ครั้งแรกในไทย!! วิทยาศาสตร์ฯ มธ. เปิดตัว “แม่เหล็กดูดสาหร่าย” เก็บเกี่ยวไวใน 10 วินาที จากการแปลงร่างแป้งมันสำปะหลังเป็นแม่เหล็ก ตอบโจทย์ภาคอุตฯ พลังงานในอนาคต

อังคาร ๑๗ กรกฎาคม ๒๐๑๘ ๑๓:๔๔
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ชูนวัตกรรมฝีมือนักวิจัยไทย "แม่เหล็กดูดสาหร่าย" นวัตกรรมที่ช่วยเก็บเกี่ยวสาหร่ายขนาดเล็กได้ไว้ใน 10 วินาที ตอบโจทย์อุตสาหกรรมพลังงานประเทศ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง 2 ส่วนสำคัญ คือ การแปลงโมเลกุลแป้งมันสำปะหลังให้มีประจุบวก ผ่านการสังเคราะห์และดัดแปลงโครงสร้าง ให้มีความสามารถในการยึดเกาะสาหร่ายขนาดเล็กที่เป็นประจุลบ และการผสมอนุภาคแม่เหล็ก เพื่อทำหน้าที่เหนี่ยวนำสาหร่ายออกจากแหล่งน้ำ โดยนวัตกรรมดังกล่าว จะเป็นทางเลือกใหม่แก่ภาคอุตสาหกรรมไทย ในเก็บเกี่ยวสาหร่ายขนาดเล็กแต่มีศักยภาพสูง ทั้งในมิติการขยายฐานวัตถุดิบการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อใช้ภายในประเทศและสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศจากการส่งออก รวมถึงเวชสำอาง และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่างๆ โดยที่ไม่ทิ้งสารตกค้างในผลิตภัณฑ์

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ โทรศัพท์ 02-564-4440 ต่อ 2425 หรือติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. โทรศัพท์ 02-564-4491 ต่อ 2020 เฟสบุ๊คแฟนเพจ www.facebook.com/ScienceThammasat

รศ.ดร.สุเปญญา จิตตพันธ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีของสาหร่ายและแพลงก์ตอน กล่าวว่า ทีมนักวิจัย ได้คิดค้นและพัฒนา "แม่เหล็กดูดสาหร่าย" นวัตกรรมช่วยเก็บเกี่ยวสาหร่ายขนาดเล็กได้ไว้ใน 10 วินาที โดยนวัตกรรมดังกล่าว เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง 2 ส่วนสำคัญ คือ แป้งมันสำปะหลังประจุบวก หรือ แป้งประจุบวก ที่ผ่านการสังเคราะห์และดัดแปลงโครงสร้าง ให้มีความสามารถในการยึดเกาะสาหร่ายขนาดเล็กที่เป็นประจุลบ ประกอบกับ อนุภาคแม่เหล็ก ทั้งนี้ จากการทดลองพบว่า สามารถทำหน้าที่เหนี่ยวนำสาหร่ายออกจากแหล่งน้ำได้ใน 10 วินาที สำหรับสาหร่ายที่มีปริมาณบรรจุขวด 100 มิลลิลิตร และมีต้นทุนประมาณ 60 - 70 บาทต่อการสังเคราะห์แป้งมันสำปะหลังประจุบวก 20 กรัม โดยมีศักยภาพในการเก็บเกี่ยวเซลล์สาหร่ายถึง 100 ลิตร อีกทั้งยังไม่เสียค่าไฟและเจ้าหน้าที่ในการดูแล ซึ่งถูกกว่าการพึ่งพาเครื่องมือจากต่างประเทศหลายเท่าตัว อย่างไรก็ดี นวัตกรรมดังกล่าว ได้รับการจดอนุสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเป็นผลงานการศึกษาวิจัยและพัฒนาของ นางสาวกานต์ธิดา แจ้งยุบล นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นเวลากว่า 2 ปี ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC) ในการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านวัสดุศาสตร์

ด้าน รศ.ดร.เทพปัญญา เจริญรัตน์ หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมกระบวนการชีวภาพ กล่าวว่า สาหร่ายขนาดเล็ก (Microalgae) เป็นสาหร่ายเซลล์เดียวที่เติบโตได้ดีในทุกสภาพน้ำ ทั้งในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยเฉพาะในบ่อบำบัดน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรม ที่ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 1,040 โรง ที่มาพร้อมกับศักยภาพสำคัญในการผลิตพลังงานเชื้อเพลิง ไบโอดีเซล เนื่องจากภายในเซลล์สาหร่ายบางสายพันธุ์ จะมีการสะสมน้ำมันไว้สูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ (ที่มา: สำนักคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง, 2557) อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกระบวนการเก็บเกี่ยวสาหร่ายขนาดเล็ก เพื่อสกัดเป็นน้ำมันไบโอดีเซลในภาคอุตสาหกรรม สามารถทำได้หลายวิธี อาทิ การตกตะกอน หรือการปั่นเหวี่ยง เพื่อแยกเซลล์สาหร่ายออกจากอาหารเพาะเลี้ยง จากนั้นจึงนำไปผ่านกระบวนสกัดเป็นน้ำมันไบโอดีเซล สำหรับใช้งานในอุตสาหกรรมพลังงานและเชื้อเพลิงเป็นลำดับต่อไป ซึ่งมีต้นทุนสูงในการก่อสร้างรวมถึงต้องสูญเสียค่าไฟ และทรัพยากรคนในการดูแล

ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าว ถือเป็นสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สาหร่ายขนาดเล็ก เพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บเกี่ยวที่รวดเร็ว ง่ายขึ้น และต้นทุนที่ต่ำลง ดังนั้น การผลิตน้ำมันจากสาหร่ายขนาดเล็ก ที่มีส่วนผสมของแป้งประจุบวก จึงถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่แก่ภาคอุตสาหกรรมไทย ในการขยายฐานวัตถุดิบการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อใช้ภายในประเทศและสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศจากการส่งออก ขณะเดียวกัน สำหรับแหล่งน้ำที่ผ่านการแยกเซลล์สาหร่ายออกแล้ว ยังสามารถนำกลับมาใช้เพาะเลี้ยงสาหร่ายต่อได้อีกครั้ง หรือสามารถปล่อยสู่แหล่งน้ำได้โดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ สาหร่ายที่ได้จากการเก็บเกี่ยว ยังสามารถนำมาสกัดให้เหลือเพียงสาหร่ายบริสุทธิ์ เพื่อขยายผลสู่ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ เวชสำอาง อาหารคนหรืออาหารสัตว์ได้หลากรูปแบบ อาทิ ครีมหรือโลชั่นเพื่อบำรุงผิวกาย แป้งรองพื้น โดยที่ไม่ทิ้งสารเคมีตกค้าง หรือทำให้ผิวเกิดการระคายเคือง รศ.ดร.เทพปัญญา กล่าว

รศ.ดร.สมชาย ชคตระการ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. มีนโยบายในการพัฒนาและบ่มเพาะนักวิทยาศาสตร์พันธุ์ใหม่ในยุค 4.0 สู่ "นักวิทย์คิดประกอบการ" ที่มีองค์ความรู้ มีกระบวนการคิดเชิงวิทยาศาสตร์ มีทักษะด้านการบริหารธุรกิจ และสามารถประยุกต์ใช้ความรู้เหล่านั้น ในการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ เพื่อแก้ปัญหาสังคมในมิติต่างๆ และขับเคลื่อนธุรกิจได้อย่างมีศักยภาพ ผ่านการส่งเสริมกระบวนการเรียนการสอนแบบบูรณาการของหลักสูตร SCI+BUSINESS ที่เน้นการเรียนรู้จริง-ปฏิบัติเป็น ทั้งในภาคทฤษฎีและปฏิบัติ สอดแทรกไปในทุกหลักสูตร ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ในด้านบริหารธุรกิจ โดยได้รับความร่วมมือทั้งจากคณาจารย์ภายใน มธ. และหน่วยงานธุรกิจจากภาคเอกชน มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้และเติมเต็มประสบการณ์ ทั้งนี้ เพื่อเป้าหมายเดียวกันในการผลิตบุคลากรคุณภาพ สู่การเป็นฟั่นเฟืองหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ โทรศัพท์ 02-564-4440 ต่อ 2425 หรือติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. โทรศัพท์ 02-564-4491 ต่อ 2020 เฟสบุ๊คแฟนเพจ www.facebook.com/ScienceThammasat และเว็บไซต์ www.sci.tu.ac.th

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๘ มี.ค. องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๒๘ มี.ค. การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๒๘ มี.ค. DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๒๘ มี.ค. JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๒๘ มี.ค. นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๒๘ มี.ค. Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๒๘ มี.ค. โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๒๘ มี.ค. STEAM Creative Math Competition
๒๘ มี.ค. A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๒๘ มี.ค. ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้