นักออกแบบวัสดุ สจล. ชู 'แมททีเรียลดีไซน์’ วิถีการออกแบบลดปัญหาขยะล้นโลก โชว์ 3 นวัตกรรมวัสดุ ชุบชีวิตขยะเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่ายิ่งกว่าทอง

พุธ ๒๕ กรกฎาคม ๒๐๑๘ ๑๕:๑๒
ขณะที่สภาพเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียกำลังเติบโตขึ้น ผลกระทบที่ตามมาพร้อมกันนั้น คือ ปัญหา "สิ่งแวดล้อม" ที่กำลังแปรผันไปสู่สภาวะที่แย่ลง หนึ่งในสาเหตุหลัก ของการเกิดปัญหาดังกล่าว คงหนีไม่พ้นปัญหา "ขยะ" ที่มีปริมาณมากขึ้น ทั้งขยะอุตสาหกรรม ขยะมูลฝอย ขยะทางการเกษตร ขยะจากการก่อสร้าง ไปจนถึงขยะจากทะเล ซึ่งไม่ได้ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชน

จากข้อมูลสถิติปริมาณขยะที่เข้าระบบ ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมพบว่า ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทย มีปริมาณขยะอุตสาหกรรมสูงถึง 31 ล้านตัน จากการเติบโตของระบบเศรษฐกิจ โรงงาน เขตนิคมอุตสาหกรรม การเร่งขยายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตลอดจนการเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกต่างประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือข้อมูลสถิติปริมาณขยะในทะเลล่าสุด ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่าประเทศไทย ติดอันดับ 6 ประเทศที่มีขยะในทะเลมากที่สุดในโลก ซึ่งแม้ว่าประเทศไทยจะมีความรู้ความสามารถในการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ แต่ก็ทำให้สูญเสียงบประมาณในการจัดการขยะเหล่านี้เป็นจำนวนมาก จากสาเหตุดังกล่าว วงการอุตสาหกรรมมากมาย หันมาให้ความสำคัญในการลดปริมาณขยะที่จะเกิดขึ้น และเปลี่ยนขยะเหล่านั้น กลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง ไม่เว้นกระทั่งวงการการออกแบบเอง

อาจารย์ จารุพัชร อาชวะสมิต อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาศิลปะอุตสาหกรรม ภาควิชาการออกแบบสิ่งทอ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า เศรษฐกิจหมุนเวียน กำลังเป็นเทรนด์งานออกแบบที่น่าจับตามอง หลากหลายอุตสาหกรรมได้เริ่มต้นใช้กระบวนการจัดการของเสีย ผ่านการออกแบบวัสดุ หรือ Material Design ที่นำวัตถุดิบซึ่งผ่านกระบวนการผลิต และบริโภค กลับเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ หรือนำมาใช้ซ้ำ เพื่อช่วยลดปัญหามลภาวะที่เกิดจากขยะ และลดความเสี่ยงของการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต

"ในโลกนี้ไม่มีขยะ! การนำกลับมาใช้ใหม่ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น โดยปกติประเทศไทยเอง เป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมการเก็บของ และไม่ทิ้งของกันอยู่แล้ว ในอดีตเรามักจะเห็นซาเล้งรับซื้อขยะ และของเก่า เพื่อนำไปขายต่อกับโรงงานอุตสาหกรรมการแปรรูปต่างๆ เป็นประจำ แต่ปัจจุบัน ปัญหาขยะ โดยเฉพาะขยะเหลือทิ้งจากการผลิต (by-product) มีปริมาณเหลือทิ้งมากจนเกินไป อาจารย์ในฐานะนักออกแบบเอง เล็งเห็นถึงประโยชน์ต่อยอด ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างมหาศาล จึงได้นำแนวคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วย 'ขยะ' เหล่านี้ กลับมาใช้อีกครั้ง"

อ.จารุพัชร กล่าวเพิ่มว่า ในวงการอุตสาหกรรม นอกจากขยะจำพวกโลหะ หรือพลาสติก ที่สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้ด้วยตัวของมันเองแล้ว อีกกลุ่มขยะที่มีจำนวนมหาศาล และแทบจะไม่ถูกนำกลับมาใช้ใหม่ มักมาจากอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมการเกษตร และอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ตนจึงส่งเสริมและสนับสนุนการออกแบบสิ่งที่ถูกเรียกว่าเป็น "ขยะ" และ "ของเสีย" ด้วยแนวคิดการออกแบบวัสดุ ร่วมกับการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อจัดการกับขยะ ให้คืนชีวิตกลับกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ได้ในรูปแบบต่างๆ อาทิ

Horse Hair Collection : เข็มขัดนิรภัยไม่ผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรม สู่วัสดุตกแต่งผนังไฮแฟชั่น

ผลงานการออกแบบของตน จุดเริ่มต้น จากเข็มคัดนิรภัยคุณภาพสูงในรถยนต์ ที่ตกมาตรฐานเพียงแค่ สีของเข็มคัดนิรภัย ไม่ตรงสเปคกับตัวรถ จากกรณีดังกล่าว ทำให้มีเข็มคัดนิรภัยที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้งาน และกลายเป็นขยะอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์จำนวนมาก หลังจากที่ศึกษาคุณสมบัติของเข็มขัดนิรภัยพบว่า ความพิเศษคือมีความแข็งแรง ทนทาน และเมื่อนำมาผ่านกระบวนการทอ สามารถทำให้มีลักษณะเป็นขนฟู งดงามคล้ายขนของม้า ซึ่งตนได้ออกแบบ และพัฒนาร่วมกับการใช้เทคโนโลยีการผลิต ออกมาเป็นของวัสดุตกแต่งผนัง ในรูปแบบเดคอเรทีฟวอลเปเปอร์ (Decorative Wallpaper) ที่ปัจจุบัน ผลิตและ จำหน่ายจริง ในตลาดงานประดับตกแต่งบ้าน

Peanut Better : กากขยะการเกษตร สู่โฮมเดคอร์สีสันเจ็บ

ผลงานการออกแบบของนางสาวรมิตา เสน่ห์ค่า นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาศิลปะอุตสาหกรรม วิชาการออกแบบสิ่งทอ สจล. ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก ขยะจากอุตสาหกรรมการเกษตร อย่าง 'เปลือกถั่วลิสง' ซึ่งนอกจากจะสามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยฝังกลบคืนสู่การเกษตร แต่ด้วยแนวคิดการออกแบบ ร่วมกับการประยุกต์เทคโนโลยีการผลิต ยังสามารถเปลี่ยนกากการเกษตรดังกล่าว ด้วยการขึ้นรูป อัดแข็งแบบแผ่น พร้อมย้อมด้วยสีธรรมชาติเป็นลายทางเรขาคณิต กลายมาเป็นเป็นเคหะสิ่งทอ ที่สามารถนำไปใช้ตกแต่งบ้าน ผนัง หรือเป็นแผ่นประดับตกแต่งโต๊ะอาหาร (Tableware) สีสันสวยงาม ที่มีมูลค่าเพิ่มจากการเป็นเพียงปุ๋ยทางการเกษตร

Meshography : กระเป๋ามุ้งลวดปักลาย ด้วยเทคโนโลยีการปักที่ไม่เคยใช้กับ 'มุ้ง' มาก่อน

ผลงานออกแบบของนางสาวอรวรรณ กอเสรีกุล นักศึกษาคณะสถาปัตย์ฯ สจล. ที่นำไอเดียเอาวัสดุเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมสิ่งก่อสร้างอย่าง 'มุ้งลวด' มาออกแบบเป็นสิ่งทอแนวใหม่ ด้วยเทคโนโลยีการปักฟูแบบ Needle Punching ที่คิดค้นและทดลองใหม่เพื่อนำมาใช้กับมุ้งลวดโดยเฉพาะ ซึ่งปกติรูปแบบงานปักดังกล่าว จะถูกใช้กับวัสดุจำพวกผ้า หรือหนังเท่านั้น และนำมาทำเป็นกระเป๋าที่มีสีสันสวยงาม และมีลวดลาย 3 มิติ นุ่มฟู สะท้อนให้เห็นถึงการนำวัสดุ และเทคโนโลยี ที่บางครั้งมักถูกนำไปใช้แบบซ้ำๆ ด้วยวิธีการเดิมๆ เพียงอย่างเดียว มาพัฒนาผสมผสานไปกับงานออกแบบ จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์แบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน

ในฐานะอาจารย์นักออกแบบ อยากให้การนำกลับมาใช้ใหม่ อยู่ในวิถีชีวิตของมนุษยชาติ สังคมต้องมีจิตสำนึกในการเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยกันลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และเล็งเห็นถึงคุณประโยชน์ ของการนำกลับมาใช้ใหม่ ทั้งนี้ สจล. เอง ได้เริ่มต้นโมเดลการเรียนการสอน ที่บูรณาการศาสตร์การออกแบบดังกล่าว เข้าสู่หลักสูตรของนักศึกษา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. เพื่อปลูกฝังแนวคิดการเป็นนักออกแบบรับใช้สังคม ให้ผู้เรียนสามารถออกแบบ และต่อยอดผลิตภัณฑ์ ด้วยการประยุกต์ใช้ความรู้ ควบคู่นวัตกรรม สู่การเป็นผู้ประกอบการหรือนักออกแบบที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมได้ในอนาคต อ.จารุพัชร กล่าวทิ้งท้าย

ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.kmitl.ac.th

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4