เปิดดินแดนภารตะ ผ่านประสบการณ์เด็กแลกเปลี่ยน สายลุยต้องมา

พฤหัส ๓๐ สิงหาคม ๒๐๑๘ ๑๑:๑๘
ในช่วงชีวิตมหาวิทยาลัย เชื่อว่าหลายคนมีความใฝ่ฝันที่จะไปใช้ชีวิตเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนในต่างแดน เพราะนอกจากความรู้ที่จะได้จากการไปแลกเปลี่ยนแล้ว ยังได้ประสบการณ์มากมายที่หาไม่ได้จากการศึกษาเพียงแค่ในประเทศ นอกจากนี้ การตัดสินใจเลือกประเทศที่จะไปแลกเปลี่ยน ย่อมมีปัจจัยหลายข้อที่ต้องพิจารณา ไม่ว่าจะเป็น ความมีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย และสาขาที่ต้องการศึกษาต่อ ภาษาที่ใช้ในประเทศนั้นๆ ไปจนถึงความชอบส่วนตัวของแต่ละคน สำหรับประเทศที่คนส่วนใหญ่มักจะตัดสินใจไปแลกเปลี่ยนก็มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย หรือประเทศในแถบยุโรปอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี รวมทั้งประเทศในเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม มีคนส่วนหนึ่งที่อาจเรียกได้ว่า ชอบความท้าทาย และมีความเชื่อว่าการไปแลกเปลี่ยนครั้งหนึ่งในชีวิต ก็ควรจะไปประเทศที่คนส่วนใหญ่ไม่เลือกไปกัน หนึ่งในประเทศที่เรียกได้ว่าท้าทาย และยังเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงทางด้านการศึกษา อีกทั้งค่าครองชีพก็ไม่สูงมาก นั่นก็คือ "อินเดีย" นั่นเอง

นางสาวพิมพ์พลอย พรมทอง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (PBIC) เป็นหนึ่งในนักศึกษาแลกเปลี่ยน หลักสูตรอินเดียศึกษาของพีบีไอซี ที่ได้มีโอกาสไปใช้ชีวิตเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่ดินแดนภารตะอย่างอินเดีย เป็นเวลา 6 เดือน ตอนอยู่ปี 3 โดยพิมพ์พลอยได้แชร์ประสบการณ์การไปแลกเปลี่ยนที่อินเดียตลอดหนึ่งภาคการศึกษา ทั้งแง่มุมการเรียนที่มหาวิทยาลัยอินเดีย การใช้ชีวิตแบบลุยๆ สไตล์อินเดีย การเรียนรู้วัฒนธรรมต่างๆ สถานที่ท่องเที่ยวอันซีน รวมถึงเปิดเผยเรื่องราวที่คนไม่เคยไปอยู่อินเดียไม่มีทางรู้แน่นอน

ในด้านของสาขาวิชาและมหาวิทยาลัยที่พิมพ์พลอยได้ไปศึกษาที่อินเดียคือ วารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน (Journalism and Mass Communication) ที่มหาวิทยาลัยChandigarh รัฐปัญจาบ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย มหาวิทยาลัย Chandigarh เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนอันดับต้นๆ ของอินเดีย การเรียนในสาขาวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนที่อินเดียถือว่าเป็นสาขาวิชาที่มีชื่อเสียงด้วย เพราะอินเดียเองก็นิยมใช้สื่อทางด้านสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์เป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งมหาวิทยาลัยก็มีความพร้อมด้านเครื่องมือในการเรียนการสอนวิชาต่างๆ ส่วนเรื่องการเทียบโอนหน่วยกิตนั้น นักศึกษาสามารถนำหน่วยกิตที่ศึกษาจาก Chandigarh มาเทียบโอนรายวิชาเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรอินเดียศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ ทั้งนี้ นักศึกษาต้องศึกษาเงื่อนไขวิชาและหลักสูตรต่างๆ ด้วย

ในส่วนของบรรยากาศของการเรียนที่มหาวิทยาลัย Chandigarh ถือว่ามีนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากประเทศอื่นมากพอสมควร เช่น นักศึกษาจากจีน อินโดนีเซีย เนปาล ภูฏาน อัฟกานิสถาน แอฟริกาใต้ รวมถึงนักศึกษาไทยด้วย ทำให้ได้แลกเปลี่ยนมุมมองด้านต่างๆ กับเพื่อนๆ จากหลากหลายวัฒนธรรม ส่วนการเรียนการสอนที่นี่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก แต่ก็มีเรียนวิชาภาษาฮินดี ซึ่งเป็นภาษาที่คนอินเดียส่วนใหญ่ใช้ในการศึกษา บางครั้งอาจารย์ก็พูดทั้งภาษาอังกฤษและภาษาฮินดีผสมกัน แต่ก็อาศัยเพื่อนๆ ชาวอินเดียช่วยแปลให้ฟัง ส่วนเรื่องบรรยากาศในการเรียนการสอน ถือว่าตื่นตัวมากกว่าประเทศไทย อย่างที่ทราบกันว่าเด็กอินเดียเป็นเด็กที่ฉลาด มีหัวคิดดี เพราะทุกคนขยันค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตัวเอง ซึ่งมาจากการที่เด็กอินเดียจะเลือกเรียนในด้านที่ตัวเองสนใจจริงๆ หรือเรียกว่ามีแพสชั่น ทำให้ทุกคนกระตือรือร้นในการเรียนมาก เราต้องปรับตัวและขยันทำการบ้านมากกว่าเรียนที่ไทยหลายเท่าทีเดียว พิมพ์พลอยยังเผยว่าสิ่งที่นักศึกษาอินเดียประทับใจในตัวของนักศึกษาไทยก็คือ ความมีอารมณ์ขันของเด็กไทย อาจจะด้วยเรามีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน ทำให้เวลาพูดคุยเรื่องต่างๆ ก็จะเข้าใจกันได้ง่าย อีกทั้งเพื่อนๆ อินเดียยังชอบในความกล้าแสดงออก ความกล้าถกเถียงเมื่อมีความคิดที่แตกต่างจากอาจารย์หรือเพื่อนๆ อาจด้วยความที่เราคุ้นเคยกับบรรยากาศการเรียนในรั้วธรรมศาสตร์ที่สอนให้เรากล้าที่จะคิดต่างและแสดงออกความคิดเหล่านั้นออกมาอย่างสร้างสรรค์ ทำให้ได้เปิดมุมมองใหม่ๆ ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน ซึ่งถือว่าเรื่องนี้ถือเป็นข้อดีติดตัวของเด็กธรรมศาสตร์แทบทุกคน

ส่วนการใช้ชีวิตที่อินเดียนั้น ถือว่าไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลายคนคิด ยิ่งในเมือง Chandigarh ที่พิมพ์พลอยไปใช้ชีวิตอยู่ ถือเป็นเมืองที่ถูกจัดว่าสะอาดที่สุดในอินเดีย แตกต่างจากภาพที่คิดไว้ในหัวอย่างสิ้นเชิง เรื่องความปลอดภัยก็ถือว่าไม่น่าเป็นห่วง แม้ว่าจะเป็นผู้หญิงก็สามารถเดินทางคนเดียวได้อย่างปลอดภัย มีขนส่งสาธารณะให้บริการจนถึงประมาณตีหนึ่ง ถือเป็นตัวเลือกเมืองที่น่าสนใจสำหรับคนที่อยากไปแลกเปลี่ยนหรือศึกษาต่อที่อินเดีย ที่สำคัญคือ คนอินเดียเป็นคนใจดีมาก และมีทัศนคติที่ดีต่อคนไทย ตอนแรกๆ เขาอาจจะยังไม่กล้าเข้ามาคุยกับเรา แต่ถ้าเราเข้าไปทำความรู้จักกับพวกเขาก่อน หลังจากนั้นเขาก็จะเข้ามาพูดคุยทักทายเราตลอด จนเรียกได้ว่ากลายเป็นเพื่อนสนิทกันเลยทีเดียว

สำหรับเรื่องความเป็นอยู่ในอินเดีย ขอเริ่มที่อาหารการกินของอินเดีย หลายคนคิดว่าถ้าไปอยู่อินเดียจะได้กินแต่อาหารที่มีแต่เครื่องเทศ ซึ่งพิมพ์พลอยบอกว่าจริงๆ แล้วอาหารอินเดียก็ถือว่าอร่อย แต่ถ้าใครที่ไม่ชอบก็สามารถหาอาหารต่างชาติอย่างพาสตา พิซซ่า ทานได้ทั่วไป อีกทั้งวัตถุดิบอาหารของอินเดียก็มีหลากหลาย ราคาไม่แพง ถ้าคิดถึงอาหารไทยก็สามารถซื้อวัตถุดิบมาทำเองได้ โดยรวมแล้วถือว่าเรื่องกินไม่เป็นปัญหาเลย ส่วนเรื่องการเดินทางของอินเดียที่ขึ้นชื่อว่าหฤโหด โดยเฉพาะรถไฟอินเดีย พิมพ์พลอยเองก็ได้ไปลองมาแล้ว เรียกได้ว่ามาถึงอินเดียจริงๆ ถือเป็นประสบการณ์ลุยๆ ที่จะเก็บเอาไปเล่าให้เพื่อนๆ ที่ไม่เคยมาได้ฟัง แต่ถ้านึกถึงการเดินทางอินเดียก็ไม่ใช่ว่ามีแต่รถไฟเท่านั้น อินเดียมีขนส่งสาธารณะให้เลือกใช้หลายอย่าง ที่สำคัญคือราคาไม่แพง ตั้งแต่รถเมล์ ไปจนถึงอูเบอร์ แต่ที่เป็นขนส่งสาธารณะที่ดูเป็นแบบท้องถิ่นอินเดียที่สุด ก็ต้องยกให้ Rickshaw ที่เหมือนกับรถสามล้อบ้านเรา เป็นอีกยานพาหนะหนึ่งที่คนไปอินเดียต้องลอง

แต่การไปแลกเปลี่ยนของเด็กพีบีไอซีไม่ใช่แค่เพียงการไปเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ละคนยังมีโอกาสได้ไปเที่ยวสถานที่ต่างๆ รวมทั้งได้เรียนรู้วัฒนธรรมสุดพิเศษ ในแบบที่คนที่ไปเที่ยวอินเดียก็ไม่เคยได้ไป อย่างพิมพ์พลอยมีโอกาสได้ไปงานแต่งงานของเพื่อนที่มหาวิทยาลัย ซึ่งงานแต่งงานที่ได้ไปเข้าร่วมก็เป็นแต่งงานแบบประเพณีซิกข์ หรือ Punjabi Wedding ซึ่งเป็นศาสนาที่คนในรัฐปัญจาบส่วนใหญ่นับถือ งานแต่งงานของซิกข์ก็แตกต่างจากงานแต่งงานแบบฮินดู ในแง่ของความอลังการ งานแต่งงานแบบซิกข์ในครอบครัวที่ค่อนข้างมีฐานะ จะจัดงานถึง 3 วัน 3 คืน มีพิธีรีตองเยอะมาก และเน้นความสนุกสนาน สิ่งที่ได้เรียนรู้จากงานแต่งงานอินเดียก็คือ สังคมอินเดียยังมีการแต่งงานแบบคลุมถุงชนอยู่มาก แม้ว่าในปัจจุบันอินเดียจะมีเสรีภาพมากขึ้นในทุกเรื่อง แต่การแต่งงานถือเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตของคนอินเดีย และต้องได้รับการยอมรับจากครอบครัวเสียก่อนจึงจะแต่งงานกันได้ แต่ในงานแต่งงานของเพื่อนพิมพ์พลอยเป็นการแต่งงานแบบที่ทั้งสองฝ่ายตกลงปลงใจกัน และครอบครัวทั้งสองฝ่ายยอมรับ บรรยากาศจึงออกมาอบอุ่นและสนุกสนาน ได้เห็นวัฒนธรรม และการแต่งกายของสาวๆ อินเดีย ทั้งแขกในงาน รวมทั้งเจ้าสาว ถือว่าสวยงามตามสไตล์อินเดียมากๆ

อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือสถานที่ท่องเที่ยวในอินเดียที่มีหลากหลาย ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ไปจนถึงแหล่งชอปปิงที่พลาดไม่ได้เมื่อมาอินเดีย โดยพิมพ์พลอยได้เล่าถึงแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีโอกาสได้ไปมา และคิดว่าคนทั่วไปน่าจะไม่เคยรู้มาก่อนก็คือ เมือง Rishikesh รัฐ Uttarakhand ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย มีความน่าสนใจคือ เป็นต้นน้ำของแม่น้ำคงคา ที่หลายคนรู้จักกันในฐานะของแลนด์มาร์คอินเดีย ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความสกปรก เพราะรวมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับทางน้ำของคนอินเดียทุกอย่างไว้ในแม่น้ำคงคา แต่แม่น้ำคงคาที่อยู่ในเมือง Rishikesh เป็นส่วนของตอนต้นแม่น้ำที่ไหลมาจากเทือกเขาหิมาลายา น้ำจึงใส และสะอาดมาก อีกทั้งเมืองนี้ยังได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงแห่งโยคะ เพราะกิจกรรมการเล่นโยคะถือเป็นกิจกรรมยอดนิยมในเมืองนี้ การมาเที่ยวเมืองนี้เหมาะอย่างยิ่งกับคนชื่นชอบการท่องเที่ยวแบบ Rafting Hiking สถานที่ท่องเที่ยวสุดคูลอีกแห่งหนึ่งที่พลาดไม่ได้ในเมืองนี้ก็คือ The Beatles Ashram โดยมีเรื่องเล่าว่า ศิลปินชื่อดังระดับโลกอย่าง The Beatles เคยเดินทางมาแสวงหาความสงบที่เมืองนี้ จนมาเจอกับอาศรมที่หนึ่ง หลังจากนั้นหลายคนที่ชื่นชอบ The Beatles จึงเดินทางตามรอยมาที่อาศรมแห่งนี้และฝากงานศิลปะบนผนังทิ้งไว้เป็นสัญลักษณ์เท่ๆ ที่นี้อีกด้วย

การตัดสินใจเลือกเรียนหลักสูตรอินเดียศึกษา ที่พีบีไอซี ถือเป็นการเปิดมุมมองและประสบการณ์ของตัวเองมาก โดยเฉพาะการได้มีโอกาสมาศึกษาแลกเปลี่ยนที่ประเทศอินเดีย ทำให้ตัวเองโตขึ้น จากการเปิดรับมุมมองใหม่ๆ ร่วมกับผู้คนที่หลากหลาย ในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย จากที่คิดว่าอินเดียเป็นประเทศที่น่ากลัว แต่พอมาใช้ชีวิตอยู่จริงๆ ทำให้รู้ว่าหากเราเรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมของคนที่นี่ ก็จะทำให้เราใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับพวกเขาได้อย่างมีความสุข และอินเดียก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่ทุกคนคิด จริงๆ แล้วการใช้ชีวิตที่อินเดียมีความคล้ายกับการใช้ชีวิตที่ไทยมาก สิ่งหนึ่งที่มองว่าอินเดียดีกว่าไทยคือเรื่องการศึกษาที่เข้มข้น และเน้นปฏิบัติมากกว่า การมาแลกเปลี่ยนที่อินเดียจึงถือว่าเป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่า ที่ได้มาเรียนในประเทศที่มีชื่อเสียงด้านการศึกษา และเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ในแหล่งอารยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอย่างอินเดีย พิมพ์พลอย กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๕๔ กทม. เตรียมปรับปรุงพัฒนาระบบการให้บริการงานทะเบียนสำนักงานเขต
๑๗:๑๗ สมาคมเพื่อนชุมชน ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวทางลดก๊าซเรือนกระจก
๑๗:๔๑ กทม. เร่งติดตั้งเสา-ตะแกรงรั้วกั้นเกาะกลางถนนวิสุทธิกษัตริย์ที่ถูกรถชนเสียหาย
๑๗:๐๔ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ขอเชิญชวนนักศึกษา และบุคคลทั่วไป เข้าร่วมงาน M-Sci JOB FAIR 2024 หางานที่ใช่ สร้างงาน สร้างโอกาส วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.00-16.00 น. ณ หอประชุม รักตะกนิษฐ
๑๗:๒๘ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค นำเสนอโซลูชั่นดิจิทัลลุยตลาดอาคารอัจฉริยะเพื่อความยั่งยืน
๑๖:๒๙ จิม ทอมป์สัน เผยทิศทางการพา แบรนด์ผ้าเมืองไทย ผงาดเวทีโลก ส่องกลยุทธ์การครีเอตผลงานคุณภาพให้สอดรับเทรนด์สิ่งทอระดับสากล
๑๖:๓๘ อาดิดาสจับมือนักฟุตบอลระดับตำนาน ส่งแคมเปญ 2006 JOSE 10 สร้างแรงบันดาลใจและความเป็นไปได้อันไร้ขีดจำกัดให้กับเหล่านักฟุตบอลเยาวชนหญิง
๑๖:๑๐ Maison Berger Paris พาชมเครื่องหอมบ้าน 2 คอลเลคชั่นใหม่ MOLECULE และ JOY จัดเต็มเซ็ตของขวัญ ครบทุกรูปแบบความหอม สร้างบรรยากาศหรูหราพร้อมกลิ่นหอมบริสุทธิ์
๑๖:๕๗ กทม. เตรียมระบบเฝ้าระวัง-ควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 หลังเทศกาลสงกรานต์
๑๕:๑๕ NCC. ผนึก ททท. ขยายตลาดท่องเที่ยวมูลค่าสูง ชี้ตลาดท่องเที่ยวเฉพาะทาง (Niche Market) โต ลุยจัดงาน Thailand Golf Dive Expo plus OUTDOOR Fest