมอบเดือนพฤษภาคม ราคาอยู่ที่ 1,007.25 เซนต์/บุชเชล ราคาถั่วเหลืองอ่อนตัวมาก เนื่องจากสหรัฐฯเผชิญกับการแข่งขันด้านการส่งออกจากบราซิลที่มีค่าเงินอ่อนลงมาก เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ราคาเริ่มมีแรงสนับสนุนดีขึ้น และรอประกาศของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯที่อาจปรับลดตัวเลขสต็อกถั่วเหลืองของสหรัฐฯและของโลกต่ำลงกว่าเดิม

แนวโน้ม : คาดว่าราคาถั่วเหลืองน่าจะยืนอ่อน

ปลาป่น : ราคาอ่อนตัว

สัปดาห์นี้การจับปลาของเปรูยังมีสถานการณ์ที่ดีต่อเนื่อง ล่าสุดสามารถจับปลาได้แล้ว 1.4 ล้านตัน จากโควต้า 3.3 ล้านตัน หรือคิดเป็น 40% ซึ่งต่างประเทศคาดการณ์ว่าจะจับได้ตามโควต้า ส่วนการขายล่วงหน้ามีเกือบ 5 แสนตัน ขณะที่ผู้ซื้อยังรอติดตามสถานการณ์ สำหรับปลาป่นเปรูที่ส่งไปจีนมีราคาที่ 1,550–1,600 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ส่งผลให้ราคาปลาป่นโดยรวมสัปดาห์นี้อ่อนตัวลง โดยปลาป่นเกรดกุ้งลดลงจากกิโลกรัมละ 48.50 บาท เป็นกิโลกรัมละ 47.50 บาท ด้านปลาป่นเบอร์ 1 เกรดที่สูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป อ่อนตัวจากกิโลกรัมละ 45.20 บาท เป็นกิโลกรัมละ 44.20 บาท และเกรดที่ต่ำกว่า 60 โปรตีน ทรงตัวที่กิโลกรัมละ 42.70 บาท

ด้านปลาป่นคุณภาพรองลงมา ปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนที่สูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ราคาลดลงจากกิโลกรัมละ 45.20 บาท เป็นกิโลกรัมละ 44.20 บาท และปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนสูงกว่า 56 แต่ไม่เกิน 60 ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 41.70 บาท

แนวโน้ม : คาดว่าราคาปลาป่นน่าจะยืนอ่อน

ข้าว : ราคาลดลง

จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดต่างประเทศโดยรวมลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยข้าว 100% ชั้น 2 ส่งออกท่าเรือกรุงเทพฯ เอฟ.โอ.บี. ราคาลดลงจากตันละ 481 เหรียญสหรัฐฯ เป็นตันละ 476 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคาปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ส่งออก เอฟ.โอ.บี.จากลดลงจากตันละ 391 เหรียญสหรัฐฯ เป็นตันละ 387 เหรียญสหรัฐฯ

สำหรับการซื้อขายข้าวตลาดในประเทศ ข้าว 100% ชั้น 2 สัปดาห์นี้ ทรงตัวที่กระสอบละ 1,380 บาท ด้านปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ณ โรงงานอาหารสัตว์ ราคาทรงตัวที่กระสอบละ 1,100 บาท

แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวในประเทศน่าจะทรงตัว

สุกร : ราคาทรงตัว

สภาวะอากาศค่อนข้างร้อนตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ต่อการเลี้ยงสุกรและยังเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อราคาสุกร ขณะที่การปิดภาคเรียนทำให้การบริโภคไม่ค่อยคึกคัก ส่งผลให้ราคาประกาศล่าสุดของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติยังยืนราคาอยู่ที่ 63–68 บาทต่อกิโลกรัม แต่ราคาซื้อขายจริงอยู่ที่ 60-68 บาทต่อกิโลกรัม ด้านลูกสุกรขนาด 16 กิโลกรัมต่อตัว ราคาทรงตัวอยู่ที่ตัวละ 1,800 บาท (บวกลบ 61)

ทั้งนี้ ผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศได้จัดไหว้หัวหมู รวม 4,247 หัวหมู พร้อมกันใน 6 จังหวัด คือ ราชบุรี ชลบุรี สงขลา นครราชสีมา เชียงใหม่ และสระบุรี เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร พร้อมทั้งร่วมกันยื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพื่อยืนหยัดคัดค้านการนำเข้าเนื้อสุกรจากสหรัฐฯ ที่จะเป็นการซ้ำเติมทุกข์ของเกษตรกรที่ต้องแบกรับภาระการขาดทุนตลอดช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา ที่สร้างความเสียหายให้กับการเลี้ยงหมูทั้งระบบกว่า 10,000 ล้านบาท

แนวโน้ม : คาดว่าราคาสุกรน่าจะทรงตัว

ไก่เนื้อ : ราคาทรงตัว

การบริโภคเนื้อไก่โดยรวมสัปดาห์นี้ค่อนข้างทรงตัวเนื่องจากยังเป็นช่วงปิดภาคเรียน ประกอบกับทั่วประเทศมีฝนตกต่อเนื่องมากขึ้น ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยไม่คึกคัก ขณะที่ไก่ใหญ่ออกสู่ตลาดยังสมดุลกับการบริโภค ส่งผลให้ประกาศราคาขายไก่เนื้อหน้าฟาร์มของสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อในสัปดาห์นี้เท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา อยู่ที่กิโลกรัมละ 33 บาท ด้านลูกไก่เนื้อยืนราคาที่ตัวละ 8.50 บาท ส่วนลูกไก่ไข่ราคาอยู่ที่ตัวละ 18.00 บาท

แนวโน้ม : คาดว่าราคาไก่เนื้อจะยืนแข็ง

ไข่ไก่ : ราคาทรงตัว

สถานการณ์ราคาไข่ไก่ไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยการบริโภคสมดุลกับผลผลิตไข่ไก่ เป็นผลให้ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มจากการสำรวจทั่วไปในท้องตลาดทรงตัวที่ฟองละ 2.60 บาท

แนวโน้ม : คาดว่าราคาไข่ไก่จะยืนแข็ง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๔:๓๙ สมาคมธนาคารไทย ออกแนวทางช่วยเหลือเพิ่มเติม เพื่อลดภาระดอกเบี้ยให้กลุ่มเปราะบางทั้งลูกค้าบุคคลและSME
๑๔:๐๒ ผู้ลงทุนเชื่อมั่น โลตัส (Lotus's) จองซื้อหุ้นกู้เต็มจำนวน 9 พันล้านบาท
๑๔:๑๕ สมัครบัตรกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ วีซ่า รูดช้อปรับคุ้ม! รับเครดิตเงินคืนสูงสุด 5%
๑๔:๔๘ MASTER ประชุมผู้ถือหุ้นปี 67 ผ่านฉลุย ไฟเขียวจ่ายปันผล เดินหน้าสร้างโอกาสโตตามกลยุทธ์ MP
๑๔:๔๓ ธนาคารกรุงเทพ จับมือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนาม MOU ส่งเสริมการผลิตบุคลากร-พัฒนาศักยภาพ-ถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีดิจิทัล
๑๔:๒๐ ITEL จัดประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผถห. เห็นชอบทุกวาระ อนุมัติจ่ายปันผลอัตรา 0.0696 บ./หุ้น
๑๔:๒๙ ไทยพาณิชย์ ตอกย้ำกลยุทธ์ Digital Bank with Human Touch เปิดตัว โปรจีน อาฒยา นักกอล์ฟหญิงระดับโลก เป็น Brand
๑๔:๓๐ KCG จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2567 พร้อมอนุมัติจ่ายปันผล 0.30 บาทต่อหุ้น
๑๔:๔๙ บาฟส์ ประกาศความสำเร็จ ลุยขยายโครงข่ายขนส่งน้ำมันทางท่อ เชื่อมต่อเครือข่ายพลังงานทั่วไทย
๑๔:๓๙ บีโอไอจับมือพันธมิตร จัดงาน SUBCON Thailand 2024