กำลังใจถึงครูอาชีวะ อบอวลกลางสยาม ในงานเปิดตัวหนังสั้น 'Believe’ โดยมูลนิธิเอสซีจี

อังคาร ๑๔ สิงหาคม ๒๐๑๘ ๑๐:๔๐
ด้วยความเชื่อที่ว่า "ครู" คือผู้สร้างศิษย์ คงไม่ใช่คำกล่าวเกินจริง "ครูอาชีวะ"เป็นอีกหนึ่งคนสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเหล่าอาชีวะฝีมือชน ตลอดชีวิตของครูอาชีวะต้องรับผิดชอบไม่เพียงแค่การสอนวิชาความรู้เพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงการสร้างลูกศิษย์ให้เป็นทั้งคน 'เก่งและดี' อีกด้วย

มูลนิธิเอสซีจีเล็งเห็นถึงความสำคัญของบุคคลผู้สร้างคนอาชีวะ จึงจัดกิจกรรมเปิดตัวหนังสั้นเชิดชูครูอาชีวะ เรื่อง "Believe" ขึ้น ภายใต้แนวคิด "อนาคตที่มองหา เริ่มจากครูที่มองเห็น" โดยนำเสนอมุมมองผ่านสายตาครูอาชีวะ ผู้ซึ่งมองเห็นคุณค่าและศักยภาพในตัวลูกศิษย์

ขจรเดช แสงสุพรรณ กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า ที่ผ่านมามูลนิธิเอสซีจีได้ให้ความสำคัญต่อการสร้างทัศนคติที่ดีต่อการเรียนอาชีวะ จึงได้จัดทำโครงการ "อาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ" เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนได้มีโอกาสศึกษาสายอาชีพมากขึ้น โดยมุ่งส่งเสริมภาพลักษณ์และสร้างทัศนคติอันดีต่อผู้เรียนอาชีวะ ทั้งการรณรงค์สื่อสารผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปีนี้เราต้องการนำเสนอเรื่องราวดีๆ ผ่านมุมมองสายตาของครูอาชีวะ ผู้ซึ่งเล็งเห็นความสามารถ คุณค่า และเชื่อมั่นในตัวนักเรียนอาชีวะ รวมไปถึงเป็นผู้คอยผลักดัน และหล่อหลอมให้นักเรียนอาชีวะเหล่านี้กลายเป็นอาชีวะฝีมือชนที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต มูลนิธิฯ จึงได้จัดทำหนังสั้นเชิดชูครูอาชีวะเรื่อง "Believe" ขึ้น เพื่อสะท้อนชีวิตจริงของครูอาชีวะ เพราะจากการเก็บข้อมูลของมูลนิธิฯ พบว่าเด็กอาชีวะที่จบไปรวมไปถึงพ่อแม่ ต่างยอมรับว่าอนาคตของพวกเขาที่ปัจจุบันเติบโตขึ้นและประสบความสำเร็จได้นั้น ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากครูของพวกเขานั่นเอง

"สำหรับบุคลลากรอาชีวะนั้นเป็นทรัพยากรที่มีมูลค่าสำหรับประเทศ เพราะเด็กอาชีวะเหล่านี้มีความสามารถที่จะเป็นฟันเฟืองผู้ขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวหน้าต่อไปได้ มูลนิธิจึงอยากให้เด็กอาชีวะภูมิใจในความเป็นอาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ เพราะทุกคนล้วนมีความสามารถที่จะทำให้อนาคตของตัวเองรุ่งเรืองได้ และอยากให้กำลังใจคุณครูอาชีวะ ถ้าไม่มีคุณครูอาชีวะในวันนี้ ก็จะไม่มีเด็กๆ ที่เป็นกำลังของประเทศชาติทั้งในปัจจุบันและในอนาคต" ขจรเดช กล่าว

ด้านวิทิต คำสระแก้ว ผู้กำกับหนังสั้นเรื่อง "Believe" เล่าให้ฟังถึงการนำเสนอเนื้อหาของหนังสั้นเรื่องนี้ ว่า ตอนที่เราอยู่ในขั้นตอนที่จะพัฒนาบทหนัง เราก็มานึกภาพครูว่าคนส่วนใหญ่มักนึกถึงครูในแง่มุมไหน เราก็จะได้มา 2 ภาพจำหลักๆ คือ ครูเป็นผู้เสียสละ เป็นเรือจ้าง แต่เป็นเรือจ้างที่เหนื่อยจังเลย ทั้งๆ ที่ชีวิตครูนี่สนุกและสำคัญมาก เราก็เลยคิดว่าเราอยากทำหนังที่มันไม่เศร้า อยากให้คนเข้าใจว่าครูทำอาชีพครู เพราะครูอยากทำโจทย์ก็คือว่าเด็กคนหนึ่งอาจจะตั้งธงไว้ในใจว่าอนาคตที่พวกเขามองหามันเป็นแบบไหน ดังนั้นปัจจัยสำคัญในการสร้างอนาคตเด็ก มันก็เริ่มมาจากครูที่มองเห็น คือเห็นในคุณค่าของเด็ก เข้าใจในความสามารถ ทักษะฝีมือของเด็กแต่ละคน แล้วผลักดันมันออกมา เด็กที่อยู่ในวัยนี้เป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ มันคือวัยของความอยากรู้อยากเห็น ถ้าได้เจอครูที่สร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาได้ เด็กก็จะยิ่งไปได้ไกลมาก

"หนังไม่จำเป็นจะต้องฉลาดทุกเรื่อง ไม่ต้องพูดถึงอะไรยากๆ เสมอไป คือหนังมันเล่าเรื่องง่ายๆ บ้านๆ เลยก็ได้ แต่สิ่งที่ต้องชัดเจนคือสารที่ส่งออกไปถึงคนดู ว่าหนังนี้ทำเพื่ออะไร เพื่อใครและต้องการจะบอกอะไร หนังสั้นเรื่องนี้ไม่ได้สร้างมาเพื่อเอาสนุกอย่างเดียว แต่จะแฝงไปด้วยมุมมอง วิธีคิด ที่ทำให้เราทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ สร้างแรงบันดาลใจหรือส่งต่อกำลังใจให้กับใครสักคนที่ไม่จำเป็นต้องเป็นครูเท่านั้น แต่เป็นคนที่มีความพยายามและมุ่งมั่น และทำอาชีพนั้นด้วยความรัก แล้วมันก็จะมีพลังในการช่วยเหลือหรือผลักดันอนาคตของคนอื่นๆ ได้"

นอกจากกิจกรรมเปิดตัวหนังสั้น ทางมูลนิธิเอสซีจียังได้ ชวนน้องๆ อาชีวะจากทั่วประเทศส่งเรื่องราวความประทับใจต่อคุณครูอาชีวะสุดเจ๋งของพวกเขา จนได้คุณครูและนักเรียนอาชีวะ 10 คู่ที่มีเรื่องราว โดนใจคนทั้งประเทศมาร่วมพูดคุยแชร์ประสบการณ์ดีดีภายในงาน

หนึ่งในเจ้าของเรื่องราวที่ได้รับรางวัลกิจจากกิจกรรมครูเราเจ๋ง เก่งอยากอวด อย่าง น้องแม็ก-สมเกียรติ แซ่ตั้ง จากวิทยาลัยเทคนิคระนอง เล่าถึงความรู้สึกหลังจากได้รับชมหนังสั้นเรื่องนี้ว่า ตัวผมเหมือนในหนังสั้น เป็นเด็กหลังห้อง ไม่ตั้งใจเรียน แต่ครูอัฐ-อัฐพล ผลพฤกษามองเห็นในความสามารถของผม ดึงผมขึ้นมาฝึกฝนจนได้เป็นตัวแทนไปแข่งตามเวทีต่างๆ และทำให้เด็กหลังห้องอย่างผมขึ้นมายื่นหน้าห้องได้อย่างภาคภูมิใจ ซึ่งจะมีคำพูดหนึ่งของครูอัฐที่ทำให้ผมประทับใจมากจนถึงทุกวันนี้ คือคำพูดที่ว่า ถึงแม้เราจะไปไม่ถึงดวงจันทร์ก็ไม่เป็นไร เพราะอย่างน้อยเราก็ยังอยู่ท่ามกลางดวงดาว แพ้ชนะไม่สำคัญเท่าการได้ลงมือทำให้ดีที่สุด

"ครูอัฐคอยเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ สอนวิธีการคิดอย่างเป็นระบบและสร้างสรรค์ ครูอัฐใจหล่อมาก นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ทำกิจกรรมให้กับกลุ่มนักเรียนที่ปรึกษาโดยสร้างศูนย์การเรียนรู้ อนุรักษ์พันธุกรรมพืชพื้นบ้าน ต้นผักเหลียง ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่คนในภาคใต้นิยมบริโภคให้พวกเราได้ศึกษาทางด้านความพอเพียง และเป็นครูต้นแบบที่ดี จนได้รับรางวัล ครูดีศรีอาชีวะ ประจำปี 2560" น้องแม็ก กล่าว

ด้าน ครูอัฐ-อัฐพล ผลพฤกษา เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์การสอนเด็กอาชีวะว่า การสอนเด็กอาชีวะจะต้องคิดเสมอว่าจะทำอย่างไรให้เราสื่อสารกับเด็กนักเรียนได้ พยายามสร้างความใกล้ชิด ทำให้เด็กหัวแถวท้ายแถวไปด้วยกันได้ ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดของการเป็นครูอาชีวะคือ ครูต้องสร้างความเชื่อความศรัทธาให้กับลูกศิษย์ ครูต้องมีความพร้อมในเรื่องความรู้และวิธีการสอน เมื่อเราพร้อมนักเรียนก็เชื่อในตัวเราและยอมรับในตัวเรา

ขณะที่อีกหนึ่งคู่จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ น้องอ้อม-อ้อม หมอกคำ ได้เล่าเรื่องราวความประทับใจต่อ ครูแคท-แคทรีริน เอี่ยมศิริ ว่า ประทับใจในตัวครูแคทตรงที่เป็นครูสายลุย ติดดิน เรียบง่าย มุ่งมั่นขยันทำงาน เป็นเหมือนเพื่อนเหมือนพี่สาว คอยให้คำปรึกษาและแนะนำทั้งเรื่องการเรียนและการใช้ชีวิต รวมไปถึงครูแคทยังเป็นคนคอยสนับสนุนให้ทำกิจกรรม และลงแข่งขันทางวิชาการอยู่เสมอ

"หนูอยู่กับคุณครูแคทมาตั้งแต่ ปวช.1 จนตอนนี้ ใกล้จะจบปวส. แล้ว ระหว่างที่เราได้ไปแข่งขันร่วมกันหลายรายการ หนูได้เรียนรู้อะไรต่างๆจากคุณครูมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง การใช้ชีวิตอยู่ต่างจังหวัด ตลอดจนการปฏิบัติตัวในเวลาไปสถานที่ต่างๆ หรือว่าการทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งทุกๆ การแข่งขันมักจะเจออุปสรรคและปัญหามากมาย แต่สิ่งที่ครูมีให้เสมอคือวิธีคิด วิธีแก้ไขปัญหา และทัศนคติเชิงบวก และที่สำคัญก็คือกำลังใจที่ครูมีให้ค่ะ" น้องอ้อม กล่าว

ส่วนครูแคท-แคทรีริน เอี่ยมศิริ เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่มาสอนนักเรียนอาชีวะเราก็พยายามพัฒนาตัวเองอย่างเต็มที่ สอนอย่างเต็มความสามารถ อาจเป็นเพราะว่าเรายังเด็ก ยังไม่ได้มากประสบการณ์เหมือนครูคนอื่น ทำให้เราต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ บางครั้งมีนักเรียนมาปรึกษาทั้งเรื่องเรียนทั้งเรียนการใช้ชีวิตประจำวัน เราก็รับฟังและให้คำปรึกษา เพราะเป็นห่วงทุกคน รู้ว่าเขาทุกข์ใจและกำลังต้องการกำลังใจ

ปิดท้ายที่คู่ของ น้องฟิวส์-เสฏฐวุฒิ กุมมาระกะ จากวิทยาลัยเทคนิคกระบี่ ได้เล่าถึงความประทับใจต่อครูรุณ-วิรุณ ใส่แว่น ว่า เมื่อก่อนเป็นคนที่ถ้าไม่ชอบอะไรก็จะไม่เรียน ไม่สนใจเลย แต่เมื่อมาเจอกับครูวิรุณ ผู้ที่เป็นทั้งที่ปรึกษา เป็นหัวหน้าแผนก เป็นหัวหน้าฝ่ายกิจกรรม และเป็นคนสร้างผลงานให้กับวิทยาลัยมากมายจนได้รับโอกาสจากครูมาร่วมแข่งทักษะวิชาการ นั่นจึงเป็นโอกาสทำให้รู้จักครูมากขึ้น

"หลังจากรู้จักครูมากขึ้น ผมก็ได้รู้ว่าครูไม่ใช่แค่ครูอาชีวะธรรมดา เพราะนอกจากครูจะถ่ายทอดและสอนเก่ง ครูยังเข้าใจความรู้สึก ความคิดของเด็กอย่างผม ครูมักพูดกับผมเสมอว่า ทำให้เต็มที่ เหมือนตอนที่ซ้อม อย่าไปคาดหวังว่าเราต้องได้รางวัล เพราะถ้าเราทำเต็มที่จริงๆ ครูเชื่อว่าต้องมีสิ่งที่ดีเกิดขึ้น จนผมแข่งทักษะได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ของประเทศ พูดได้เลยว่า ถ้าไม่มีครูวิรุณในวันนั้น ก็คงไม่มีผมในวันนี้เช่นกัน" น้องฟิวส์ กล่าว

ด้านครูรุณ-วิรุณ ใส่แว่น กล่าวว่า จริงๆแล้วไม่ได้สนับสนุนและผลักดันเพียงแค่แม็กคนเดียว แต่ในฐานะที่เราเป็นคุณครูเราสนับสนุนเด็กทุกคนในวิทยาลัย พยายามมองหาเด็กนักเรียนที่มีความสามารถและพร้อมรับโอกาสที่จะพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพราะครูเชื่อว่านักเรียนทุกคนมีความสามารถ เพียงแต่ต้องได้รับการฝึกฝนให้ถูกต้อง เพื่อที่จะเป็นคนอาชีวะฝีมือชนที่มีคุณภาพต่อไป

นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทางมูลนิธิเอสซีจีต้องการสื่อสารกับสังคม มูลนิธิเอสซีจี "เชื่อมั่นในคุณค่าของคน" จึง "เชื่อมั่นในคุณค่าของครู" มูลนิธิฯ เชื่อว่าครูที่ดี 1 คน จะสร้างคนเก่งและดีให้สังคมได้มากมาย และการจะพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นได้นั้น ครูย่อมต้องไม่หยุดพัฒนาตนเองให้มีประสิทธิภาพและเท่าทันกับสถานการณ์โลก อันหมายถึงเท่าทันเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามา ตลอดจนปลูกฝังคุณธรรม วิธีคิด เพื่อให้เด็กๆ มีรากฐานแห่งความถูกต้องและการนึกถึงประโยชน์ของผู้อื่นเป็นที่ตั้ง เพื่อที่เหล่าอาชีวะฝีมือชนคนสร้างชาติจะได้เติบโตขึ้นอย่างเป็นคน 'เก่งและดี' ต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4