กสอ.รุกอุตสาหกรรมกาแฟ ชวนคอกาแฟร่วมดื่มด่ำรสชาติกาแฟไทย ชูเชียงใหม่เป็นฮับเมืองกาแฟไทยสู่สากล

ศุกร์ ๒๔ สิงหาคม ๒๐๑๘ ๑๖:๑๑
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 เปิดแนวรุกอุตสาหกรรมกาแฟไทยสู่กาแฟโลก จัดงาน "Chiangmai Coffee Hub"เพื่อแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กาแฟครั้งที่ 3 ตามโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเกษตรกร และผู้ประกอบการในการประกอบธุรกิจ ดันจังหวัดเชียงใหม่เป็น"เมืองกาแฟ"เต็มรูปแบบ พร้อมจัดทำยุทธศาสตร์กาแฟจังหวัดเชียงใหม่ปี 2561-2565 ภายใต้ 5 กลยุทธ์ มุ่งเป้าเป็นศูนย์กลางกาแฟแห่งภูมิภาค (Coffee Hub)

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จ.เชียงใหม่ ได้ผลักดันให้เกิดโครงการต่าง ๆ ที่เป็นการสนับสนุน ส่งเสริมอุตสาหกรรมกาแฟภาคเหนือให้เติบโตและยั่งยืนมาโดยตลอด ทั้งการสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มในลักษณะ ของ "คลัสเตอร์ (Cluster)" ให้เป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมกาแฟ โดยที่จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งถือเป็นจังหวัดต้นทางได้สนับสนุนและส่งเสริมให้ความรู้ ด้านการคัดเลือกสายพันธุ์ การดูแลพื้นที่ปลูก การตัดแต่งกิ่ง การเก็บเกี่ยว การแปรรูปเมล็ดกาแฟ ตลอดจน การเก็บรักษาเมล็ดกาแฟ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและมาตรฐาน กลุ่มกลางสนับสนุนด้านการเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิต และการควบคุมคุณภาพการผลิต เพื่อให้ได้มาตรฐานการผลิต และกลุ่มปลายทางได้สนับสนุนมุ่งเน้น ด้านการประกอบธุรกิจกาแฟ เสริมสร้างองค์ความรู้และทักษะบุคลากร ทั้งเรื่องเทคนิคการคัดคุณภาพสารกาแฟ เทคนิคการคั่ว การผสมสูตรที่มีลักษณะเฉพาะ การชงกาแฟ และการบริหารจัดการหน้าร้าน เพื่อให้เกิดความอยู่รอด และยั่งยืน

"นอกเหนือจากการพัฒนาเกษตรกร ผู้ผลิต และผู้ประกอบการกาแฟให้มีความพร้อมแล้ว การสร้างภาพลักษณ์ และการประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปได้รับรู้ว่าเชียงใหม่ มีการพัฒนาตนเองสู่การเป็นเมืองแห่งอุตสาหกรรมกาแฟแล้วนั้น ก็มีความสำคัญยิ่ง จึงเป็นที่มาของการจัดงาน "Chiangmai Coffee Hub" ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการจัดงาน แสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กาแฟครั้งที่ 3 ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเกษตรกรและผู้ประกอบการ ในการประกอบธุรกิจ" โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ภายในงานประกอบด้วย บูธผู้ประกอบการร้านกาแฟ ผู้จำหน่าย รวมทั้งเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟจากพื้นที่ต่าง ๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียง จำนวนกว่า 40 บูธ นิทรรศการที่ร้อยเรื่องราวแหล่งกำเนิดกาแฟเชียงใหม่ จากการพลิกดอยฝิ่น ให้เป็นถิ่นกาแฟ กิจกรรม workshop การชงกาแฟแบบไซฟ่อน และ Home Brewing รวมทั้งเวทีเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับกาแฟจากกูรูด้านกาแฟ

ส่วนไฮไลต์ของงาน คือ การนำกาแฟคุณภาพดีจาก "กิจกรรมสร้างการรับรู้คุณภาพเมล็ดกาแฟ" ในโครงการเดียวกันนี้ ซึ่งเปิดรับสมัครเมล็ดกาแฟดิบจากเกษตรกรเชียงใหม่และพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อทดสอบคุณภาพโดยผู้เชี่ยวชาญระดับโลก คัดสรรจาก 72 ตัวอย่าง ได้เมล็ดที่มีคะแนนสูงสุด จำนวน 10 ตัวอย่าง โดยแต่ละรายมีคะแนนตั้งแต่ 82.5 - 84.5 ตามมาตรฐานของ Specialty Coffee Association (SCA) ซึ่งเป็นสถาบันรับรอง ตรวจสอบที่มี ความเชี่ยวชาญเรื่องกาแฟเป็นพิเศษ จากประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งของกาแฟทั้ง 10 ตัวอย่าง ถูกนำไปประมูลเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยกาแฟจากแหล่งปลูกขุนช่างเคี่ยนของคุณเสาวลักษณ์ อัศวพุทธิ ซึ่งได้คะแนนสูงสุด คือ 84.5 คะแนน ถูกประมูลไปในราคาถึงกิโลกรัมละ 1,600 บาท โดยภายในงานได้นำกาแฟทั้ง 10 ตัวอย่าง มาให้ชิมฟรี" นายกอบชัย กล่าว

อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ในช่วงการจัดงาน SMEs สัญจร พลิกธุรกิจ สู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการหารือแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคเหนือ ภายใต้แนวคิด Northern Thailand Health Valley ที่มุ่งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ เช่น ผลิตภัณฑ์ จากสมุนไพร ผลิตภัณฑ์สปา และอาหารเสริม โดยการขับเคลื่อนในลักษณะห่วงโซ่มูลค่า ตั้งแต่การพัฒนาปัจจัยพื้นฐานการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่ม และการส่งเสริมการตลาด เช่น เชียงใหม่เมืองกาแฟ มุ่งเน้นพัฒนากาแฟที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยสู่ตลาดโลก การพัฒนากาแฟที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยสู่ตลาดโลกของโครงการ Northern Boutique Arabica Coffee ทั้งนี้ กสอ. จะดำเนินการจัดตั้งสถาบันกาแฟ ณ ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 หรือ ITC ที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้บริการแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมกาแฟในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนอย่างครบวงจร

จังหวัดเชียงใหม่ ทุกวันนี้ถือว่าได้ก้าวเข้าสู่การเป็น "เมืองกาแฟ" อย่างเต็มรูปแบบ โดยได้ร่วมกับหน่วยงาน ต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน จัดทำยุทธศาสตร์กาแฟจังหวัดเชียงใหม่ปี 2561-2565 ขึ้น ภายใต้ 5 กลยุทธ์สำคัญ คือ 1. เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาคุณภาพผลผลิตโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม 2.พัฒนาการแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่ม 3. พัฒนาด้านการตลาด 4. การวิจัยและพัฒนา และ 5. การบริหารจัดการ ทั้งนี้ เป้าหมายลำดับต่อไป คือ การเป็น"ศูนย์กลางกาแฟแห่งภูมิภาค" หรือ "Coffee Hub"

"ในช่วงเดือนพฤศจิกายน นี้ จังหวัดเชียงใหม่ จะเป็นเจ้าภาพจัดงานกาแฟระดับอาเซียน คือ การประชุม การพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟอาเซียน ครั้งที่ 1 หรือ ACID 2018 อีกด้วย จึงเชื่อมั่นว่าจังหวัดเชียงใหม่มีศักยภาพ สามารถก้าวไปถึงเป้าหมายในการเป็น Coffee Hub ได้อย่างแน่นอนในอนาคต" นายกอบชัย กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐:๕๙ ซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล ให้การต้อนรับอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ศรีปทุม
๒๐:๓๑ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
๒๐:๕๒ Vertiv เปิดตัวดาต้าเซ็นเตอร์ไมโครโมดูลาร์รุ่นใหม่ที่มี AI ในเอเชีย
๒๐:๐๙ พิธีขึ้นเสาเอก เปิดไซต์ก่อสร้าง โครงการ แนชเชอแรล ภูเก็ต ไพรเวท พูลวิลล่า บ้านเดี่ยวบนทำเลทองใจกลางย่านเชิงทะเล
๒๐:๔๖ เขตบางพลัดประสาน รฟท.-กทพ. ปรับภูมิทัศน์ เพิ่มพื้นที่สีเขียวหน้าสถานีรถไฟบางบำหรุ
๒๐:๕๘ ร่วมแสดงความยินดีแก่อธิบดีกรมยุโรป ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ เซ็นทรัลเวิลด์
๒๐:๐๓ กทม. เดินหน้าจัดกิจกรรมริมคลองโอ่งอ่าง ส่งเสริมอัตลักษณ์ กระตุ้นเศรษฐกิจ-การท่องเที่ยว
๒๐:๔๙ พาราไดซ์ พาร์ค ร่วมกับ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พาคุณไปสัมผัสการนวดเพื่อสุขภาพจาก 4 ภูมิภาคของไทย
๒๐:๒๔ Digital CEO รุ่นที่ 7 เรียนรู้เข้มข้นต่อเนื่อง จากวิทยากรชั้นนำของวงการ
๒๐:๒๔ เด็กไทย คว้ารางวัลระดับโลก โดรนไทย ชนะเลิศนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ทางด้านอากาศยานไร้คนขับ UAV ณ กรุงเจนีวา