รัฐชูสหกรณ์เป็นกลไกปฏิรูปภาคการเกษตร ดึงทุกภาคส่วนร่วมกันยกระดับสหกรณ์การเกษตรให้เข้มแข็งเพื่อช่วยดูแลความเป็นอยู่ของเกษตรกร

อังคาร ๑๔ สิงหาคม ๒๐๑๘ ๑๐:๕๔
การปรับโครงสร้างภาคเกษตรโดยกลไกสหกรณ์ นับเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลกับการขับเคลื่อนการปฏิรูปภาคการเกษตร เพื่อยกระดับและสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรไทย จนเป็นแรงส่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

นั่นเพราะที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามดำเนินนโยบายหลายอย่างผ่านรูปแบบการทำงานของสหกรณ์ โดยปักธงไปที่ "สหกรณ์ภาคการเกษตร" เป็นหลัก เพราะมีความเกี่ยวข้องกับประชาชนคนไทยในระดับรากหญ้า โดยเฉพาะผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่มีอยู่ค่อนประเทศ ตัวอย่างเช่น...

การจัดสรรเงินอุดหนุนจากงบกลางปี 2561 ภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืน เพื่อเสริมศักยภาพในการดำเนินธุรกิจรวบรวมและแปรรูปผลผลิตการเกษตรของสหกรณ์ การสนับสนุนให้สหกรณ์ดำเนินธุรกิจรวบรวมข้าวเปลือก ผ่านมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวปีการผลิต 2561/62 การส่งเสริมปลูกพืชหลังนาเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร แม้กระทั่งการสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในการขยายช่องทางตลาดสินค้าการเกษตร

อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นสนับสนุนและเสริมศักยภาพการดำเนินงานของสหกรณ์ให้เกิดความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมสหกรณ์ จึงได้ประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือเวิร์คช็อปการปรับโครงสร้างภาคเกษตรโดยกลไกสหกรณ์ โดยเชิญ สหกรณ์การเกษตรที่ผ่านการคัดเลือกว่าเป็นสหกรณ์ที่เข้มแข็ง มีมาตรฐานในการบริหารจัดการในระดับดีเด่น และมีการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการรวบรวมผลผลิตการเกษตรที่สำคัญ ทั้งข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด ผลไม้ โคเนื้อ นม และสินค้าแปรรูป รวม 777 แห่ง เข้าร่วมรับฟังนโยบายจาก "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" รองนายกรัฐมนตรี พร้อมระดมสมองจากทุกภาคส่วนในการหาทางยกระดับความเข้มแข็งของสหกรณ์เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลเดินหน้าปฏิรูปภาคการเกษตร

"สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" รองนายกรัฐมนตรี กล่าวบนเวทีว่า รัฐบาลต้องการให้ทุกหน่วยงานเข้ามาร่วมกันทำให้สหกรณ์เป็นฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ เพราะสหกรณ์ถือเป็นกลไกที่จะพัฒนาภาคการเกษตรได้อย่างแท้จริง แต่ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่อาจมองข้ามความสำคัญของสหกรณ์ไป ดังนั้น จึงอยากให้ทุกภาคส่วนได้มาร่วมมือพัฒนาสหกรณ์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง ให้เป็นกำลังสำคัญของสังคม ที่จะทำให้ภาคเกษตรของไทยดีขึ้น โดยเชื่อว่า ปัจจุบันนี้สหกรณ์มีศักยภาพและความสามารถสูงพอที่จะเปลี่ยนแปลงภาคเกษตรของประเทศได้

"สหกรณ์บ้านเรามีประมาณ 4,000 แห่ง ที่เชิญมาวันนี้คือสหกรณ์ที่เข้มแข็งพอสมควรแล้ว และเป็นความหวังของภาคการเกษตรของประเทศ เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ยังอ่อนแออยู่ ถ้าทำคนเดียวขายคนเดียว ย่อมไม่มีทางที่จะแข็งแรงได้ แต่ถ้าเราร่วมกันทำ ทำให้ทันสมัย ก็จะสร้างความเข้มแข็งได้ เชื่อว่าสหกรณ์เหล่านี้จะเป็นตัวอย่างให้สหกรณ์ที่ยังไม่เข้มแข็งได้เดินรอยตามและเข้ามาร่วมมือกันเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ได้ ซึ่งการได้มาพบกับตัวแทนสหกรณ์วันนี้ เพื่อมาทำความเข้าใจว่ารัฐบาลอยากให้สหกรณ์ทำอะไร แล้วสหกรณ์มีอะไรให้รัฐบาลช่วย รัฐบาลยินดีช่วยเต็มที่ และวันนี้ประเทศไทยนั้นกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ความมั่นใจทางเศรษฐกิจในวันนี้กำลังกลับคืนมา โลกต้อนรับเรา"

รองนายกรัฐมนตรี ฉายภาพให้เห็นว่า ประชากรของไทย 20 ล้านคนอยู่ในภาคการเกษตร แต่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี ในภาคการเกษตรต่ำกว่า 10% อำนาจซื้อก็ไม่มี ทำให้ไทยต้องเน้นผลิตเพื่อส่งออก เมื่อผลิตเพื่อส่งออก คนที่มีรายได้จริงๆ อยู่ในคนเพียงกลุ่มเดียว ทำให้รายได้กระจุกตัวไม่สามารถกระจายสู่คนระดับฐานรากได้ ขณะเดียวกันทรัพยากรมนุษย์นับว่าเป็นทรัพย์สินที่มีค่าของประเทศ ฉะนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยนแปลงให้เกษตรกรเป็นทรัพย์สินที่ยิ่งใหญ่ เพื่อทำให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น

"อนาคตของเกษตรกรไม่ได้ขึ้นอยู่กับเกษตรกรรายย่อย แต่ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของสหกรณ์ ถ้าสหกรณ์เข้มแข็ง เกษตรกรรายย่อยจะไปได้ดี ฉะนั้นโฟกัสจะต้องอยู่ที่สหกรณ์ ส่วนบัตรสวัสดิการประชารัฐไม่ใช่การลดแลกแจกแถมแต่คือการประคับประคองกลุ่มที่ด้อยโอกาสทางสังคม ที่ไม่มีใครช่วย รัฐบาลจึงต้องบรรเทาและประคองให้คนจนอยู่ต่อไปได้ รัฐบาลต้องดูแล แต่ก็คงเป็นแบบชั่วคราวไม่สามารถช่วยให้ยั่งยืนตลอดไปได้ แต่ต้องพัฒนาให้คนยากจนสามารถลุกขึ้นยืนเองได้ ดังนั้นเราต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร"

สำหรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร ล่าสุดมีข้อมูลเชิงพื้นที่ทั่วทั้งประเทศแล้วว่า แต่ละพื้นที่ควรปลูกอะไร โดยไม่จำเป็นต้องเน้นการปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว สิ่งเหล่านี้ต้องมีการเริ่มต้นโดยใช้หลักการตลาดนำ การผลิต เจ้าภาพเรื่องนี้ คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องช่วยกันชี้เป้าว่าแต่ละพื้นที่ปลูกอะไรได้บ้างและปลูกในปริมาณเท่าไหร่ จากนั้นจึงให้สหกรณ์เข้ามาบริหารจัดการผลผลิต รวบรวมและแปรรูปเพิ่มมูลค่า รวมถึงหาตลาดจัดจำหน่าย ซึ่งคาดว่าการดำเนินการดังกล่าวจะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2561 นี้ เป็นต้นไป

แต่อย่างไรก็ตามคนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่กล้าเปลี่ยนแปลง ดังนั้นจึงต้องมีกลุ่มคนที่กล้าจะเปลี่ยนแปลงและเริ่มสิ่งใหม่ ซึ่งก็คือสหกรณ์ทั้ง 777 แห่ง ที่จะต้องไปหาทางพัฒนาสมาชิกให้เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ค้นหาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยพัฒนา หาองค์ความรู้มาถ่ายทอดให้กับเกษตรกรที่เป็นสมาชิก โดยต้องการให้สหกรณ์จะเป็นความหวังของเกษตรกร

พร้อมกันนี้ยังต้องการให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงภาคเอกชน เข้ามาช่วยร่วมมือกับสหกรณ์ เพื่อวางแนวทางร่วมกันเพื่อปฏิรูปการเกษตร ดึงเทคโนโลยีมาใช้และเรียนรู้ด้านการตลาดค้าขายผ่านเวปไซด์ ผ่านช่องทางตลาดออนไลน์ หรือร่วมกับห้างค้าปลีกสมัยใหม่ในการสร้างตลาด บางสหกรณ์มีสมาชิกเป็นหมื่นคน ก็ควรสร้างเวปไซด์ขายสินค้าหรือจับมือกับไปรษณีย์จัดส่งสินค้าสหกรณ์ถึงผู้บริโภคทั่วประเทศ

ขณะนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เข้ามาช่วยสนับสนุนสหกรณ์สร้างเวปไซด์ขายสินค้า ระบบโลติสติกต์ต้องพัฒนาขึ้นมา โดยบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) มีหน้าที่เข้ามาช่วย เรื่องระบบดิจิทัล เพื่อผลักดันให้สหกรณ์ 4,000 แห่ง สามารถค้าขายผ่านเวปไซด์ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือหลักการปฏิรูปโครงสร้างภาคการเกษตรของประเทศ และเป็นทิศทางใหม่ในการดำเนินงานของสหกรณ์ในโลกยุคปัจจุบัน

นายสมคิด กล่าวทิ้งท้ายว่า การดำเนินงานปี 2562 ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมสหกรณ์คิดโครงการพัฒนาสหกรณ์ ให้เข้มแข็ง โดยสหกรณ์ที่จะตั้งใหม่ อาจต้องดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาพัฒนาสหกรณ์ โดยมีธกส.เข้ามาช่วยสนับสนุนและพัฒนาธุรกิจของสหกรณ์ให้มากขึ้น และมองว่าสหกรณ์คือความหวังใหม่ของประเทศ ถ้าตั้งใจจะพัฒนาอย่างจริงจังและทำให้ดี จะเกิดการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้แน่นอน รัฐบาลเหลือเวลาอีก 7 เดือน และจะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ ซึ่งจะต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยกันสร้างสหกรณ์ให้เข้มแข็งเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการปฏิรูปภาคการเกษตรของประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๘ มี.ค. องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๒๘ มี.ค. การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๒๘ มี.ค. DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๒๘ มี.ค. JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๒๘ มี.ค. นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๒๘ มี.ค. Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๒๘ มี.ค. โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๒๘ มี.ค. STEAM Creative Math Competition
๒๘ มี.ค. A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๒๘ มี.ค. ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้