ธรรมศาสตร์ ดึงนักวิชาการถกปัญหาการตรวจองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมชี้ต้องแก้เชิงระบบและองค์กรตรวจสอบ

พุธ ๒๐ มิถุนายน ๒๐๑๘ ๑๒:๔๐
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ดึงนักวิชาการ ภาครัฐ จัดเวทีเสวนาธรรมศาสตร์สู่สังคมครั้งที่ 3 หัวข้อ "ท้องถิ่น VS สตง. กระบวนการตรวจสอบการจัดการท้องถิ่น" ถกปัญหาการบวนการตรวจสอบและการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. โดยพบปัญหาการตรวจสอบและของแนวทางการปฏิบัติของ สตง. ด้านกฎระเบียบและกฎหมายต่าง ๆ ที่ยังคงมีปัญหาและความคลาดเคลื่อน อาทิ การตีความการดำเนินการของ อปท. ที่เคร่งครัดเกินไป ไม่มีความยืดหยุ่น แนวทางการตรวจสอบ อปท. ที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ไม่มีมาตรฐานกลาง ฯลฯ ทั้งนี้นักวิชาการแนะแก้ปัญหายั่งยืนด้วยได้แก่การพัฒนากฎหมาย การพัฒนาการกำกับดูแล การสร้างตัวแบบที่ดี การมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อให้ประชาชนตรวจสอบการทำงาน อย่างไรก็ตามปัจจุบัน อปท. กำลังประสบปัญหา "ธุรกิจการเมือง" หรือการใช้งบประมาณของแผ่นดิน เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตนเองหรือพรรคพวกของตนเอง ผ่านการดำเนินงานเพื่อประชานิยม ฯลฯ ซึ่งภาครัฐต้องการแนวทางในการกำกับดูแลอย่างเป็นระบบและแก้ไขได้จริง ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดเวทีเสวนาธรรมศาสตร์สู่สังคมครั้งที่ 3 หัวข้อ "ท้องถิ่น VS สตง." กระบวนการตรวจสอบการจัดการท้องถิ่น เมื่อเร็วๆ นี้ ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ศาสตราจารย์ ดร.โกวิทย์ พวงงาม คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากการเก็บบันทึกสถิติการร้องเรียนของประชาชนเกี่ยวกับการทุจริตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต่างๆ โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) พบตัวเลขการร้องเรียนการทุจริตในปี พ.ศ.2558 มีจำนวนการร้องเรียน 1,318 เรื่อง ปี พ.ศ.2559 มีการร้องเรียน 1,250 เรื่อง และในปี พ.ศ.2560 มีตัวเลขการร้องเรียนอยู่ที่ 553 เรื่อง โดยจากสถิติดังกล่าวเรื่องที่ประชาชนร้องเรียนมากที่สุด คือ การทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง คิดเป็นประมาณร้อยละ 30 ทั้งนี้การทุจริตดังกล่าวเกิดจากการขาดการมีส่วนร่วมและไม่สามารถตรวจสอบเอกสารโครงการได้ โดยแนวทางการป้องกันการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพวิธีการหนึ่งคือ "การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น" เพราะท้องถิ่นจะรู้ข้อมูลในพื้นที่ตนเองและมีการตรวจสอบจากภาคประชาสังคม และสภาท้องถิ่น รวมทั้งผู้ที่กำกับดูแลท้องถิ่น

ศาสตราจารย์ ดร.โกวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาการทุจริตใน อปท. อย่างยั่งยืน จึงมีข้อเสนอในการป้องกันการทุจริตใน 4 ด้าน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปกครองของท้องถิ่นและป้องกันการทุจริตในอนาคต ได้แก่

ด้านกฎหมายและองค์กรผู้กำกับดูแล ให้บังคับใช้พระราชบัญญัติ (พรบ.) ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 อันว่าด้วยเรื่องการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารอย่างเข้มงวด และต้องจัดให้มี พรบ. การมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบการทำงานของ อปท. รวมทั้ง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะต้องให้มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดและทั่วถึง รวมทั้งมีข้อแนะนำให้ อปท. พัฒนางานที่สร้างสรรและมีประสิทธิภาพเพื่อประชาชน ด้านสิทธิของประชาชน โดยการส่งเสริมให้ประชาชนรู้และเข้าใจสิทธิของตนเอง รวมทั้งประชาชนต้องแสวงหาข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงาน ต่างๆ เพื่อป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบและการทุจริต ด้านการสร้างตัวแบบที่ดี เสนอแนะให้หาโมเดลการทำงานของ อปท. ที่มีความโปร่งใส เพื่อเป็นแหล่งศึกษาดูงาน รวมทั้งเป็นต้นแบบของการทำงานและวิธีการในการปกครองท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ และ ด้านการปลูกฝังเด็กและเยาวชน ให้มีค่านิยมต่อต้านการทุจริตในทุกรูปแบบ โดยการแทรกเนื้อหาการต่อต้านทุจริตไว้ในบทเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา จนถึงระดับมหาวิทยาลัย

นายบุญญภัทร์ ชูเกียรติ ผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แม้การทุจริตใน อปท. เป็นปัญหาและต้องได้รับการตรวจสอบอย่างจริงจัง แต่อย่างไรก็ตาม การใช้อำนาจของหน่วยตรวจสอบก็ต้องดำเนินการตามกรอบของกฎหมาย และไม่ไปกระทบการจัดทำบริการสาธารณะของ อปท. มากจนเกินไป จนทำให้ อปท. ไม่สามารถดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะได้อย่างเต็มที่เพราะกลัวว่าจะโดนตรวจสอบ โดยการใช้อำนาจตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของ อปท. โดย สตง. ที่ผ่านมา ปรากฏประเด็นปัญหาและความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ดังต่อไปนี้ 1) การตีความหน้าที่และอำนาจการใช้เงินในการบริหารท้องถิ่นที่ไม่ตรงกันของ สตง. และ อปท. ส่งผลให้ อปท. ถูกตรวจสอบการใช้จ่ายเงินว่าไม่เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ 2) การดำเนินการของ อปท. ตามหนังสือสั่งการของกระทรวงมหาดไทย ถูกตรวจสอบและร้องเรียนโดย สตง. เนื่องจาก สตง. มองว่าหนังสือสั่งการมิใช่ระเบียบทางราชการ 3) สตง. ตีความการดำเนินการของ อปท. ที่เคร่งครัดเกินไป ไม่มีความยืดหยุ่น ในเรื่องที่ไม่มีความจำเป็น อาทิ การจัดงานในวันสำคัญต้องจัดให้ตรงกับวันตามมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้น 4) สตง. มีแนวทางการตรวจสอบ อปท. ที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ไม่มีมาตรฐานกลางในการตรวจสอบ และ 5) การตรวจสอบความคุ้มค่าและความมีประสิทธิภาพ ซึ่งจำเป็นต้องตรวจสอบเพราะอาจมีการแฝงการทุจริตในโครงการที่กระทำโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ด้วย แต่ สตง. ต้องใช้ดุลยพินิจในการตรวจสอบความคุ้มค่าและความมีประสิทธิภาพในการใช้เงินของ อปท. อย่างระมัดระวัง โดยอาจต้องพิจารณาความแตกต่างกันในแต่ละ อปท. ในแต่ละพื้นที่และกิจกรรมด้วย

ด้าน นายมณเฑียร เจริญผล รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวว่า ปัจจุบัน อปท. กำลังประสบปัญหา "ธุรกิจการเมือง" หรือการใช้งบประมาณของแผ่นดิน เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตนเองหรือพรรคพวกของตนเอง ผ่านการดำเนินงานเพื่อประชานิยม อาทิ การแจกเสื้อผ้า ผ้าห่มแก่ผู้มิได้ขาดแคลนหรือการจัดโครงการพาประชาชนไปต่างจังหวัดเพื่อท่องเที่ยว แม้การกระทำเหล่านี้จะไม่ถูกจัดเป็นการทุจริตโดยตรง แต่การดำเนินงานที่ไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาบริการสาธารณะของชุมชนโดยรวม นั้นขัดแย้งต่อหลักการทำงานของ อปท. โดยปัญหาดังกล่าวมีแนวทางการแก้ไขได้โดย อปท.จะต้องจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งต้องเกิดจากความต้องการของประชาคมท้องถิ่น โดยตรง ก่อนนำไปสู่การนำแผ่นพัฒนาท้องถิ่น มาแปลงเป็นข้อบัญญัติหรือเทศบัญญัติประจำปี การทำแผนงานและโครงการที่บรรจุในข้อบัญญัติหรือเทศบัญญัติต้องดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ อีกทั้งต้องดำเนินงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของชุมชน มิใช่กลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่งหรือปัจเจกบุคคล ตลอดจนการดำเนินงานของ อปท. ต้องมีเอกสารหลักฐานที่ถูกต้อง โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยในอนาคตอันใกล้ สตง. จะอบรมสัมมนาให้ อปท. ทั่วประเทศได้รับทราบ เพื่อการปฏิบัติตาม อย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดเวทีเสวนาธรรมศาสตร์สู่สังคมครั้งที่ 3 หัวข้อ "ท้องถิ่น VS สตง. กระบวนการตรวจสอบการจัดการท้องถิ่น" ร่วมวิเคราะห์หาแนวทางการป้องกันการทุจริตและพัฒนาการปฏิบัติงานขององค์กรส่วนท้องถิ่น โดยมีศาสตราจารย์ ดร.โกวิทย์ พวงงาม คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. และนายมณเฑียร เจริญผล รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เข้าร่วมเสวนา ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อเร็วๆนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทรศัพท์ 02-564-4493 หรือเว็บไซต์ www.tu.ac.th

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑:๑๕ TRP คว้ารางวัลเกียรติยศ Siamrath Awards 2024 ตอกย้ำ ผู้นำศัลยกรรมตกแต่งเฉพาะบนใบหน้าของประเทศไทย
๑๑:๔๖ ผถห.PIMO-ไพโม่ อนุมัติปันผลงวดครึ่งหลังปี 66 หุ้นละ 0.03 บาทต่อหุ้น
๑๑:๑๘ การประชุมเตรียมงาน10 รอบ นักษัตรพระราชสมภพ
๑๑:๐๓ ผู้บริหารบางจากฯ แบ่งปันประสบการณ์เส้นทางการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เชิญชวนช่วยกัน ลด ละ เริ่ม เพื่อโลกยั่งยืน ในงานสัมมนา Go Green 2024 : The Ambition of
๑๐:๑๔ 1 พ.ค. นี้ เตรียมพบกับฟิตเนสแห่งใหม่ ใจกลางศรีนครินทร์ กับบริการครบครัน ใกล้บ้านคุณ BB FITNESS@พาราไดซ์
๑๐:๑๐ HUAWEI Band 9 จับมือ 3 แพลตฟอร์ม Amado Shopping ช่องทางออนไลน์ Lazada และ Shopee ให้คุณเข้าถึงฟีเจอร์สมาร์ทวอทช์ด้วยราคาสมาร์ทแบนด์
๑๐:๔๙ ห้องอาหาร นิมมาน บาร์ แอนด์ กริล พร้อมเสิร์ฟความอร่อยแบบจัดเต็มกับ เทศกาลบุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่น สุดพิเศษ และ บุฟเฟ่ต์ Carvery Night
๑๐:๓๔ TSPCA จัดประชุมสามัญประจำปี 2567 เตรียมความพร้อมสู่สามทศวรรษสวัสดิภาพสัตว์เพื่อก่อเกิด สวัสดิภาพคน
๑๐:๓๒ พด. มุ่งพัฒนาศักยภาพดินในพื้นที่ปลูกพืช GI เสริมศักยภาพเกษตรกร เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน
๑๐:๐๔ ซิมเพิ้ล ฟู้ดส์ มอบของบริจาค พร้อมเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวัน สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านมหาเมฆ