วิทยาศาสตร์ฯ มธ. รุกโบท๊อกผลไม้ไทย เปิดตัว “ฟิล์ม ทู ฟลาย” นวัตกรรมชะลอความสุกพืชผลเกษตรจากใบยี่หร่า ประเดิมชะลอ “กล้วยหอม” ได้นานถึง 2 เดือน

จันทร์ ๐๖ สิงหาคม ๒๐๑๘ ๑๑:๒๓
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดตัว "ฟิล์ม ทู ฟลาย" นวัตกรรมชะลอความสุกพืชผลเกษตรจากใบยี่หร่า ประเดิมชะลอสุก "กล้วยหอม" นาน 2 เดือน ด้วยเทคนิคการเคลือบแบบบริโภคได้ โดยไม่ทิ้งสารเคมีตกค้าง พร้อมรักษาสภาพผิวให้สวยงาม และป้องกันการเกิดโรคขั้วหวีเน่าในผลผลิตได้ถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ภายหลังการเก็บเกี่ยวและระหว่างการขนส่ง เพียงชุบในสาร 1 ครั้ง อีกทั้งยังสามารถชะลอสุกในมะละกอ และมะม่วงน้ำดอกไม้ส่งออก พร้อมกันนี้ คณะฯ ยังมี "สารยืดอายุผลไม้จากกากรำข้าว" นวัตกรรมยืดอายุผลไม้สดจากกากรำข้าวได้นานมากกว่า 14 วัน พร้อมคงสภาพผลไม้ได้เป็นอย่างดี เพียงทาเคลือบ 1 ครั้ง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดปัญหาการเน่าเสียของผลผลิต ก่อนวางจำหน่ายตลาดต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบธรรมชาติที่มีต้นทุนต่ำ รวมถึงวัสดุเหลือทิ้งจากภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่ถูกละเลยจำนวนมาก

รศ.ดร.สมชาย ชคตระการ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า ปัญหาการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรเน่าเสีย ก่อนวางจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศ ยังคงเป็นปัญหาหนึ่งที่ผู้ประกอบการประสบและต้องสูญเสียโอกาสและรายได้จำนวนมาก ด้วยข้อจำกัดของผลผลิตบางชนิดที่มีอายุหลังการเก็บเกี่ยวสั้น และเกิดโรคพืชขณะทำการขนส่ง ทั้งโรคที่เกิดจากเชื้อราและ/หรือแบคทีเรีย เช่น ขั้วหวีเน่า ฯลฯ นักวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. จึงผุดไอเดียพัฒนาวัสดุที่ทำหน้าที่ยืดอายุผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยวให้นานขึ้น โดยอาศัยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการถนอมอาหาร ผนวกรวมกับวัตถุดิบธรรมชาติที่มีอยู่ในประเทศและมีต้นทุนต่ำ อย่าง "ใบยี่หร่า" สมุนไพรพื้นถิ่นของไทยที่มีสรรพคุณทางยาหลากชนิด และ "กากรำข้าวหอมมะลิ 105" วัตถุดิบเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตน้ำมันรำข้าว สู่ 2 นวัตกรรมสุดสร้างสรรค์ คือ "ฟิล์ม ทู ฟลาย" และ "สารเคลือบจากกากรำข้าวเพื่อยืดอายุผลไม้สด"

ผศ.ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีการเกษตร และผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า ฟิล์ม ทู ฟลาย (Film to fly) นวัตกรรมยืดอายุผลกล้วยหอมด้วยวัตถุดิบธรรมชาตินาน 2 เดือน ด้วยเทคนิคการเคลือบแบบบริโภคได้ (Edible Coating) โดยที่ไม่ทิ้งสารเคมีตกค้าง อีกทั้งยังสามารถป้องกันโรคขั้วหวีเน่าในผลผลิตได้ถึง 95 เปอร์เซนต์ ภายหลังการเก็บเกี่ยวและระหว่างการขนส่งทางเรือ เพียงนำกล้วยไปชุบในสารเคลือบ 1 ครั้ง ทั้งนี้ โรคขั้วหวีเน่า ถือเป็นหนึ่งในโรคพืชที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกกล้วยหอมไทยเป็นอย่างมาก โดยในช่วงครึ่งปีแรก ปี 2561 ที่ผ่านมา มีปริมาณการส่งออกกล้วยหอมถึง 3.87 ล้านตัน (ที่มา: กรมศุลกากร, 2561) ขณะเดียวกันพบผลผลิตเสียหายก่อนวางจำหน่ายเป็นจำนวนมาก

ผศ.ดร.ดุสิต กล่าวต่อว่า สำหรับนวัตกรรมดังกล่าว เกิดจากการทำงานร่วมกันของ 2 ส่วนสำคัญ คือ "สารสกัดจากใบยี่หร่า" สารสำคัญจากธรรมชาติที่ได้จากกระบวนการสกัดขั้นสูง ซึ่งมีคุณสมบัติยับยั้งการเกิดโรคขั้วหวีเน่า และ "เซลลูโลสจากผักตบชวา" ทำหน้าที่เสมือนฟิล์มกักเก็บสารสำคัญจากใบยี่หร่าไม่ให้สลายตัวเร็ว จากนั้นทำการละลายให้เป็นของเหลว เพื่อใช้เคลือบผลกล้วยขณะที่เปลือกยังมีสีเขียวสด (ดิบ) 1 ครั้ง และทิ้งให้แห้งประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งสารดังกล่าว จะทำหน้าที่เสมือนฟิล์มเคลือบผลกล้วยอีกชั้น เพื่อป้องกันไม่ให้แก๊สเอทิลีน (Ethylene) ออกมากระตุ้นให้กล้วยผลอื่นสุกตาม พร้อมชะลอการสุกของผลกล้วยได้นานถึง 2 เดือน ช่วยรักษาสภาพผิวให้สวยงาม น่ารับประทาน และป้องกันการเกิดโรคขั้วหวีเน่าได้ถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าว สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับผลไม้ส่งออกสำคัญของไทยได้หลากหลายชนิด ทั้งมะละกอ และมะม่วงน้ำดอกไม้

อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมดังกล่าว ใช้ระยะเวลาในการพัฒนาประมาณ 2 ปี มีต้นทุนโดยเฉลี่ยประมาณ 100 - 150 บาทต่อสารครึ่งกิโลกรัม โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานเอกชนในการสนับสนุนเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในการพัฒนางานวิจัย ทั้งนี้ ผลงานวิจัยดังกล่าว อยู่ระหว่างการยื่นจดอนุสิทธิบัตร โดยที่ล่าสุด สามารถคว้ารางวัลเหรียญทอง ประเภทสิ่งประดิษฐ์ การันตีคุณภาพจากเวทีประกวดงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ระดับโลก ครั้งที่ 46 (46th International Exhibition of Inventions of Geneva) ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ผศ.ดร.ดุสิต กล่าว

ด้าน นางสาวพรรณวดี จันทร์ทอง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า อีกหนึ่งนวัตกรรมที่สามารถยืดอายุผลไม้ได้ คือ"สารยืดอายุผลไม้จากกากรำข้าว" นวัตกรรมยืดอายุผลไม้สดจากกากรำข้าวมากกว่า 14 วัน พร้อมรักษาคงสภาพของผลไม้ได้เป็นอย่างดี สามารถนำไปใช้ในรูปแบบการทา ชุบ หรือสเปรย์ 1 ครั้ง และทิ้งให้แห้ง 1 ชั่วโมง โดยไม่ทิ้งสารตกค้างในผลผลิต เพื่อเป็นการต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกากรำข้าว ที่เหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตน้ำมันรำข้าวถึง 80เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเซลลูโลสในกากรำข้าว จะมีคุณสมบัติสำคัญคือ สามารถกีดขวางก๊าซระดับต่ำและมีความแข็งแรงเชิงกลสูง โดยทำหน้าที่เป็นสารเคลือบผิวช่วยลดอัตราการหายใจ และคงสภาพของผลไม้ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ปริมาณสาร 100 มิลลิลิตร สามารถใช้ทาผลไม้ อย่าง ผลกล้วยหอม (ดิบ) ได้ถึง 25 - 30 ลูก ขณะเดียวกัน ยังสามารถนำไปใช้ยืดอายุผลไม้ชนิดอื่นๆ ได้ อาทิ มังคุด มะม่วง และมะละกอ

อย่างไรก็ดี สารยืดอายุผลไม้จากกากรำข้าว ใช้ระยะเวลาในการพัฒนามากกว่า 1 ปี โดยเป็นงานวิจัยร่วมกับนางสารธมนวรรณ อังกุรทิพากร นักศึกษาร่วมสาขา โดยมี รศ.ดร.จิรดา สิงขรรัตน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมี เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าว อยู่ระหว่างการยื่นจดอนุสิทธิบัตร และเตรียมวางจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในราคาประมาณ35 บาทต่อ 100 มิลลิลิตร ซึ่งล่าสุดสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ประเภทผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่มีงานวิจัยรองรับ นวัตกรรมจากข้าวที่ไม่ใช่อาหาร การันตีคุณภาพ จากเวทีประกวดสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เพิ่มมูลค่าสินค้าข้าวส่งออกเชิงพาณิชย์ "RICE PLUS AWARD 2018 : ข้าว...ก้าวใหม่" จัดโดยกรมการค้าต่างประเทศ นางสาวพรรณวดี กล่าว

สำหรับผู้สนใจนวัตกรรมดังกล่าว สามารถติดต่อสอบถามหรือขอรับคำปรึกษาได้ที่ สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร โทร. 02-564-4491, 02-564-4495 สาขาวิชาเคมี โทร. 02-564-4440 หรือสอบถามเพิ่มเติมที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ศูนย์รังสิต โทร. 02-564-4491 ต่อ 2020 เฟสบุ๊คแฟนเพจ www.facebook.com/ScienceThammasat เว็บไซต์ www.sci.tu.ac.th

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๘ มี.ค. องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๒๘ มี.ค. การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๒๘ มี.ค. DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๒๘ มี.ค. JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๒๘ มี.ค. นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๒๘ มี.ค. Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๒๘ มี.ค. โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๒๘ มี.ค. STEAM Creative Math Competition
๒๘ มี.ค. A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๒๘ มี.ค. ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้